รายงานพิเศษ: หรือ ‘พุทธไทย’ ไม่มีที่ยืนให้ LGBT?

องค์กรสงฆ์ตีความพระไตรปิฎกห้ามคนหลากหลายทางเพศบวช เหมารวมทำศาสนาพุทธเสื่อมเสีย แต่พระผู้ชายกลับเป็นแค่เรื่องตัวบุคคล ขณะกฎหมายเท่าเทียมระหว่างเพศยังให้เลือกปฏิบัติได้ถ้าเกี่ยวกับหลักศาสนา นักวิชาการชี้พระไตรปิฎกมีการเสริมแต่งภายหลังเพื่อกีดกันคนบางกลุ่ม หนุนให้กลับไปหาหลักธรรมเดิมและตีความให้สอดคล้องกับสิทธิมนุษยชน


ภาพโดย neil banas (CC BY-NC 2.0)
 

เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2559 ทางสำนักงานเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร วัดสามพระยาเขตพระนคร ได้ทำหนังสือเรื่อง ‘พระภิกษุสามเณรมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ’ แจ้งไปยังเจ้าคณะเขตทุกเขตในกรุงเทพมหานคร เนื้อหาในหนังสือดังกล่าว ระบุว่ามีพระภิกษุและสามเณรบางกลุ่มมีพฤติกรรม ‘เบี่ยงเบนทางเพศ’ และแสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมแก่สมณสารูป ทั้งยังโพสต์ภาพลงในโซเชียล มิเดียต่างๆ ทำให้พระพุทธศาสนาเกิดความเสื่อมเสีย และได้กำชับให้เจ้าอาวาสต้องดูแลพระภิกษุ-สามเณรในสังกัด หากพระภิกษุ-สามเณรที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศไม่เชื่อฟัง ก็ให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามกฎของมหาเถรสมาคม

นอกจากนี้ ทางเว็บไซต์มติชน (http://www.matichon.co.th/news/191072 ) ยังได้เผยแพร่คำสัมภาษณ์ของพระราชวิจิตรปฏิภาณหรือเจ้าคุณพิพิธ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามราชวรมหาวิหาร เจ้าคณะเขตดุสิต ต่อกรณีนี้ด้วยว่า แนวทางแก้ปัญหาเพื่อไม่ให้พระภิกษุสามเณรที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศสร้างความเสื่อมเสียให้ศาสนา เจ้าอาวาสต้องพิจารณากุลบุตรที่เข้ามาบวชในวัดว่ามีพฤติกรรมดังกล่าวหรือไม่ ถ้าพบว่ามีก็ไม่อนุญาตให้บวช และต้องตรวจพฤติกรรมหลังบวชด้วย หากต่อมแต๋วแตกต้องให้ลาสิกขาเพศ เพราะถ้าให้อยู่ในสมณเพศก็ไม่สามารถแก้ไขพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศได้ เรื่องนี้หากเจ้าอาวาสบกพร่อง หรือไม่พิจารณาให้ดี เจ้าอาวาสเองอาจถูกตรวจสอบ โดนพักงาน และอาจมีโทษร้ายแรงให้ปลดจากตำแหน่ง เพราะรับบุคคลที่มีพฤติกรรมดังกล่าวเข้ามาทำความเสื่อมเสียให้ศาสนา ซึ่งเป็นอันตรายทั้งต่อเจ้าอาวาสและต่อคณะสงฆ์

วิเคราะห์จากเนื้อหาในหนังสือและคำให้สัมภาษณ์ แสดงให้เห็นว่ามหาเถรสมาคมและพระชั้นผู้ใหญ่ยังตามไม่ทันโลกสมัยใหม่และไม่มีความเข้าใจความหลากหลายทางเพศ เพราะยังคงใช้ถ้อยคำเชิงลบอย่างคำว่า ‘เบี่ยงเบนทางเพศ’

แน่นอนว่า เมื่อผู้ใดเพศใดบวชในพุทธศาสนาแล้ว ก็ควรปฏิบัติตามกฎกติกาของศาสนา แต่นั่นก็เป็นคนละเรื่องกับการห้ามบุคคลหลากหลายทางเพศบวช เพราะการใช้ชีวิตในร่มเงาศาสนาถือเป็นสิทธิของแต่ละบุคคล อีกทั้งก็มีคนหลากหลายทางเพศบวชเป็นพระภิกษุที่ประพฤติตนในกรอบกติกา การห้ามบุคคลหลากหลายทางเพศบวชจึงวางอยู่บนอคติและกติกาในแบบที่มหาเถรสมาคมเป็นผู้กำหนด

