Skip to main content
sharethis

บทความของคลารา เซียเกียน นักวิจัยของศูนย์พิทักษ์เด็ก (PUSKAPA) มหาวิทยาลัยอินโดนีเซียในนิวแมนดาลา ระบุถึงปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นกับเด็กเร่ร่อนหรือเด็กตามท้องถนนหลังจากโรดริโก ดูเตอร์เต ขึ้นเป็นประธานาธิบดีใช้นโยบายปราบปราม "อาชญากร" ด้วยความรุนแรง ซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในชีวิตให้เด็กเหล่านี้ และกีดกันพวกเขาออกไปจากพื้นที่ในการแลกเปลี่ยน

10 ก.ค. 2559 หลังจากฟิลิปปินส์ได้ประธานาธิบดีคนใหม่เป็นโรดริโก ดูเตอร์เต ผู้มีฉายา "มือปราบปืนเถื่อน" ที่ชูนโยบายสงครามปราบปรามยาเสพติดโดยใช้กำลังแบบไม่สนใจหลักการ กฎหมาย หรือหลักสิทธิมนุษยชนใดๆ ทั้งสิ้น คลารา เซียเกียน นักวิจัยของศูนย์พิทักษ์เด็ก (PUSKAPA) มหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย เขียนบทความในเว็บไซต์ "นิวแมนดาลา" ของมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ระบุว่า กลุ่มเด็กเร่ร่อนที่มีอยู่ในฟิลิปปินส์ราว 250,000 คน ต้องแบกรับความเสี่ยงในชีวิตเพิ่มมากขึ้น ทั้งเสี่ยงต่อการถูกจับกุมตัว ถูกลิดรอนสิทธิและแม้กระทั่งเสี่ยงต่อการถูกสังหารนอกกระบวนการทางกฎหมาย

แผนการของดูเตอร์เตคือการลงโทษอาชญากรหนักข้อขึ้น ส่งเสริมให้มีการฆ่ากันแบบศาลเตี้ย สั่งเคอร์ฟิวคนที่เป็นเยาวชน และลงโทษผู้ปกครองที่ปล่อยให้เด็กถูกจับบนท้องถนน โดยตำรวจในฟิลิปปินส์เริ่มอุ่นเครื่องแผนการพวกนี้ด้วยการไล่จับเด็กๆ ของคนไร้บ้านบนท้องถนนแล้ว ถึงแม้ว่านโยบายของของดูเตอร์เตจะรุนแรงและนอกกฎหมายรวมถึงถูกประณามโดยกลุ่มสิทธิมนุษยชนแต่ดูเตอร์เตก็สร้างความนิยมขึ้นมาด้วยวิธีเช่นนี้

ในรายงานจากฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่าในช่วงที่ดูเตอร์เตดำเนินนโยบายใช้ความรุนแรงกับคนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น "อาชญากร" ในตอนที่เป็นนายกเทศมนตรีเมืองดาเวา มีเด็กเร่ร่อนอยู่ในจำนวนผู้ที่ถูกสังหารด้วย โดยจากคนที่ถูกสังหารระหว่างปี 2548-2552 จำนวน 206 คน มีอยู่ 19 คน ที่เป็นเด็ก แต่ดูเหมือนว่าผู้คนจะชอบวิธีการของดูเตอร์เตจนเลือกเขากลับมาเป็นนายกเทศมนตรีหลายครั้ง

บทความโดยคลารา เซียเกียน ระบุว่าแผนการใช้ความรุนแรงของดูเตอร์เตจะเป็นฝันร้ายของเด็กเร่ร่อน ขณะเดียวกันก็สะท้อนภาพการมองเด็กเร่ร่อนของคนในสังคมฟิลิปปินส์ที่มีอยู่เดิมตั้งแต่ก่อนดูเตอร์เตเข้าสู่อำนาจ เวลามีการอภิปรายนโยบายเด็กเร่ร่อนมักจะถูกนำเสนอในทางลบให้เห็นเป็น "ตัวร้าย" แทนที่จะเป็น "เหยื่อ" เสมอ

