Skip to main content
sharethis

สนทนากับธนาวิ โชติประดิษฐ ผู้จุดกระแสนิทรรศกวางจู ว่าด้วยงานที่เธอศึกษา เมื่อภาพและงานศิลปะในอดีตถูกหยิบมาใช้โดยปัจจุบัน เพื่อผลทางการเมืองในแต่ละยุคสมัย ไม่ว่าจะเป็นภาพของอตาเติร์ก รัชกาลที่ 5 หรือศิลปกรรมคณะราษฎร

ธนาวิ โชติประดิษฐ

คงยังจำกันได้กรณีงานแสดงศิลปะกวางจู ประเทศเกาหลีใต้ ที่จะมีการนำงานของศิลปินไทยคนหนึ่งไปแสดง แต่ถูกตั้งคำถามจากคนในแวดวงศิลปะด้วยกันเองว่าอาจเป็นการเลือกผลงานและศิลปินที่ผิดฝาผิดตัว เกิดเป็นการโต้เถียงที่ค่อนข้างดุเด็ดเผ็ดมันในแวดวงศิลปะบ้านเราเมื่อช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

น่าจะพูดได้ว่า ธนาวิ โชติประดิษฐ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร คือคนจุดกระแสเรื่องนี้คนแรกๆ ทั้งยังส่งจดหมายสอบถามหาเหตุผลในการคัดเลือกงานศิลปะไปยังภัณฑารักษ์ของงานนี้

“มันเป็นอะไรที่ต้องเขียน ถ้าเขาไม่โพสต์เฟสบุ๊คก็ไม่มีใครรู้หรอกว่าเขาไปกวางจู แต่เมื่อเห็นแล้ว คือถ้าไปแสดงที่เกาหลีเหนือหรือนิทรรศการอื่นที่ไม่มีคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับเรื่องนี้ (ประชาธิปไตย) ก็ไม่ต้องถาม แต่งานที่กวางจูมันชัดเจนว่าจัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงการต่อต้านเผด็จการทหารของเกาหลีใต้ ศิลปะที่ถูกเลือกไปแสดงในงานนี้ก็ควรเป็นงานศิลปะที่มีจุดยืนเดียวกันคือต่อต้านรัฐบาลทหาร ต่อต้านการแทรกแซงทางการเมืองของทหาร แต่การที่ภัณฑารักษ์เลือกผลงานของศิลปินที่เลือกสนับสนุนรัฐบาลทหารไปอยู่ในงานนั้น ก็แปลว่ามันผิดฝาผิดตัว คำถามคือคุณเลือกงานนี้ไปด้วยเหตุผลอะไร อธิบายให้เราฟังหน่อย เราอยากรู้”

นั่นเป็นบทบาทหนึ่งที่เธอได้แสดงออกไป

ในบทบาทนักวิชาการด้านศิลปะ งานศึกษาของเธอก็น่าสนใจไม่แพ้กัน ประชาไทจับเข่าคุยกับเธอเรื่องอย่างเรื่องมุสตาฟา เคมาล อตาเติร์กในตุรกีเปรียบเทียบกับพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ของไทย และพลังทางการเมืองของศิลปกรรมที่สร้างขึ้นในสมัยคณะราษฎร ซึ่งเป็นงานศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกของเธอ

อตาเติร์ก และเสด็จพ่อ ร.5

ผลจากการข้ามน้ำข้ามทะเลไปศึกษาต่อด้านประวัติศาสตร์ศิลปะที่เนเธอแลนด์ ทำให้มีโอกาสได้เดินทางไปเที่ยวตุรกีและสังเกตเห็นภาพของมุสตาฟา เคมาล อตาเติร์ก ผู้ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของสาธารณรัฐตุรกีอยู่ทั่วไป เธอใช้คำว่าทุกหัวมุมถนน ทุกบ้าน ทำให้เธอย้อนรอยภาพในสังคมไทยที่มักจะเห็นภาพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมาชิกในราชวงศ์อยู่ทั่วไป

“อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สนใจคืออตาเติร์กเสียชีวิตไปนานแล้วตั้งแต้ต้นทศวรรษ 1930 ทำไมถึงยังมีภาพคนนี้อยู่เต็มไปหมด อาจารย์ที่ปรึกษาเสนอว่าให้ทำเป็นเชิงเปรียบเทียบ เพราะเราก็ไม่ใช่คนตุรกีและไม่ได้ตะวันออกกลางศึกษา ดังนั้น จะดีกว่ามั้ยถ้าจะเชื่อมโยงและเปรียบเทียบกับเมืองไทย จึงนำมาเปรียบเทียบกับรัชกาลที่ 5 เพราะไทยก็มีลัทธิเสด็จพ่อ ร.5 ซึ่งเป็นกษัตริย์ที่สวรรคตไปนานแล้วเหมือนกัน แต่ว่าถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่”

ธนาวิเล่าถึงสิ่งที่ค้นพบอย่างชวนติดตามว่า เคมาล อตาเติร์กที่ปรากฏอยู่ทั่วไปในสังคมตุรกีก็คือปรากฏการณ์หนึ่งของการรื้อฟื้นตัวบุคคล หรือยุคสมัย หรือกลุ่มคน แน่นอนว่ามันไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเอง แต่จะต้องมีเงื่อนไขบางอย่างที่ทำให้เกิดการรื้อฟื้นขึ้น โดยเงื่อนไขที่ว่าจะเชื่อมโยงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน กล่าวคือการหวนหาอดีตจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อปัจจุบันมีสถานการณ์บางอย่างที่ทำให้ต้องหาโมเดล ต้นแบบ หรือทางแก้ปัญหาจากอดีตที่เคยผ่านมาแล้ว

ในกรณีเคมาล อตาเติร์กก็เช่นกัน เมื่อครั้งที่เขาก่อตั้งสาธารณรัฐตุรกี หนึ่งในหลายสิ่งที่เขาทำคือการสร้างตุรกีให้เป็นรัฐฆราวาส (Secular State) เนื่องจากศาสนาอิสลามถือเป็นฐานอันมั่นคงให้แก่อำนาจเก่าของอาณาจักรอ็อตโตมัน แต่แล้วในยุค 1990 ศาสนาอิสลามกลับมามีบทบาทอีกครั้งเมื่อพรรคอิสลามของตุรกีผงาดขึ้นมาเป็นเสียงข้างมากในสภา กลุ่มคนที่นิยมแนวทางรัฐฆราวาสจึงต้องหยิบเอาเคมาล อตาเติร์กกลับมาเป็นสัญลักษณ์ของรัฐฆราวาสเพื่อโต้กับพรรคอิสลาม

“ขณะเดียวกันฝั่งอิสลามซึ่งมีหลายกลุ่มก็พยายามดึงอตาเติร์กมาอยู่ข้างตัวเองเหมือนกัน เช่นบอกว่าในวันที่ก่อตั้งสาธารณะรัฐ อตาเติร์กไม่ได้เป็นปฏิปักษ์กับอิสลาม แล้วก็มีภาพถ่ายอตาเติร์กตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์อิสลามทำท่าทางศาสนาและยืนอยู่ข้างผู้นำทางศาสนาด้วย เป็นการยืนยันว่าอตาเติร์กกับอิสลามไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน หรือภาพภรรยาคนแรกของอตาเติร์กขณะเดินทางกับอตาเติร์กในอนาโตเลียก็แต่งกายแบบอิสลาม”

ธนาวิเล่าต่อไปว่า แต่ข้อเท็จจริงคืออตาเติร์กประกาศหลักการรัฐฆราวาสหลังจากประกาศจัดตั้งสาธารณะรัฐตุรกีแล้ว แต่การเลือกหยิบภาพมาใช้เหมือนกับการหยิบความจริงบางส่วนมา โดยไม่ได้พูดถึงสิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น กลายเป็นว่าทั้งสองฝั่งใช้ภาพของอตาเติร์กเพื่อดึงบิดาของประเทศตุรกีไปอยู่ข้างตัวเอง แต่ถึงที่สุดแล้ว ฝั่งอิสลามที่หยิบภาพอตาเติร์กขึ้นมาก็ไม่ใช่กลุ่มใหญ่ ขณะที่อิสลามอีกกลุ่มหนึ่งก็ไม่ได้รู้สึกว่าต้องทำแบบนี้ เพราะจะกลายเป็นการขัดกับหลักการของศาสนาอิสลามที่ห้ามมีรูปเคารพ ถึงกระนั้นก็ยังมีกลุ่มยิบย่อยหรือแม้กระทั่งนิกายย่อยที่ไม่ห้ามเรื่องรูป จึงทำให้มีรูปอตาเติร์กอยู่ในศาสนสถาน ทว่า รูปอตาเติร์กที่พบมากจริงๆ ก็คือจากฝั่งรัฐฆราวาส มีการติดเข็มกลัดอตาเติร์กเพื่อจะบอกจุดยืนทางการเมือง ขณะที่ฝั่งอิสลามผู้หญิงก็หันมาคลุมผ้า ซึ่งก่อนหน้านี้ตุรกีก็ห้ามไม่ให้คลุมผ้าไปตามสถานที่ราชการ ฮิญาบก็กลายเป็นสัญลักษณ์ของฝั่งอิสลาม

แล้วในกรณีของไทยล่ะ? ธนาวิกล่าวอ้างถึงนิธิ เอียวศรีวงศ์ ซึ่งเป็นคนแรกๆ ที่อธิบายปรากฏการณ์เสด็จพ่อ ร.5 ที่บอกว่า ในด้านหนึ่งเป็นเรื่องของชนชั้นกระฎุมพีที่ต้องการรูปเคารพและสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ แต่ที่คิดว่าสำคัญกว่านั้นคือการรื้อฟื้นรัชกาลที่ 5 ขึ้นมามีผลอย่างมากต่อสถาบันกษัตริย์ในปัจจุบัน เพราะรัชกาลที่ 5 กับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้รับการพูดถึงควบคู่กัน เปรียบเทียบว่าทั้งสองพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่ประกอบพระราชกรณียกิจต่างๆ สร้างประโยชน์ให้แก่ประเทศต่างๆ นานามากมายเหมือนกัน

“เหมือนเป็นการใช้อดีตที่เจริญรุ่งเรืองมาให้ความชอบธรรมกับปัจจุบัน โดยเทียบเคียงและส่งเสริมภาพลักษณ์ซึ่งกันและกัน จะมีการใช้ภาพของทั้งสองพระองค์คู่กัน ทำไมไม่เป็นในหลวงกับรัชกาลที่ 3 หรือรัชกาลที่ 2 ทำไมจึงเป็นรัชกาลที่ 5 เพราะสามารถส่งเสริมซึ่งกันและกันได้ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่ในหลวงไม่จำเป็นต้องอาศัยสัญลักษณ์อื่นในการเสริมสร้างบารมีอีกต่อไป ก็กลายเป็น Stand Alone Symbol สัญลักษณที่มีพลังในตัวเอง การรื้อฟื้นบุคคลหรือเหตุการณ์ในอดีต มันมีการคิดเหมือนกันว่าทำไมจึงเป็นอดีตเรื่องนี้ ไม่เป็นอดีตอีกเรื่องหนึ่ง มันมีเหตุผลสมควรหรือว่าจะสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างไร

“ด้วยวัตถุประสงค์ทางการเมืองและวัตถุประสงค์ของปัจจุบัน เขาเป็นบุคคลและเป็นสถาบันทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นประธานาธิบดีหรือพระมหากษัตริย์ การเลือกที่จะนำกลับมาพูดถึงใหม่ มันก็เป็นเรื่องเชิงการเมืองอย่างช่วยไม่ได้”

เรื่องต่อไปนี้อาจคลับคล้ายกฎหมายบางมาตราในประเทศไทย ธนาวิเล่าว่า ในตุรกีมีกฎหมายห้ามหมิ่นอตาเติร์ก แม้ว่าเขาจะเสียชีวิตไปนานแล้ว แต่กฎหมายก็ยังครอบคลุมมาจนถึงปัจจุบัน ไม่ใช่แค่มีอตาเติร์กเท่านั้น แต่ยังห้ามหมิ่นรูปของอตาเติร์กด้วย เพราะรูปคือตัวแทน

“มันไปถึงขั้นว่าทำต่อรูปปั้น รูปครึ่งตัว อนุสาวรีย์ต่างๆ ไม่ได้เลย ถามว่ามีนักวิชการตุรกีพูดถึงตัวอตาเติร์กในทางไม่ดีมั้ย มี แต่มันเป็นงานตีพิมพ์ในภาษาอังกฤษและเป็นเรื่องในวงวิชการแคบๆ แต่อารมณ์โดยทั่วไปของประเทศก็เป็นแบบนี้ พ่อของฉัน เขาชื่อมุตาฟา แล้วคำว่าอตาเติร์กก็แปลว่าพ่อของชาวเติร์ก”

เพราะภาพเป็นตัวแทนของสิ่งสิ่งนั้น ยิ่งเป็นภาพแบบเหมือนจริง ไม่ว่าจะภาพวาดหรือภาพถ่าย เมื่อภาพกลายเป็นตัวแทนจึงทำให้ภาพกลายเป็นเป้าของการโจมตีหรือในอีกด้านหนึ่งกลายเป็นสิ่งที่คนเคารพนับถือบูชา แม้จะไม่เทียบเท่ากับตัวจริงเสียทีเดียว แต่ก็มีความเป็นภาพตัวแทนของคนคนนั้นหรือสิ่งสิ่งนั้น ด้วยเหตุนี้เอง มันจึงเป็นสิ่งที่เร้าอารมณ์คนได้

“ยิ่งภาพเหมือนจริงมากเท่าไหร่... คือความเหมือนจริงกลายเป็นประเด็นสำคัญของภาพตัวแทน ถ้ามันถูกทำขึ้นมาอย่างไม่เหมือนจริงหรือคนดูแล้วไม่รู้สึกว่าเหมือนจริง คนก็จะไม่รู้สึกว่าการทำอะไรไม่ดีกับภาพเป็นเรื่องที่จะต้องเป็นประเด็น แต่เพราะภาพเป็นภาพตัวแทน คนที่ทุบอนุสาวรีย์อตาเติร์กจึงต้องถูกจับ แต่มันก็ไม่เหมือนกับการไปทุบอตาเติร์กตัวจริง มันมีผลมั้ย มีผลแน่ๆ แต่ไม่ได้เทียบเท่ากันร้อยเปอร์เซ็นต์”

"การรื้อฟื้นอดีตคือการนำอดีตทั้งหมดกลับมาหรือเปล่า ก็ไม่ใช่ มันคือการเลือกหยิบด้านที่ตรงกับสิ่งที่เราต้องการ มันคือการใช้ อดีตที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่คืออดีตที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ แต่ไม่ได้แปลว่ามันถูกสร้างโดยไม่มีฐานจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นจริงบางอย่าง แต่มันเป็นเรื่องของการเลือกและสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของปัจจุบัน"

พลังทางการเมืองของศิลปกรรมที่สร้างขึ้นในสมัยคณะราษฎร

อีกช่วงของการสนทนา ประชาไทและธนาวิพูดคุยถึงงานศึกษาของเธอในระดับปริญญาเอกในหัวข้อพลังทางการเมืองของศิลปกรรมที่สร้างขึ้นในสมัยคณะราษฎร ตั้งแต่ปี 2475-2490 เช่น อนุสาวรีย์ต่างๆ มีบทบาทหน้าที่อย่างไรในยุคสมัยนั้น มันทำหน้าที่สถาปนาอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างไรหรือในสมัยนั้นคือรัฐธรรมนูญนิยม ซึ่งเป็นอุดมการณ์ที่อยู่ตรงข้ามกับกษัตริย์นิยม

นอกจากนั้น ยังศึกษาด้วยว่าในช่วงปี 2549-2553 ที่สังคมไทยประสบวิกฤตการณ์การเมือง ศิลปกรรมของคณะราษฎรถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ห้มีชีวิตทางการเมืองอย่างไร เช่น มีการจัดชุมนุมที่หมุดประชาธิปไตยหรือการจัดชุมนุมที่อนุสาวรีย์ปราบกบฏ ซึ่งเป็นที่คนลืมไปแล้ว คนทั่วไปไม่ได้รู้จักหรือรู้ถึงความสำคัญของสิ่งเหล่านี้ ยกเว้นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยซึ่งถูกใช้มาตลอดประวัติศาสตร์การเมือง

เราถามว่า แล้วเพราะอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจึงไม่เคยถูกหลงลืม?

“สถานที่ตั้งของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเป็นส่วนหนึ่ง แต่ที่คิดว่าน่าจะเป็นสาเหตุจริงๆ คือชื่อของมัน ปกติอนุสาวรีย์สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงบุคคลหรือเหตุการณ์เฉพาะบางอย่างที่ฟังชื่อแล้วรู้ว่ามันคืออะไร อย่างอนุสาวรีย์ปราบกบฏที่เชื่อมโยงกับการปราบกบฏบวรเดช ซึ่งไม่ได้เชื่อมโยงให้เรานึกถึงอย่างอื่น

“แต่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไม่เหมือนกัน มันรำลึกถึงอุดมการณ์ประชาธิปไตย ซึ่งใครๆ ก็อ้างได้ เมื่อมันไม่เฉพาะเจาะจงกับเหตุการใดเหตุการหนึ่งหรือยุคสมัยใดสมัยหนึ่ง เป็นคำกลางๆ เป็นอุดมการณ์ที่ใครๆ ก็อ้างถึงว่าฉันเป็นประชาธิปไตย มันจึงถูกนำไปใช้ได้ตลอดเวลา จะเห็นว่าเสื้อเหลืองก็ใช้ แต่เขาจะไม่ไปที่อนุสาวรีย์ปราบกบฏเพราะเขาไม่สามารถจะเชื่อมโยงอะไรได้ แต่พอเป็นคำกลางๆ คำว่าประชาธิปไตยเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองลอยๆ ใครๆ ก็สามารถเชื่อมโยงเข้าไปได้ จึงทำให้มันถูกใช้อยู่ตลอด”

กับคำถามข้อต่อมาถึงการรื้อฟื้นงานศิลปะอื่นๆ ของคณะราษฎร์ที่ถูกนำกลับมาใช้ ธนาวิอธิบายว่า หลังรัฐประหาร 2549 ซึ่งเป็นการล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่ได้เสียงข้างมากอย่างถล่มทลาย พอมีเลือกตั้งใหม่ก็ยังเป็นร่างใหม่ของพรรคเดิม ชี้ให้เห็นว่าคนจำนวนมากหรือเสียงส่วนใหญ่ของประเทศนี้ที่วัดได้ด้วยการโหวต มองเห็นว่าหลักการประชาธิปไตยเป็นเรื่องสำคัญ ขณะที่มีการประท้วง ชุมนุมทางการเมืองต่างๆ นานา เพื่อปกป้องหลักการเสียงข้างมาก จึงเป็นต้นเหตุให้เกิดการรื้อฟื้นอดีต

“ไม่ได้หมายความว่าทุกๆ ขบวนการที่โปรประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะต้องกลับไปรื้อฟื้นอดีต แต่นี่เป็นเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้นภายใต้ขบวนการประชาธิปไตยของประเทศนี้ มันเป็นส่วนหนึ่งที่ถูกดึงมา มันนำไปสู่การหวนหาอดีตเพื่อหาโมเดลบางอย่างในอดีตเพื่อยืนยันความชอบธรรมของตัวเอง มีการไปชุมนุมที่หมุดคณะราษฎรทุกวันที่ 24 มิถุนายน ต้องไปรำลึกถึง เหมือนฉลองวันเกิดของประชาธิปไตยของประเทศนี้

“มันเป็นการแย่งชิงในเชิงสัญลักษณ์ เป็นการสถาปนาอำนาจใหม่บนพื้นที่ของอำนาจเก่า ซึ่งไม่ได้แปลว่าทุกๆ กรณีต้องใช้วิธีนี้ อย่างอตาเติร์กตอนตั้งสาธารณรัฐตุรกี เขาก็ต้องการลบล้างอิทธิพลของอาณาจักรอ็อตโตมันออกไปให้หมด อิสตันบูลซึ่งเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรอ็อตโตมันมายาวนานก็เป็นเมืองที่มีร่องรอยของอิสลามเต็มไปหมด ทั้งมัสยิดหรือวังของสุลต่าน แทนที่จะใช้วิธีทำลายสิ่งเหล่านี้ ก็ไปสร้างเมืองหลวงใหม่ที่อังการา แล้วไม่มีสัญลักษณ์อะไรที่เชื่อมโยงกับอาณาจักรอ็อตโตมันได้เลย นี่เป็นวิธีหนึ่งคือการละทิ้งของเดิมไปเลย แล้วสร้างสิ่งใหม่ หรืออีกวิธีหนึ่งคือเปลี่ยนมันทำให้เป็นของเรา อย่างฮาเกีย โซเฟีย มัสยิดใหญ่ในอิสตันบูล แต่เดิมเป็นโบสถ์คริสต์ของจักรวรรดิโรมันตะวันออก เมื่อจักรวรรดิอ็อตโตมันเข้ามาครอบครองพื้นที่นี้ เขาเปลี่ยนโบสถ์เป็นมัสยิดโดยการใส่หอคอยเข้าไป แล้วเขียนภาพทับภาพเดิมที่อยู่ข้างใน คือทำลายความหมายเดิมของสัญลักษณ์ แล้วเปลี่ยนความหมายให้เป็นของเรา”

เช่นเดียวกับกรณีของหมุดคณะราษฎร มันคือการปักหมุดเพื่อเปลี่ยนพื้นที่ที่เป็นสัญลักษณ์ของระบบสมบูรณาญาสิทธิราช ไม่ว่าจะเป็นลานพระบรมรูปทรงม้า พระราชวังดุสิต เป็นการใช้วิธีเข้าครอบครองสัญลักษณ์เดิม

“แล้วทำไมจึงถูกรื้อฟื้นขึ้นมาในยุคปัจจุบันและเมื่อถูกรื้อฟื้นขึ้นมาแล้ว มันทำงานยังไง การรื้อฟื้นอดีตคือการนำอดีตทั้งหมดกลับมาหรือเปล่า ก็ไม่ใช่ มันคือการเลือกหยิบด้านที่ตรงกับสิ่งที่เราต้องการ มันคือการใช้ อดีตที่ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่คืออดีตที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ แต่ไม่ได้แปลว่ามันถูกสร้างโดยไม่มีฐานจากสิ่งที่เคยเกิดขึ้นจริงบางอย่าง แต่มันเป็นเรื่องของการเลือกและสร้างขึ้นมาใหม่เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของปัจจุบัน ศิลปกรรมสมัยคณะราษฎรก็ถูกหยิบขึ้นมาหลายอย่าง เช่น อนุสาวรีย์ปราบกบฏที่เสื้อแดงไปชุมนุมกันก่อนหน้าที่จะเดินขบวนไปราบ 11 เป็นการใช้ชัยชนะในอดีตมาปลุกใจตัวเอง

“วิธีการที่ฝั่งเสื้อแดงเข้าไปใช้ศิลปกรรมต่างๆ ที่สร้างสมัยคณะราษฎร มันได้สร้างความสัมพันธ์อย่างหนึ่งขึ้นระหว่างเสื้อแดงกับคณะราษฎร คือเสื้อแดงเหมือนกลายเป็นทายาทของคณะราษฎรที่จะต้องสานต่อภารกิจที่คณะราษฎรได้ริเริ่มไว้คือการสถาปนาระบอบประชาธิปไตยในสยาม คณะราษฎรเป็นตัวอ้างอิงของฝั่งโปรประชาธิปไตย และเขาก็มองตัวเองเป็นทายาทในเชิงอุดมการณ์ว่า สิ่งที่คณะราษฎรได้เริ่มต้นขึ้นถูกทำลายไปเมื่อรัฐบาลจากการเลือกตั้งถูกไปโดยวิธีที่ไม่ชอบธรรมตามวิถีประชาธิปไตย จึงต้องถูกสานต่อและรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ สถาปนาความสัมพันธ์แบบบรรพบุรุษกับทายาทให้เกิดขึ้นมา”

อดีตและงานศิลปะมักถูกหยิบมาใช้เสมอๆ เพื่อตอบสนองเป้าหมายของปัจจุบัน เป็นข้อสรุปที่เห็นได้ชัดเจนจากบทสนทนาในช่วงสายวันหนึ่งที่มหาวิทยาลัยศิลปากร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net