แม้แต่ผู้หญิงยังถูกห้ามบวช

นับจากอดีต ศาสนาเป็นดินแดนต้องห้ามของคนหลากหลายทางเพศ นอกจากพวกเขาและเธอจะก้าวเข้าไปไม่ได้แล้ว บางกรณียังถูกคนในร่มเงาศาสนาก้าวออกมาประหัตประหาร

สำหรับพุทธแบบไทยที่ติดตรึงกับความเชื่อว่าตนเป็นพุทธแท้ มีการปฏิบัติที่เข้มงวด เป็นของเก่าแก่ดั้งเดิม และยึดมั่นกับพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด รวมถึงการเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างรัฐสมัยใหม่มาตั้งแต่อดีต ส่งผลให้พุทธแบบไทยทางการที่ผูกพันกับอำนาจรัฐและอำนาจของมหาเถรสมาคม (มส.) ไม่มีที่อยู่ที่ยืนให้แก่ ‘ผู้หญิง’ ในฐานะนักบวช

มติของ มส. เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 ธันวาคม 2557 ระบุว่า ให้คณะสงฆ์ทั่วประเทศปฏิบัติตามประกาศของกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ เรื่องห้ามพระเณรไม่ให้บวชหญิงเป็นบรรพชิต พ.ศ.2471 โดยห้ามมิให้พระภิกษุสามเณรทุกนิกายบวชผู้หญิงเป็นภิกษุณี เป็นสิกขมานา เป็นสามเณรี ด้วยเหตุผลที่ว่า นางภิกษุณีสาบสูญขาดเชื้อสายมานานแล้ว

เมื่อผู้หญิงยังถูกห้ามบวช จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่คนหลากหลายทางเพศจะใช้ชีวิตในร่มเงาศาสนาพุทธตามแรงศรัทธา เพราะไม่เพียงคัมภีร์ในพุทธศาสนาหรือพระไตรปิฎกที่ห้ามไม่ให้คนหลากหลายทางเพศบวช ซึ่งถือเป็นอุปสรรคสำคัญแล้ว ยังมีโครงสร้างอำนาจในการปกครองสงฆ์ไทยที่เป็นปราการขวางกั้น เป็นการปะทะกันระหว่างหลักศาสนากับหลักสิทธิมนุษยชนที่ยังหาจุดลงตัวไม่ได้

ความผิดที่ถูกเหมารวม

ข้อมูลจากเว็บของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ระบุว่า จำนวนพระภิกษุ-สามเณร ทั้งมหานิกายและธรรมยุต ทั่วประเทศในปี 2557 มีจำนวนทั้งสิ้น 348,433 รูป ซึ่งหากประเมินจากที่จตุรงค์ จงอาษา นักวิชาการอิสระด้านพระพุทธศาสนา เคยกล่าวกับเดลินิวส์ (http://m.dailynews.co.th/News.do?contentId=232218 ) ว่า จากข้อมูลการวิจัยเกี่ยวกับพระตุ๊ด เณรแต๋ว พบว่าจะพบพฤติกรรมพระตุ๊ด เณรแต๋ว ร้อยละ 10 จากจำนวนประชากรพระเณรทั้งหมด เท่ากับว่าจะมีพระและสามเณรที่มีอัตลักษณ์ทางเพศเป็นกะเทยประมาณ 3.4 หมื่นรูป

สิ่งนี้แสดงว่า แม้การตีความในพระไตรปิฎกจะยังมีความคลุมเครือในด้านถ้อยคำ แต่ในทางปฏิบัติมีพระและสามเณรที่มีอัตลักษณ์ทางเพศไม่ใช่ชายบวชอยู่ในพุทธศาสนาเป็นจำนวนมาก อีกด้านที่ต้องยอมรับคือภาพลักษณ์ของภิกษุสามเณรจำนวนหนึ่งที่แสดงออกซึ่งอัตลักษณ์ทางเพศของตนผ่านโซเชียลมีเดีย ในลักษณะที่ไม่เหมาะสมกับสมณเพศ ก็ก่อให้เกิดการต่อต้านจากสังคมในรูปแบบต่างๆ

จุดที่ชวนตั้งข้อสังเกตต่อการมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมก็คือ การเหมารวมว่าพระ-สามเณรทุกรูปที่ไม่ได้มีอัตลักษณ์ทางเพศเป็นชายล้วนมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ดังนั้น ทางแก้ปัญหามักจะมุ่งไปที่การห้ามคนกลุ่มนี้บวชและพระอุปัชฌาย์จะต้องเพิ่มความเข้มงวดในการคัดกรองผู้บวช บุญรอด บุญเกิด หัวหน้าภาควิชาศาสนาและปรัชญา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา เคยให้ความเห็นไว้กับเว็บไซต์ผู้จัดการว่า (www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9550000028788)

“ผู้นำระดับเจ้าอาวาส ระดับเจ้าคณะที่มีอำนาจในการปกครองต้องสอดส่องดูแลคนพวกนี้ ถ้าเขาเข้ามาบวชแล้วมีลักษณะเป็นอย่างนี้ก็กั้นออกไป คือให้สึกหรืออะไรก็แล้วแต่ แต่ไม่ควรให้อยู่ในวัด แล้วตัวของคนที่เป็นเองถ้ารู้ตัวว่าตัวเองเป็น มันจะเป็นจุดเศร้าหมองหรือจุดด้อยศาสนา ฉะนั้น ตัวเองไม่ควรที่จะอยู่”

ชวนให้ตั้งคำถามว่า กรณีที่พระ-สามเณรที่มีอัตลักษณ์ทางเพศเป็นชาย เมื่อมีข่าวคราวพฤติกรรมไม่เหมาะสม เหตุใดจึงไม่มีการห้ามผู้ชายบวช หรือเพราะพฤติกรรมนั้นๆ เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ถ้าอย่างนั้น พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของพระ-สามเณรที่อัตลักษณ์ทางเพศไม่ใช่ผู้ชายจึงไม่เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล แต่กลับถูกเหมารวมว่า ถ้าคนกลุ่มนี้บวชเป็นพระจะต้องมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมอย่างแน่นอน ดังนั้น ต้องไม่ให้คนกลุ่มนี้บวช?

พระไตรปิฎกห้ามคนหลากหลายทางเพศบวชหรือไม่?

พระไตรปิฎก เล่มที่ 4 พระวินัยปิฎก เล่มที่ 4 มหาวรรค ภาค 1 ระบุถึงบุคคลที่ห้ามบวชคือบัณเฑาะก์,

คนลักเพศ และอุภโตพยัญชนก

พระชาย วรธัมโม พระที่สนใจประเด็นเชิง Gender อธิบายความหมายของถ้อยคำเหล่านี้ว่า บัณเฑาะก์หมายถึงบุคคลที่มีอวัยวะเพศกำกวม มีเพียงรูสำหรับขับถ่าย ตามพระไตรปิฎกมีอยู่ 4 ประเภท ได้แก่ ผู้ที่ชอบอมองคชาติของผู้อื่น ผู้ที่มีความต้องการทุกข้างขึ้นข้างแรม ผู้ที่ถูกตัดอวัยวะเพศ และผู้ที่ชอบแอบดูคนร่วมเพศกัน

ขณะที่คนลักเพศหมายถึงคนที่ขโมยจีวรมาห่มหรือลักเพศสมณะ

ส่วนอุภโตพยัญชนกคือคนที่มีอวัยวะเพศเปลี่ยนแปลงไปมาได้ องคชาติเปลี่ยนเป็นโยนีหรือโยนีเปลี่ยนเป็นองคชาติได้ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทคือปุริโส อุภโตพยัญชนก หมายถึงมีสภาพร่างกายเป็นชายสามารถร่วมเพศกับผู้หญิงได้ แต่ก็สามารถร่วมเพศกับผู้ชายได้ด้วย โดยอวัยวะเพศจะเปลี่ยนเป็นของผู้หญิงเพื่อร่วมเพศกับผู้ชาย อีกประเภทคืออิตถี อุภโตพยัญชนก มีสภาพร่างกายเป็นผู้หญิงสามารถร่วมเพศกับผู้ชายได้ แต่หากต้องการร่วมเพศกับผู้หญิง อวัยวะเพศจะเปลี่ยนเป็นของผู้ชายเพื่อร่วมเพศกับหญิงได้เช่นกัน โดยอิตถี อุภโตพยัญชนกสามารถทำให้ฝ่ายหญิงตั้งครรภ์ได้และตนเองก็สามารถตั้งครรภ์ได้ แต่ถ้าเป็นปุริโส อุภโตพยัญชนกสามารถทำให้ฝ่ายหญิงตั้งครรภ์ได้ แต่ไม่สามารถตั้งครรภ์เองได้

เมื่อดูจากความหมายของถ้อยคำที่ปรากฏในพระไตรปิฎก พระชาย กล่าวว่า มหาเถระสมาคม (มส.) ตีความคำนี้ว่าหมายถึงกะเทยหรือผู้ชายที่มีบุคลิกเป็นผู้หญิง แต่บัณเฑาะก์ไม่ใช่กะเทย ส่วนคำว่าลักเพศก็ชัดเจนว่าไม่ได้มีความหมายแบบที่ใช้กันในปัจจุบันแต่อย่างใด ขณะที่อุภโตพยัญชนก มส.ตีความเป็นคนสองเพศ มีอวัยวะเพศสองอย่างในคนเดียวกัน เป็นอวัยวะเพศที่ไม่ได้เป็นแค่องคชาติอย่างเดียว แต่มีโยนีรวมอยู่ด้วย ถ้าในความหมายปัจจุบันก็น่าจะหมายถึงกลุ่มคนที่เรียกว่าอินเตอร์เซ็กส์ (Intersex)

การตีความบัณเฑาะก์และอุภโตพยัญชนกเช่นนี้ บวกกับการไม่อนุญาตให้มีการบวชภิกษุณี ย่อมเท่ากับการบวชเป็นพระในพุทธศาสนาของไทย ผูกขาดเฉพาะเพศชายเท่านั้น อย่างไรก็ตาม พระชายแสดงความเห็นว่า หากดูจากความหมายเดิมของพระไตรปิฎก

“พระพุทธเจ้าเคยอนุญาตให้บัณเฑาะห์บวช แสดงว่ายุคนั้นพุทธเจ้ายังไม่ได้เลือกปฏิบัติ แต่มีเรื่องว่าบัณเฑาะห์คนนี้ไปขอมีเพศสัมพันธ์กับพระรูปหนึ่งกับสามเณร แต่ถูกปฏิเสธ เลยไปขอมีเพศสัมพันธ์กับคนข้างๆ วัด เรื่องรู้ไปถึงหมู่สงฆ์ จริง ก็เลยเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า จริงๆ แล้วพระพุทธเจ้าไม่ได้พูดอะไร แต่คณะสงฆ์ที่ไปฟ้องพูดว่า ควรจะมีการกำหนดมิให้บัณเฑาะก์บวชตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

“ในยุคนั้นพระผู้ชายก็มีเซ็กส์ การมีเพศสัมพันธ์ยังไม่ได้ถูกยกขึ้นเป็นวินัย เพราะใครบวชเข้ามาก็รู้กันหมดว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ไม่ได้เป็นลายลักษณ์อักษรว่าห้ามเสพเมถุน เผอิญมีพระรูปหนึ่งชื่อพระสุทินที่ยังไม่มีผู้สืบสกุล ทางพ่อแม่พระสุทินก็เลยมาหาท่าน ตอนนั้นวินัยเรื่องประพฤติพรหมจรรย์ยังไม่มี พระสุทินถูกรบเร้าจากพ่อแม่ก็ยอม พอเกิดกรณีนี้ขึ้น ตอนหลังพระพุทธเจ้าจึงต้องบัญญัติว่าห้ามภิกษุสงฆ์มีเพศสัมพันธ์ ใครมีต้องปราชิก แต่ถ้าใครที่มีไปแล้วอย่างพระสุทิน ซึ่งเป็นต้นบัญญัติ ถือว่าไม่อาบัติ ยังเป็นพระได้ต่อ ในเมื่อผู้ชายก็มีหลุดไปมีเพศสัมพันธ์ แล้วทำไมไม่ห้ามผู้ชายบวช แต่พอบัณเฑาะก์ทำพลาดแค่ครั้งเดียวกลับถูกห้ามบวชเลย

กลุ่มที่ถูกประณามว่ามีความเป็นมนุษย์น้อย เช่น ชนพื้นเมือง ที่ในภาษาบาลีใช้คำว่าพวกนาค ซึ่งบวชไม่ได้ นัยคือมันมีปัญหาเกิดขึ้นสมัยหลังพุทธกาลแน่ๆ ว่า พุทธศาสนาถูกจำกัดเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่สำคัญคือเฉพาะผู้ชาย ... พระวินัยถูกต่อเติมในยุคหลังอีกมาก เพราะการที่อ้างว่าเป็นมนุษย์มั้ย เป็นบุรุษหรือเปล่า เป็นบัณเฑาะก์บวชไม่ได้ เป็นกะเทยบวชไม่ได้ ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เติมขึ้นมาทีหลัง กลับไปที่สมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสอนุญาตเวไนยสัตว์ให้บวชได้ สัตว์ที่สอนได้ กะเทย ทอม เกย์ ตุ๊ด ถ้ามีความปรารถนานิพพานย่อมมีสิทธิที่จะบวชได้

“ส่วนตอนแรกที่เห็นอุภโตพยัญชนก เราคิดว่าไม่ใช่มนุษย์ คนธรรมดาอวัยวะไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบนั้น น่าจะเป็นการทำให้คนที่มีอวัยวะเพศที่แตกต่างถูกทำให้น่ากลัว เป็นปีศาจ ไม่ใช่มนุษย์ คุณก็จะไม่ได้บวช อันนี้น่าจะเป็นมายาอีกข้อหนึ่งของงานเขียนในพระไตรปิฎกที่ปรากฏอยู่ นอกเหนือจากความหมายของบัณเฑาะก์ที่ถูกเขียนไว้แล้ว”

เมื่อเป็นเช่นนี้ พระชายจึงมีทัศนะว่า พระไตรปิฎกไม่ได้ห้ามบุคคลหลากหลายทางเพศบวชดังที่มหาเถระสมาคมตีความ

หลักศาสนาเป็นเหตุให้เลือกปฏิบัติได้

ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights) ข้อ 18 กล่าวว่า ทุกคนมีสิทธิในอิสรภาพแห่งความคิดมโนธรรม และศาสนา ทั้งนี้สิทธินี้รวมถึงอิสรภาพในการเปลี่ยนศาสนาหรือความเชื่อ และอิสรภาพในการแสดงออกทางศาสนาหรือความเชื่อถือของตนในการสอน การปฏิบัติการสักการะบูชาและการประกอบพิธีกรรม ไม่ว่าจะโดยลำพังหรือในชุมชนร่วมกับผู้อื่น และในที่สาธารณะหรือส่วนบุคคล

ปัจจุบัน ‘เพศ’ มีความหลากหลายมากกว่าแค่หญิง-ชาย กระแสสิทธิมนุษยชนเองก็ให้ความสำคัญต่อเสรีภาพในการนับถือศาสนาโดยไม่เลือกว่าจะเป็นเพศใด ขณะที่ ‘พุทธไทย’ ที่เป็นทางการและอิงกับมหาเถรสมาคมยังคงห้ามผู้หญิงและคนหลากหลายทางเพศบวช ทำให้พุทธไทยกำลังเผชิญความท้าทายอย่างยิ่งยวดจากกระแสสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า พุทธไทยยังคงมีอิทธิพลสูงยิ่งในสังคม ทั้งในมิติของการเมือง สังคม วัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งกฎหมาย เป็นเพราะพุทธศาสนามีส่วนสำคัญต่อการก่อรูปรัฐชาติไทย ทำให้ความเป็นพุทธกับความเป็นไทยถูกผสานเป็นเนื้อเดียว พุทธศาสนาถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของความมั่นคงของชาติ หากเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้คิดว่าพุทธศาสนาถูกกระทบกระทั่ง ย่อมเกิดการตีขลุมไปว่าความเป็นชาติไทยถูกกระทบกระเทือนโดยปริยาย

อิทธิพลของพุทธไทยอาจเห็นได้จาก พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 มาตรา 17 ที่กล่าวว่า การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศจะกระทํามิได้ ยกเว้น ‘เป็นการปฏิบัติตามหลักการทางศาสนา’

