Skip to main content
sharethis

ภาพขณะมีการขึ้นป้ายศูนย์ปราบโกงที่อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.59 (ที่มาภาพ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ United Lawyers For Rights & Liberty)

4 ก.ค.2559 จากรณีไล่ออกหมายเรียกดำเนินคดีผู้เปิดศูนย์ปราบโกงประชามติทั้งส่วนกลางและตามจังหวัดต่างๆ ของแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ในข้อหาร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองในที่เกิดเหตุเกิน 5 คนขึ้นไป ด้วยการขึ้นแสดงป้ายศูนย์ปราบโกงประชามติโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายนั้น

ล่าสุดวันนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า ได้รับรายงานว่าเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.59 เจ้าหน้าที่ทหารจากกองทัพทหารม้าที่ 12 ได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีต่อผู้ขึ้นป้ายศูนย์ปราบโกงประชามติที่อำเภอเด่นชัย จังหวัดแพร่ ที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอเด่นชัย ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

ทางพนักงานสอบสวน สภ.เด่นชัย ได้มีการทยอยเรียกผู้ต้องหาจำนวน 5 คน เข้ารับทราบข้อกล่าวหาดังกล่าวในช่วงปลายเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ได้แก่ ปริศนา เทพปิตุพงศ์ อายุ 61 ปี, วันดี แปลงใจ อายุ 58 ปี, พวงทอง นามศร อายุ 58 ปี, นงลักษณ์ เจริญวงค์ อายุ 70 ปี และสายรุ้ง พิมเสน อายุ 47 ปี

โดย ปริศนา เปิดเผยว่าเมื่อช่วงเช้าวันที่ 19 มิ.ย.59 ตนได้จัดทำบุญเปิดร้านน้ำส้มเกล็ดหิมะที่บริเวณบ้านของตนเอง และมีเชิญเพื่อนมาร่วมทำบุญและรับประทานอาหารร่วมกัน รวมแล้วประมาณ 30 คน ซึ่งบางส่วนเป็นคนเสื้อแดงที่เคยเคลื่อนไหวร่วมกันมาก่อน และยังมีการนิมนต์พระสงฆ์มามาเจริญพระพุทธมนต์ ไม่ได้ตั้งใจจะขึ้นป้ายศูนย์ปราบโกงประชามติใดๆ โดยทราบว่าในกลุ่มมีป้ายดังกล่าวอยู่แล้ว แต่เมื่อได้ติดตามข่าวการปิดกั้นและจับตาเข้มงวดของเจ้าหน้าที่รัฐในช่วงก่อนหน้าวันที่ 19 มิ.ย. จึงไม่ได้คิดที่จะขึ้นป้าย  แต่ปรากฏว่าในระหว่างกิจกรรมการทำบุญนั้น ได้มีเพื่อนในกลุ่มชักชวนกันนำป้ายขึ้นมากางและถ่ายรูป เป็นป้ายที่มีสโลแกน “ประชามติต้อง…ไม่โกง ไม่ล้ม ไม่อายพม่า” และป้ายที่เขียนว่า “ศูนย์ปราบโกงจังหวัดแพร่” พร้อมกับมีการแจกจ่ายเสื้อศูนย์ปราบโกงประชามติให้กับผู้ร่วมงาน

ปริศนา กล่าวว่า การขึ้นป้ายศูนย์ปราบโกงไม่ได้เป็นการติดอย่างถาวร เพียงแต่มีคนถือเอาไว้เพื่อถ่ายรูป และเมื่อถ่ายรูปเสร็จ ก็เก็บป้ายลง โดยไม่มีใครคิดว่าจะเป็นความผิดใดๆ  แต่ต่อมาปรากฏว่ามีการเผยแพร่รูปดังกล่าวลงในโลกออนไลน์ ทำให้มีเจ้าหน้าที่ทั้งทหารและตำรวจมาติดตามที่บ้านของตนในคืนวันที่ 19 มิ.ย.นั้น  ก่อนที่ในวันที่ 20 มิ.ย. เจ้าหน้าที่ยังมีการเชิญตัวตนในฐานะเจ้าของบ้าน และเพื่อนอีกคนหนึ่งไปพูดคุยที่ที่ว่าการอำเภอ โดยมีทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองร่วมพูดคุย เพื่อสอบถามถึงเหตุการณ์เปิดศูนย์ปราบโกงประชามติดังกล่าว ก่อนจะมีการให้เซ็นบันทึกข้อตกลงไม่เคลื่อนไหวทางการเมืองกับเจ้าหน้าที่

ในวันเดียวกัน ได้มีการพาตัวเธอและเพื่อนไปที่สถานีตำรวจภูธรเด่นชัย ก่อนทราบว่ามีการแจ้งข้อกล่าวหาเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ยังตรวจยึดป้ายศูนย์ปราบโกง 2 ผืน และเสื้อศูนย์ปราบโกง 2 ตัว ไว้เป็นของกลาง โดย ปริศนา ยืนยันตามข้อเท็จจริงว่าภาพการเปิดศูนย์ปราบโกงดังกล่าว ไม่ได้มีการติดป้ายขึ้นจริงๆ แต่มีการถือป้ายเพื่อถ่ายรูปร่วมกัน ในระยะเวลาเพียงแค่ไม่เกิน 5 นาที และยังเกิดขึ้นภายในบ้านของเธอเอง ไม่ได้เป็นที่สาธารณะใดๆ

อบรมไปเช้าเย็นกลับในค่าย 5 วัน แลกเลิกคดี

ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการเรียกผู้ต้องหามารับทราบข้อกล่าวหาอีก 3 คน รวมทำให้มีผู้ถูกดำเนินคดี 5 คน ทั้งหมดเป็นผู้หญิง บางคนอายุมากแล้ว และไม่ได้เป็นแกนนำในการเคลื่อนไหวในพื้นที่แต่อย่างใด โดยทั้งหมดได้รับการปล่อยตัวในชั้นสอบสวนโดยไม่ต้องประกันตัว เจ้าหน้าที่ยังได้มีการนำคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ข้อ 12 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป มาให้ดู และระบุว่าในวรรคที่ 2 ของข้อ 12 ดังกล่าวระบุเรื่องการยินยอมไปอบรมไม่เกิน 7 วัน เพื่อให้คดีเลิกแล้วต่อกันได้ ปริศนาและกลุ่มผู้ต้องหาจึงยินยอมในเงื่อนไขดังกล่าว

จากนั้นเมื่อวันที่ 1 ก.ค. จึงได้มีหนังสือจากกองพันทหารม้าที่ 12 แจ้งให้ผู้ต้องหาทั้ง 5 คนไปรับการอบรมที่สโมสรกองพันทหารม้าที่ 12 ค่ายพระยาไชยบูรณ์ อ.เด่นชัย จ.แพร่ เป็นเวลา 5 วัน ตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค.- 8 ก.ค.59 เวลา 9.00 น. จากการสอบถามเบื้องต้น ทราบว่าการอบรมไม่ได้มีการให้ค้างคืนในค่ายทหารแต่อย่างใด แต่ให้ผู้ต้องหาไปเช้าเย็นกลับตลอด 5 วันของการอบรมโดยเจ้าหน้าที่ทหาร

ทั้งนี้ หลังจาก 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่ นปช. ประกาศตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติทั่วประเทศ ซึ่งในส่วนกลางที่ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าวนั้นถูกเจ้าหน้าที่อ้างคำสั่ง หัวหน้า คสช. เพื่อปิดศูนย์ดังกล่าว (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) ส่วนในหลายจังหวัดมีทั้งที่เปิดได้และเปิดไม่ได้ โดยจุดหนึ่งที่สามารถเปิดศูนย์ดังกล่าวได้ คือที่ อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี อย่างไรก็ตาม 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา ผู้ที่ร่วมเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติที่บ้านโป่ง 10 รายกลับได้รับหมายเรียกจาก สภ.บ้านโป่ง เนื่องจากมีผู้มาร้องทุกข์กล่าวโทษให้พนักงานสอบสวน สภ.บ้านโป่ง ดำเนินคดีผู้เปิดศูนย์ปราบโกงฯ ดังกล่าว ในข้อหาร่วมกันมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองในที่เกิดเหตุเกิน 5 คนขึ้นไป ด้วยการขึ้นแสดงป้ายศูนย์ปราบโกงประชามติโดยไม่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้า คสช. หรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) และต่อมามีการแจ้งเพิ่มอีกกว่า 10 ราย (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม) รวมทั้ง แกนนำนปช. เองก็ถูก ออกหมายเรียกจำนวน 19 ราย  และที่ จ.นครพนม (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม)

สำหรับในคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ในวรรคที่ 2 ระบุว่าผู้กระทำความผิดตามวรรคหนึ่งที่สมัครใจเข้ารับการอบรมจากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นระยะเวลาไม่เกินเจ็ดวันและเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยเห็นสมควรปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไข หรือไม่มีเงื่อนไข ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามมาตรา 37 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 16) พ.ศ.2529
 
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานด้วยว่า หลังการใช้คำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 นี้ กล่าวหาและดำเนินคดีกับประชาชนหลายกรณี ปรากฏกรณีที่ยอมเข้ารับ “การอบรม” จากเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยดังกล่าว และทำบันทึกข้อตกลง เพื่อให้คดีเลิกแล้วต่อกัน ได้แก่ กรณีของนักวิชาการบางส่วนในคดีแถลงข่าวมหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหารที่จังหวัดเชียงใหม่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net