ปรัชญาการ์ตูน ว่าด้วย Fullmetal Alchemist Brotherhood

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ผมเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบในการอ่านหนังสือการ์ตูน (มังงะ) และชมภาพยนตร์อนิเมชั่น (อนิเมะ) ของต่างประเทศเป็นอย่างมาก ทั้งสัญชาติอเมริกา และญี่ปุ่น ไม่ว่าจะ Marvel, DC, Walt Disney, Pixar, หรือแม้แต่ค่ายของญี่ปุ่นอย่าง TNK, Ghibli, และ Square Enix แล้วที่ชอบโปรดปรานที่สุดในวัยเด็กก็คือ Fullmetal Alchemist ของ Hiromu Arakawa ที่ได้ติดตามอ่าน และรับชมทุกภาคตั้งแต่ภาคเก่ามาจนถึงภาคล่าสุด Brotherhood ซึ่งเป็นภาคที่ผู้ผลิตพยายามจะแก้เรื่องราวในจักรวาลภาพยนตร์เรื่อง Fullmetal Alchemist ให้มีความสอดคล้องกับเนื้อเรื่องในจักรวาลภายในหนังสือการ์ตูน (นอกจากนี้ก็ยึงมีภาพยนตร์แยกอีก 2 ตอน คือ Fullmetal Alchemist the Movie: Conqueror of Shamballa และ Fullmetal Alchemist the Movie: The Sacred Star of Milos)

เมื่อสองถึงสามวันก่อนผมได้ไปเห็นบทความชิ้นหนึ่งภายใน INVERSE ของ Adrian Marcano ชื่อ The Hidden Philosophy in Anime: ‘Fullmetal Alchemist: Brotherhood’[1] ที่ได้นำเนื้อเรื่องของ Fullmetal Alchemist (ถัดจากนี้จะขออนุญาตเรียกว่า ‘FMA’) มาทำการวิเคราะห์และแจกแจงเป็นประเด็นทางปรัชญาที่น่าสนใจเป็นอย่างมากให้ได้อ่านกัน ในฐานะเป็นผู้ที่มีความสนใจในแบบเดียวกันจึงนำมาแปลและเรียบเรียงขึ้น ณ ที่นี้

อนึ่ง FMA นั้นเป็นเรื่องราวของเด็กหนุ่มนักเล่นแร่แปรธาตุ (alchemists) สองพี่น้องตระกูล Elric นามว่า Edwardและ Alphonse ที่มีภูมิลำเนาอยู่ภายในเมืองรีเซมบูล (Resembool) ชนบททางฝั่งตะวันออกใกล้เขตอิชวาล (Ishval) ที่ได้พยายามศึกษาวิจัยเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายของมนุษย์เป็นระยะนานเพื่อที่จะนำไปเป็นข้อมูลในการชุบชีวิต (human transmutation) ให้แม่ของตนเองผ่านวิชาเล่นแร่แปรธาตุ และด้วยความเป็นอัจฉริยะบวกกับตำราและคู่มือการเล่นแร่แปรธาตุมากมายภายในบ้านที่พ่อของพวกเขา (Van Hohenheim) ได้ทิ้งไว้ให้ก่อนเดินทางออกจากบ้านไปทำให้การค้นคว้าไม่ได้ยากเกินไปสำหรับทั้งสองเลย

ภาพที่ 1: แผนที่ประเทศอเมทริส

เมื่อเตรียมการต่างๆกันพร้อมแล้ว ทั้งสองก็ได้เริ่มทำตามแผนแต่ทว่าผลที่ปรากฏออกมากลับเป็นสิ่งที่ผิดหวังไปโดยปริยาย ทั้งสองมิสามารถจะชุบชีวิต หรือหากจะกล่าวให้ถูกต้อง “สร้างแม่” ขึ้นมาใหม่ผ่านวัตถุดิบพื้นฐานตามงานค้นคว้าของพวกเขาได้ เหตุเพราะกฎเหล็กสำคัญ (forbidden technique in alchemy) ของการศึกษาและปฏิบัติใช้วิชาเล่นแร่แปรธาตุนั้น คือ นักเล่นแร่แปรธาตุจะไม่สามารถเสกสร้างทองหรือมนุษย์ขึ้นมาได้ ซึ่งตอบรับกับกฎสำคัญอีกข้อหนึ่ง คือ กฎแห่งการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียม (Law of Equivalent Exchange) ที่แฝงอยู่ภายในกลไกของวิชาแปรธาตุ ทำให้สองพี่น้องกล่าวคือ Edward ได้เสียขาไปหนึ่งข้าง และ Alphonse ได้สูญเสียร่างกาย หรือ กายเนื้อ (physical body) ของตนเองเป็นบทลงโทษขั้นรุนแรงที่ทุกๆคนที่ฝ่าฝืนกฎนี้จะโดนลงโทษเสมอ (เช่นเดียวกับอาจารย์ของ Edward และ Alphonse ที่ชื่อ Izumi Curtis ที่ต้องสูญเสียอวัยวะภายในไปจากการพยายามชุบชีวิตลูกของตนเอง) และเพื่อที่จะดึงเอาน้องชายกลับคืนมา Edward จึงต้องทำการฝืนข้อห้ามในวิชาเล่นแร่แปรธาตุอีกครั้งเพื่อดึงเอาตัวน้องชายกลับมา

แต่น่าเสียดายที่ครั้งที่สองนี้ Edward ดึงเอาน้องชายกลับมาได้แค่สภาพวิญญาณเท่านั้น Edward จึงได้ทำการผนึกวิญญาณของน้องชายตนเองลงไปไว้ภายในชุดเกราะเหล็กที่อยู่ภายในบ้าน ทำให้เกราะเหล็กนั้นเป็นภาชนะรองรับวิญญาณของน้องชายตนเองชั่วคราว และนั่นก็หมายความว่า Edward ต้องจ่ายราคาบทลงโทษในการฝ่าฝืนกฎอีกครั้ง คือ แขนของเขาอีกข้างหนึ่งนั่นเอง (ทำให้ Edward ต้องใส่แขนขาเทียมที่เป็นเหล็กไปชั่วคราว) จนกว่าทั้งสองจะสามารถค้นหาศิลานักปราชญ์ (Philosopher Stone) ที่เป็นหินวิเศษที่มีพลังสามารถจะทำการหักล้างกฎแห่งการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมและข้อห้ามต่างๆของวิชาเล่นแร่แปรธาตุได้เพื่อนำมาหลอมร่างกายและอวัยวะของตัวเองขึ้นมาใหม่

ภาพที่ 2: ชุดเกราะอันว่างเปล่าที่ถูกผนึกวิญญาณของ Alphonse Elric

การ์ตูนชุดเรื่องนี้ได้พยายามฉายให้เห็นภาพหลายประการเกี่ยวกับโลกของการเล่นแร่แปรธาตุ อีกทั้งผู้แต่งยังได้รวบรวมเอาแนวคิด และทฤษฎี ความเชื่อต่างๆเกี่ยวกับการเล่นแร่แปรธาตุ การสร้างโฮมุนคุลุส (homunculus) การสร้างสิ่งมีชีวิตคิเมร่า (chimera) และศิลานักปราชญ์ที่เคยมีผู้ศึกษากันภายในฝั่งยุโรปในอดีตมา นั่นทำให้การ์ตูนเรื่องนี้ถูกแฝงฝังไปด้วยแนวคิดทางปรัชญาสอดแทรกไว้อยู่มากมาย โดย Marcano นั้นได้หยิบยกตัวอย่างของแนวคิดทางปรัชญาที่ซ่อนไว้ออกมาอยู่ 4 ประการ คือ ประเด็นเรื่องแก่นแท้ ศีลธรรมเชิงสัมพัทธ์ การดำรงอยู่ และท้ายสุดกฎแห่งการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมกัน

ภาพที่ 3: ประตูแห่งแก่นแท้

ประการแรกประเด็นเรื่องของแก่นแท้ (truth) มนุษย์เราพยายามแสวงหา ค้นหาและไขว่คว้าหาความจริงอันเป็นสัจจะ หรือ แก่นแท้ (truth) มานานหลายศตวรรษ หรืออาจจะหลายสหัสวรรษเลยทีเดียว สำหรับ “แก่นแท้” ภายในการ์ตูนเรื่องนี้นั้นคือ ตัวสัตความจริง (actual-being) คือความจริงของทุกอย่าง ความจริงที่ถูกซ่อนอยู่ภายในเบื้องหลังของสรรพสิ่งต่างๆภายในทั้งความคิด สิ่งมีชีวิต โลก จักรวาล ทุกสิ่ง เมื่อ Edward ได้พบกับตัวแทนแห่งความจริง ที่ได้พาไปสู่ประตูแห่งแก่นแท้ ตัวแทนแห่งความจริง หรือสัตความจริงนั้นๆก็ได้ส่งให้ Edward เข้าไปสู่ประตูแห่งแก่นแท้ ทำให้ Edward สามารถที่จะเห็นความจริงต่างๆภายในโลก รวมถึงความลับภายในสรรพสิ่งอย่างชัดเจน แต่การได้มาซึ่งความรู้ และความจริงที่แท้เที่ยงเหล่านั้นก็ต้องแลกมาด้วยราคาที่แสนแพง (steep price)  นั่นคือต้องสังเวยบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้ได้มา (กล่าวคือ สูญเสียแขนและขาไปนั้นเอง) ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาว่า ในสถานการณ์นั้นๆเราจะทำอย่างไร และหากเป็นตัวเราหรือกรณีของเราเอง อะไรคือสิ่งที่เราต้องจ่ายและสละ?  และถ้าหากเรารู้แน่นอนว่าสิ่งที่เราต้องจ่ายไปคือสิ่งที่หนักหนาสาหัสสำหรับเรา เราจะยอมจ่ายสิ่งนั้นเพียงเพื่อแค่ให้เรารู้ความจริงบางประการแค่นั้นไหม? หรือบางครั้งเรามีแนวโน้มจะเลือกที่จะไม่รู้ หรือเดียงสาต่อแก่นแท้เหล่านั้นต่อไปอย่างมืดบอด? ซึ่งภายในเนื้อเรื่องนั้น “แก่นแท้” ถูกเสนอผ่านภาพของความน่าเกลียด น่ากลัว สยดสยอง ไม่ว่าผู้ใดที่ผ่านเข้าประตูไปนั้นจักต้องพบกับความโศกเศร้า บาป ความเลวร้ายนานาชนิดที่ถูกฉายออกมาให้ประจักษ์สายตาผ่านคำว่า “แก่นแท้”

ถัดมาคือ ประเด็นเรื่องความสัมพัทธ์ ความแตกต่างระหว่างวัฒนธรรม และ ศีลธรรมภายในชีวิตมนุษย์ การ์ตูนเรื่องนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงการเหยียดชาติพันธุ์ สีผิว และความแตกต่างที่เห็นได้ชัดภายในประเทศอเมทริส (Ametris) โดย Marcano ชี้ว่าเรื่องของคุณธรรมจริยธรรม หรือศีลธรรมนั้นล้วนแต่เป็นสิ่งที่เฉพาะเจาะจงไปตามกลุ่มสังคม หรือตามแต่ละบุคคล (morality is relative to the person) ทำให้มาตรวัดหนึ่งๆ หรือ ค่านิยม ศีลธรรม ความคิดภายในวัฒนธรรมหนึ่งๆนั้นไม่สามารถที่จะถูกนำไปใช้ได้ในอีกกลุ่มวัฒนธรรมหนึ่งๆ เหตุเพราะเรื่องวัฒนธรรมนั้นเป็นเรื่องที่ไม่สามารถเป็นสากลได้ มันจึงเกิดคำถามตามมาว่าเมื่อมันเกิดวัฒนธรรมอย่างการตอน การตัดคลิตอริส (genital mutilation) การกระทำความรุนแรงต่อสัตว์ (animal abuse) ในสังคมอื่นๆเราในฐานะผู้คนต่างวัฒนธรรมมีสิทธิที่จะเดินเข้าไปห้ามปรามหรือประณามพวกเขาหรือไม่? (เมื่อมองในกรอบเดียวกับที่ว่าสิ่งเหล่านั้นก็หมายรวมอยู่ในคำว่า “วัฒนธรรม” เช่นเดียวกับเรื่อง การไหว้ การฮาราคีรี และการจูบแก้ม) ซึ่ง Arakawa ก็ได้พยายามยกตัวอย่างให้เห็นภายใน FMA เอง ที่ความแตกต่างทางวัฒนธรรม ความคิด และมาตรฐานทางศีลธรรม นำมาสู่ความขัดแย้ง และสงคราม นั่นก็คือ สงครามกลางเมืองอิชวาลในทางฝั่งตะวันออก (The Ishvalan War) ที่เกิดจากความแตกต่างทางศาสนา วัฒนธรรม ที่ปะทุขึ้นจากกรณีที่นายทหารจากรัฐบาลอเมทริสนายหนึ่งเกิดยิงเด็กชาวอิชวาลเสียชีวิต และได้มีการนำนักเล่นแร่แปรธาตุของรัฐมาใช้ในสงครามพยายามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอิชวาลไม่เว้นแม้แต่เด็กและผู้หญิง ที่ล้วนถูกมองเป็นพลเมืองชั้นสองอีกด้วย

นอกจากประเด็นชาวอิชวาลแล้วยังมีประเด็นของนักเล่นแร่แปรธาตุของทางกองทัพที่ชื่อ Shou Tucker ที่มีฉายาว่านักเล่นแร่แปรธาตุผสานชีวิต (Sew-Life Alchemist) ที่ได้ฉายถึงประเด็นดังกล่าวไม่น้อยไปกว่ากัน การทำการทดลองกับมนุษย์ของเขาถูกมองและกล่าวหาว่าเป็นเรื่องที่ผิดจรรยาบรรณ และจริยธรรมในหมู่นักเล่นแร่แปรธาตุ (เช่นเดียวกับการทดลองและการทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์กับร่างกายมนุษย์ในปัจจุบันที่ยังไม่ค่อยเปิดกว้างเท่าใดนัก) คำถามที่ว่า “ร่างกายมนุษย์นั้นจะ[พัฒนา]ไปได้ไกลเท่าใด” เป็นคำถามที่ Shou หลงใหลและเป็นแนวคิดหลักของ Shou ในการทำวิจัยเกี่ยวกับร่างกายมนุษย์และสัตว์ที่ยังมีชีวิตอยู่ โดยพยายามจะนำคุณสมบัติพิเศษของสัตว์ต่างๆมาดัดแปลงตัดแต่งเพื่อเพิ่มความสามารถให้แก่มนุษย์ เรียกว่า การทดลองโครงการคิเมร่า (chimera) อันเป็นโครงการวิจัยที่ Shou ตั้งใจจะพัฒนาทำให้สำเร็จเพื่อที่จะเข้ารับการประเมินประจำปีจากกองทัพ และขอให้กองทัพสนับสนุนทุนวิจัยแก่เขาต่อไป โดยการประเมินผลครั้งแรกนั้น Shou ได้ใช้ภรรยาตนเองเป็นหนูทดลองในการสร้างคิเมร่าที่พูดได้ทำให้กองทัพยอมสนับสนุนโครงการของเขาจนถึงเวลานั้น แต่ด้วยระยะเวลาการตรวจประเมินที่ค่อนข้างกระชั้นชิด ทำให้ Shou ไม่สามารถทำงานให้สำเร็จดังที่หวังไว้ จึงใช้ลูกสาวและสุนัขของตนเองมาทดลองสร้างคิเมร่า สิ่งนี้นำมาซึ่งประเด็นที่น่าสนใจที่ว่าการทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพโดยนำมนุษย์และสัตว์มาทดลองภายในโครงการนั้นเป็นสิ่งที่ควรจะปล่อยให้เกิดขึ้น หรือได้รับการยอมรับอย่างจริงจังภายในสังคมมากน้อยเพียงใดอีกด้วย

ภาพที่ 4: มนุษย์ทดลองในหลอดแก้ว (homunculus)

ประการที่สามเรื่องของกายและจิต (mind-body distinction) และการดำรงอยู่ในฐานะมนุษย์ (personhood) เมื่อพูดถึงประเด็นเรื่องการดำรงอยู่ของทั้งตัวตนทางกายภาพและตัวตนทางจิตวิญญาณ ก็ไม่พ้นต้องพูดถึง Rene Descartes ที่ได้นำเสนอปรัชญาทวินิยม (dualism) ที่เป็นแนวคิดที่ว่าด้วยการดำรงอยู่แยกขาดแต่อย่างคู่ขนานกันระหว่างกายภาพและจิตวิญญาณ (two separate entities) และด้วยสภาพการณ์เช่นนี้ หากร่างกายของคนคนหนึ่งถูกทำลายลงไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าตัวตนของคนคนนั้นจะต้องสูญสลาย เพราะยังคงมีจิตวิญญาณที่ยังหลงเหลืออยู่ นั่นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ Alphonse สามารถกลับมาใช้ชีวิตอยู่ได้ในโลกมนุษย์อีกครั้ง ภายหลังถูกพี่ชายทำการผนึกวิญญาณไว้กับชุดเกราะที่แม้ตัวชุดเกราะจะไม่ได้ส่งผลหรือแสดงอาการอัตลักษณ์ใดๆออกมาว่าเป็น Alphonse เลยก็ตาม แต่ด้วยวิญญาณ ความคิดที่ถูกนำมาผนึกไว้นั้น ทำให้ Edward สามารถที่จะใช้อ้างบอกกับใครๆในสังคมได้ว่าชุดเกราะกลวงเปล่าที่พูดได้นั้นคือน้องชายของเขาด้วยอักขระเลือดที่เขียนไว้บนชุดเกราะอันแสดงถึงสัญลักษณ์การมีชีวิตอยู่โดยไร้ตัวตนทางกายภาพ อย่างไรก็ตาม Alphonse ก็ยังคงประสบปัญหาด้านสถานะของความเป็นมนุษย์ในชีวิตประจำวันของตนเองที่ยังคลุมเครืออยู่ตลอดเวลา จากการที่เขาไม่สามารถรู้สึกหิว เจ็บปวด ร้องไห้มีน้ำตาแบบคนทั่วไปได้ ทำให้หลายๆครั้งคนในสังคมประเทศอเมทริสมีอาการตกใจ และตื่นกลัวการปรากฏตัวของชุดเกราะพูดได้นี้

ภาพที่ 5: โฮมุนคุลุสรวมตัว

อย่างไรก็ตามนอกจากสองตัวอย่างที่ได้กล่าวไปเกี่ยวกับคิเมร่า และกรณีของ Alphonse แล้ว อีกกรณีหนึ่งที่ไม่ควรพลาดคือกรณีของการมีอยู่ของโฮมุนคุลุส (homunculus) ที่ทำให้เราต้องกลับมาถกเถียงกันว่าอะไรคือคำจำกัดความของคำว่า “มนุษย์” (human-being) การมีลักษณะทางกายภาพแบบมนุษย์ที่เหมือนๆกันทั่วไป หรือว่า ตัวตนทางจิตวิญญาณและอารมณ์? Marcano ถามว่าถ้าหากเราใช้รูปลักษณ์ทางกายภาพเป็นตัวชี้วัด เช่นนั้นแล้วโฮมุนคุลุส หรือ มนุษย์ทดลองที่เกิดมาจากในหลอดแก้ว (ตามเนื้อเรื่อง) ก็สามารถที่จะถูกสันนิษฐานได้ว่ามีสถานะเทียบเท่ากับมนุษย์ได้เช่นเดียวกัน เพราะสิ่งมีชีวิตเหล่านั้นก็มีรูปร่าง หน้าตา และลักษณะทางกายภาพที่ไม่แตกต่างไปจากมนุษย์เลย แต่ส่วนใหญ่แล้วโฮมุนคุลุสภายในเรื่องดังกล่าวมักจะไม่มีอารมณ์ความรู้สึกในแบบเดียวกับมนุษย์ เพราะต่างก็ถูกสร้างขึ้นมาโดยมีเป้าหมายเพียงไม่กี่ประการ (single-minded) ทำให้ความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์แบบมนุษย์นั้นไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาด้วย ยกเว้นอยู่เพียงตัวเดียวคือ Greed (ชื่อของโฮมุนคุลุสที่มีวิวัฒนาการตัวเองได้จนสามารถมีความรู้สึก และอารมณ์ที่ใกล้เคียงแบบเดียวกับมนุษย์)

และประการสุดท้ายที่ Marcano กล่าวถึงเกี่ยวกับ FMA ก็คือเรื่องกฎแห่งการแลกเปลี่ยนที่เท่าเทียมกัน (Law of Equivalent Exchange) โดยเขาได้อ้างถึงคำพูดของ Alphonse ที่มีต่อกฎของแลกเปลี่ยนว่า “มนุษยชาตินั้นไม่สามารถได้อะไรมาง่ายๆโดยไม่ได้สูญเสียอะไรบางอย่างไป” (Humankind cannot gain anything without first giving something in return) เพื่อเป็นการยืนยันธรรมชาติและความเป็นไปโดยพื้นฐานและสัจจริงของโลกนี้ว่า การที่เราจะได้สิ่งใดสิ่งหนึ่งมานั้นเราจำเป็นที่จะต้องแลกด้วยสิ่งใดก็ตามที่มีค่าเท่าเทียมหรือ[มี/ถูกตั้ง]มูลค่าเทียบเท่ากับสิ่งที่จะได้มา ซึ่ง Marcano ได้เปรียบเทียบและยกตัวอย่างถึงกฎตามหลักวิทยาศาสตร์ของการอนุรักษ์พลังงาน (conservation of energy) กล่าวคือ พลังงานเป็นสิ่งที่ไม่สามารถและไม่มีวันจะสูญสลายหายไปได้ มันแค่เปลี่ยนสถานะไปอยู่ในรูปแบบอื่นเท่านั้น FMA ได้ใช้ปรัชญาและกฎข้อนี้เป็นกลไกสำคัญในการดำเนินเนื้อเรื่องและชีวิตของตัวละครตลอดมาทุกๆภาค ที่ช่วยให้เราเข้าใจว่าสิ่งต่างๆบนโลกนั้นไม่มีอะไรที่สามารถได้มาอย่างง่ายดายโดยไม่สูญเสียสิ่งใดไปเลย หากจะกล่าวง่ายๆก็คือ ไม่มีสิ่งใดที่ไร้มูลค่าอย่างสากล ทุกๆอย่างและสรรพสิ่งล้วนแล้วแต่มีโอกาสที่จะมีมูลค่าหรือราคาทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับว่าจะอยู่ภายใต้บริบทหรือเงื่อนไขประการใด

อย่างไรก็ตามแม้ว่า Marcano จะกล่าวถึงประเด็นจากการ์ตูนทั้งหมดเพียงแค่ 4 ประเด็น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการ์ตูนเรื่องดังกล่าวจะมีประเด็นทางปรัชญา และแนวคิดทางสังคมอยู่เพียงแค่นั้น หากแต่ยังมีอีกมากมาย แทรกอยู่ตาม Episode ย่อยเกือบทุกตอน ซึ่ง Marcano เองก็ได้ยืนยันในตอนท้ายก่อนปิดบทความว่าอาจจะต้องใช้การอธิบายโดยการเขียนออกมาเป็นหนังสือถึงหนึ่งเล่มเพื่อแจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับแนวคิดทางปรัชญาที่แฝงอยู่ภายในการ์ตูนชุดนี้ โดยในส่วนนี้เองผู้แปลก็เห็นด้วยกับ Marcano ที่จะนำเสนอแค่เพียงประเด็นหลักๆทางปรัชญาที่ถูกวางไว้ในโครงสร้างของเนื้อเรื่องเพียงเท่านั้น แม้ลักษณะการอธิบายของ Marcano จะมิสามารถให้รายละเอียดและเจาะลึกลงไปวิเคราะห์ที่ปรัชญาภายในตัวละคร เนื้อเรื่อง แนวคิดบริบทภายในอย่างซับซ้อนเท่าที่ควรตามจริตของการวิเคราะห์ตีความภาพยนตร์ก็ตาม แต่อย่างน้อยที่สุดตัว Marcano เองก็ยังสามารถที่จะดึงเอาสิ่งพื้นฐานที่ซ่อนอยู่ภายในการ์ตูนเรื่องนี้ออกมาแล้วเขียนให้ผู้อ่านได้สำรวจความคิดและสิ่งที่แฝงอยู่ภายในเรื่องได้อย่างน่าสนใจ
 

0000

 

เชิงอรรถ

[1]  Marcano, A. (2016). The Hidden Philosophy in Anime: ‘Fullmetal Alchemist: Brotherhood’”, Retrieved: July 4, 2016. INVERSE: https://www.inverse.com/article/17504-fullmetal-alchemist-brotherhood-anime-philosophy.

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท