Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



การสิ้นสุดของโลกคอมมิวนิสต์ และการเข้ามาของยุคโลกาภิวัฒน์ได้เปลี่ยนแปลงอำนาจของรัฐเวชกรรม โรคร้ายและการแพร่ขยายของเชื้อโรคอยู่นอกเหนือขอบเขตชายแดนประเทศและต้องการความร่วมมือระดับชาติในการแก้ปัญหาสุขภาพ การขยายตัวเศรษฐกิจช่วงปี 80-90 ส่งผลให้แรงงานในโรงงานมีความสำคัญต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และด้วยแรงกดดันจากองค์กรแรงงานระหว่างประเทศ รัฐบาลจึงออกนโยบายประกันสังคมในปี 1990 ครอบคลุมลูกจ้างในภาคเอกชน ธุรกิจด้านการบริการสุขภาพขยายตัวมากขึ้นพร้อมกับการลงทุนสร้างโรงพยาบาลเอกชนจากเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากต่างประเทศ การขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศทำให้สินค้าที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพเช่นเหล้าบุหรี่จากต่างประเทศ เข้าสู่ประเทศไทยมากเช่นกัน เทคโนแครตไทยจึงพยายามรณรงค์อย่างหนักในการควบคุมเหล้าบุหรี่ ภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์จากเดิมที่มุ่งเน้นด้านการรักษาก็เปลี่ยนเป็นการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพมากขึ้น และได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติมากขึ้นในด้านสุขภาพ เช่น ปี 1996 ในหลวงรัชกาลที่9 ทรงได้รับการถวายรางวัลจากวิทยาลัยแพทย์ทรวงอกแห่งสหรัฐอเมริกาเนื่องจากเป็นผู้ริเริ่มการต่อต้านวัณโรคในไทย ปี 1997 ทรงได้รับรางวัลจากสภานานาชาติเพื่อควบคุมโรคขาดไอโอดีน  ปี 1992 ทรงได้รับรางวัลสุขภาพดีถ้วนหน้าจากองค์กรอนามัยโลกเป็นต้น พร้อมกันนี้มูลนิธิมหิดลได้เริ่มต้นการให้รางวัลระดับนานาชาติแก่แพทย์และบุคลากรสาธารณสุขที่มีบทบาทสำคัญของโลกตั้งแต่ปี 1995

โลกาภิวัฒน์มิใช่แพร่ขยายสินค้าและบริการเท่านั้น แต่ได้เผยแพร่แนวคิดประชาธิปไตยอีกด้วย และส่งผลให้มีการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน และนำไปสู่การต่อสู้นองเลือดในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ซึ่งส่งผลดีต่อกลุ่มเทคโนแครตสุขภาพสายประเวศในการเข้าสู่อำนาจการออกนโยบายสุขภาพมากขึ้น หมอประเวศได้ดำรงตำแหน่งสำคัญในคณะกรรมการปฏิรูปหลายคณะ และองค์กรอิสระต่างๆด้านสุขภาพก็เริ่มถือกำเนิดขึ้นมาตั้งแต่รัฐบาลอานันท์ แนวความคิดสายหมอประเวศที่อิงอยู่กับพุทธศาสนาเริ่มแข็งแกร่งกว่าเดิมอีกภายหลังการล่มสลายเศรษฐกิจในปี 1997 เศรษฐกิจที่ถดถอยความเจริญที่ตกต่ำนั้นหมายถึงเรือนร่างส่วนร่วมแห่งชาติได้อ่อนแอลงและต้องอาศัยเรือนร่างส่วนร่วมด้านพุทธศาสนาเข้ามาเสริมสร้างความแข็งแกร่งแทน วาทกรรมการโจมตีลัทธิทุนนิยม และบริโภคนิยมเริ่มมีมากขึ้น การใช้ศีลธรรมและพุทธศาสนามากู้ชาติเริ่มเห็นเด่นชัด เช่น กรณีผ้าป่าช่วยชาติของหลวงตามหาบัวเป็นต้น แนวความคิดการปกครองจากศูนย์กลางเริ่มถูกวิจารณ์ การสนับสนุนการปกครองแบบธรรมาภิบาลและการมีส่วนร่วมของประชาชนเริ่มเข้มแข็งมากขึ้นตามลำดับ ภาพลักษณ์ของเครือข่ายหมอชนบทสูงเด่นกว่ากระทรวงสาธารณสุขจากกรณีจับทุจริตคดียา

การเรียกร้องให้ขยายหลักประกันสุขภาพเริ่มมีขึ้นตั้งแต่ทศวรรษ 90 แต่เนื่องจากการขยายตัวของเศรษฐกิจทำให้คนชั้นกลางมีกำลังซื้อบริการสุขภาพได้ด้วยตนเองและไม่จำเป็นต้องพึ่งนโยบายรัฐบาล อย่างไรก็ตามหลังปี 1997 กำลังซื้อภาคเอกชนหดหายอย่างมากรวมถึงค่าจ่ายสุขภาพ ดังนั้นจึงต้องอาศัยการลงทุนสุขภาพจากภาครัฐเข้ามาทดแทน ซึ่งส่งผลให้การเรียกร้องประกันสุขภาพเริ่มเป็นรูปร่างมากขึ้น มีการรณรงค์ให้มีการบัญญัติสิทธิสุขภาพไว้ในรัฐธรรมนูญครั้งแรกในฉบับปี 1997 และด้วยแนวความคิดขององค์กรระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารโลก และองค์กรอนามัยโลก ไอเอมเอฟ เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการสนับสนุนด้านวิทยาการและให้เงินกู้แก่ประเทศต่างๆเพื่อปฏิรูประบบสุขภาพเพื่อขยายการประกันให้ประชาชน การลงทุนทางสุขภาพเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดและเป็นวิธีที่จะต่อสู้ความยากจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา

เทคโนแครตสายหมอชนบทนำโดย นพ. สงวน สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในการก่อร่างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขึ้นมาจึงเริ่มนำร่างดังกล่าวไปเสนอให้พรรคการเมืองต่างๆ โดยที่ พรรคไทยรักไทย มองเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าการลงทุนสุขภาพเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากด้วยเงินงบประมาณเพียง 70,000- 100,000 ล้านบาท และเมื่อพรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้ง ทิศทางนโยบายสุขภาพไทยจึงหันกลับ 180 องศาจากเดิมที่อิงตลาดเอกชนเป็นหลักมาเป็นการลงทุนโดยภาครัฐและมุ่งเน้นการรักษาปฐมภูมิ และส่งเสริมป้องกันสุขภาพ

การปฏิรูประบบสุขภาพปี 2001 เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และประสบอุปสรรคและการต่อต้านจากหลายๆกลุ่มผลประโยชน์ ความสำเร็จนั้นแลกมาด้วยการสร้างข้อขัดแย้งระหว่างพรรคไทยรักไทยกับกลุ่มคนไม่เห็นด้วย การนำเทคโนแครตสายแพทย์ชนบทเข้ามาร่วมรัฐบาลซึ่งมีอุดมการณ์ที่แตกต่างกับบุคลากรสาธารณสุขบางส่วน ทำให้เกิดแรงต้านทานจากกระทรวง โดยเฉพาะเรื่องการโอนย้ายอำนาจโรงพยาบาลรัฐให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และการโอนงบประมาณให้ สปสช. การขยายการประกันสุขภาพให้ประชาชนทุกคนย่อมส่งผลกระทบต่อรายได้ของโรงพยาบาลเอกชนระดับกลาง การผลักดันนโยบายที่เป็นไปไม่ได้จนสำเร็จย่อมสร้างคะแนนนิยมแก่พรรคไทยรักไทยและสร้างความลำบากให้พรรคการเมืองคู่แข่ง การสร้างสิทธิสุขภาพขึ้นมาเปลี่ยนความคิดขอคนไทยเรื่องการเจ็บป่วยว่ามิใช่เป็นเรื่องบาปกรรม หรือ ต้องรอรับความช่วยเหลือในฐานะผู้ป่วยอนาถาและลดความสำคัญของระบบการกุศลลง นโยบาย 30 บาทสามารถช่วยชีวิตหลายๆคนให้รอดจากความตาย และภาพลักษณ์ของทักษิณก็กลายเป็นนักบุญสำหรับคนจน และกลายมาเป็นบุคคลสำคัญอีกคนหนึ่งในระบบสุขภาพไทย

อย่างไรก็ตาม ในปี 2003 ทักษิณได้เชิญ ฟิลิป คอตเลอร์ มาบรรยาย ซึ่งธุรกิจภาคสุขภาพและบริการการแพทย์เป็นเพชรเม็ดงามที่สร้างรายได้ให้ประเทศ ทักษิณจึงกลับมาสนับสนุนนโยบายเมดิคัลฮับ ทิศทางนโยบายไทยจึงดำเนินคู่ขนานทั้งระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ลงทุนโดยรัฐ กับ เมดิคัลฮับที่ลงทุนโดยภาคเอกชน การเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีด้านสุขภาพอาจจะส่งผลต่อราคายาที่สูงขึ้น และการเข้าถึงอย่างยากลำบากสำหรับคนไข้ในระบบ 30 บาท นโยบายสุขภาพที่มุ่งเน้นด้านบริโภคนิยมและทุนนิยมจึงสร้างความไม่พอใจให้กลุ่มบุคคลที่ต่อต้านลัทธิดังกล่าว และต้องการฝ่ายการเมืองที่เชื่อฟังและวางนโยบายตามที่เขาต้องการ

การรัฐประหารปี 2006 นำมาซึ่งการล้มรัฐบาลทักษิณ  และในปี2007 ก็ได้มีแผนพัฒนาสุขภาพที่เน้นด้านการป้องกันโรคและส่งเสริมสุขภาพมากกว่าการรักษาโรคบรรจุในแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติฉบับที่ 10 (2007-2011) และยังสืบทอดต่อมาในแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติฉบับที่ 11 (2012-2016) ด้วยเช่นกัน และหลังรัฐประหาร2014 รัฐบาลทหารให้ความสำคัญของความมั่นคงแห่งชาติมากกว่าความมั่นคงด้านสุขภาพ มีแนวโน้มลดค่าใช้จ่ายภาครัฐด้านสุขภาพ และมีความพยายามเปลี่ยนนโยบายสุขภาพที่ให้เฉพาะสิทธิประโยชน์แก่คนยากจนที่สุดเหมือนที่เคยเป็นก่อนจะมีนโยบาย 30 บาท

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net