Skip to main content
sharethis

2 ก.ค. 2559 เวลา 20.30 น. ที่ House RCA มีการจัดฉายภาพยนตร์เรื่อง “ธุดงควัตร” ซึ่งกำกับโดย บุญส่ง นาคภู่ รอบสื่อมวลชน ภาพยนตร์นี้ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงวัฒนธรรม โก๋ฟิล์ม และศูนย์วิจัยภาพยนตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
 

“ธุดงควัตร” เริ่มด้วยเสียงสะอื้นของชายชาวอีสานที่ติดเหล้างอมแงมกระทั่งพบกับพระสายธุดงค์รูปหนึ่ง จากนั้นไม่นานเขาตัดสินใจบวชเป็นพระและออกธุดงค์

สำหรับผู้เขียน ภาพยนตร์เรื่องนี้ค่อยๆ ฉายให้เห็นถึงความพยายามของคนในการต่อสู้กับข้อจำกัด ขณะเดียวกันยังต้องยอมรับความจริงที่เป็นไปของชีวิต ผ่านวิธีจัดการความคิด ความรู้สึกภายในใจของชายในผ้าเหลือง ทั้งวิถีปฏิบัติทางพุทธศาสนาโดยมีธรรมชาติเป็นฉากหลัง

ในทางกลับกันเมื่อฉากหลังของผู้เขียนเป็นตึกสูง แม้ยังเดินทางผ่าน ‘วัด’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์เดียวที่ทำให้รับรู้ถึงการเคยมีอยู่ของพุทธศานา หากไม่ได้สัมผัสถึงความคงอยู่อีกต่อไป เราต้องย้อนเข็มนาฬิกาชีวิตกลับไปเกือบ 3 ปี กว่าจะพบว่าตนเองเคยยืนพนมมือสวดมนต์ไหว้พระ ต่อด้วยนั่งสมาธิ ตอนเคารพธงชาติอยู่ในรั้วโรงเรียน ถึงอย่างนั้นทุกวันนี้เราไม่รู้เลยว่าอะไรเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวความสัมพันธ์ระหว่างเรากับพุทธศาสนา?


สนทนากับผู้กำกับ ก่อนสบตากับตัวละคร

ตอนเด็ก บุญส่ง นาคภู่  ผู้กำกับ “ธุดงควัตร” เคยบวชเป็นเณรเพื่อเรียนหนังสือ เขาใช้ชีวิตอยู่ในวัด ที่จังหวัดสุโขทัยตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 5 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ก่อนสึกออกมาด้วยความคิดฝันอยากเป็นนักแสดงดัง  ขณะที่เรียนคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาหลงใหลไปกับการทำละครเวที ก่อนผันตัวเข้าสู่วงการภาพยนตร์อย่างเต็มตัว   
 


บุญส่ง (เสื้อยืดสีกรมท่า) ขณะกำลังกำกับ


ย้อนกลับไปปี 2553 “คนจนผู้ยิ่งใหญ่” เป็นภาพยนตร์อิสระเรื่องแรกของบุญส่ง ตามมาด้วย “สถานี 4 ภาค” “วังพิกุล” จนมาถึง “ธุดงควัตร” รวมถึงยังมีภาพยนตร์สั้นอีกราว 15 เรื่องหลังจากที่เขาตัดสินใจหันหลังให้ภาพยนตร์กระแสหลักที่ตนเองคลุกคลีอยู่ด้วยถึง 10 ปี    

“ผมเข้าวงการหนังมาเพราะอยากทำหนังที่ดีมีสาระแล้วคิดว่าหนังกระแสหลักจะทำให้ผมได้ทำแบบนั้น ลองอยู่สิบกว่าปี  พยายามทำหนังที่มีสาระและขายได้ด้วย สุดท้ายคำตอบ คือ มันทำไม่ได้ นับวันหนังยิ่งทำเพื่อขายอย่างเดียว” เขาบอกกับเราเมื่อถูกถามว่าทำไมถึงเลือกทำภาพยนตร์อิสระ 

อดีตไม่เคยหายหากกลายเป็นความทรงจำของปัจจุบันเช่นเดียวกับที่มาของ “ธุดงควัตร” ส่วนใหญ่บุญส่งดึงเรื่องราวครั้งตนเองยังบวชเป็นเณร มารวมกับตำนานพระป่าที่ได้ศึกษาเพิ่มเติม “ตอนบวชเป็นเณร ผมหมกมุ่นอยู่แต่ในรายละเอียด มองไม่เห็นโครงสร้าง ตื่นมาทำวัตรเช้า บิณฑบาตกลับมาก็กินข้าว เรียนหนังสือแล้วก็ทำวัตรเย็น จมอยู่แต่ในวัดไม่เคยเห็นโลกข้างนอก” บุญส่งพูดถึงชีวิตช่วงนั้น และบอกว่าความอึดอัดก่อตัวขึ้นเมื่อต้องอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ผู้คนมองไม่เห็นแก่นแท้ของพุทธศาสนา ยึดติดกับพิธีกรรม ตัวบุคคลจนหลงลืม ‘หลักธรรม’ ทำให้เขาต้องใช้ภาพยนตร์เป็นเครื่องมือในการบำบัดตนเอง และสะท้อนสังคมไปพร้อมกัน    

เมื่อก่อนบุญส่งบอกว่าตนเองไหลไปตามธรรมเนียมนิยมของพุทธศาสนาไม่เคยคิดกบฏ หากเมื่อลองถอยแล้วมองกลับเข้าไปในวัดที่เคยเติบโตมาก็พบว่ามีหลายสิ่งที่ยังผิดพลาด และ ‘หลักธรรม’ คือความงดงามที่สุดของพุทธศาสนา แต่ทุกวันนี้บางคนมองข้าม พากันบริจาคเงินเพื่อให้ได้ขึ้นสวรรค์

“จริงๆ แล้วหนังของผมบอกเล่าสิ่งที่ผมรู้สึก สิ่งที่ผมเชื่อ คนต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย ไม่มีอะไรเที่ยงแท้เลย แต่คนกลัวสิ่งเหล่านี้จึงหาทางออกว่าทำยังไงให้อยู่สุขสบาย ทำยังไงให้ไม่เจ็บ ทำยังไงให้ไม่ตาย วัฒนธรรมทางเทคโนโลยีก็เกิดขึ้นเพราะสิ่งนี้ เกิดมาเพื่อเอาชนะสิ่งที่คนกลัว แต่พระพุทธเจ้าบอกเราตั้งนานแล้วว่าแค่อยู่กับมัน เข้าใจมัน มองความตายเป็นเพื่อน แต่คนซับซ้อนกว่านั้น ไม่ยอมอะไรง่ายๆ หรอกทั้งที่เป็นเรื่องธรรมดา” เขาบอก

แม้การทำภาพยนตร์เป็นการระบายความทุกข์ออกมาในแบบฉบับของบุญส่ง ถึงอย่างนั้นไม่ใช่การสาดความทุกข์ใส่คนดู เขาย้ำกับเราด้วยว่าไม่ได้ต้องการโจมตีใครผ่าน “ธุดงควัตร” เพียงอยากคลี่คลายความจริงให้คนได้เห็นว่าอะไรคือสิ่งที่ควรจะเป็นโดยไม่ยัดเยียด

“ผมไม่เชื่อว่าการเทศน์ของพระจะเปลี่ยนคนได้ พระล้มเหลวในการสอนธรรมะ เพราะสื่อสารออกมาทางเดียวซึ่งมันไม่มีทางสำเร็จ ผมมองว่าหนังนี่แหละที่จะเปลี่ยนคนได้ทั้งชีวิตและจิตวิญญาณ แต่มันเป็นการบอกคนดูแบบอ้อมๆ ไม่เหมือนการเทศน์ของพระที่เป็นการสอน ผมมองว่าคนมีอิสรภาพที่จะเรียนรู้ ต้องคิดเอง ต้องรู้สึกเอง คนทำหนังมีหน้าที่แค่แบกความจริงให้เข้าถึงคนดูโดยวิธีที่อ้อมที่สุด” บุญส่งขยายความถึงเหตุผลที่เลือกนำพุทธศาสนามาบอกเล่าผ่านศิลปะที่เขารัก     


ภาพจาก  “ธุดงควัตร”


ก่อนหน้านี้บุญส่งตั้งใจไว้ว่าอยากเล่าเรื่องราวของชายคนหนึ่งที่เป็นมะเร็งปอดแล้วบวชเป็นพระ ออกธุดงค์เพื่อต่อสู้กับความเจ็บปวด เดินเข้าไปในป่าจนไม่มีป่าให้เดินต่อ พยายามหาหนทางนิพพานแต่ทำไม่ได้เพราะรอบตัวยังเต็มไปด้วยทุกข์ หากเขายังเต็มไปด้วยข้อจำกัด คือ ไม่มีเงินจ้างนักแสดง ไม่มีสถานที่ ไม่มีอุปกรณ์ กระทั่งไม่มีเงินเช่าโรงฉายภาพยนตร์ แต่ลึกๆ แล้วเขาบอกว่าการปรับตัว  การรู้จักประเมินตนเอง และพลิกแพลงสถานการณ์ตรงหน้าเป็นสิ่งที่ทำให้ทำงานออกมาได้ดีที่สุดบนข้อจำกัดจนเป็น “ธุดงควัตร” ณ ตอนนี้ 

ที่ผ่านมาภาพยนตร์อิสระของบุญส่งมักบอกเล่าเรื่องราวของชาวบ้าน เขาบอกว่าเพราะเห็นความไม่เท่าเทียม และอยากทำสิ่งที่สมจริง มีประโยชน์ต่อสังคม ในอนาคตเขาวางแผนจะทำ “ธุดงควัตร” ภาคสอง และยังมีอีกหลายเรื่องราวที่อยากบอกเล่าผ่านภาพยนตร์แต่ยังไม่มีงบประมาณ และรอจังหวะสังคมให้เปิดกว้างกว่านี้ไม่ว่าจะเป็น แผลเก่า, The  last day of Jitr Phumisak  หรือสร้างตัวละครพ่อลูกที่เป็นการ์ดเสื้อแดงแล้วถูกยิง

เมื่อถามว่าความสุขของคนทำภาพยนตร์อิสระอย่างเขาคืออะไร บุญส่งตอบว่า คือการได้เล่าเรื่อง ได้เรียนรู้และได้เดินทาง   

หลังสนทนากับผู้กำกับและสบตากับตัวละครเสร็จประมาณเที่ยงคืน เราต่างแยกย้ายกันกลับ ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกอย่าง ‘เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป’ เสมอตามหลักธรรมในพุทธศาสนาเช่นที่บุญส่งบอก

ทว่าระหว่างทางที่ยังไม่ไม่รู้จะจัดการวิธีคิด ความรู้สึกภายในใจกับ “ธุดงควัตร” และบางอย่างซึ่งเกิดขึ้นแบบบิดเบี้ยว ที่ตั้งอยู่ และยังไม่ยอมดับไปนั้นก็ทำให้บางประโยคของบุญส่งแวบเข้ามาอีกครั้ง “ทุกคนต้องมีอิสรภาพ มันเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ ไม่ว่าจะเป็นคนทำหนังหรือว่าใคร แต่ทุกวันนี้เราถูกจำกัดทั้งหมด”

“ถ้าสังคมมีข้อจำกัดก็ต้องทำเท่าที่มีช่องทางที่ทำได้ไปก่อน ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง เพราะว่าตอนนี้มันมืดบอด มันป่าเถื่อน เราไม่ได้กลัว แต่เราต้องทำตัวมีชั้นเชิง สู้ไปตามวิถีของเรา เราไม่ยอมแพ้หรอก” 

สำหรับคนที่ต้องการไปสัมผัสประสบการณ์ธุดงควัตรบนจอ โปรแกรมฉายจริง  7-20 ก.ค. ที่โรงภาพยนตร์ House RCA  , 14-20 ก.ค. 59 ที่โรงภาพยนตร์ MVP บุรีรัมย์ , 11-24 ส.ค. ที่โรงภาพยนตร์กันตนา 9 แห่ง ที่ได้แก่ ราชบุรี / สิงห์บุรี / พะเยา / อ. หล่มสัก (เพชรบูรณ์) / อ. ร้องกวาง (แพร่) / อ. บ้านนาสาร และ อ. พระแสง (สุราษฎร์ธานี) / อ. ปักธงชัย (โคราช) / อ. ศรีสงคราม (นครพนม)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net