Skip to main content
sharethis

องค์กรสิทธิ-ภาคประชาสังคม ฟ้องศาลปกครองเพิกถอนประกาศ กกต.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ ชี้ละเมิดเสรีภาพ พร้อมของดบังคับใช้ประกาศนี้จนกว่าจะมีคำพิพากษา และระงับออกอากาศรายการ "7 สิงหาประชารวมใจ" จนกว่าจะเปิดโอกาสให้ฝ่ายเห็นต่างร่วมแสดงความเห็นอย่างได้สัดส่วน


6 ก.ค. 2559 เวลา 10.00 น. ที่ศาลปกครองสูงสุด ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และตัวแทนภาคประชาชน ฟ้องศาลปกครองสูงสุดเพื่อขอเพิกถอนประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2559 โดยต่อมาในช่วงเย็น ศาลปกครองนัดไต่สวนคำร้องบรรเทาทุกข์เร่งด่วนวันจันทร์ที่ 11 ก.ค.นี้

รายชื่อผู้ฟ้อง ประกอบด้วย โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) โดยยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ, สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดย จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร ประธาน, จอน อึ๊งภากรณ์, เอกชัย ไชยนุวัติ, ไพโรจน์ พลเพชร, ชนกนันท์ รวมทรัพย์, พัชณีย์ คำหนัก,ศรีประภา เพชรมีศรี,เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช, นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ, นฤมล ทับจุมพล, เกศริน เตียวสกุล และประภาส ปิ่นตบแต่ง

โดยสาเหตุการฟ้องร้องครั้งนี้ ผู้ฟ้องเห็นว่าประกาศดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะมีเนื้อหาที่ขัดต่อหลักประชาธิปไตย หลักกฎหมายภายใน และพันธกรณีระหว่างประเทศที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว และกระทบสาระสำคัญของเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย

ผู้ฟ้องยังระบุว่าปัญหาสำคัญของประกาศ กกต. ฉบับดังกล่าวคือ มีเนื้อหาที่คลุมเครือ ไม่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น การกำหนดลักษณะต้องห้ามในการแสดงออกโดยใช้คำว่า "บิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง" หรือ "ลักษณะรุนแรง" หรือ "ก้าวร้าว" หรือ "หยาบคาย"  หรือ "ปลุกระดม" หรือการกำหนดว่าผู้ที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ ต้องค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับร่าง รธน. อย่างครบถ้วน หรือการอภิปรายเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงการห้ามชักชวนใส่เสื้อ ติดป้าย หรือแสดงสัญลักษณ์ เพื่อนำไปสู่การปลุกระดมทางการเมือง เป็นต้น โดยการกำหนดลักษณะต้องห้ามดังกล่าว ขัดต่อ รธน.ชั่วคราว ปี 2557 มาตรา 4 ประกอบกับกติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิการเมือง (ICCPR) มาตรา 19 และ พ.ร.บ.ประชามติ ปี 2559 มาตรา 7

ในขณะเดียวกัน กกต.ยังผลิตรายการ "7 สิงหาประชารวมใจ" เพื่อนำเสนอความคิดเห็นต่อฝ่ายต่างๆ ที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญ แต่ว่ารายการให้โอกาสกับ กรธ.และส่วนราชการมากกว่าภาควิชาการและภาคประชาสังคม และไม่เปิดโอกาสให้กับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยหรือเห็นแย้งกับร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมรายการอย่างเท่าเทียม ดังนั้นจึงเห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่ชอบด้วยระเบียบของ กกต. และไม่ชอบด้วยกฎหมาย

นอกจากนี้ผู้ฟ้องยังเปิดเผยถึงคำร้องขอให้บรรเทาทุกข์ชั่วคราวโดยเร่งด่วน 2 ข้อ คือ

1. งดการบังคับใช้ประกาศ กกต. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการแสดงความคิดเห็นในการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2559 จนกว่าศาลปกครองจะมีคำพิพากษา เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีและประชาชนทั่วไปใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกทางการเมือง รวมถึงให้มีการรณรงค์ได้

