Skip to main content
sharethis

4 ก.ค.2559 จากกรณีรัฐบาลให้ความร่วมมือและสนับสนุนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในการจัดตั้งศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อย เพื่อสนับสนุนการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ขึ้นในทุกจังหวัดและอำเภอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวว่า มีคสช. เสนอมาให้รัฐบาลพิจารณา  ทำหน้าที่เฝ้าระวังดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย และป้องกันไม่ให้มีการกระทำผิดกฎหมายประชามติ โดยจะไม่ชี้นำว่าให้รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ และไม่ได้เป็นการไปตั้งเลียนแบบกลุ่มนปช. เพราะถือว่าเป็นหน้าที่ของรัฐบาลอยู่แล้วที่จะตั้งได้ สำหรับพื้นที่ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษในการเฝ้าระวังขณะนี้ยังไม่มี เพราะให้ความสำคัญกับทุกพื้นที่ ที่มีการทำประชามติ และขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานว่ามีการจ้างล้มประชามติ

“เป็นหน้าที่ของรัฐบาล ไม่ใช่ของประชาชนที่จะต้องตั้งแข่งกับรัฐ แต่หากจะมีประชาชน หรือกลุ่มนปช.มาร่วมก็ยินดีไม่มีปัญหา ต้องทำแบบนี้สิ และศูนย์นี้ก็ไม่ได้จับผิด ชี้เป็นชี้ตายใคร เพราะการตัดสินเป็นหน้าที่ของกกต.ที่จะเป็นผู้พิจารณา” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ต่อกรณีคำถามว่าเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจจะไปอยู่หน้าคูหาเลยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ทุกทีเขาอยู่ตรงไหน เขาจะออกไปไกลด้วย อันนี้อยู่ใกล้ๆ แค่ รปภ. ไม่กี่คน เขาไม่เข้าในคูหาอยู่แล้ว 

ต่อกรณีคำถามเรื่องการข่าวมีพื้นที่ไหนหรือไม่ที่มีการเคลื่อนไหวล้มประชามติ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่บอก ไม่รู้ เขายังไม่ได้รายงาน
 

มท.1 เตรียมแจงผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ ศูนย์ฯ 6 ก.ค.นี้

พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่รัฐบาลตั้งศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อย ว่า จะมีการกำชับตามนโยบายของรัฐบาล และมอบแนวทางผ่านปลัดกระทรวงมหาดไทย โดยการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้ (5 ก.ค.) คาดว่านายกรัฐมนตรีจะมอบนโยบายการทำงาน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ส่วนตัวตั้งใจจะใช้การวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอำเภอในวันพุธที่ 6 ก.ค.นี้ ขณะที่อำนาจของผู้ว่าฯ และนายอำเภอจะดูแลให้การลงประชามติเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา หรือทำให้ผลการทำประชามติไม่เป็นที่น่าเชื่อถือของสังคมที่จะส่งผลต่อความเสียหาย โดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ เพราะต้องทำให้การทำประชามติเป็นไปตามหลักการ คือเป็นไปด้วยความเห็นของประชาชน โดยบริสุทธิ์ ไม่มีการชี้นำ บิดเบือน ไม่ว่าผ่านหรือไม่ผ่าน จะได้คุ้มค่ากับงบประมาณที่ได้ใช้ไป
 

มีชัยกังวล ร่างรธน.ยังไม่ถึงมือ ปชช. 

มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงการจัดตั้งศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยด้วยว่า รัฐบาลไม่ได้ตั้งศูนย์มาเพื่อจับผิด แต่เป็นการป้องกันไม่ให้มีการเคลื่อนไหว ที่ทำให้ประชาชนเกิดการเข้าใจผิด และเป็นการช่วยเผยแพร่ร่าง ซึ่งถือเป็นผลดีต่อ กรธ. และมองว่าโครงสร้างของศูนย์ดังกล่าว ที่กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและอำเภอ จะไม่ซ้ำซ้อนกับโครงสร้างการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญของวิทยากร ที่ กรธ. จัดขึ้น เนื่องจากเป็นการทำหน้าที่คนละอย่าง
 
มีชัย ยอมรับว่า มีความกังวลเกี่ยวกับการเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ ที่ขณะนี้ยังไม่ถึงมือประชาชน  ส่วนใหญ่ตกค้างอยู่ที่ว่าการอำเภอและตำบล ขณะที่ การจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญเล่มใหญ่ ของ กกต. ยังมีความล่าช้า กรธ. จะต้องหารือร่วมกันกับ กกต. อีกครั้ง เพื่อเร่งรัด เนื่องจากขณะนี้เหลือเวลาอีกกว่า 30 วัน  เบื้องต้นต้องอาศัยสื่อท้องถิ่นและกรมประชาสัมพันธ์ โดยส่วนตัวคาดหวังให้ถึงประชาชนให้มากที่สุด
 

ชี้ 'สุเทพ-จตุพร' รณรงค์ ผ่าน Facebook Live ถือเป็นเสรีภาพส่วนบุคคล

ต่อกรณีที่ซุปเปอร์โพลระบุ ประชาชนร้อยละ 60 ยังไม่ตัดสินใจรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้น มีชัย มองว่า เป็นเรื่องปกติ และเป็นหน้าที่ของ กรธ. ที่ต้องเร่งเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญให้เร็วที่สุด
 
มีชัย ยังกล่าวถึง กรณีที่สุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. และจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. ออกมารณรงค์เรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญผ่าน Facebook Live ว่า ถือเป็นเสรีภาพส่วนบุคคล  กรธ. ไม่ได้บังคับให้ใครสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ แต่ต้องการให้พูดข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา
 
“การร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้ตอบโจทย์ กปปส. หรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพียงฝ่ายเดียว แต่บทบัญญัติของ ร่างรัฐธรรมนูญเป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ และทุจริต” มีชัย กล่าวยืนยัน 
 

กกต.จับมือ กศน.ให้ความรู้สร้างความเข้าใจประชาชน

นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วย ประวิช รัตนเพียร ร่วมเป็นประธานประชุมมอบนโยบายขับเคลื่อนกิจกรรมเเละประชาสัมพันธ์การออกเสียงประชามติให้ผู้บริหารสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบ เเละการศึกษาตามอัธยาศัย หรือ กศน.ประจำจังหวัดเเละอำเภอ 1,200 คน เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจ เเนะนำการเตรียมเอกสารให้ความรู้คณะกรรมการศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยตำบล ที่มีกว่า 7,000 ศูนย์ กระจายในทุกตำบลของประเทศ เดินไปเคาะประตูบ้านสร้างความเข้าใจเเละรณรงค์ให้ประชาชนออกมาลงประชามติ มั่นใจจะมีผู้มาใช้สิทธิมากกว่าร้อยละ 57 และบัตรเสียลดลง

 

ที่มา Wassana Nanuam  และ สำนักข่าวไทย 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net