สัมภาษณ์: วริษา สุขกำเนิด “นักเรียนเป็นคนที่มีอำนาจน้อยสุดในโรงเรียน”

คุยกับ ‘กระติ๊บ’ วริษา สุขกำเนิด เลขาธิการคนใหม่กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทถึงปัญหาสิทธิเสรีภาพทางการศึกษาผ่านเรื่องราวจากรั้วโรงเรียน เมื่อครูไม่รับฟังความคิดเห็น เด็กหมดสิทธิตั้งคำถาม ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ระบบโรงเรียน

วริษา สุขกำเนิด

นักเรียนที่จะเป็นอนาคตของประเทศยังถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพตั้งแต่อดีต-ปัจจุบัน พูดคุยกับ ‘กระติ๊บ’  หรือ วริษา สุขกำเนิด นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนโยธินบูรณะ หลังกลับจากเรียนแลกเปลี่ยนที่ประเทศเดนมาร์ก เธอเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการศึกษาเพื่อความไท  และกำลังสนุกกับการสะสมประสบการณ์ในรั้วโรงเรียนเพื่อนำมาบอกเล่า สะท้อนปัญหาสิทธิเสรีภาพทางการศึกษาที่เกิดขึ้น

เหตุผลที่เริ่มสนใจประเด็นสิทธิการศึกษา

ตอนประถมเรียนในโรงเรียนทางเลือกที่เน้นกระบวนการหาความรู้แล้วพอขึ้นมัธยมย้ายมาเรียนในโรงเรียนรัฐบาล ถูกตรวจทรงผม ตรวจถุงเท้า เลยสัมผัสได้ถึงความแตกต่าง สงสัยว่าระบบโรงเรียนของเรามีปัญหาหรือเปล่า แล้วรู้สึกอยากเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง จึงอยากเข้ามาหาประสบการณ์ในกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไท

เห็นความแตกต่างอะไรบ้างระหว่างโรงเรียนทางเลือกที่เคยเรียนกับโรงเรียนรัฐบาลที่เรียนอยู่

ขอยกตัวอย่าง โรงเรียนทางเลือกมีการให้นักเรียนลงภาคสนาม ไปทัศนศึกษาแล้วกลับมาทำโครงงานร่วมกัน การเรียนในห้องเรียนเกิดจากการตั้งคำถามไม่เหมือนกับโรงเรียนรัฐบาลที่ครูจะสั่งให้นักเรียนอ่านหนังสือ ทำแบบฝึกหัด บางวิชาครูก็เขียนบนกระดานแล้วให้นักเรียนจดตาม

หลักสูตรการศึกษาตอบโจทย์แต่ละช่วงชีวิตแค่ไหน

หลักสูตรการศึกษาทำให้เราได้รู้อะไรมากขึ้น แต่กระบวนการเรียนรู้หรือวิธีการที่เราจะได้รู้มันไม่ค่อยตอบโจทย์ชีวิตสักเท่าไหร่ เหมือนเป็นการยัดความรู้ใส่หัวนักเรียน แล้วเราก็ไม่รู้ว่าจะเอาสิ่งที่เรียนมาใช้ในชีวิตประวันอย่างไร เช่น วิชาภูมิศาสตร์ ครูก็จะสอนว่าทำไมถึงเกิดไฟป่า ภูมิประเทศแบบไหนที่เอื้อให้เกิดไฟป่า เมื่อครูพูดถึงแต่ทฤษฏี นักเรียนก็ไม่รู้ว่าจะเอามาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไรบ้าง บางครั้งก็รู้สึกว่าเราเรียนไปเพื่อสอบ บางวิชาที่ไม่ชอบ แต่พอจะสอบก็ต้องหยิบขึ้นมาอ่าน พอสอบเสร็จก็ลืม เหมือนท่องจำแต่ไม่ได้ให้ความสำคัญว่าวิชานั้นสำคัญกับชีวิตอย่างไร

แล้วการเป็นนักเรียนในระบบโรงเรียนที่ตนเองมองว่ามีปัญหาเป็นอย่างไรบ้าง

ตื่นเช้าไปโรงเรียน กลับบ้านมาทำการบ้าน เหมือนไม่มีเวลาทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ คล้ายๆ ว่าค่านิยมทางการศึกษาให้เด็กสนใจแต่การเรียนอย่างเดียวจนทำให้สิ่งอื่นไม่มีความหมาย ครูก็ไม่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้คิดสิ่งใหม่ๆ และไม่ได้ยอมรับความคิดเห็นของเด็ก อย่างตอนนั้นครูถามว่าศิลปะคืออะไร พอเราตอบว่าคือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ไม่ใช่การลอกเลียนแบบ ครูก็บอกว่าศิลปะมีการลอกเลียนแบบ อย่างการสเก็ตซ์ภาพ ทั้งที่ครูเองเป็นคนให้นักเรียนไปหาความหมายของศิลปะในแบบของตนเองมา แต่ก็เหมือนกับว่าครูกลับอยากได้ศิลปะในมุมมองของผู้ใหญ่หรือศิลปินเสียมากกว่า

นักเรียนสามารถแลกเปลี่ยน ต่อรองอะไรกับครูได้มากน้อยแค่ไหน

คิดว่านักเรียนเป็นคนที่มีอำนาจน้อยสุดในโรงเรียน การที่เด็กไปอธิบาย ต่อรองกับครู สุดท้ายก็แพ้ เพราะครูมีอำนาจมากกว่า ครูทำอะไรก็ถูก ดูเป็นผู้ใหญ่มากกว่า นักเรียนควรมีอำนาจในโรงเรียนมากขึ้นกว่านี้ เพราะถ้าโรงเรียนไหนมีปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อนักเรียน แต่กลับเป็นปัญหาที่ครูละเลย ไม่ได้สนใจ นักเรียนก็จะได้กล้าแสดงความคิดต่อปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วปัญหาก็จะถูกแก้ไขเร็วขึ้น

ถ้าเป็นแบบนี้จะส่งผลต่อการแสดงออกของนักเรียนด้วยหรือเปล่า

ใช่ เพราะนักเรียนเห็นว่าครูมีอำนาจมากกว่าในหลายด้านๆ ทั้งกฎทรงผม เครื่องแบบ บางโรงเรียนเด็กผู้หญิงต้องไหว้แบบถอนสายบัว หรืออย่างเราเคยแย้งว่าข้อมูลที่ครูพูดมาไม่ถูก แล้วครูคงโกรธ ถามกลับมาว่าไปเอาข้อมูลมาจากไหน เราก็บอกว่าเคยได้ยินมาจากคนอื่น ครูก็อ้างว่าถ้าอย่างนั้นก็ไม่มีหลักฐาน เหมือนครูไม่ได้ยอมรับ ถ้านักเรียนจะวิจารณ์การสอน ทำให้นักเรียนไม่อยากแสดงความคิดอีกถ้าครูไม่รับฟังหรือโดนดุกลับมา

เป็นไปได้หรือไม่ว่าการศึกษากำลังทำให้นักเรียนรู้สึกเคยชินกับการไม่แสดงออก ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์

คิดว่านักเรียนไม่ได้รู้สึกแย่มากกับกฎทรงผม เครื่องแบบ เพราะคงเคยชินกับเรื่องพวกนี้มานานแล้ว แต่ถ้าเป็นความรู้สึกต่ออาจารย์ การวางตัวต่อสิ่งต่างๆ ในโรงเรียน นักเรียนอาจต้องเปลี่ยนไปเป็นอีกคน เช่น พยายามนอบน้อมเวลาอยู่กับครูเพื่อไม่ให้ตนเองโดนด่า เหมือนว่าการศึกษาไม่ได้ยอมรับตัวตนของนักเรียน ถ้าจะทำในสิ่งที่คิดหรืออยากทำ ทุกวันนี้สังคมเปิดโอกาสให้เด็กไปแข่งขันตอบปัญหาวิทยาศาสตร์แต่ไม่เปิดโอกาสให้เด็กวิจารณ์โรงเรียนหรือวิจารณ์สิ่งต่างๆ เหมือนกับการวิจารณ์ในสังคมไทยเป็นเรื่องอ่อนไหว ทำให้คนอื่นต้องเจ็บใจ ทุกวันนี้เด็กไม่กล้าวิจารณ์อะไรที่เกี่ยวกับระบบโรงเรียนเพราะกลัวถูกครูลงโทษ

มองว่าโรงเรียนให้ความสำคัญกับนักเรียนอย่างไรบ้าง

โรงเรียนให้ความสำคัญกับนักเรียนในฐานะเด็กคนหนึ่งที่ต้องไปเรียนหนังสือ ไม่ใช่ฐานะคนคนหนึ่ง อย่างการเข้าแถวหน้าเสาธง โรงเรียนไม่ได้สนใจว่านักเรียนจะต้องทนร้อน หน้ามืดเป็นลม โรงเรียนอาจจะแก้ไขปัญหาตอนนักเรียนเป็นลมแล้ว แต่ไม่ได้คิดก่อนหน้านี้ว่าอาจมีนักเรียนบางคนกำลังมีปัญหา

แล้วนโยบายภาครัฐที่ออกมาส่งผลกระทบต่อสิทธิการศึกษาอย่างไรบ้าง

หลังจาก คสช. (คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ใช้มาตรา 44 ให้เด็กได้เรียนฟรี 15 ปี ก็คิดว่าเด็กได้รับสิทธิทางการศึกษามากขึ้น เด็กบางคนไม่มีเงิน ก็ไม่มีโอกาสเข้าโรงเรียน แต่มาตรา 44 ก็ไม่ใช่รัฐธรรมนูญ มันสามารถที่จะปรับเปลี่ยนได้ รวมถึงตามร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการทำประชามติก็ไม่ได้พูดถึงการศึกษาของคนพิการ แล้วยังเป็นการสร้างค่านิยมให้กับเด็ก เพราะบอกไว้ว่าเด็กต้องเรียนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ ซึ่งเป็นการกำหนดสิ่งที่เด็กจะต้องคิด

ปัญหาทางการศึกษาที่กลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทพยายามสื่อสารนั้นมีอะไรบ้าง

เป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิเสรีภาพของเด็ก เมื่อก่อนการที่เด็กออกมาวิจารณ์กฎของโรงเรียนหรือนโยบายการศึกษาถูกมองว่าก้าวร้าว แต่อยากให้ทุกคนมองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่จำเป็นและส่งผลกระทบทางร้ายต่อเด็ก บางโรงเรียนกำหนดว่านักเรียนต้องใช้กระเป๋าสีสุภาพเท่านั้น แล้วครูยึดกระเป๋าสีน้ำตาลของนักเรียนเพราะบอกว่ามันไม่ใช่สีสุภาพ ทางกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทก็ตีโจทย์ประเด็นนี้ว่ามีปัญหาอะไรบ้าง ต้องทำให้ครอบครัวของนักเรียนเสียเงินเพื่อซื้อประเป๋าใหม่หรือเปล่า มันเป็นการจำกัดสิทธิในการเลือกของเด็กด้วยหรือไม่

บรรยากาศสังคมแบบนี้ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวประเด็นสิทธิการศึกษาอย่างไร

เราถูกจำกัดสิทธิมากขึ้น ก็ต้องเลือกวิธีการเคลื่อนไหวที่ไม่ค่อยเสี่ยง เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมืองน้อยลง อาจไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวนอกสถานที่ การออกไปชูป้ายประท้วงอย่างที่เคยทำก็อาจจะไม่ปลอดภัย คงต้องเน้นการเคลื่อนไหวบนอินเทอร์เน็ตมากขึ้น

ผลตอบรับจากการทำกิจกรรมของกลุ่มการศึกษาเพื่อความเป็นไทเป็นอย่างไรบ้าง

คิดว่ายังไม่ค่อยดีเท่าที่ควร เพราะยังเข้าไม่ถึงนักเรียนในแต่ละโรงเรียน เราวางเป้าหมายไว้ว่าจะเป็นกระบอกเสียงให้ความช่วยเหลือเรื่องสิทธิเสรีภาพทางการศึกษา แต่บางประเด็นถูกทำให้เป็นเรื่องไกลตัวเด็ก อย่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับเด็กโดยตรงหรือค่านิยม 12 ประการที่เด็กมองไม่ออกว่าจะส่งผลเสียต่อตนเองอย่างไร คือมันเป็นการกำหนดความดีของเด็ก ทั้งที่เด็กควรจะคิดได้เองว่าความดีเป็นอย่างไร แล้วจะทำให้สังคมดีได้มากขึ้นด้วยวิธีไหน ที่ผ่านมาทางกลุ่มได้ทำข้อมูลเพื่อเสนอผู้ใหญ่และกำลังย่อยข้อมูลให้เด็กได้เข้าใจง่ายขึ้น

คาดหวังอะไรในการเคลื่อนไหวประเด็นสิทธิการศึกษา

เราก็คงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงการศึกษาในเชิงนโยบายได้ แต่สามารถเป็นกระบอกให้เด็กเคลื่อนไหวประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นในโรงเรียนของตนเองได้ ช่วยเหลือในเรื่องของแนวคิด การสื่อสาร คาดหวังให้โรงเรียนจัดการศึกษาที่เด็กเป็นศูนย์กลางให้เด็กได้คิด ให้ความคิดของเด็กมีความหมาย ให้เด็กคิดตั้งคำถามกับปัญหาทางการศึกษาที่เกิดขึ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท