จาตุรนต์ ฉายแสง: อย่าใช้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาปิดปากประชาชน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ามาตรา 61 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.ประชามติไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้น ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย ตัวรัฐธรรมนูญชั่วคราวเองและการตีความมาตราต่างๆในรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็มีปัญหามาโดยตลอดอยู่แล้ว เช่น รัฐธรรมนูญบัญญัติว่าสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชนจะต้องได้รับความคุ้มครองตามพันธกรณีที่ประเทศไทยมีต่อข้อตกลงระหว่างประเทศ แต่คำสั่ง คสช.หลายๆ คำสั่งที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพทางการเมืองและสิทธิมนุษยชน ก็ถูกตีความว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือเรียกได้ว่าอยู่เหนือกว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวจนทำให้สิทธิเสรีภาพและสิทธิมนุษยชนไม่ได้รับการคุ้มครองจริงแต่อย่างใด ภายใต้สภาพเช่นนี้ แม้ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยไปอีกทางหนึ่ง ก็ไม่อาจคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อยู่ดี คำสั่งคสช.อยู่เหนืออำนาจศาลทั้งหลาย

ความจริงแล้ว ที่ผ่านมายังไม่มีการใช้กฎหมายประชามติลงโทษใคร แต่ที่เป็นปัญหามาก คือ การอ้างและบิดเบือนกฎหมายประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง และส่วนอื่นๆ มาใช้ข่มขู่ผู้ที่ไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญโดยเฉพาะผู้ที่ต้องการแสดงความคิดเห็นหรือเผยแพร่ความคิดเห็นต่างก็ดี หรือรณรงค์เพื่อให้ประชาชนไม่รับร่างก็ดี การข่มขู่ดังกล่าวทำร่วมกันอย่างเป็นระบบโดยผู้มีอำนาจและเกี่ยวข้อง จนทำให้คนจำนวนมากเกิดความหวาดกลัวหรือไม่ต้องการเสี่ยงต่อการถูกลงโทษในอัตราโทษที่สูงมาก ทั้งๆ ที่การกระทำเหล่านั้นไม่ขัดต่อกฎหมายประชามติแต่อย่างใด ซ้ำยังได้รับการคุ้มครองโดย มาตรา 7 ของกฎหมายประชามติเองด้วย สภาพการณ์เหล่านี้ทำให้การทำประชามติเป็นไปโดยไม่เสรีและเป็นธรรม คือ มีแต่การชี้นำจากฝ่ายร่างรัฐธรรมนูญ หรือผู้สนับสนุนอยู่ฝ่ายเดียว ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยเกือบทำอะไรไม่ได้เลย

การที่ผู้มีอำนาจทั้งหลายอ้างกฎหมายประชามติข่มขู่ไม่ให้มีการแสดงความคิดเห็นในทางไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญนั้น เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่งเป็นการปฏิบัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราว แต่ในระบบกฎหมายปัจจุบัน ก็ไม่มีช่องทางที่ประชาชนผู้ถูกละเมิดจะเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาเพื่อระงับยับยั้งการปฏิบัติของผู้มีอำนาจได้ เมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า มาตรา 61 วรรคสอง ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราว แม้ว่าจะไม่ทำให้เกิดข้อห้ามใดๆเพิ่มขึ้นจากที่เป็นอยู่ก็ตาม แต่ผลที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คงคาดได้ไม่ยากว่า ผู้มีอำนาจทั้งหลายจะยิ่งอ้างและบิดเบือนกฎหมายประชามติเพื่อข่มขู่ปิดปากประชาชนมากยิ่งขึ้นไปอีก

นอกจากนั้น ในกรณีล่าสุดที่มีการจับกุมคุมขังนักศึกษาที่ไปแจกเอกสารแสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งดำเนินคดีในศาลทหารในข้อหาขัดคำสั่ง คสช.ที่ห้ามชุมนุมมั่วสุมทางการเมือง ยิ่งทำให้เหตุการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก เนื่องจากการแจกเอกสารเป็นการเผยแพร่ความคิดเห็นวิธีหนึ่งที่ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม มาตรา 7 ของกฎหมายประชามติ ทาง คสช.ซึ่งปากก็พร่ำอยู่ตลอดว่าให้ทุกคนทำตามกฎหมาย แต่กลับไม่เคารพกฎหมายเสียเอง หากเลือกที่จะใช้คำสั่งของตนตามอำเภอใจอย่างไร้เหตุผล ละเมิดสิทธิมนุษยชน และเลือกปฏิบัติอย่างชัดเจน

ผู้มีใจเป็นธรรมทั้งหลายคงต้องช่วยกันยืนยันว่า การแสดงความคิดเห็นก็ดี เผยแพร่ความคิดเห็นก็ดี หรือการรณรงค์ก็ดี ล้วนเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมายและเป็นสิทธิอันชอบธรรมด้วยประการทั้งปวง กับจะต้องช่วยกันยืนยันด้วยว่าการทำประชามตินั้นเป็นการอาศัยกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยมาใช้แก้ปัญหาให้ได้ข้อยุติ ในกรณีที่สังคมมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันในเรื่องสำคัญ การทำประชามติจึงต้องเป็นไปโดยเสรีและเป็นธรรม

การทำประชามติแบบ ‘มัดมือชก’ อย่างที่เป็นอยู่ รังแต่จะทำให้การทำประชามตินี้ขาดความชอบธรรมลงไปทุกที ทั้งยังส่งผลให้เกิดความสงสัยไม่เชื่อถือต่อร่างรัฐธรรมนูญเองด้วย หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบในการลงประชามติไปในสภาพที่ไม่เป็นธรรมเช่นนี้ ร่างรัฐธรรมนูญเองก็จะไม่มีทางเป็นที่ยอมรับของประชาชนส่วนใหญ่ไปได้ และนั้นก็หมายความว่าประเทศไทยจะต้องจมอยู่ในวิกฤตความขัดแย้งโดยไม่อาจหลุดพ้นไปอีกยาวนาน

อย่าใช้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาปิดปากประชาชน

หยุดใช้อำนาจตามอำเภอใจ

ประชาชนต้องมีเสรีภาพ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท