Skip to main content
sharethis

8 ก.ค. 2559 วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.)ได้จัดการประชุมวิชาการระดับชาติ ‘สหวิชาการ 2559’ ขึ้น โดยในช่วงบ่ายมีการสัมมนาวิชาการกลุ่มย่อยใน 5 หัวข้อ ได้แก่ สตรี เพศสถานะ และเพศวิถี, เศรษฐกิจและธุรกิจ, ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความมั่นคงของมนุษย์, วัฒนธรรม ภูมิปัญญาและการเรียนรู้ และ ผลงานของนักศึกษาโครงการ PPE วิทยาลัยสหวิทยาการ (มธ.)

โดยในหัวข้อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและความมั่นคงของมนุษย์ อัลญาณ์ สมุห์เสนีโต อาจารย์จากคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ได้นำเสนองานวิจัยในหัวข้อ สาเหตุการย้ายถิ่นของประชากรมุสลิมวัยแรงงานในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยกล่าวว่า สังคมไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในขณะที่ประชากรวัยเด็กมีแนวโน้มลดลง ดังนั้นปัญหาการย้ายถิ่นฐานของวัยแรงงาน (15-59 ปี) ซึ่งถือเป็นวัยที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศจึงเป็นเรื่องที่ต้องตระหนัก และที่มุ่งศึกษาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ อันได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส เพราะเป็นพื้นที่ที่ยังมีอัตราการเกิดสูงกว่าพื้นที่อื่นเนื่องจากความเชื่อทางศาสนา แต่ถึงแม้จะมีประชากรเพิ่มขึ้น แต่วัยแรงงานชาวมุสลิมใน 3 จังหวัด กลับออกไปทำงานต่างประเทศแทนที่จะทำงานในประเทศ  

อัลญาห์ กล่าวว่า จากการศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้มีครัวเรือนที่ย้ายถิ่น 1,101 ครัวเรือน และจากกลุ่มตัวอย่างวัยแรงงานชาวมุสลิมใน 3 จังหวัดที่ไปทำงานในมาเลเซียทั้งหมด 187 คน พบว่าผู้ชายย้ายถิ่นมากกว่าผู้หญิง และเกือบร้อยละ 50 มีอายุประมาณ 25-35 ปี โดยสาเหตุของการย้ายถิ่นพบว่าคนร้อยละ 76 ย้ายถิ่นโดยคำนึงถึงถิ่นที่อยู่ปลายทาง เช่น รายได้ที่ดีกว่าในประเทศ มีเครือญาติอยู่ที่นั่น หรือสามารถใช้ภาษามลายูในการสื่อสารได้ เป็นต้น

"พอย้ายถิ่นจาก 3 จังหวัด ทุกคนก็จะมองว่ามันเป็นเรื่องของสถานการณ์ความรุนแรงหรือเปล่า ปรากฏว่าเหตุผลของการย้ายถิ่นไปทำงานประเทศมาเลเซีย เป็นเรื่องของการคิดว่ามีรายได้ดีกว่าถิ่นต้นทาง" อัลญาห์ กล่าว

อัลญาห์ ยังกล่าวอีกว่า ประเทศไทยในแต่ละปีขาดแรงงานถึงสี่แสนคน ซึ่งการย้ายถิ่นฐานของแรงงานทำให้ไทยสูญเสียแรงงาน และทำให้ต้องมีแรงงานต่างชาติเข้ามาทดแทน 

“เมื่อเรารับแรงงานต่างชาติเข้ามา มันจะมีเรื่องของแรงงานที่เข้ามาถูกกฎหมาย แรงงานที่จะต้องรักษาสิทธิของเขา ในส่วนนี้ก็เลยเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มองว่าการผลักดันหรือว่าให้โอกาสของแรงงานต่างชาติมีมากกว่าที่จะให้กับคนพวกเขา เขามองว่าจริงๆแ ล้ว สามจังหวัดชายแดนภาคใต้มันเป็นคนชายขอบ” อัลญาห์ กล่าว

สุดท้าย อัลญาห์ มีข้อเสนอแนะให้กระตุ้นทักษะฝีมือให้กับแรงงานให้สามารถทำงานในไทยได้ และสร้างนโยบายที่จูงใจและให้ความสำคัญกับประชากรชาวมุสลิมวัยแรงงาน สร้างความตระหนักว่าประชากรชาวมุสลิมเป็นส่วนหนึ่งในประเทศไทย มีสิทธิและสามารถทำประโยชน์ให้แก่ประเทศไทยได้

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net