Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ในช่วงเวลานี้สังคมไทยกำลังมีปัญหาเรื่องศีลธรรม ดูเหมือนว่าเราโหยหาคนดีชนิดที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ไม่ใช่แค่ปัญหาการทุจริตในทางการเมือง แต่ยังรวมถึงความรุนแรงในสังคม ไม่ว่าจะเป็นการฆ่า การข่มขืน หากจะพูดอย่างถึงที่สุด สังคมไทยกำลังเผชิญกับวิกฤติศีลธรรมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ไม่ใช่การขาดคนดี หากแต่ตัวความดีนั่นเองที่เป็นปัญหา ทำให้เราใช้ไม้บรรทัดความดีของตนไปทาบทับคนอื่น และผลักไสคนอื่นที่ไม่เข้าเกณฑ์ให้กลายเป็นอีกพวกหนึ่ง หรือที่นักวิชาการบางคนเรียกอย่างเต็มปากว่า “คนเลว” การมีชุดความดีสำเร็จรูปเช่นนี้เองที่ทำให้ดูเหมือนว่าคนดีจะอยู่ร่วมกับคนอื่นที่แตกต่างจากตัวเองไม่ได้

ผลสะท้อนของปรากฏการณ์ดังกล่าวก็คือ มีนักคิดนักเขียนพยายามอธิบายต้นสายปลายเหตุของการสับสนปนเประหว่างความดีทางศาสนากับการเมือง ตลอดจนการพิจารณาตัวอย่างความดีจากมุมมองต่างๆทางปรัชญามาตั้งแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ก็เพื่อสร้างความเข้าใจและคลายความยึดมั่นถือมั่นในความดีของเพื่อนร่วมชาติ ซึ่งข้อเขียนดังกล่าวเราสามารถหาอ่านได้แล้วในเว็บไซต์ ในบทความนี้ผู้เขียนอยากจะเล่าเรื่องราวสักเรื่องหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องไม่จริง

ในสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ยุโรปตกอยู่ในห้วงมืดมน ผู้หญิงชาวรัสเซียที่ตกเป็นเชลยของทหารนาซีเยอรมัน กำลังอยู่ในสภาพหวาดกลัว ด้วยไม่รู้ว่าจะตายวันตายพรุ่ง วันรุ่งขึ้นผู้หญิงรัสเซียคนหนึ่งถูกปล่อยออกมา และถูกขอร้องให้ดูแลผู้คุมเยอรมันที่กำลังบาดเจ็บอยู่ ด้วยความคุมแค้นเธอจึงตรงไปจะบีบคอเขาเสียให้ตาย แต่สิ่งที่น่าประหลาดใจและงดงามก็เกิดขึ้น เมื่อทหารนาซีนายนั้นร้องขอน้ำดื่ม ทันใดนั้นผู้หญิงรัสเซียก็ยื่นน้ำดื่มทั้งหมดที่ตนมีให้แก่เขา

เรื่องราวข้างต้นมาจากวรรณกรรมเรื่อง Life and Fate (ชีวิตและชะตากรรม) ของ วิสซาลี กรอสแมน  แม้จะไม่ใช้เหตุการณ์จริงแต่ก็ชวนคิดเรื่องความดีอย่างยิ่ง อันที่จริงในสภาวะนั้น ความแค้นของหญิงรัสเซียก็ดูจะสมเหตุสมผล เพราะเธอและเพื่อนๆถูกกระทำอย่างแสนสาหัส แล้วเราจะอธิบายการกระทำของเธอว่าอย่างไร แน่นอนว่าเธอไม่ได้ทำเพราะความสงสาร หรือนึกด้วยเหตุผลภายในห้วงคิดแล้วกระทำ เพราะการกระทำนี้เกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด ยิ่งไปกว่านั้น หากคิดก่อนทำ เธออาจจะบีบคอแทนที่จะยื่นน้ำให้ก็ได้

เอมมานูเอล เลวีนาส นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสเชื้อสายยิวที่มีบทบาทสำคัญในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง บอกว่าสิ่งที่หญิงชาวรัสเซียคนนี้ทำ เป็น “ความดี” แต่เป็น “ความดีเล็กๆ” เราต้องไม่ลืมว่าในช่วงสงคราม ยุโรปตกอยู่ในความหวาดกลัว ความมืดมนอนธการ ไร้ความหวัง อุดมการณ์ที่ดูจะเป็นความหวังเพื่อปลดปล่อยมนุษยชาติจากการถูกกดขี่อย่างลัทธิมาร์กซ์ก็กลายรูปมาเป็นลัทธิสตาลิน ทั้งอุดมการณ์และสถาบันทางการเมืองต่างก็พากันล่มสลายลง ก็คงจะเหลือแต่ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ระหว่าง “ฉัน” กับ “เธอ” ที่ไม่ได้มองลอดแว่นอุดมการณ์ ศาสนา ชาติพันธุ์ หรืออื่นใดก็ตาม แต่เป็นความดีเล็กๆที่มนุษย์กระทำต่อกัน ที่ดูจะเป็นเหมือนน้ำค้างชุ่มฉ่ำท่ามกลางซากปรักและเถ้าถ่าน

เมื่อไม่ต้องมองผ่านกรอบคิดหรืออุดมการณ์ใดๆ เลวีนาสจึงเรียก “ความดีเล็กๆ” จากเรื่องราวข้างต้นว่า “ความดีที่ทำไปโดยไม่คิด” หรือไม่ถูกจำกัดด้วยความคิด หากแต่เป็นการตอบสนองต่อ “เสียงเรียก” จากภายนอก ที่เรียกร้องการตอบสนอง (respond) ของเรา ดังนั้น คำว่า responsibility จึงไม่ได้มีความหมายแต่เพียงการที่เรา “รับผิดชอบ” ต่อการกระทำของตนเอง อันเกิดจากการเลือกทำด้วยเหตุผล แต่ยังหมายถึง “ความสามารถในการตอบสนอง” (an ability to respond) ต่อเสียงเรียกของคนอื่น

ในห้วงเวลาแห่งความมืดมน ก็ยังมีชาวนาเยอรมันที่ให้ที่ซ่อนตัวแก่ชาวยิวในโรงนาของตน คนที่หยิบยื่นขนมปังให้แก่ชาวยิวที่ผ่านหน้าไป ไม่ใช่ความดีที่ยิ่งใหญ่เพื่อมุ่งสู่การสร้างชาติ ไม่ใช่ความดีของวีรชน ไม่ใช่ความดีของคนดีที่เข้ามาปกครองประเทศ ไม่ใช่ความดีที่ใช้จัดการคนเลว แต่เป็น “ความดีเล็กๆ” ที่ตอบสนองต่อคนอื่น ต่อ “ใบหน้า” ของคนอื่นที่เรียกร้องต่อเรา คนอื่นที่ต่างจากเราโดยสิ้นเชิง คนอื่นที่เราไม่รู้จัก คนอื่นที่เราไม่เข้าใจ คนอื่นที่หิวโหย คนอื่นที่ถูกตรึงตรวน คนอื่นที่ถูกคุมตัว โดยไม่ต้องหันไปหาไม้บรรทัดทางศีลธรรมใดๆ

แน่นอนว่า อุดมการณ์เป็นเรื่องของมนุษย์ ซึ่งย่อมมีผิดพลาดหรือทรุดพังเป็นครั้งคราว และเราต้องหาทางแก้ไขกันต่อไป แต่ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน การไม่เพิกเฉยต่อ “คนอื่น” ก็สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และดูจะเป็นประกายความหวังที่ยังหลงเหลืออยู่ท่ามกลางความมืดมิดและซากปรักหักพังของสังคม

0000

 

เกี่ยวกับผู้เขียน คงกฤช ไตรยวงค์ เป็นอาจารย์ผู้สอนอยู่ ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net