Skip to main content
sharethis

ศิโรตม์ชี้สวัสดิการถ้วนหน้าต้องมากับประชาธิปไตย กรรณิการ์ยันสิทธิรักษาพยาบาลต้องไม่ถูกลด ด้านสฤณีชี้อย่าเหมารวมประชานิยมว่าไม่ดี และหลังเสวนาเครือข่ายฯแถลงการณ์เผยการลงทะเบียนคนจนเป็นการยกเลิกสวัสดิการถ้วนหน้า

27 มิ.ย. 2559 เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการขับเคลื่อนระบบบำนาญแห่งชาติ จัดงานชมภาพยนตร์ Where to Invade Next บุกให้แหลก แหกตาดูโลก ของไมเคิล มัวร์ และงานเสวนาเรื่อง “สวัสดิการถ้วนหน้าเป็นภาระของรัฐจริงหรือ” ที่โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ อาจารย์พิเศษ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียน นักแปลด้านเศรษฐศาสตร์ ดำเนินรายการโดย ชูวัส ฤกษ์ศิริสุข บรรณาธิการบริหารสำนักข่าวประชาไท

ในงานเสวนา ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ กล่าวว่าภาพยนตร์ Where to Invade Next เป็นหนังที่ทำขึ้นมาเพื่อการขับเคลื่อนสังคม ซึ่งพูดในหลายประเด็น เช่น สหภาพแรงงาน โอกาสในการทำงานที่เท่าเทียมระหว่างชายหญิง และรัฐสวัสดิการ เป็นต้น ซึ่งหลังจากศิโรตม์ดูหนังเรื่องนี้ ก็ได้กลับมามองสังคมไทยที่มีหลายประเด็นคล้ายกับในหนัง

ศิโรตม์ กล่าวว่าหัวใจของสวัสดิการคือการจัดสรรเงินจากรัฐให้ประชาชน ซึ่งพื้นฐานในการเรียกร้องสวัสดิการต้องมีประชาธิปไตย ต้องให้ประชาชนมีเงื่อนไขมาต่อรองได้ ถ้าไม่มีประชาธิปไตยก็ไม่มีทางเรียกร้องได้เพราะประชาชนไม่มีอำนาจต่อรอง ดังนั้นเรื่องสวัสดิการจะเลี่ยงเรื่องการเมืองไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องของการจะเอาเงินรัฐมาอย่างไร ทำให้รัฐบาลจ่ายเงินให้กับส่วนอื่นน้อยลงอย่างไร

ศิโรตม์ยังกล่าวอีกว่า ในขณะที่งบประมาณประเทศเพิ่มปีละ 5-10 เปอร์เซ็นต์ งบกลาโหมกลับเพิ่มปีละ 15 เปอร์เซ็นต์ อย่างเช่น งบของปี 60 ที่เพิ่งจะผ่านสภานิติบัญญัติที่ไม่มีตัวแทนประชาชน พบว่างบของกระทรวงกลาโหมเพิ่มอย่างมาก ซึ่งสัดส่วนของงบกลาโหมแต่ละปีนั้น เพิ่มเร็วกว่าสัดส่วนงบประมาณประเทศเสียอีก หรืออย่างในปี 2550 งบประมาณประเทศเพิ่มขึ้นแค่ 15 เปอร์เซ็นต์ แต่งบของกลาโหมเพิ่มถึง 34 เปอร์เซ็นต์ และในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมาหลังปี 2549 งบประมาณของประเทศเพิ่มขึ้นประมาณร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่งบกลาโหมเพิ่มขึ้นไปถึง 150 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งศิโรตม์มองว่าส่วนต่าง 50 เปอร์เซ็นต์ จะนำมาช่วยเหลือประชาชนได้มหาศาล

"ในที่สุดเรื่องพวกนี้มันพัวพันกับเรื่องการเมืองเรื่องประชาธิปไตย แยกกันไม่ได้เลย คุณปล่อยให้กองทัพมีเงินเพิ่มขึ้นปีละสองหมื่นล้าน สองหมื่นล้านทำอะไรได้บ้าง ผมไม่รู้นะ แต่ผมเชื่อว่าทำอะไรให้ประชาชนมีชีวิตดีขึ้นได้มากกว่าที่ผ่านมาเยอะ ซึ่งเราไม่ได้ทำ"

ศิโรตม์ยังกล่าวอีกว่า สังคมต้องออกจากสภาวะที่ไม่มีประชาธิปไตย สภาวะที่ใครก็ไม่รู้ ที่อาจไม่มีความรู้เรื่องนโยบายสาธารณะและไม่ได้ฟังเสียงประชาชนมากำหนดนโยบายที่เกี่ยวข้องกับประชาชน เพราะหากยิ่งปล่อยให้มีสภาวะแบบนี้ต่อไป ประชาชนก็จะยิ่งเสียผลประโยชน์

"เราไม่ควรจะอยู่ในประเทศที่สวัสดิการซึ่งเป็นของประชาชน อยู่ดีๆ ถูกตัดโดยใครก็ไม่รู้ที่ประชาชนไม่ได้เลือกเข้ามา" ศิโรตม์กล่าว


ด้าน กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กล่าวว่า ความสำเร็จหลายๆ อย่างของเรื่องรัฐสวัสดิการ มีพื้นฐานมาจากการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาล ซึ่งปัญหาของประเทศไทยอยู่ที่จะรักษาระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าไว้ได้อย่างไร ไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำหรือการแบ่งชนชั้น เพราะถ้ามีการแบ่งว่าระบบหลักประกันสุขภาพให้เฉพาะคนยากไร้เท่านั้น คนจำนวนหนึ่งที่ไม่ยากไร้ก็จะไม่พัฒนาระบบ เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องของคนจน แต่ที่เราต้องช่วยกันรักษาระบบไว้ เพราะไม่มีใครรู้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร จะป่วยเป็นโรคอะไร หากเป็นโรคร้ายแรงและโดนค่ารักษาเป็นล้านก็ลำบาก ฉะนั้นการรักษาระบบไว้ถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคน

กรรณิการ์ ยืนยันว่าการจัดสวัสดิการไม่ใช่การไปขอเอาเงินจากรัฐ เพราะความจริงประชาชนเป็นคนจ่ายภาษี และไม่ต้องมาอ้างเรื่องภาษีเงินได้ เพราะทุกคนจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มและมันก็เป็นภาษีรายได้ที่ใหญ่ที่สุด ฉะนั้นต้องมาดูว่าควรจะจัดแบ่งกันอย่างไร และจัดอันดับว่าสิ่งใดที่เป็นเรื่องสำคัญและมีคุณค่าของประเทศนี้

กรรณิการ์ ยังกล่าวถึงปัญหาของการจัดการงบหลักประกันสุขภาพที่ถูกกดไว้ไม่ให้เพิ่มมาตลอด 3 ปี และในปีนี้ถึงแม้ได้เพิ่มงบ แต่ก็ได้เพิ่มเพียง 1.6 เปอร์เซ็นต์ ทั้งที่ควรจะเพิ่ม 2-3 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่งบกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างมหาศาล  

สุดท้าย กรรณิการ์ยืนยันว่าเราต้องช่วยกันยันไม่ให้สิทธิที่ควรจะได้รับในการรักษาพยาบาลถูกลดให้แย่ไปกว่านี้ เพราะตอนนี้รัฐมีแนวโน้มทำให้แย่ อย่างเช่น มีแนวคิดให้ร่วมจ่าย ซึ่งเธอยืนยันว่าสามารถร่วมจ่ายได้แต่ต้องร่วมจ่ายในภาษี ไม่ใช่จ่ายหน้าจุดบริการ เพราะจะเกิดการแบ่งชนชั้นเวลาไปเข้ารับการรักษา และภาษีที่ร่วมจ่ายไปนั้นต้องนำไปใช้กับประกันสุขภาพจริงๆ ไม่ใช่นำไปซื้อเรือดำน้ำ หรือ GT200

