Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis




ท่ามกลางความยินดีของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง หลังจากสำนักข่าวReutersนำเสนอข่าว exclusiveล่วงหน้าก่อนกำหนดจริงในวันที่30มิถุนายน   ว่ากระทรวงการต่างประเทศ(Department of State) สหรัฐอเมริกาตัดสินใจปรับอันดับประเทศไทย(upgrade) จากอันดับต่ำสุดในบัญชี 3 (Tier3) ไปสู่บัญชี 2 เฝ้าระวัง (Tier2 Watch List: 2 WL) ตามรายงานการค้ามนุษย์ Trafficking in Persons(TIP)report 2016  หลังปรับลดอันดับ(downgrade) ประเทศไทยให้อยู่ในบัญชี 3 มาตั้งแต่ปี 2014-2015   


Reutersคาดว่าสถานการณ์นับจากนี้จะนำมาซึ่งการกระชับความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นระหว่างไทยและสหรัฐอเมริกา จากเดิมที่ตึงเครียดลงตั้งแต่หลังรัฐประหารในปี2014 และการปรับลดอันดับบังเอิญเกิดขึ้นหลังจากนั้นเพียงไม่กี่สัปดาห์ หลายภาคส่วนจึงพยายามเชื่อมโยงปัญหาการค้ามนุษย์เข้ากับประเด็นการเมืองของไทยภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลทหารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ผู้เขียนจึงถือโอกาสนี้วิเคราะห์โดยเฉพาะมิติการเมืองระหว่างบรรทัดในรายงานการค้ามนุษย์ (Politics of Human Trafficking)

นิยามความเป็นการเมืองของไทยและต่างประเทศมีนัยยะต่างกันอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือนิยามการเมืองไทยให้น้ำหนักกับพรรคหรือกลุ่มการเมือง สถาบันการเมืองการปกครอง ขณะที่ต่างประเทศขยายขอบเขตไปถึงเรื่องความสัมพันธ์ของรัฐ สถาบันทางสังคมหรือนโยบายสาธารณะ  TIP Reportจึงหลีกหนีความเป็นการเมืองไม่พ้นเนื่องจากเป็นเรื่องนโยบายสาธารณะ โดยที่มาของกฎหมายคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์ (Trafficking Victims Protection Act : TVPA) ปี 2000 ของสหรัฐอเมริกา และแก้ไขในปี 2008 มีเป้าหมายคุ้มครองเหยื่อการค้ามนุษย์และทาสยุคใหม่(modern-day slavery) โดยเฉพาะมาตรา 108 ที่เป็นเสมือนดาบทางการเมืองระหว่างประเทศของอเมริกาที่ใช้จัดอันดับ188ประเทศรวมถึงสหรัฐอเมริกา ในรูปของการจัดทำรายงานสรุปสถานการณ์ประจำปีว่าดำเนินการตามมาตรฐานขั้นต่ำอย่างเพียงพอเพื่อขจัดปัญหาหรือไม่  อย่างไร

โครงสร้างของรายงานทุกประเทศประกอบด้วยสถานการณ์ประเทศในรอบปี ข้อเสนอแนะ(Recommendations)นโยบายของรัฐบาลในการดำเนินคดี(Prosecution) การคุ้มครอง(Protection) และการป้องกัน(Prevention)หรือเรียกว่าหลัก"3P"ตามลำดับ ทั้งที่สำเร็จและล้มเหลวก็ตาม ประมวลสถานการณ์ปัญหาของไทยระหว่างปี2010-2016 มักกล่าวถึงกลุ่มเปราะบาง(vulnerable populations)ที่เสี่ยงต่อการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ได้แก่ แรงงานข้ามชาติ คนไร้รัฐ เด็กและผู้ลี้ภัย ที่เป็นผลจากปรากฏการณ์การย้ายถิ่นและการค้ามนุษย์ที่เชื่อมโยงกัน ความเหลื่อมล้ำในสังคมและกระแสโลกาภิวัฒน์  ส่วนรูปแบบการค้ามนุษย์ประกอบด้วยการบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมการประมงพาณิชย์ เกษตรกรรมและคนรับใช้ในบ้าน การบังคับค้าประเวณีในอุตสาหกรรมเพศพาณิชย์ (commercial sex industry) ตลอดจนการบังคับขอทาน การจัดหาเด็กเข้าร่วมขบวนการก่อความไม่สงบ (separatist groups) ในจังหวัดชายแดนใต้         

ปฏิกิริยาจากรัฐบาลที่ผ่านมามักแสดงออกผ่านแถลงการณ์ไม่ยอมรับ หรือกล่าวโทษองค์กรพัฒนาเอกชนหรือสื่อมวลชนต่างชาติ ว่าเป็นต้นเหตุให้สหรัฐใช้เป็นข้อกีดกันการค้าในฐานะคู่แข่งส่งออกสินค้า ขณะที่ปัญหาประมงไทยเผชิญข้อหาค้ามนุษย์หรือใช้แรงงานทาสจากเพื่อนบ้าน   และประสบกับมาตรการคว่ำบาตรจากประเทศผู้ซื้อโดยเฉพาะสหรัฐและสหภาพยุโรป  จนสร้างผลกระทบเสียหายเป็นวงกว้างตลอดห่วงโซ่อุปทาน(supply chain)แก่เจ้าของเรือ ลูกเรือประมงไทยและต่างชาติ ธุรกิจแปรรูปอาหารและธุรกิจที่เกี่ยวข้องต้องหยุดกิจการหรือสูญเสียรายได้ ตลอดจนกระทบต่อภาพลักษณ์และสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทยในเวทีนานาชาติ    ส่งผลให้รัฐบาลกลับมาตั้งหลักกำหนดยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาโดยอาศัยอำนาจเบ็ดเสร็จในมือ

การเมืองเรื่องค้ามนุษย์จึงเป็นการตอบสนองหรือประสานประโยชน์ของทุกฝ่าย โดยหาสมดุลระหว่างมิติทางเศรษฐกิจ(ผู้ประกอบการ) ความมั่นคงและอธิปไตยของชาติ(รัฐบาล)และสิทธิมนุษยชน (NGOs) ซึ่งปรากฏจากคำแถลงนโยบายของรัฐบาลข้อ 3.2 เรื่องการลดความเหลื่อมล้ำของสังคม ในเดือนกันยายน 2014 โดยเฉพาะการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ผู้หลบหนีเข้าเมือง การทารุณกรรมต่อแรงงานข้ามชาติ การท่องเที่ยวที่เน้นบริการทางเพศและเด็ก และปัญหาขอทาน  โดยปรับปรุงกฎหมายข้อบังคับและเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบ นำไปสู่การประกาศวาระแห่งชาติเรื่องการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ในปี 2015 รวมถึงการกำหนด"ยุทธศาสตร์ 5P" ประกอบด้วยการดำเนินคดี (Prosecution) การคุ้มครอง (Protection) การป้องกัน (Prevention) นโยบายและกลไก (Policy) และความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ (Partnership)

ยุทธศาสตร์5P ของไทยปรากฏผลงานชัดเจนเป็นรูปธรรมผ่านนโยบายกลไก งบประมาณ การแก้ไขและประกาศใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559  การตั้งแผนกคดีค้ามนุษย์ในศาลอาญา จำนวนการจับกุมเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ พลเรือน นักการเมืองท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์มากขึ้น การตรวจสอบจัดระเบียบแรงงานข้ามชาติ ขอทาน เรือประมง ตลอดจนการจัดทำระบบฐานข้อมูล(database)การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์   การอบรมล่ามภาษาเมียนมา กัมพูชาและโรฮิงญาสำหรับการช่วยเหลือและคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ ตลอดจนความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นเช่น ภาคธุรกิจในการกำหนดแนวปฏิบัติการใช้แรงงานที่ดี (Good Labor Practice : GLP)ในอุตสาหกรรมประมงทะเลและแปรรูปสัตว์น้ำ และ NGOs ที่จดทะเบียนด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ 24 แห่งในด้านข้อมูล การดำเนินคดี การคุ้มครองเหยื่อ การจัดหาล่าม ฯลฯ                                          
เมื่อเปิดหน้าต่างมองเพื่อนบ้านในภูมิภาค ก็จะเห็นมิติการเมืองในรายงานไม่มากก็น้อย ตัวอย่างจากเมียนมาร์เพื่อนบ้านที่เร่งพัฒนาเศรษฐกิจกับนานาชาติและจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยสำเร็จ  แต่กลับตกจากบัญชี2WL(ระหว่างปี2012-2015)ลงมาอยู่ในบัญชี3อัตโนมัติ จากปัญหาแรงงานบังคับโดยเฉพาะที่เดินทางไปจีนและไทย ปัญหาผู้อพยพโรฮิงญาและปัญหาทหารเด็กที่ประจำการอยู่ในกองทัพเมียนมาและกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อย  ขณะที่ฟิลิปปินส์แม้จะก้าวกระโดดจากบัญชี2WL(ระหว่างปี 2011-2015)ไปไกลถึงบัญชี 1 แต่พบปัญหาแรงงานบังคับจากที่ส่งออกแรงงานกว่า 10 ล้านคนต่อปี รวมทั้งธุรกิจเพศพาณิชย์  ขณะที่มาเลเซีย ยังคงอยู่ในบัญชี 2WL ต่อเนื่อง ท่ามกลางเสียงวิพากษ์อย่างมากเมื่อปีก่อน

ข้อถกเถียงถึงความเป็นการเมืองและความชอบธรรมของกฎหมาย TVPA และรายงานการค้ามนุษย์อีกประการในแง่วิธีวิทยาการวิจัย(Methodology) ที่แม้จะระบุแหล่งข้อมูลในรายงานจากสถานทูต  เจ้าหน้าที่รัฐ NGO องค์การระหว่างประเทศ เอกสารรายงานวิชาการและวิจัย แต่ย่อมถือว่าเป็นมาตรวัดเพียงฝ่ายเดียวของสหรัฐอเมริกาที่อาจแสดงถึงอคติด้านชาติพันธุ์ หรือระดับการให้คุณค่าทางสังคมแก่ชาติอื่นตามมาตรฐานที่ตนกำหนด(Kristina Cummings) ทั้งยังขาดการแสดงหลักเกณฑ์การประเมินและจัดอันดับที่โปร่งใสชัดเจน(The Center for Refugee and Disaster Response, John Hopkins Bloomberg School of Public Health)

ระหว่างหลัก "3P" ใน US TIP report และยุทธศาสตร์ 5P ของไทย ต่างแสดงถึงนโยบายการเมืองของทั้งสองชาติที่แทรกซึมอยู่ในรายงานการค้ามนุษย์แต่ละบรรทัด และเชื่อมโยงไปถึงมิติสังคม เศรษฐกิจและการเมือง โดยเป้าหมายสำคัญมิใช่เพียงการกลับฟื้นคืนความสัมพันธ์ของทั้งสองชาติ หรือการแสดงถึงสถานการณ์ปัญหาที่กำลังคลี่คลายขึ้นเท่านั้น  แต่เป็นไปเพื่อแสดงถึงความพยายามขจัดปัญหาการค้ามนุษย์หรือทาสยุคใหม่ที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง ที่สังคมไทยจะเพิกเฉยหรือยอมรับไม่ได้อีกต่อไป.   

 

                         

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net