Skip to main content
sharethis

ระบุหากตลาดดีขึ้น ยินดีรับคนงานกลับ ยึดสภาพการจ้างงานเดิม กระทรวงแรงงานเผยลูกจ้างร่วมพันได้รับสิทธิแรงงานตามกฎหมาย

5 ก.ค.2559 จากกรณี วันนี้ นักสื่อสารแรงงาน voicelabour.org รายงานว่า หลังกระแสการเปิดโครงการสมัครใจลาออกของบริษัทผลิตรถยนต์ค่ายยักษ์จากประเทศญี่ปุ่น โดยใช้ชื่อโครงการ “จากกันด้วยใจ” โดย แหล่งข่าว กล่าวว่า การเปิดโครงการดังกล่าวเพื่อที่จะให้ลูกจ้างเหมาค่าแรงซึ่งมีอยู่ในกระบวนการผลิตประมาณร้อยละ 40 ของลูกจ้างทั้งหมดในการสมัครใจลาออกโดยทางบริษัทต้องการคนที่สมัครใจลาออกจำนวน 800-900 คน โดยกำหนดจำนวนแต่ละไลน์การผลิต ได้เปิดรับสมัครเข้าโครงการเป็นเวลา 1 อาทิตย์ นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โดยผู้บริหารลงชี้แจงลูกจ้างเหมาค่าแรงทั้งสำโรง เกตเวย์ บางชอน พร้อมทั้งสัญญากับลูกจ้างเหมาค่าแรงหากผลประกอบการดีขึ้นจะรับลูกจ้างเหมาค่าแรงกลับเข้ามาทำงานในอัตราค่าจ้างเดิมสวัสดิการเดิมและนับอายุงานต่อเนื่องด้วย
 

ยกเศรษฐกิจไทยชะลอตัว-โลกผันผวน

ซึ่งต่อมา บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้ชี้แจงว่า จากสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังคงชะลอตัว ประกอบกับความผันผวนของสภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีผลต่อการส่งออก ส่งผลกระทบต่อตลาดรถยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ บริษัทฯ ต้องปรับลดกำลังการผลิตลง และมีพนักงานเกินความจำเป็นในการผลิต รวมทั้งต้องปรับลดจำนวนชั่วโมงการทำงานล่วงเวลา ทำให้รายได้รวมต่อเดือนของพนักงานลดลง
 
ดังนั้น เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานได้มีทางเลือก บริษัทฯ จึงเปิด โครงการ "จากด้วยใจ" ให้แก่พนักงานรับเหมาช่วงเข้าร่วมโครงการสมัครใจลาออก ซึ่งพนักงานที่เข้าร่วมโครงการ จะได้รับเงินชดเชยครบถ้วนตามกฎหมายแรงงาน และบริษัทฯ ยังพิจารณาจ่ายเงินเพิ่มเติมพิเศษ ให้กับพนักงานที่เข้าร่วมโครงการฯ อีกด้วย
 

ระบุหากตลาดดีขึ้น ยินดีรับคนงานกลับสภาพการจ้างงานเดิม

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ของตลาดรถยนต์ดีขึ้น ทางบริษัทฯ ยินดีที่จะรับพนักงานที่สมัครใจร่วมโครงการนี้ กลับเข้าทำงานเป็นลำดับแรก โดยคงอัตราค่าจ้างพร้อมสวัสดิการตามเดิม รวมทั้งจะมีการนับอายุงานต่อเนื่อง บริษัทฯ ขอยืนยันว่า ตลอดระยะเวลากว่า 50 ปีที่ผ่านมาในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย บริษัทฯ ไม่มีนโยบายปลดพนักงานออกแต่อย่างใด รวมทั้ง โตโยต้า ยังมีความมั่นใจว่าประเทศไทยยังคงมีศักยภาพที่จะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ในภูมิภาคนี้ต่อไป
 

ก.แรงงานเผยลูกจ้างร่วม 1,000 ได้รับสิทธิแรงงานตามกฎหมาย

ขณะที่ สุวิทยา จันทวงศ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยถึงสถานการณ์การเปิดโครงการสมัครใจลาออกในอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์โตโยต้าดังกล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่เปิดให้ลูกจ้างเหมาค่าแรงซึ่งมีอยู่ในกระบวนการผลิตประมาณร้อยละ 40 ของลูกจ้างทั้งหมดราว 750,000 คน หรือราว 800 – 1,000 คน สมัครใจลาออก โดยกำหนดจำนวนแต่ละไลน์การผลิต และได้เปิดรับสมัครเข้าโครงการตั้งแต่วันที่ 4 – 13 ก.ค. 2559 ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุด (5 ก.ค.59) มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการประมาณ 800 คน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) 3 แห่งที่ชัดเจนและประกาศอย่างเป็นทางการในเรื่องของโครงการดังกล่าว ประกอบด้วย  โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (โรงงานสำโรง สำนักงานใหญ่,  โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด โรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้า (นิคมเกตเวย์) อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา และโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (โรงงานบ้านโพธิ์) ประกอบรถยนต์นั่ง รถยนต์บรรทุก และทำชิ้นส่วนรถยนต์ ต.ลาดขวาง อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา ทั้งนี้ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีการชี้แจงกับลูกจ้างเหมาค่าแรงพร้อมทั้งสัญญากับลูกจ้างเหมาค่าแรงว่าภายใน 1 ปีข้างหน้าหากการปรับระบบลงตัวและผลประกอบการดีขึ้นจะรับลูกจ้างเหมาค่าแรงกลับเข้ามาทำงานในอัตราค่าจ้างเดิมสวัสดิการเดิมและนับอายุงานต่อเนื่องด้วย อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวมีการจ่ายค่าจ้างและค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าที่เรียกว่าเงินพิเศษให้ด้วย แทนการที่จะส่งลูกจ้างเหมาค่าแรงให้กับทางบริษัทต้นสังกัด
 
“โครงการดังกล่าวบริษัทฯ แจ้งว่า ได้มีการประกาศให้พนักงานรับทราบมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว โดยแจ้งวัตถุประสงค์ว่าเพื่อปรับโครงสร้างของพนักงาน และเป็นโครงการที่ให้พนักงานที่สนใจจะรับเงื่อนไขที่บริษัทประกาศขึ้นก็เข้าร่วมโครงการ ซึ่งจะเป็นกลุ่มพนักงานจ้างเหมาไม่ใช่บริษัทหรือไม่ใช่พนักงานของบริษัทโดยตรง ล่าสุดมีพนักงานจ้างเหมามาสมัครแล้ว ประมาณ 800 คน และจากข้อมูลที่ได้รับบริษัทฯ จะเปิดรับสมัครไม่เกิน 1,000 คน เนื่องจากว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน กระทบต่อคุณภาพชีวิตของคนทำงาน ถ้าคนที่ไม่สมัครใจก็คงต้องอยู่ต่อ ใช้ระบบสมัครใจไม่ใช้ระบบเลิกจ้างปกติ” รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าว
 
รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสถานการณ์เลิกจ้างยังอยู่ในภาวะปกติ โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์กำลังปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตหรือเชิงรูปแบบการผลิต รวมถึงวัตถุดิบในการผลิตยานยนต์ ในช่วงเวลาที่ผ่านมากับช่วงเวลานี้ เป็นเรื่องของการประกอบอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งในระหว่างนี้บริษัทแต่ละบริษัทอยู่ระหว่างการปรับตัวเพื่อใช้เทคโนโลยีระดับสูงมาใช้ในการจะทำให้อุตสาหกรรมมีคุณภาพและต้นทุนที่เหมาะสมที่จะสามารถดำเนินการได้
 
สุวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของตัวเลขอุตสาหกรรมยานยนต์ มีบริษัทจำนวนมาก อาทิ บริษัทผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ จำนวน 17 บริษัท ภายใต้ 17 บริษัทจะมีบริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนที่เป็นชิ้นส่วนชุดใหญ่ๆ ทั้งหมด 390 บริษัท ย่อยลงมาจะเป็นพาร์ทต่างๆ ที่เป็นการผลิตชิ้นส่วนเล็ก ๆ ประมาณ 1,250 บริษัท มีลูกจ้างที่เกี่ยวข้องประมาณ 750,000 คน โดยในวงรอบของอุตสาหกรรมยานยนต์ จะเป็นจ้างเหมาช่วง (Sub Contractor) ประมาณ 40% ของ 750,000 คน  และอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองจะเป็นกลุ่มที่ต้องปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น เป็นไปตามความต้องการของตลาด อาทิ การให้ออโตเมติก การใช้ไอที อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ส่วนจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวัง คือบริษัทที่มีอุตสาหกรรมหนาแน่น เช่น สมุทรปราการ อยุธยา ฉะเชิงเทรา เป็นต้น
 
“สำหรับบริษัทหรือสถานประกอบการที่มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการที่เกิดจากภาคความสมัครใจ ขอให้ดูแลเรื่องของสิทธิแรงงาน สิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้ไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่จะได้รับเพิ่มขึ้นจนสามารถเป็นเหตุจูงใจให้พนักงานมีความประสงค์ที่จะลาออกโดยเร็ว แต่ส่วนใหญ่แล้วการที่จะสมัครใจออกนั้นก็ไม่ได้เป็นเรื่องของลูกจ้างเพียงฝ่ายเดียว ต้องเป็นเรื่องของฝ่ายบริหารที่จะมีส่วนในการพิจารณาด้วย” รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net