“นั่งอยู่ในคณะกรรมการวิสามัญตอนนั้นที่ถกเถียงกันเรื่องนี้ มันเป็นความกังวลของนักกฎหมาย เราต้องเข้าใจว่านักกฎหมายเป็นนักเทคนิคที่มีความกังวลเรื่องกฎหมายเยอะ เขาจึงกังวลว่าถ้าเกิดเหตุฟ้องร้องเกี่ยวกับศาสนาที่มีข้อห้ามอาจเกิดความวุ่นวาย จึงต้องขยักไว้และรอดูในทางปฏิบัติว่าเกิดปัญหาอะไรและจะแก้กันยังไง แต่สิ่งที่ต่อสู้กันมา ท่านประธานกรรมาธิการก็ใช้คำว่าหลักศาสนา หมายความว่าให้คำว่าหลักไปอยู่ใน พ.ร.บ.ให้ได้ เพื่อให้คณะกรรมการวินิจฉัยความเท่าเทียมระหว่างเพศตีความจากตรงนี้ ถ้าการเลือกปฏิบัตินั้นเกิดจากความเชื่อไม่ใช่หลักการศาสนาที่ถูกบัญญัติไว้ก็ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ” รณภูมิ สามัคคีคารมย์ ประธานเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย และอาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าว

ด้าน ดนัย ลินจงรัตน์ ผู้อำนวยการสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย เห็นไปในทางเดียวกันว่า แม้เรื่องส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศจะมีต้นเหตุมาจากศาสนา วิชาการ หรือความมั่นคง แต่กฎหมายนี้ได้เปิดโอกาสให้คนโลกเก่ากับกับโลกใหม่ได้เรียนรู้กัน และเชื่อว่าเมื่อเกิดการปะทะสังสรรค์กันแล้ว สุดท้ายจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนกฎหมายในอนาคตเอง

พระไตรปิฎกถูกเติมแต่ง ต้องย้อนกลับไปหาหลักธรรมดั้งเดิม

ด้านสมฤทธิ์ ลือชัย นักวิชการอิสระด้านอุษาคเนย์ศึกษา อธิบายว่า กรณีนี้ต้องย้อนกลับไปหาแก่นธรรมคำสอนของพุทธศาสนา พุทธศาสนาเป็นศาสนาแรกๆ ของโลกที่เปิดพื้นที่ให้แก่สตรี ซึ่งในสังคมของชมพูทวีป ณ เวลานั้น สตรีเป็นกลุ่มชนชั้นสองแม้จะอยู่ในวรรณะพราหมณ์หรือกษัตริย์ก็ตาม เหตุนี้ โดยหลักการแล้ว พุทธศาสนาไม่มีการแยกบุรุษสตรี

ส่วนในกรณีคนหลากหลายทางเพศ สมฤทธิ์ กล่าวว่า ในพระไตรปิฎกมีการสอดแทรกบางเรื่องที่น่าจะถูกตีความว่าเป็นคนหลากหลายทางเพศ เช่น มีพระภิกษุรูปหนึ่งที่ติดใจรูปร่างหน้าตาของพระพุทธเจ้า ไปไหนก็ชอบมองแต่พระพุทธเจ้า อย่างนี้ก็มีการตีความว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่ภิกษุรูปนี้จะชอบผู้ชาย หมายความว่าไม่ว่าใครก็ตามที่เป็นเวไนยสัตว์ แปลว่าสัตว์ที่สอนได้ เมื่อมนุษย์ทุกคนเป็นเวไนยสัตว์ย่อมหมายความว่ามนุษย์ทุกคนสามารถบวชได้

ผมคิดว่าแกนหลักของคำสอนพุทธจริงๆ คือการให้คุณค่ากับความเป็นมนุษย์ของคน ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพศอะไรต่างมีโพธิปัญญาหรือพุทธภาวะที่จะพัฒนาให้เกิดการตื่นรู้ต่อความทุกข์ของตัวเองและเพื่อนมนุษย์และสามารถเรียนรู้ฝึกฝนหาทางแก้ไขได้ ธรรมวินัยเป็นเรื่องของการสร้างโอกาสให้คนได้พัฒนาความเป็นมนุษย์ ในโลกที่เปิดกว้าง การตีความธรรมวินัยต้องเปิดกว้างให้โอกาสทุกคนได้พัฒนาความเป็นมนุษย์ของตนอย่างเท่าเทียมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ใช่ยึดตามตัวอักษรแบบที่ทำกันมานาน

