ASEAN Weekly: ปฏิรูปบริหารรัฐกิจวิถีพม่า ความท้าทาย และข้อจำกัด

มองการปฏิรูปการเมืองพม่ากับ ดุลยภาค ปรีชารัชช เมื่อชนะเลือกตั้งท่วมท้นแต่นั่งประธานาธิบดีไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญสมัยกองทัพปิดล็อก แต่พรรคเอ็นแอลดี/ประธานาธิบดีถิ่นจ่อ ก็ลงมติในสภาผ่านกฎหมายตั้ง 'ออง ซาน ซูจี' เป็นที่ปรึกษาแห่งรัฐ แถมนั่งกระทรวงต่างประเทศ และ สำนักงานประธานาธิบดี ส่งผลให้คุมนโยบายสาธารณะป้อนส่วนราชการและรัฐชาติพันธุ์

 

นอกจากนี้มีการปรับลดกระทรวงจาก 36 รมต. เหลือ 22 รมต. เพื่อความคล่องตัว อย่างไรก็ตามไม่อาจมองข้ามตัวแปรการเมืองสำคัญอย่าง 'กองทัพพม่า' ที่ถือมหายุทธศาสตร์จัดระเบียบความมั่นคงเฉพาะตัว และยังคุมสภากลาโหมฯ ที่อาจใช้การประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อดึงอำนาจรัฐบาลพลเรือนกลับมาอยู่ในมือกองทัพ

1 ก.ค. 2559 ASEAN Weekly สัปดาห์นี้พูดคุยกับ ดุลยภาค ปรีชารัชช ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประจำโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พูดคุยถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศพม่า หรือ สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ หลังรัฐบาลพลเรือนซึ่งนำโดยประธานาธิบดี ถิ่นจ่อ เริ่มปฏิรูปการเมืองเท่าที่กลไกภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2008 ยุครัฐบาลทหารจะอำนวย

ดุลยภาค เริ่มอธิบายรูปแบบการปกครองของพม่าหลังได้รับเอกราชเมื่อ ค.ศ. 1948 ว่าในยุคแรกพม่าปกครองในรูปแบบรัฐสภา มีประธานาธิบดีเป็นประมุขของรัฐ และมีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร ต่อมาหลังเข้าสู่รัฐบาลทหารเมื่อปี ค.ศ. 1962 สมัยนายพลเนวิน จนถึงสมัยรัฐบาลทหารพม่ายุค SLORC ถึง SPDC และพม่าภายใต้รัฐธรรมนูญปี 2008 ยุคเต็ง เส่ง เป็นประธานาธิบดี รูปแบบการปกครองได้เปลี่ยนเป็นระบอบประธานาธิบดี มีประธานาธิบดีเป็นทั้งประมุขของรัฐและเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร

ต่อมาหลังการเลือกตั้งทั่วไปปีที่ผ่านมา ที่พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี นำโดย ออง ซาน ซูจี ชนะท่วมท้น และแม้รัฐธรรมนูญจะมีข้อจำกัดทำให้ผู้นำตัวจริงอย่าง ออง ซาน ซูจี เป็นประธานาธิบดีไม่ได้ และการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เป็นไปได้ยากเพราะต้องใช้เสียงข้างมากเกิน 3 ใน 4 แต่พรรคเอ็นแอลดีซึ่งคุมเสียงทั้งสองสภาแห่งสหภาพ คือ สภาผู้แทนประชาชน และสภาชนชาติ ก็มีเสียงข้างมากเพียงพอที่จะผ่านกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ทำให้ ออง ซาน ซูจี ดำรงตำแหน่ง "ที่ปรึกษาแห่งรัฐ" อีกตำแหน่งหนึ่ง

นอกจากตำแหน่ง "ที่ปรึกษาแห่งรัฐ" ในคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ออง ซาน ซูจี ยังคุม 2 กระทรวงคือ กระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งทำให้ออง ซาน ซูจี มีที่นั่งในสภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ (NDSC) ที่สมาชิกเสียงข้างมากเป็นฝ่ายกองทัพพม่า

และอีกตำแหน่งคือ รัฐมนตรีประจำสำนักงานประธานาธิบดี ซึ่งทำให้ออง ซาน ซูจี คุมกลไกผลิตนโยบายสาธารณะต้นแบบที่จะแจกจ่ายให้กับกระทรวง และ ภาค/รัฐชนชาติต่างๆ ซึ่งทำให้รูปแบบปฏิบัติทางการเมืองทำให้รัฐพม่าใกล้เคียงกับรูปแบบการปกครองในระบอบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดี เหมือนฝรั่งเศส หรือรัสเซีย