2. ระงับการออกอากาศรายการ "7 สิงหาประชารวมใจ" ที่ กกต.กำลังเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญ ทางสถานีวิทยุและโทรทัศน์ต่างๆ จนกว่าจะแก้ไขรายการและเปิดโอกาสให้ฝ่ายที่มีความเห็นแย้งต่อร่างรัฐธรรมนูญได้เข้าร่วมแสดงความเห็นแย้งอย่างมีสัดส่วนเท่ากัน

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า วันนี้เรายื่นคำร้องขอแล้ว รวมถึงยื่นขอคุ้มครองชั่วคราวอย่างเร่งด่วนด้วย เราเข้าใจว่าการใช้เวลาพิจารณาคดีอาจจะใช้เวลานานพอสมควร แต่ถ้าศาลปกครองท่านอ่านคำร้องแล้วจะเข้าใจว่าเร่งด่วนอย่างไร เพราะว่า 7 ส.ค.นี้ก็จะมีประชามติแล้ว และตอนนี้ประชาชนก็แสดงออกไม่ค่อยได้ การประชามติจึงเป็นอย่างเงียบเหงา เพราะฉะนั้นเราจึงขอให้ศาลไต่สวนโดยเร่งด่วนและสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา เพื่อระงับการออกอากาศรายการของ กกต. และระงับประกาศของ กกต.

เอกชัย ไชยนุวัติ รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ได้ตั้งข้อสังเกตต่อประกาศ กกต.ฉบับล่าสุดว่า เมื่อเปรียบเทียบกับประกาศ กกต.ในช่วงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ไม่มีหมวดใดเลยที่จะบังคับหรือกำหนดว่าประชาชนแสดงความคิดเห็นได้อย่างไร และย้ำว่าประชามติมีการจำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างชัดเจน

“วันนี้ผมจึงมาร่วมกันฟ้องศาลปกครองสูงสุด เราหวังแต่ว่าศาลจะทำหน้าที่ศาล เพราะเราเชื่อว่าประชามติเป็นเรื่องของประชาชนทุกคนที่ใช้อำนาจรัฐโดยตรง ถ้าประชาชนไม่มีเสรีในการแสดงความคิดเห็นทั้งรับและไม่รับ เราไม่สามารถเรียกสิ่งนั้นได้ว่าเป็นประชามติ” เอกชัยกล่าว

ด้าน ชนกนันท์ รวมทรัพย์ ตัวแทนนักศึกษาจากกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) กล่าวว่า ทางกลุ่มได้รับผลกระทบจากประกาศ กกต. โดยทางกลุ่มฯ ได้รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญมาก่อนประกาศ กกต.จะออกมา เมื่อมีประกาศฉบับนี้ออกมาทางกลุ่มถูกทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจ รวมถึงเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบข่มขู่เมื่อใส่เสื้อ Vote No ว่าถ้าไม่ถอดตรงนั้นก็จะถูกจับกุมทันที

ชนกนันท์มองว่า ควรมีพื้นที่ให้กลุ่มที่เห็นแย้งต่อร่างนี้ได้แสดงออก เพราะการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศที่ทุกคนต้องใช้ร่วมกัน ถ้าเกิดเราไม่รับร่าง แล้วไม่มีสิทธิแสดงออก ก็จะทำให้ประชามติไม่เป็นธรรม

ส่วนจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า การทำประชามติครั้งนี้ ประชาชนไม่มีโอกาสแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี ทำให้ประชาชนขาดข้อมูลในการไตร่ตรองและตัดสินใจว่าจะลงคะแนนอย่างไรในวันประชามติ

"เราเห็นว่า กกต. เองไม่ทำหน้าที่ของตัวเอง หน้าที่ กกต. คือต้องทำให้ประชามติสุจริตและเที่ยงธรรม  แต่ กกต. กลับจำกัดสิทธิ ปิดปากประชาชนในการแสดงความเห็น โดยเฉพาะในด้านการแสดงความคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วยต่อร่างรัฐธรรมนูญ เราจึงขอศาลปกครองคุ้มครองชั่วคราว และขอให้มีการไต่สวนโดยเร็วด้วย" จอนกล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net