เซียเกียนระบุว่าเวลามีการพูดถึงเด็กเร่ร่อนในฟิลิปปินส์มักจะมีวาทกรรม 2 อย่างคอยนำอยู่เสมอคือวาทกรรมเรื่องการคุ้มครองเด็กและวาทกรรมเรื่องความสงบเรียบร้อยในสังคม ถึงแม้ว่าสองวาทกรรมนี้ฟังดูขัดแย้งกันแต่ก็มักจะทำให้เกิดการปฏิบัติต่อพวกเขาในแบบเดียวกัน จากที่กฎหมายในฟิลิปปินส์มักจะแสดงให้เห็นว่าเด็กๆ บนท้องถนนเป็นเด็กอ่อนแอที่ต้องให้รัฐคุ้มครอง หรือไม่ก็เป็นกลุ่มที่ดูเป็นภัยต่อสังคมไปเลยเพียงเพราะเป็นเด็กเร่ร่อน

มีกฎหมายอยู่สองฉบับในฟิลิปปินส์ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเด็กเร่ร่อน คือกฎหมายความยุติธรรมของเยาวชนปี 2549 ที่ระบุคัดแยกเด็กที่มีลักษณะ "เด็กกลุ่มเสี่ยง" หมายถึงเด็กที่มีโอกาสก่ออาชญากรรม กฎหมายนิยามลักษณะต่างๆ ของเด็กกลุ่มนี้ว่าเป็นเด็กเร่ร่อน ถูกละเมิด ถูกทอดทิ้ง มาจากครอบครัวไม่สมบูรณ์ ต้องออกจากโรงเรียน และอยู่ในชุมชนที่มีอาชญากรรมสูง ทั้งหมดนี้เป็นภาพทั่วไปที่คนมองเด็กเร่ร่อน

อย่างไรก็ตามในกฎหมายอีกมาตราหนึ่งก็ระบุให้มีการงดเว้นการฟ้องร้องคดีอาญาต่อเด็กเร่ร่อนในกรณีที่พวกเขาในการกระทำบางอย่างรวมถึงการขอทาน และเสพยาเสพติดราคาถูกจำพวกสูดดมอย่าง 'รักบี้' เนื่องจากการดำเนินคดีพวกเขาด้วยข้อหาเหล่านี้ขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention on the Rights of the Child)

นอกจากนี้ยังมีกฎหมายอีกฉบับหนึ่งที่ระบุถึงการคุ้มครองเด็กจากการถูกละเมิดสิทธิ กีดกัน หรือกดขี่แรงงาน แต่ปัญหาอยู่ที่กรอบความคิดในการบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้ทำให้ชีวิตของเด็กเร่ร่อนยุ่งยากขึ้นเพราะรัฐมองว่าการอยู่ตามท้องถนนของเด็กพวกนี้เป็นอันตรายต่อพวกเขาหรือเป็นเพราะตัวพวกเขาถูกมองว่าเป็นอันตรายต่อพื้นที่สาธารณะ

ทั้งสองมุมมองต่างก็มีข้อสรุปเดียวกันคือเด็กๆ ไม่ควรอยู่ตามท้องถนน ทำให้กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (DSWD) ของฟิลิปปินส์ออกโครงการ "ซากิบ คาลินกา" ที่แปลว่า "เพื่อช่วยเหลือและดูแล" เป็นโครงการที่พยายามลดจำนวนเด็กตามท้องถนนรวมถึงเด็กเร่ร่อนด้วย แต่ทว่านักกิจกรรมก็วิจารณ์โครงการนี้อยู่อย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากเด็กเร่ร่อนที่ถูกช่วยเหลือจากท้องถนนต้องพบเจอสภาพที่อันตรายและแย่ยิ่งกว่าในค่ายคุ้มครองจากการถูกละเมิดสิทธิและทารุณกรรม ยกตัวอย่างเช่นกรณีของเด็กที่ชื่อ เฟรเดอริโก ที่ภาพถ่ายตัวเขาในสภาพผ่ายผอมเกือบเหลือแต่โครงกระดูกถูกแพร่กระจายต่อเป็นไวรัลทำให้เกิดการสั่งปิดค่ายชั่วคราว

แต่ทว่าบรรยากาศความคิดเห็นของผู้คนต่อเรื่องเด็กเร่ร่อนยังเป็นไปในเชิงเป็นปฏิปักษ์จากที่ทวิตเตอร์ของ DSWD ส่งเสริมให้ชาวเน็ตให้ข้อมูลเมื่อพบเห็นเด็กเร่ร่อนเพื่อที่จะไป "ช่วยเหลือ" พวกเขาได้ โดยที่ชาวเน็ตยังคงใช้ภาษาส่วนใหญ่ในเชิงลงโทษหรือทำให้มองว่าเด็กเร่ร่อนเป็นสิ่งรบกวน ไม่น่ามอง หรือเป็นภัยบนท้องถนน แม้แต่โครงการให้เงินช่วยเหลืออย่างไม่มีเงื่อนไขแก่เด็กเร่ร่อนและครอบครัวก็ยังสะท้อนมุมมองว่าการที่เด็กอยู่ตามท้องถนนเป็นเรื่องที่ผิด

เซียเกียนระบุว่าแนวคิดเรื่องความสงบเรียบร้อยในสังคมและการคุ้มครองเด็กที่สอดประสานกันเป็นการลบเลือนเสียงเรียกร้องสิทธิเด็กอื่นๆ โดยเฉพาะการให้เด็กมีส่วนร่วมในการอภิปรายประเด็นนี้ด้วย ทั้งที่ฟิลิปปินส์เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีกฎหมายรับรองการมีส่วนร่วมของเด็กในนโยบายสาธารณะตั้งแต่ปี 2517 ก่อนหน้าที่จะมีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก แต่การมีส่วนร่วมดังกล่าวก็สงวนไว้สำหรับเด็กบางกลุ่มที่ถูกรัฐครอบงำโดยเฉพาะในแง่มุมมองทางการเมืองเท่านั้น พวกเด็กเร่ร่อนที่ถูกกล่าวหาว่าเป็น "อาชญากรในภายภาคหน้า" ไม่ได้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มเด็กที่มีส่วนร่วมได้และเสี่ยงการถูกลงทัณฑ์จากนโยบายของรัฐบาล

เซียเกียนแสดงความกังวลว่าหลังจากดูเตอร์เตกลายเป็นผู้นำก็มีการพยายามจัดระเบียบอะไรต่างๆ เพิ่มมากขึ้น บวกกับอารมณ์ความรู้สึกของผู้คนที่เป็นไปในทางลบต่อเด็กเร่ร่อนมากขึ้นและวาทกรรมทั้งหลายที่ระบุถึงข้างต้นแล้ว ชีวิตของเด็กเร่ร่อนก็น่าจะเลวร้ายลงกว่าเดิม ทั้งนี้ นโยบายการลงโทษจำคุกพ่อแม่ที่ปล่อยปละละเลยก็ยิ่งทำให้สถานการณ์เด็กเร่ร่อนเลวร้ายลงกว่าเดิม การสังหารผู้ต้องสงสัยก่ออาชญากรรมโดยไม่ผ่านกระบวนการตามกฎหมายก็ทำให้มีเด็กเร่ร่อนอยู่ในหมู่คนที่ถูกสังหารไปด้วย สิ่งเหล่านี้ยิ่งทำให้การยอมรับสิทธิของเด็กในพื้นที่สาธารณะน้อยลงไปอีก

"นโยบายเหล่านี้เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่ารัฐบาลล้มเหลวในการทำให้เกิดพื้นที่ปลอดภัยและท้องถนนที่ปลอดภัยสำหรับเยาวชน ซึ่งตรงกันข้ามกับความต้องการของพวกเขาที่ถูกบันทึกไว้ในสารคดีโครงการเมืองที่เป็นมิตรสำหรับเด็กว่าพวกเขาต้องการเดินอยู่บนท้องถนนได้โดยไม่ต้องกลัวอะไร" เซียเกียนระบุในบทความ

 

เรียบเรียงจาก

Saving street kids in Duterte’s Philippines, Clara Siagian, New Mandala, 07-07-2016
http://www.newmandala.org/saving-street-kids-dutertes-philippines/

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net