อีกทั้งต้องยันเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เพราะรัฐเพิ่งออกมาบอกว่าจะให้เหลือแค่ผู้สูงอายุที่ยากไร้เท่านั้น ดังนั้นกรรณิการ์มองว่าหากรัฐทำประเด็นนี้สำเร็จ ประเด็นเรื่องสุขภาพที่เหลือจะถูกลดตามไปเป็นลำดับ

สฤณี อาชวานันทกุล กล่าวว่า สวัสดิการมี 3 ประเภท หนึ่งคือการคุ้มครอง เป็นการสร้างสังคมพื้นฐาน เช่น สวัสดิการสุขภาพ สองคือ เรื่องการช่วยคนรองรับความเสี่ยง เช่น เงินออม และสามคือการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ เอาเงินจากคนรวยมาแบ่งให้คนจน

ปัญหาของสังคมไทยตอนนี้คือ สังคมไทยยังแยกไม่ออกระหว่าง การคิดเรื่องรัฐสวัสดิการ และวิธีจัดการ โดยตนมองว่าต้องตอบคำถามให้ได้ก่อนว่า ควรจะมีสวัสดิการให้แก่ประชาชนไหม อย่างไร และค่อยมาคิดว่าจะใช้วิธีการอย่างไร แต่ก็เป็นเรื่องน่าเศร้าที่สังคมไทยยังต้องมาถกเถียงกันว่าควรมีรัฐสวัสดิการหรือไม่ ทั้งที่ในต่างประเทศเขาก้าวหน้าไปไกลกว่านั้นแล้ว อย่างสวิตเซอร์แลนด์ก็มีประชามติเรื่องเงินเดือนให้เปล่า อีกทั้งงานทางเศรษฐศาสตร์ก็บ่งชี้ว่าประเทศจะพัฒนาได้ดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับคุณภาพการศึกษา และสุขภาพของประชากร

สฤณี ยังกล่าวอีกว่า หากตกลงได้แล้วว่าควรจะมีสวัสดิการ รูปแบบการจัดการมี 3 แบบในยุโรป แบบแรกคือรัฐจัดการให้ทั้งหมด แบบที่สองคือประชาชนมีการร่วมจ่ายบ้าง และแบบที่สามคือสวัสดิการน้อยหรือการจะได้รับสวัสดิการต้องผ่านคุณสมบัติบางประการ

สำหรับในไทยก็มักจะมีคำถามว่ารัฐจะมีเงินจ่ายไหม สฤณีมองว่าการจัดสวัสดิการไม่ใช่ภาระมากมายทางการคลัง และประเทศไม่ได้มีปัญหาเรื่องการเงินขนาดนั้น แต่เราควรต้องปรับปรุงวิธีการบริหารจัดการเงิน โดยได้ยกตัวอย่างระบบที่นักเศรษฐศาสตร์ชอบ โดยการนำรัฐสวัสดิการไปอิงกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) หากเศรษฐกิจประเทศโต มีเงินเยอะก็จะจัดการได้เยอะ ถ้าเศรษฐกิจประเทศตกต่ำ รัฐก็จ่ายน้อย ซึ่งเป็นระบบแบบอัตโนมัติ 

อย่างไรก็ตาม สฤณีกล่าวว่า หากจะมีการจัดการ ก็มีข้อควรพิจารณา 3 ประการ หนึ่งคือ ประสิทธิภาพของรัฐในการจัดการว่าจะจัดการอย่างไรในระบบคอร์รัปชันของไทย และจะจัดการให้คนเสียภาษีได้จริงหรือไม่ สองคือแรงจูงใจของเอกชน โดยรัฐจะมีพลังกำกับเอกชนให้ร่วมจ่ายได้หรือไม่ และสามคือ ผลกระทบอื่นๆ ที่อาจจะเกิด

สุดท้าย สฤณี ได้ฝากถึงประชาชนว่า ถ้าเห็นว่าสิทธิบางอย่างหายไปจากร่างรัฐธรรมนูญ ก็ไปแสดงออกโดยการลงประชามติไม่รับร่าง อีกทั้งยังกล่าวในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ว่าต้องพยายามอธิบายความเชื่อมโยงให้ประชาชนเห็นว่า สวัสดิการถ้วนหน้า การลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และการพัฒนาทางเศรษฐกิจ 3 สิ่งนี้มีความสัมพันธ์กัน เพื่อประชาชนจะได้เข้าใจว่าสวัสดิการไม่ได้เป็นภาระของรัฐ อีกทั้งยังต้องอธิบายถึงที่มาที่ไปของสวัสดิการเหล่านี้ ว่าไม่ใช่นโยบายประชานิยมที่ไม่ดี

"ก็ต้องมีการทำงานอีกเยอะเหมือนกันในการอธิบาย เรื่องของที่มาที่ไปของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แล้วก็รวมถึงสิทธิการศึกษาฟรี รวมถึงเบี้ยผู้สูงอายุ จริงๆ ทั้งหมดนี้มีที่มาที่ไปทั้งนั้น และมันก็มาจากหลายรัฐบาลด้วยนะ คือทุกรัฐบาลเขาก็มีส่วนในการผลักดัน แล้วก็ส่วนหนึ่งก็คือด้วยเสียงของประชาชนที่อยากให้มันมี แต่ก็น่าเสียดายที่พอมันเกิดความขัดแย้งทางการเมืองมากๆ เราก็ปล่อยให้การต่อต้านประชานิยม มากลบเรื่องพวกนี้ไปเลยกลายเป็นว่าถูกตีขลุมเหมารวมทั้งหมดนี้กลายเป็นประชานิยมที่แย่"


แถลง ‘ลงทะเบียนคนจน’ เท่ากับ ‘ยกเลิกสวัสดิการถ้วนหน้า’

หลังจบงานเสวนา ตัวแทนจากเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการแถลงข่าวแสดงความเห็นต่อนโยบายลงทะเบียนคนจนของรัฐบาล คสช. โดยอำไพร รมยะปาน กล่าวว่า การลงทะเบียนคนจนของภาครัฐจะส่งผลให้รัฐยกเลิกการจัดสวัสดิการแบบถ้วนหน้า เช่น ประกันสุขภาพถ้วนหน้า และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ซึ่งนับว่าเป็นการแบ่งแยกและเลือกปฏิบัติต่อคนจน ทั้งที่สิทธิในการได้รับสวัสดิการพื้นฐานเป็นสิทธิของทุกคน

ด้าน ชุลีพร ด้วงจิม กล่าวว่า ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Where to Invade Next ทำให้สะท้อนใจกับผู้นำประเทศไทยที่มุ่งแต่จะจำกัดงบประมาณด้านสวัสดิการประชาชน ขณะที่ในประเทศต่างๆ กลับมีสวัสดิการที่ดี เช่น การเรียนฟรีถึงปริญญาตรี สวัสดิการสุขภาพ และสวัสดิการเด็กและผู้สูงอายุ เป็นต้น ดังนั้นรัฐอย่าถามว่าทำไมประเทศอื่นถึงทำได้ แต่ควรถามว่าทำไมเราไม่ทำให้ได้บ้าง

ส่วน อรกัลยา พุ่มพึ่ง ทวงถามถึงผู้นำประเทศและข้าราชการว่าต้องการให้ทุกคนมีคุณภาพชีวิตที่ดี หรือต้องการเพียงสงเคราะห์คนจน อีกทั้งยังอ้างแต่เพียงงบประมาณไม่พอ ทั้งที่เอาเงินไปลงทุนกับสิ่งที่ไม่คุ้มค่า อย่าง รถไฟความเร็วสูงไปโคราช เธอตั้งคำถามว่าทำไมไม่ดูในต่างประเทศว่าเขาจัดการอย่างไร พร้อมชี้ว่าหากประเทศไทยมีการบริหารงบประมาณอย่างเห็นคุณค่าชีวิตมนุษย์ ลดการลงทุนทางวัตถุที่ไม่จำเป็น และมีการจัดเก็บภาษีความมั่งคั่งได้จริง การจัดการสวัสดิการถ้วนหน้าย่อมทำได้แน่นอน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net