Skip to main content
sharethis

1 ก.ค.2559 จากกรณีที่เจ้าของร้านกาแฟรายหนึ่ง ที่จ.แพร่ ได้โพสต์เฟซบุ๊กเผยแพร่เรื่องราว อ้างว่า ถูกเจ้าหน้าที่ลิขสิทธิ์ค่ายเพลงแห่งหนึ่งปรับเงิน 2 หมื่นบาท เนื่องจากเปิดเพลงจากยูทูปภายในร้านนั้น ทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในโลกออนไลน์ 

โดยเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. ที่ผ่านมา ข่าวสดออนไลน์  ได้สอบถามไปยังผู้โพสต์ คือ สุรชาญ มุ้งตุ้ย เปิดเผยว่า เหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 มิ.ย. โดยตนขายกาแฟ ขนม ไม่มีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใดๆ ระหว่างที่เปิดร้านตามปกติ มีผู้หญิงสองคนเข้ามานั่งในร้าน สั่งกาแฟทาน สักพักมีผู้ชายเข้ามาถามหารีสอร์ตในละแวกใกล้เคียงว่ามีตรงไหนบ้าง ซึ่งมีการแอบบันทึกเสียงในช่วงเวลาดังกล่าวไว้ หลังจากนั้น ตนได้ออกไปทานข้าวข้างนอกโดยลูกน้องได้โทรมาบอกว่า ตำรวจเข้าร้านและจะจับเรื่องลิขสิทธิ์ จากนั้นเมื่อกลับมาเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ให้ไปคุยที่โรงพัก และมีการแจ้งว่า ทางร้านละเมิดลิขสิทธิ์เพลง โดยที่ตนเองไม่ได้มีความรู้เรื่องกฎหมายมากนัก สุดท้ายก็ได้จ่ายเงินค่าปรับต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจไป 20,000 บาท เพื่อยอมความ 

ซึ่งผู้สื่อข่าวข่าวสดได้สอบถามไปยังบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) ถึงกรณีที่มีการเผยแพร่เสียงหรือผลิตภัณฑ์ของทางต้นสังกัดในร้านกาแฟแห่งหนึ่งในจังหวัดแพร่ ระบุได้ว่า เป็นการเข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์ ตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ในมาตรา 27-31 ในลักษณะของการเผยแพร่สู่สาธารณะโดยไม่ได้รับการอนุญาต

'ทีโบน-เบิร์ดกะฮาร์ท' โพสต์ถึงร้านกาแฟเปิดเพลงได้ฟรี 

ล่าสุดวันนี้ (1 ก.ค.59) วงดนตรี ทีโบน ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก 'T-bone' ระบุว่า ถึงร้านกาแฟที่รัก เปิดเพลงของ T-bone ได้ทุกร้าน ทีโบนอนุญาต ให้เปิดได้ ตามสบายถ้าทำให้บรรยากาศดีขึ้น ทีโบนยินดี ถ้าร้านกาแฟใดโดนข้อหาเปิดเพลงของทีโบน โปรดแจ้งให้ท่านทราบด้วยว่า ทีโบนให้เปิดได้ฟรี

ด้าน "เบิร์ดกะฮาร์ท" ก็ได้โพสต์ข้อความในลักษณะเดียวกันผ่านเฟซบุ๊ก 'Byrd & Heart' ระบุว่า ผู้ประกอบการธุรกิจที่ไหน ไม่มีเพลงเปิดให้ลูกค้าฟังเพราะกังวลเรื่องลิขสิทธิ์ ก็เอาเพลงของ Byrd & Heart ไปเปิดได้เลย ไม่มีเจ้าหน้าที่ไปจับ แต่เบิร์ดกับฮาร์ท อาจจะขอไปแจกลายเซ็นถึงที่ ‎หาฟังได้ตาม Youtube ทั่วไป‬ ‪มีคนอัพไว้เยอะ‬ ‪ไม่เคยได้ค่าลิขสิทธิ์เลย‬

ทนายยกฎีกาชี้ไม่เป็นความผิด-ไม่ได้หากำไรโดยตรง

ก่อนหน้านี้ (28 มิ.ย.59) ทนายความ เกิดผล แก้วเกิด โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก 'เกิดผล แก้วเกิด' อธิบายกรณี การเปิดเพลงให้ลูกค้าฟังในร้านกาแฟ/ร้านอาหารโดยไม่ได้เรียกเก็บค่าตอบแทนจากลูกค้าในการเปิดเพลงนั้น "ไม่เป็นความผิด" เพราะมิได้เป็นการหากำไร โดยตรงจากการละเมิดลิขสิทธิ์ แม้จำเลยจะให้การรับสารภาพ ศาลก็ลงโทษไม่ได้ โดยหยิบยกคำพิพากษาของศาลมาแสดงเป็นตัวอย่างดังนี้

ฎีกาที่ 10579/2551
โจทก์บรรยายฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฯ มาตรา 31 โดยโจทก์บรรยายฟ้องเพียงแต่ว่าจำเลยเปิดแผ่นเอ็มพี 3 และซีดีเพลงให้ลูกค้าในร้านอาหารของจำเลยได้ร้องและฟังเพลงของผู้เสียหายจำนวน 1 เพลง เพียง "เพื่อประโยชน์ในทางการค้า" ขายอาหารและเครื่องดื่มของจำเลย ซึ่งความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวต้องเป็นการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น "เพื่อหากำไร" เท่านั้นแต่ตามคำบรรยายฟ้องไม่ปรากฏว่าจำเลยกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าได้ร้องและฟังเพลง โดยเรียกเก็บค่าตอบแทนจากลูกค้าในการเปิดเพลงดังกล่าวหรือเรียกเก็บรวมไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ ฯ มาตรา 31 เพราะไม่ครบองค์ประกอบความผิดของบทมาตราดังกล่าวซึ่งต้องเป็นการกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการละเมิดลิขสิทธิ์นั้นด้วย ดังนั้น แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ ทั้งนี้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 185

ฎีกาที่ 8220/2553
ความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ต้องเป็นการเผยแพร่งานนั้นต่อสาธารณชน "เพื่อหากำไร" ซึ่งหมายความว่า กำไรนั้นหากจำเลยได้มาหรือจะได้มาจะต้องเกิดจากการกระทำแก่งานที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่น แต่ตามที่โจทก์บรรยายฟ้องมานั้นได้ความว่า จำเลยประกอบกิจการค้าขายอาหารตามสั่งและเครื่องดื่มจำเลยเปิดแผ่นวีซีดีเพลง "กำลังใจที่เธอไม่รู้" อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหาย ซึ่งได้มีผู้ทำขึ้นหรือดัดแปลงขึ้นให้ลูกค้าในร้านอาหารของจำเลยได้ฟัง ไม่ปรากฏว่าจำเลยเปิดเพลงดังกล่าวเพื่อหากำไรโดยตรงจากการที่ให้ลูกค้าได้ฟังเพลงโดยการเรียกเก็บค่าตอบแทนจากลูกค้าในการเปิดเพลงดังกล่าว หรือเรียกเก็บเพิ่มรวมไปกับค่าอาหารและเครื่องดื่มแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยตามฟ้องจึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 31 ประกอบมาตรา 70 วรรคสอง เพราะไม่ครบองค์ประกอบความผิดของบทมาตราดังกล่าวซึ่งต้องเป็นการกระทำเพื่อหากำไรโดยตรงจากการละเมิดลิขสิทธิ์แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 185 วรรคหนึ่ง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net