นอกจากนี้รัฐบาลพม่ายังปรับโครงสร้างของการบริหารรัฐกิจ โดยปรับลดกระทรวงลง จากเดิมที่รัฐบาลประธานาธิบดีเต็ง เส่ง ตั้งรัฐมนตรี 36 ตำแหน่ง ในจำนวนนี้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักงานประธานาธิบดี 6 คน แต่รัฐบาลประธานาธิบดีถิ่น จ่อ ตั้งรัฐมนตรี 22 ตำแหน่งเท่านั้น และมีรัฐมนตรีประจำสำนักงานประธานาธิบดี 1 คน นั่นคืออ อง ซาน ซูจี โดยเป้าหมายการปรับลดกระทรวงก็เพื่อการลดความซ้ำซ้อน และลดการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาล

"ต้องมองระยะยาวว่านับจากนี้ ออง ซาน ซูจี จะเป็นแค่ผู้ให้คำปรึกษาเท่านั้นหรือไม่ แต่ก็เห็นแล้วว่าการสยายปีกในโครงสร้างอำนาจของเธอ การคุมตำแหน่งรัฐมนตรีที่สำคัญ ทำให้เธอเหยียบเข้าไปในตำแหน่งที่มีวิถีคล้ายๆ กับนายกรัฐมนตรี"

ดุลยภาค ประเมินด้วยว่า อาจจะไม่มีปัญหาเรื่องการทับซ้อนตำแหน่งระหว่าง ประธานาธิบดี ถิ่น จ่อ และที่ปรึกษาแห่งรัฐ ออง ซาน ซูจี เพราะมาจากพรรคการเมืองเดียวกัน สะท้อนการเมืองพม่าที่เหมือนการเมืองหลายประเทศ ที่บางครั้งเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยน สูตรการเมือง หรือนวัตกรรมการเมืองการปกครองก็เปลี่ยน

คำอธิบายภาพปก: ออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ รมว.ต่างประเทศ และ รมว.ประจำสำนักงานประธานาธิบดีพม่า พบกับชาวพม่าที่มารอต้อนรับ ระหว่างลงพื้นที่เยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านหัวอ่าว อ.สามพราน จ.นครปฐม ทั้งนี้ออง ซาน ซูจี เยือนประเทศไทยตามคำเชิญของรัฐบาลไทย ระหว่าง 23 ถึง 25 มิถุนายน 2559 ที่ผ่านมา (ที่มา:  สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดนครปฐม/สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์)

นอกจากนี้ยังมีประเด็นท้าทายรัฐบาลใหม่ ทั้งเรื่องการกระจายอำนาจ การปกครองรูปแบบสหพันธรัฐอย่างที่กลุ่มชาติพันธุ์เรียกร้อง รวมทั้งการจัดสรรทรัพยากร ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มชาติพันธุ์รู้สึกว่าไม่ได้รับประโยชน์เท่าที่ควร นอกจากนี้การสานต่อการเจรจาสันติภาพกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ก็เป็นเรื่องที่น่าจับตามอง หลังจากที่กระบวนการดังกล่าวได้รับการริเริ่มไว้โดยอดีตประธานาธิบดี เต็ง เส่ง

อีกตัวแปรสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คือ กองทัพพม่า ที่มีมหายุทธศาสตร์จัดระเบียบความมั่นคงด้วยตัวเอง ว่ากองทัพจะใช้ไม้ไหนในการเข้าร่วม หรือกระทั่งแทรกแซงกระบวนการสันติภาพ ทั้งนี้กองทัพพม่ายังคงหวาดระแวงว่าการเจรจาสันติภาพกับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์จะนำไปสู่การแยกสลายของสหภาพ และกองทัพเองก็จะต้องดูลู่ทางการเมือง แม้การเมืองในสภา สมาชิกสภาโควตากองทัพร้อยละ 25 อาจคานเสียงข้างมากของพรรคเอ็นแอลดีไม่อยู่ แต่การเมืองนอกสภา หากกองทัพพม่ากำหนดวงยุทธศาสตร์ขึ้นมาและประกาศภาวะฉุกเฉิน และใช้กลไกของสภากลาโหมและความมั่นคงแห่งชาติ (NDSC) ที่มีเสียงข้างมากเหนือกว่า ถ่ายโอนอำนาจรัฐบาลพลเรือนมาอยู่ในความควบคุมของผู้บัญชาการกองทัพพม่าได้ ซึ่งจะทำให้กองทัพกลายเป็นผู้ปกครองโดยตรงในบางพื้นที่ซึ่งประกาศภาวะฉุกเฉิน หรือขยายพื้นที่เพื่อควบคุมทั้งประเทศ แต่ฉากทัศน์นี้ก็ยังเป็นไปได้ยากอยู่

ติดตามข่าวสารจาก ASEAN Weekly ได้ที่ https://www.facebook.com/AseanWeekly/

ลงทะเบียนเพื่อติดตามวิดีโอจากประชาไททีวีที่

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท