Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ทำไมบางครั้งการบอกว่า “จะเพศอะไรก็ไม่สำคัญ” ถึงไม่ได้มีประโยชน์อย่างที่คุณคิด

หมายเหตุ: “เพศวิถี” ในบทความนี้ หมายถึง sexuality หรือวิถีการดำเนินชีวิตที่ประกอบไปด้วยองค์ประกอบหลาย ๆ อย่างทางเพศ เช่น อัตลักษณ์ทางเพศ วิถีทางเพศ การแสดงออกทางเพศ และเพศกำเนิด เช่น straight cisgender man ก็เป็นเพศวิถีหนึ่ง หรือ lesbian transwoman ก็เป็นอีกเพศวิถีหนึ่ง

สำหรับคนที่อ่านหรือศึกษาเรื่องความหลากหลายทางเพศ หรือสิทธิของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ คงมีบ่อยครั้งที่คิด หรือเจอคำพูดดังต่อไปนี้:

-ทำไมต้องบอกด้วยว่าเป็นเกย์หรือเลสเบี้ยนหรือไบ? ก็เป็นคนเหมือนกันหมดไม่ใช่เหรอ

-ทำไมต้องบอกคนอื่นว่าชอบเพศอะไร เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ควรประกาศให้ใครทราบ

-จะติดฉลากให้ตัวเองทำไม ติดไปก็มีแต่กรอบ คนเรามีอิสระในการใช้ชีวิตอย่างไรก็ได้

-จะวิถีทางเพศอะไรก็ไม่สำคัญ การใช้ชีวิตก็คือการใช้ชีวิต

หรือบางทีคุณอาจจะเจอภาพที่คล้าย ๆ กับภาพด้านล่างนี้

 

สิ่งที่คุณคิดหรือคุณพบเจอ อาจจะไม่ตรงกับตัวอย่างด้านบนทุกประการ แต่ทั้งหมดล้วนแล้วแต่มีรูปแบบคล้ายคลึงกัน นั่นคือ การพยายามมองว่าอัตลักษณ์ทางเพศ หรือวิถีทางเพศ เป็นสิ่งที่ไม่สำคัญ เราควรมองทุกคนให้เป็นคนเหมือนกันให้หมด

คำพูดเหล่านี้ หากฟังดูเผิน ๆ ก็จะเหมือนคำพูดที่เต็มไปด้วยความหวังดี หวังจะลบความแตกต่างและให้ทุกคนมีความเท่าเทียมกัน และในบางบริบทคำพูดแบบนี้ก็ส่งผลดีได้ แต่หลายต่อหลายครั้งที่คำพูดทำนองนี้ไม่ได้ถูกใช้เพื่อสนับสนุนความเท่าเทียม แต่ใช้เพื่อลบตัวตนของคนอื่น

คนเราทุกคนล้วนแตกต่างกัน และความแตกต่างนั้นก็ส่งผลต่อการใช้ชีวิตและโอกาสของแต่ละคน การพยายามลบความแตกต่างเหล่านั้นออกไป ไม่ต่างจากการปิดหูปิดตา ไม่ฟัง ไม่รับรู้ถึงปัญหาความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นต่อคนกลุ่มนั้น

การจะเข้าใจสิ่งนี้ได้ เราต้องจำเป็นที่จะต้องมาดูในเรื่องของการ “แปะฉลาก” (label) ที่ตัวบุคคลกันก่อน หลาย ๆ ครั้งเรามักคิดว่า label นั้นเป็นสิ่งไม่ดี แต่ลำพังตัวมันเอง มันเป็นเพียงเครื่องมือ วิธีการที่คนเรานำมันไปใช้ต่างหากที่สามารถส่งผลดีหรือทำร้ายคนอื่นได้


เมื่อ Label มอบอำนาจให้ผู้พูด

หากเราสังเกตให้ดี คนเราทุกคนใช้ label มาแปะตัวเองอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น

• อาชีพการงาน เช่น ฉันเป็นนักเขียน ฉันเป็นพนักงานบริษัท ฉันเป็นกราฟฟิคดีไซเนอร์ ฉันเป็นนักกีฬา

• งานอดิเรก เช่น ฉันเป็นนักอ่าน ฉันเป็นคนรักหนัง ฉันชอบอ่านการ์ตูน

• สถานภาพทางความสัมพันธ์ เช่น ฉันเป็นโสด ฉันมีแฟนแล้ว ฉันแต่งงานแล้ว

• สภาพครอบครัว เช่น ฉันเป็นแม่ ฉันเป็นพ่อ ฉันเป็นผู้ปกครอง

นี่เป็นเพียงตัวอย่างเพียงเล็กน้อย แต่จากตัวอย่างเราน่าจะเห็นได้ว่า label ไม่ใช่เรื่องที่ถูกจำกัดอยู่แค่วิถีทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศเท่านั้น


Label มอบอำนาจให้ผู้พูดแสดงอัตลักษณ์ของตัวเองได้

ฉลากต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นส่วนหนึ่งของตัวเรา มันคืออำนาจของตัวเราที่เราสามารถประกาศตัวตนของตนเองให้คนอื่นทราบ ให้คนอื่นได้เข้าใจว่าส่วนหนึ่งของชีวิตเราคืออะไร มีความสำคัญอะไรต่อเราบ้าง นอกจากนี้มันยังช่วยให้ผู้คนที่เรามีปฏิสัมพันธ์ด้วย ได้ทราบว่าเขาควรปฏิบัติต่อเราเช่นไร ไม่ว่าจะเป็นหัวข้อบทสนทนาที่เลือกมาใช้คุยด้วย หรือทิศทางของบทสนทนาในบางหัวข้อ (คุณคงไม่ถามคนแต่งงานแล้วว่าแต่งงานหรือยัง หรือหากอีกฝ่ายไม่ได้เป็นผู้ปกครอง คุณก็คงไม่ถามอีกฝ่ายว่าลูกสบายดีมั้ย)

หากงานอดิเรกหรือความสนใจที่แตกต่างกัน ยังส่งผลให้คนมีชีวิตที่แตกต่างกันได้ วิถีทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศเองก็ไม่ต่างกัน การที่คน ๆ นึงบอกให้คนอื่นทราบว่าตนเป็นเกย์, เลสเบี้ยน, ไบเซกชวล หรือ การบอกให้ผู้อื่นทราบว่าตนเป็นคนข้ามเพศ, non-binary หรือ คนมีเพศกำกวม(intersex) ก็เพราะว่าสิ่งเหล่านี้คือส่วนหนึ่งของชีวิตของเขา วิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ มีส่วนสำคัญต่อการใช้ชีวิตของคน ๆ นึงเป็นอย่างมาก


Label ทำให้ผู้พูดไม่โดดเดี่ยว

เป็นเรื่องปกติที่คนที่มีรสนิยมหรือสถานภาพบางอย่างคล้าย ๆ กัน จะรวมตัวและพูดคุยกันในเรื่องราวที่มีเพียงคนกลุ่มนี้เท่านั้นที่จะเข้าใจได้ สิ่งเหล่านี้เราคงไม่อาจทำได้เลยหากเราไม่นำ label บางอย่างมาติดตัว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มของผู้ปกครองที่รวมตัวคุยกันเรื่องลูก ๆ ของตนเอง แชร์ประสบการณ์การเลี้ยงดูลูก ปัญหาที่พบเจอ และวิธีแก้ไข หรือกลุ่มผู้พัฒนาเกมที่ต้องการพูดคุยกับคนที่มีประสบการณ์สร้างเกม แลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องของเทคนิคและเครื่องมือต่าง ๆ

สำหรับผู้ที่มีงานอดิเรกที่ไม่เป็นที่นิยมหรือแพร่หลายในไทย น่าจะเข้าใจความรู้สึกเหงาและโดดเดี่ยวนี้ได้ไม่ยาก เช่น ผู้เล่นบอร์ดเกมในไทย ที่ไม่ใช่แค่เกมกระดานอย่างเกมเศรษฐี หรือหมากรุกอย่างที่คนที่ไม่รู้จักวัฒนธรรมบอร์ดเกมเข้าใจ ตัว label “บอร์ดเกม” ช่วยให้คนกลุ่มนี้สามารถหาคนที่มีความสนใจเหมือนกัน และทำให้ตนไม่รู้สึกโดดเดี่ยวหรือแปลกแยกได้

และนี่คือความสำคัญอีกอย่างของ label ของอัตลักษณ์ทางเพศและวิถีทางเพศ มันทำให้คนหลากหลายทางเพศได้เจอเพื่อนที่มีประสบการณ์เหมือนกัน และสามารถพูดคุยกันเรื่องตัวตนของตนเองได้ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่มีค่าอย่างมาก โดยเฉพาะในสังคมที่พยายามลบตัวตนของคนกลุ่มนี้ การที่คน ๆ นึงจะรู้สึกแปลกแยกจากคนอื่น โดดเดี่ยว และคิดว่าตนประหลาดไม่เหมือนใครนั้น เป็นสิ่งที่ยังเกิดขึ้นอยู่ทุกวัน และนำไปสู่ปัญหาอื่น ๆ เช่น โรคซึมเศร้า

ในปัจจุบันนี้กลุ่มคนหลากหลายทางเพศบางกลุ่มเริ่มเป็นที่รู้จักในสังคมไทยมากขึ้น เช่น กลุ่มชายหรือหญิงรักเพศเดียวกัน, กลุ่มชายหรือหญิงข้ามเพศ หรือกลุ่มคนรักสองเพศ ทำให้คนกลุ่มนี้สามารถรวมตัวกันได้และทำลายความรู้สึกโดดเดี่ยวนั้นไปได้

แต่ว่าสิ่งนี้ก็ยังไม่เกิดขึ้นกับทุกกลุ่ม เช่น กลุ่มคนที่อยู่นอกเหนือระบบสองเพศชายหญิง (non-binary) ที่ในภาษาไทยก็ยังไม่มีคำศัพท์เฉพาะที่ใช้เรียกคนกลุ่มนี้ หรือกลุ่ม asexual ที่ไม่เกิดอารมณ์ทางเพศกับเพศใด หลาย ๆ คนก็มีอาการโดดเดี่ยว มองว่าตัวเองประหลาดแตกต่างจากคนอื่น (โดยเฉพาะในสภาพสังคมที่มองว่าใครไม่อยากมีเซ็กส์แปลว่าแปลก หรือ ไร้สมรรถนะทางเพศแบบนี้)

การรู้ตัวว่าตนแตกต่างจากคนหมู่มาก และกังวลว่าอาจโดนมองแปลก ๆ หรือโดนเลือกปฏิบัติใส่นั้น นับว่าเป็นความรู้สึกที่แย่มากแล้ว แต่การไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเรียกสิ่งที่ตนเป็น หรือประสบการณ์ที่ตนเจอว่าอะไร เป็นความรู้สึกที่ทำให้โดดเดี่ยวยิ่งกว่า ตัวฉลากคือสิ่งที่ปลดปล่อยคนกลุ่มนี้จากความโดดเดี่ยว ช่วยให้คนกลุ่มนี้ได้มีเครื่องมือที่ใช้ในการพบเจอเพื่อน ได้พบเจอคนที่มีประสบการณ์คล้ายตน และได้ค้นพบว่าตนไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลกนี้

ด้วยเหตุนี้ เมื่อคุณพูดว่าเรื่องวิถีทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศเป็นเรื่องที่ไม่ควรประกาศ คุณกำลังบอกให้เขาเงียบ และบอกให้เขากลับไปอยู่ในพื้นที่โดดเดี่ยวของเขา อย่าได้เจอคนที่คล้ายกันอีก ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ได้ช่วยเหลืออะไรใครเลย นอกจากทำให้คุณสบายใจคนเดียว


Label ทำให้เรามองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นต่อคนกลุ่มหนึ่งได้

เมื่อเราสามารถแสดงตัวตนของเราเอง และสามารถพูดคุยกับคนที่มีประสบการณ์คล้าย ๆ กัน เข้าใจกันได้ สิ่งนี้ทำให้เราสามารถศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนกลุ่มนั้น ๆ ได้ โดยที่หากเราไม่มี label แปะว่ากลุ่มนี้ชื่ออะไร ก็คงเป็นการยากที่จะมองเห็นว่ามีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นอยู่กับคนกลุ่มหนึ่งอยู่

ตัวอย่างที่น่าจะช่วยให้เข้าใจได้ง่าย คงไม่พ้นเหตุการณ์โศกนาฏกรรมการยิงกลุ่มคนหลากหลายทางเพศที่ Orlando ในสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2016 ที่ผ่านมานี้ แม้ว่าเหตุการณ์นี้จะเห็นได้ชัดว่าเป้าหมายคือการทำร้ายกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ แต่กลุ่มอนุรักษ์นิยมในอเมริกาก็ยังพยายามจะลบตัวตน ให้มองว่าอย่าคิดว่า LGBTQ+ ตาย แต่ให้คิดว่ามนุษย์ตาย

พาดหัวของบทความ “ทำไมกลุ่มอนุรักษ์นิยมถึงไม่เรียกเหยื่อจากเหตุการณ์ยิงกันใน Orlando ว่าเป็น LGBT”
ที่มา:
http://thinkprogress.org/lgbt/2016/06/17/3789595/orlando-shooting-lgbt-erasure/

ดูวีดีโอสัมภาษณ์ได้ที่: https://www.youtube.com/watch?v=9ITdjAb3VcE

คำพูดสวยหรูที่พยายามยกตนให้เห็นว่ามองทุกคนเป็นมนุษย์เท่าเทียมกันแบบนี้ ไม่ได้ช่วยอะไรนอกจากจะทำให้ปัญหาแย่ขึ้น หากเราไม่ทราบว่าผู้ที่เสียชีวิตเป็นกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ เราจะไม่มีทางทราบได้เลยว่าสิ่งนี้เกิดจากการเกลียดกลัว LGBTQ+ และทำให้เราไม่สามารถหาทางแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง

นอกจากปัญหา Hate Crime แล้ว การที่เรามองเห็นปัญหาความอยุติธรรมหรือการถูกเลือกปฏิบัติอื่น ๆ ก็เกิดขึ้นได้จากการที่คนที่มี label เหมือนกัน ได้พูดคุยกัน มีพื้นที่ให้คนกลุ่มนี้ได้พูดคุยเรื่องนี้โดยไม่ถูกแย้งว่า “แค่คิดไปเอง” หรือ “อ่อนไหวมากเกินไป” การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่เจอมา ว่าเคยเจอความอยุติธรรมอย่างไรบ้าง ของแต่ละคน ทำให้เรามองเห็นรูปแบบหรือแพทเทิร์นของปัญหาที่เกิดขึ้นในวงกว้างอย่างเป็นระบบ ซึ่งช่วยให้เรามีเครื่องมือคิดหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้
เมื่อ Label เป็นอาวุธกดขี่ผู้อื่น

เราน่าจะเห็นแล้วว่าตัวฉลากหรือ label นั้นไม่ได้เป็นสิ่งที่ไม่ดี และคนเราทุกคนก็นำ label มาแปะที่ตนเองและประกาศสิ่งนั้นนั้นอยู่เป็นเรื่องปกติ

แต่ทำไมเวลาคนเราประกาศว่า “ฉันเป็นคนรักหนัง” หรือ “ฉันเป็นเกมเมอร์” กลับไม่มีใครบอกพวกเขาว่า “จะมาประกาศทำไม ก็เป็นคนเหมือนกัน?” แต่พอเป็นเรื่องของเพศวิถี กลับพยายามรีบลบตัวตนเหล่านั้นออกทันที หรือแม้แต่ LGBTQ+บางคนก็คิดว่าไม่ควรใช้ป้ายฉลากใด ๆ เลยและให้เรียกว่า “เป็นมนุษย์” เฉย ๆ เสียอย่างนั้น


อคติที่มากับ Label

เนื่องจากสภาพสังคมของเรา เป็นสังคมที่คนรักต่างเพศเป็นใหญ่ (Heterosexist) และคนเกิดมาตรงเพศเป็นใหญ่(Cissexist) ทำให้มีอคติมองอัตลักษณ์ทางเพศและวิถีทางเพศอื่น ๆ ที่ไม่ใช่คนเกิดมาตรงเพศและรักต่างเพศว่าเป็นสิ่งที่ผิดปกติและมีคุณค่าต่ำกว่าปกติ

ความเชื่อแบบนี้เห็นได้ง่าย ๆ จากการที่เมื่อคนหลากหลายทางเพศบอกผู้ปกครองให้ทราบถึงตัวตนของตนเอง ก็มักไม่ได้รับการยอมรับ หรือหากยอมรับได้ สิ่งที่พ่อแม่มักตอบกลับมาก็คือ “เป็นอะไรก็ได้ขอให้เป็นคนดี” ซึ่งบ่อยครั้งสร้างความรู้สึกที่ว่าการเป็นผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ คือสิ่งที่ด้อยและต้องมีการทำดีอย่างอื่นทดแทน

นอกจากนี้ อคติที่ติดมากับ label ที่เกี่ยวข้องกับอัตลักษณ์ทางเพศ และวิถีทางเพศนั้น ยังมีการผลิตซ้ำผ่านสื่อต่าง ๆ จนอคติเหล่านี้แพร่หลายไปทั่ว เช่น เกย์คือคนที่สำส่อน กะเทยไม่มีวันเจอรักแท้ ทอมซ่อมได้ และอื่น ๆ อีกมากมาย
ใช้ Label ควบคุมบงการชีวิตคนอื่น

อคติที่มากับ label นั้นทำให้คนจำนวนมากเชื่อในอคติเหล่านี้และ ถือวิสาสะไปแปะ label วิถีทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศต่าง ๆ ให้คนอื่น เช่น

• ตัดสินว่าผู้ชายคนนึงเป็นเกย์ เพียงเพราะเขามีกิริยาท่าทาง หรือการแสดงออกที่ตรงกับ stereotype บางอย่างของเกย์

• เมื่อเห็นผู้หญิงที่แฟนเก่าเป็นผู้หญิง ไปมีแฟนใหม่เป็นผู้ชาย ก็ตัดสินไปว่าเป็นทอม/ดี้กลับใจ หรือสับสน ไม่นึกถึงความเป็นไปได้อย่างอื่นเช่น bisexual หรือ pansexual

• เมื่อเห็นผู้หญิงทำตัวห้าว ๆ ก็เรียกว่าทอม โดยไม่คิดว่าคนเรามีการแสดงออกได้หลายแบบ เป็นคนละเรื่องกับวิถีทางเพศ

การถือวิสาสะแปะ label ให้คนอื่นนับว่าเป็นการกระทำที่แย่และไร้มารยาทแล้ว บางคนกลับไปไกลยิ่งกว่านั้นและพยายามใช้อคติของ label ควบคุมพฤติกรรมคนอื่น เช่น Ellen Page ที่เมื่อเปิดตัวว่าเป็นเลสเบี้ยน ก็กลายเป็นว่ามีแต่งานแสดงที่ต้องรับบทเป็นเลสเบี้ยนเข้ามา

ด้วยเหตุนี้ LGBTQ+บางคน จึงเลือกที่จะไม่แปะ label วิถีทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศให้กับตัวเอง เพราะเหนื่อยกับการต้องถูกบงการ ถูกควบคุม คอยดูพฤติกรรมอยู่เสมอ ว่าตรงกับอคติเหล่านั้นหรือไม่ หรือไม่อยากให้คนต้องมองตนโดยมีอคติเหล่านั้นติดพันมาด้วย

อย่างไรก็ตาม การเลือกที่จะไม่แปะ label เพศวิถีต่าง ๆ ยิ่งย้ำเติมว่าจริง ๆ แล้วปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัว label เหล่านั้นเลย เพราะในสังคมที่คนรักต่างเพศและคนตรงเพศเป็นใหญ่ หากคุณไม่บอกออกมาว่าคุณเป็น LGBTQ+ คนจะแปะป้ายให้คุณว่าเป็นคนรักต่างเพศเกิดมาตรงเพศอยู่ดี

หากคุณไม่สนใจตัว label เพศวิถีจริง ๆ ทำไมถึงไม่ปฏิเสธ label พื้นฐานที่สังคมกำหนดให้อัตโนมัติอันนี้ด้วย? ในสังคมที่ก้าวหน้าเรื่องเพศวิถี จุดยืนพื้นฐานควรจะเป็น “ไม่รู้” และถามอีกฝ่ายหรือบอกอีกฝ่ายในบริบทที่สมควร ไม่ต่างจาก label อื่น ๆ ทั่วไป แต่ทำไมการบอกว่าไม่สนเรื่อง label สำหรับหลาย ๆ คน คือการไม่พูดอะไรและปล่อยให้คนคิดว่าการไม่พูดอะไร หมายถึงการเป็นคนรักต่างเพศเกิดมาตรงเพศ ?

นี่คือสาเหตุสำคัญอย่างนึงที่คนที่ไม่ใช่ LGBTQ+ พูดว่า “เป็นอะไรก็เป็นได้ แต่ไม่ต้องมาประกาศ ทุกคนเป็นคนเหมือนกันหมด” พวกเขาไม่อยากสลัดอคติที่มากับเพศวิถีเหล่านั้นออกไป เพราะการสำรวจความคิดและกำจัดของอคติเองนั้นมันยาก จึงเลือกที่จะไม่พูดถึง label ของเพศวิถีใด ๆ เลย เพื่อที่จะได้แอบแปะป้ายคนรักต่างเพศเกิดมาตรงเพศที่ไม่มีอคติใด ๆ แนบมาด้วยให้อีกฝ่าย และอยู่ในโลกที่ไร้ความหลากหลายทางเพศในหัวของตัวเองต่อไป


ปัญหาอยู่ที่คน ไม่ใช่ตัวฉลาก

การบอกให้คนเลิกใช้ label ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาและไม่ได้ทำให้อคติเหล่านั้นหายไป หากแต่เป็นเพียงการทำเป็นเมิน มองไม่เห็นปัญหา และไม่ได้มองว่า label เหล่านั้นมีประโยชน์สร้างสรรค์ขนาดไหนหากเราใช้มันเป็นเครื่องมือในการแสดงตัวตนของตัวเอง มากกว่าการไปควบคุมและบังคับตัวตนของคนอื่น

คนที่บอกว่าป้ายฉลากในเรื่องของเพศวิถีไม่สำคัญ มักเป็นคนที่รู้สึกสบายใจกับเพศวิถีของตนเองดีอยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องพึ่งพาประโยชน์ของป้ายเหล่านั้นอีก แต่การที่ตัวคุณเองไม่จำเป็นต้องใช้ label เหล่านั้น ไม่ได้แปลว่าคุณจะต้องช่วงชิงมันไปจากคนที่อื่นที่ยังจำเป็นต้องใช้มันอยู่ ยิ่งความรู้ของคนเราพัฒนามากขึ้นไปเรื่อย ๆ แน่นอนว่าความรู้ในเรื่องของเพศย่อมก่อกำเนิดให้เกิด label ใหม่ ๆ ที่เหมาะสมกับคนแต่ละคนมากขึ้นเรื่อย ๆ

สิ่งที่เราควรทำคือการสนับสนุนให้คนศึกษา และค้นหา label ที่เหมาะสมกับตัวเอง เลิกถือวิสาสะไปแปะ label ให้กับคนอื่น ทำลายอคติที่แนบมากับ label เพศวิถีที่ไม่ใช่คนรักต่างเพศเกิดมาตรงเพศ เพื่อให้คนมีอิสระในการค้นหาเพศวิถีของตนเอง
สังคมที่ก้าวหน้าเรื่องเพศวิถีจริง ๆ ไม่ใช่สังคมที่ทุกคนเลี่ยงไม่พูดถึงเพศวิถีของตนเอง ลบส่วนสำคัญของชีวิตคนทิ้งไปแล้วมองเป็นเพียงแค่มนุษย์คนหนึ่ง

หากแต่เป็นสังคมที่ทุกคนรู้สึกสบายใจที่จะพูดถึงเพศวิถีของตนเอง โดยไม่ต้องกังวลว่าจะถูกเลือกปฏิบัติต่างหาก

0000


ลิงค์ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม

Why Do We Need Labels Like “Gay”, “Bi”, “Trans”, and “Cis”?
บทความอธิบายถึงความสำคัญของ label ในเชิงการพัฒนาความรู้ของวงการวิชาการและวัฒนธรรมของสังคม

Nonbinary.org

เว็บเครือข่ายของกลุ่มคนที่อยู่นอกระบบสองเพศชายหญิง คนกลุ่มนี้รวมตัวกันและพยายามสร้างแหล่งความรู้ และคำศัพท์ต่าง ๆ ที่ใช้อธิบายพวกเขา

AVEN — The Asexual Visibility & Education Network
เว็บรวมข้อมูลและให้ความรู้เรื่องของ Asexuality

Colorblind Racism
บทความอธิบายว่าทำไม “การไม่สนสีผิว” จริง ๆ แล้วเป็นการสนับสนุน racism ซึ่งเป็นรูปแบบการลบตัวตนแบบเดียวกันกับการบอกว่าไม่สนเรื่องเพศ/วิถีทางเพศ

 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: กัส รอดสวัสดิ์  เป็น indie game creator, บรรณาธิการการ์ตูนออนไลน์ Wuffle the Big Nice Wolf และ pop culture critics งานเขียนอื่น ๆ อ่านได้ที่ https://medium.com/@himatako_th/

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net