Skip to main content
sharethis

สนช.รับหลักการร่างพ.ร.บ.กสทช.ฉบับใหม่ ลดกรรมการสรรหาเหลือ7 คน พร้อมกำหนดคุณสมบัติเพิ่มเติม – เพิ่มอำนาจหน้าที่ด้วยแผนแม่บท ชี้คุมเข้ม-ตรวจสอบหลักเกณฑ์ใช้งบประมาณโดย สตง.

30 มิ.ย. 2559  ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งมี พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธาน พิจารณาร่างพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุ กระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ (อ่านร่างฯที่นี่)  

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมจาก ร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม  พ.ศ.2535  มีสาระสำคัญคือ เปลี่ยนแปลงจำนวนคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จาก 11 คนเหลือเพียง 7 คน โดยต้องเป็นผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม ด้านวิศวกรรม กฎหมาย เศรษฐศาสตร์ หรือการคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมทั้งกำหนดคุณสมบัติทั่วไปของ กสทช.เพิ่มเติมจากเดิม เช่น ต้องมีอายุระหว่าง 45-65 ปี เป็นหรือเคยเป็นข้าราชการพลเรือน พนักงานในหน่วยงานอื่นของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจที่ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าหัวหน้าส่วนราชการตั้งแต่ระดับกรมขึ้นไป
     
ในส่วนของการสรรหา กสทช.กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหา 7 คน ประกอบด้วย 1.ประธานศาลรัฐธรรมนูญ 2.ประธานศาลฎีกา 3.ประธานศาลปกครองสูงสุด 4.ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ 5.ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน 6.ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และ 7.ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย โดยคณะกรรมการสรรหาต้องพิจารณาคัดเลือกผู้สมัครที่คุณสมบัติเป็น กสทช.ให้ได้จำนวนสองเท่าของจำนวน กสทช. จากนั้นส่งให้วุฒิสภาลงมติคัดเลือกให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วันต่อไป
      
นอกจากนั้นได้เพิ่มเติมอำนาจหน้าที่ของ กสทช. โดยการจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ แผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม แผนความถี่วิทยุและแผนเลขหมายโทรคมนาคม แต่แผนดังกล่าวต้องสอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม
      
ขณะเดียวกัน ในร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าววางหลักเกณฑ์การใช้งบประมาณของกสทช.ให้เกิดความโปร่งใส โดยจัดตั้ง "กองทุนวิจัยพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ" จากเงินรายได้ที่จากการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ได้รับจากการจัดสรรคลื่น อย่างไรก็ดี การเก็บรักษา และการนำเงินกองทุนไปลงทุน ต้องคำนึงถึงความเสี่ยง และเป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการบริหารกองทุนกำหนด ส่วนการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี ต้องคำนึงถึงความคุ้มค่า และประสิทธิภาพอย่างสูงสุด รวมทั้งมอบอำนาจให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้งบประมาณของ กสทช. โดยหากพบว่าเป็นการใช้จ่ายเสียเปล่า สตง.ก็มีหน้าที่แจ้งให้กสทช.ทราบ เพื่อให้ดำเนินการ ปรับปรุงแก้ไขหรือระงับการดำเนินการตามควร

วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยังมีอีก3-4 ข้อกังวลจากฝั่งรัฐบาล คือหากร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังยกร่างอยู่มีผลบังคับใช้ จะมีผลต่อร่างกฎหมายนี้หรือไม่ หากสุดวิสัยต้องมีการแก้ไขยังสามารถแก้ไขได้ทันที, การทำกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับร่าง พ.ร.บ.เศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งต้องมีการตรวจสอบให้การปรับปรุงร่างเป็นไปในทิศทางเดียวกัน อีกทั้งร่างฯนี้ใช้เวลาและส่งให้กฤษฏีกาพิจารณาเป็นเวลากว่าปีเศษ จึงมีถ้อยคำที่อิงร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกที่สภาร่างรัฐธรรมนูญดำเนินการร่าง (ร่างบวรศักดิ์) ซึ่งหาก สนช.รับหลักการคงต้องตรวจสอบขัดเกลาให้สอดคล้องกัน และรัฐบาลตระหนักว่าก่อนการเสนอร่างกฎหมาย สนช. ได้มอบหมายให้คณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสารมวลชน สนช. ไปทำการศึกษาร่างกฎหมายนี้มาแล้วและมีรายงาน ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้ตรวจสอบศึกษารายงานแล้วเห็นว่ามีสาระมีเหตุผลที่น่าจะนำมาปรับปรุงแก้ไขได้

อย่างไรก็ดี ภายหลังการอภิปราย สมาชิกส่วนใหญ่แสดงความเป็นห่วงประเด็นที่มาและโครงสร้างของกรรมการ กสทช.,เหตุผลการเปลี่ยนแปลงจำนวนคณะกรรมการกสทช.ที่ลดลงจากเดิม, อำนาจหน้าที่ และอำนาจในการบริหารจัดการสำนักงาน กสทช. การบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ( กทปส.) ฯลฯ โดยนายวิษณุ ชี้แจงว่า รัฐบาลเชื่อว่า การพิจารณาของกรรมาธิการหากสภารับหลักการแล้ว จะสามารถปรับปรุงแก้ไขให้ร่าง พ.ร.บ.มีความสมบูรณ์ สอดคล้องกับความต้องการและความไว้วางใจของสังคมได้มากขึ้น

จากนั้นที่ประชุมได้มติเอกฉันท์รับหลักการวาระ 1 ด้วยคะแนน  162 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง และตั้งคณะกรรมาธิการจำนวน 17 คน และมีกำหนดระยะเวลาทำงานและส่งร่างพ.ร.บ.กลับมาให้สนช.ลงมติภายใน 60 วันเพื่อปรับปรุงแก้ไขก่อนที่นำกลับมาให้ สนช. พิจารณาในวาระต่อไป

 

 

ที่มา:
ผู้จัดการออนไลน์, คมชัดลึก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net