ทว่า อุปสรรคใหญ่โตคงหนีไม่พ้นคัมภีร์ศาสนา-พระไตรปิฎก ที่พุทธไทยให้ความสำคัญชนิดที่แตะต้องไม่ได้และประกาศว่าจะต้องยึดถือตามคัมภีร์อย่างเคร่งครัด (แน่นอนว่ามีหลากกรณีที่พระไตรปิฎกไม่ได้ระบุไว้ แต่พระสงฆ์ไทยก็ทำสิ่งที่นอกเหนือพระไตรปิฎก) อีกทั้งยังถูกผูกขาดการตีความโดยมหาเถรสมาคม ซึ่งสมฤทธิ์ กล่าวว่าต้องเข้าใจว่าพระไตรปิฎกหรือพระวินัยมีการเติมแต่งในยุคหลัง ถ้ากลับไปสมัยพุทธกาล การบวชไม่มีการสอบถามแบบนี้ พระพุทธเจ้าไม่เคยถามว่าพ่อแม่อนุญาตหรือไม่ ทางการอนุญาตหรือไม่ คุณเป็นมนุษย์หรือเปล่า สิ่งเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาภายหลัง เพื่อป้องกันพุทธศาสนาให้อยู่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

“กลุ่มที่ถูกประณามว่ามีความเป็นมนุษย์น้อย เช่น ชนพื้นเมือง ที่ในภาษาบาลีใช้คำว่าพวกนาค ซึ่งบวชไม่ได้ นัยคือมันมีปัญหาเกิดขึ้นสมัยหลังพุทธกาลแน่ๆ ว่า พุทธศาสนาถูกจำกัดเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ที่สำคัญคือเฉพาะผู้ชาย ถึงมีตำนานว่านาคบวชไม่ได้ คำว่า นาค ไม่ได้หมายความว่าเป็นสัตว์จริงๆ ในแง่มานุษยวิทยา นาคแปลว่าคนพื้นเมือง พระวินัยถูกต่อเติมในยุคหลังอีกมาก เพราะการที่อ้างว่าเป็นมนุษย์มั้ย เป็นบุรุษหรือเปล่า เป็นบัณเฑาะก์บวชไม่ได้ เป็นกะเทยบวชไม่ได้ ผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เติมขึ้นมาทีหลัง กลับไปที่สมัยพุทธกาล เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสอนุญาตเวไนยสัตว์ให้บวชได้ สัตว์ที่สอนได้ กะเทย ทอม เกย์ ตุ๊ด ถ้ามีความปรารถนานิพพานย่อมมีสิทธิที่จะบวชได้”

ถามว่านี่คือการตีความให้เข้ากับยุคสมัยใช่หรือไม่ สมฤทธิ์ตอบว่า จะว่าอย่างนั้นก็ใช่ แต่เขากลับเห็นว่าเป็นการย้อนไปยึดคำสอนดั้งเดิมมากกว่า ไม่ใช่การตีความใหม่ เขาขยายความว่าเป็นการตรวจสอบกับหลักศาสนาดั้งเดิม

“ผมบอกได้เลยว่าพระไตรปิฎกมีการเติมแต่งไม่มากก็น้อย โดยฝีมือของลังกา ในกรณีของลังกาพยายามจะเอาตนเองเป็นแม่แบบของความเป็นพุทธและใส่การตีความของตนลงไป ในลังกาจึงมีปัญหามาก ผมยกตัวอย่าง ปัจจุบัน สยามวงศ์ในลังกาจะไม่บวชให้แก่ชนชั้นล่าง แต่จะบวชให้เฉพาะชนชั้นสูงของลังกา ชนชั้นล่าง กรรมกร แรงงานบวชไม่ได้ ต้องหนีไปบวชกับพม่า มอญ จึงกลายเป็นนิกายอมรปุระ นิกายรามัญวงศ์ ถ้าเราอ่านประวัติศาสตร์ของลังกา เราจะเห็นว่าลังกามีการตีความพุทธศาสนาใหม่ ถ้าเราเชื่อพระไตรปิฎกที่ตกทอดมาโดยไม่คิด ก็ดูเหมือนว่าผมจะตีความใหม่ แต่ถ้าอ่านประวัติศาสตร์และเข้าใจหลักศาสนา อย่าลืมว่าศาสนาที่กำลังพูดอยู่ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ แต่เป็นเรื่องของหลักศาสนา เราจึงควรย้อนไปที่ต้นกำเนิดศาสนา เมื่อต้นกำเนิดบอกว่าเมื่อคุณเป็นมนุษย์ เป็นเวไนยสัตว์ และบวชได้ นี่คือการย้อนกลับไปหาหลักคำสอนดั้งเดิมมากกว่าตีความใหม่”

หยุดตีความแบบคับแคบ-แยกรัฐออกจากศาสนา

สมฤทธิ์ กล่าวว่า พุทธไทยที่อยู่ภายใต้การครอบงำของมหาเถรสมาคม ซึ่งอยู่ภายใต้การครอบงำของรัฐไทยอีกที ทำให้การตีความคำสอนเป็นการตีความที่คับแคบ อยู่ภายใต้พื้นที่ของอำนาจของรัฐพุทธไทย ทางออกจากเรื่องนี้คือการกลับไปตรวจสอบและทำความเข้าใจพระวินัยว่ามีการเติมแต่งในภายหลัง ดังนั้น ทุกคนจึงมีสิทธิบวชได้ และถ้าบวชในประเทศไทยไม่ได้ก็ไปบวชที่อื่นที่อนุญาตให้บวช เช่นเดียวกับกรณีภิกษุณีสงฆ์ ถึงแม้มหาเถรสมาคมไม่ยอมรับสถานภาพอย่างเป็นทางการ แต่ในแง่ของพฤติกรรมแล้วสังคมยอมรับ กล่าวคือไม่ต้องไปสนใจองค์กรสงฆ์ไทย

ที่สำคัญที่สุดคือต้องแยกศาสนาออกจากรัฐ ให้ศาสนาเป็นเรื่องของชุมชน ของชาวบ้านและใช้พระธรรมวินัยเป็นตัวกำหนด จะทำให้มีบางวัดอนุญาตให้บวช บางวัดไม่อนุญาต คนที่ต้องการบวชก็จะมีทางเลือก

ด้าน สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการอิสระด้านศาสนา แสดงทัศนะว่า ในทางหลักการเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ โดยต้องตีความธรรมวินัยให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนโดยไม่เสียความหมายสำคัญ แต่ในทางปรากฏการณ์คงเป็นเรื่องที่จะเกิดกลุ่มต่างๆ มาต่อรองกับอำนาจคณะสงฆ์และอาจต้องใช้เวลา

“ผมคิดว่าแกนหลักของคำสอนพุทธจริงๆ คือการให้คุณค่ากับความเป็นมนุษย์ของคน ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพศอะไรต่างมีโพธิปัญญาหรือพุทธภาวะที่จะพัฒนาให้เกิดการตื่นรู้ต่อความทุกข์ของตัวเองและเพื่อนมนุษย์และสามารถเรียนรู้ฝึกฝนหาทางแก้ไขได้ ธรรมวินัยเป็นเรื่องของการสร้างโอกาสให้คนได้พัฒนาความเป็นมนุษย์ ในโลกที่เปิดกว้าง การตีความธรรมวินัยต้องเปิดกว้างให้โอกาสทุกคนได้พัฒนาความเป็นมนุษย์ของตนอย่างเท่าเทียมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ไม่ใช่ยึดตามตัวอักษรแบบที่ทำกันมานาน”

ถึงกระนั้นมีการมองว่า พระไตรปิฎกจะเป็นอุปสรรคสำคัญที่จะถูกหยิบยกขึ้นมากีดกันคนหลากหลายทางเพศ เพราะการละเมิดพระไตรปิฎกยังเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่พร้อมใช้สร้างกระแสได้เสมอ ซึ่งสุรพศเห็นว่า หากยังมีการอ้างพระธรรมวินัยเช่นนี้...

“ก็แปลว่าธรรมวินัยในมุมมองของเขาสอบไม่ผ่านการเคารพสิทธิมนุษยชน ที่ผมพูดถึงธรรมวินัยก็เพราะการบวชเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้อยู่แล้ว มันขึ้นกับว่าจะตีความให้บวชได้หรือไม่ ถ้าตีความไม่ได้ ปัญหาใหญ่ก็อยู่ที่คณะสงฆ์มีอำนาจตามกฎหมายมาควบคุมการตีความ จะแก้ปัญหานี้ได้จริงก็ต้องแยกศาสนาจากรัฐ”

เชื่อว่าการผูกขาดการตีความของมหาเถรสมาคมที่กีดกันเพศอื่นๆ ไม่ให้มีสิทธิบวชจะต้องเผชิญกับคำถามมากมายในอนาคต พุทธไทยที่มักกล่าวอ้างว่ามีความสอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนต้องตอบให้ได้ว่า แล้วเหตุใดจึงมีเพียงผู้ชายเท่านั้นที่บวชได้?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท