ฝ่ายสิทธิฯ 2 องค์กรสื่อเรียกร้องปล่อยตัวนักข่าวประชาไทโดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาโดยเร็ว

ฝ่ายสิทธิเสรีภาพ 2 สมาคมสื่อ ให้ความเห็นกรณีจับนักข่าวประชาไท เรียกร้องปล่อยตัวโดยไม่ตั้งข้อกล่าวหา ชี้ติดรถแหล่งข่าวเป็นเรื่องปกติ ด้านสมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือซีป้า ระบุมาตรา 61 วรรคสอง พ.ร.บ.ประชามติ ส่งผลกระทบตรงต่อการทำหน้าที่สื่อ ส่วนอาจารย์นิเทศศาสตร์ตั้งคำถามสมาคมสื่อมองบทบาทสื่อทางเลือกอย่างไร

11 ก.ค. 2559 ปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ อุปฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และ สุปัน รักเชื้อ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย มีความเห็นตรงกันเกี่ยวกับกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ควบคุมตัวนายทวีศักดิ์ เกิดโภคา ผู้สื่อข่าวประชาไท ระหว่างลงพื้นที่ติดตามการทำข่าวด้วยข้อหากระทำผิด พ.ร.บ.ประชามติ และถูกนำตัวไปฝากขัง ทั้งที่นายทวีศักดิ์ได้แสดงตัวมาตลอดว่าเป็นผู้สื่อข่าว และได้ลงพื้นที่ไปติดตามการทำข่าว แต่ตำรวจกลับมองว่าร่วมกระทำความผิด โดยมีสาเหตุมาจากการนั่งรถมากับกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นจากทุกฝ่าย หากยังไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่ามีการกระทำความผิดอย่างชัดเจน ขอเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้สื่อข่าวประชาไทโดยไม่การตั้งข้อกล่าวหา เพราะการอ้างว่านักข่าวนั่งรถไปกับแหล่งข่าวถือเป็นความผิดนั้นจะกระทำไม่ได้ เพราะตามปกตินักข่าวจะต้องลงพื้นที่ทำงานข่าวให้ทันกับเวลา ดังนั้นการเดินทางอาจมีความจำเป็นที่จะอาศัยติดรถแหล่งข่าวลงไปทำข่าวด้วยก็ถือเป็นเรื่องปกติ ขณะที่การปฏิบัติหน้าที่ของผู้สื่อข่าวเองก็เป็นไปตามหลักสิทธิเสรีภาพบนความรับผิดชอบในการนำเสนอข่าวตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้

ทั้งสองระบุว่า อย่างไรก็ตามในช่วงเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย และสังคมยังคงมีความขัดแย้งอยู่ ก็ขอให้ผู้สื่อข่าวทุกคนใช้เหตุผลในการนำเสนอข่าวสารให้มากที่สุดเพื่อไม่ให้เป็นการซ้ำเติมวิกฤติความขัดแย้งเพิ่มขึ้น

ด้าน กุลชาดา ชัยพิพัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายรณรงค์สิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน สมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือซีป้า แสดงความเห็นต่อกรณีการจับกุมนักข่าวประชาไทว่า

“ความเห็นเบื้องต้นของซีป้าจากการติดตามสถานการณ์ในช่วง 1 วันที่ผ่านมา เรามองว่าการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เข้าไปจับกุมนักข่าวร่วมกับนักกิจกรรมเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ไม่สมเหตุสมผล การที่นักข่าวเข้าไปในพื้นที่เพื่อทำข่าว เรื่องของบัตรแสดงตนนั่นเป็นอีกกรณีหนึ่ง แต่ในเมื่อมีพยานยืนยันแล้วว่า นักข่าวผู้นี้ได้ติดตามการเคลื่อนไหวการรณรงค์ประชามติมาตั้งแต่ต้น ก็ไม่ควรมีเหตุผลที่ตำรวจจะจับกุม”

กุลชาดา ยังกล่าวอีกว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นการสะท้อนให้เห็นว่า การบังคับใช้มาตรา 61 วรรค 2 ของ พ.ร.บ.ประชามติ มีผลกระทบโดยตรงต่อการทำหน้าที่ของสื่อโดยตรง

“การบังคับใช้มาตรา 61 วรรค 2 มีผลโดยตรงต่อการทำหน้าที่ของสื่อ ยิ่งถ้าตั้งข้อหาแบบนี้ยิ่งกระทบ และควรปล่อยตัวนักข่าวอย่างไม่มีเงื่อนไข เพราะเขาไปทำหน้าที่สื่อ การแสดงความคิดเห็นส่วนตัวของเขาก็เป็นสิทธิที่เขาจะแสดงออก ถือว่าการจับกุมครั้งนี้ไม่มีเหตุผลอันควร”

ก่อนหน้าฝ่ายสิทธิเสรีภาพของสององค์กรสื่อออกมาแสดงความเห็น มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้สัมภาษณ์ประชาไทถึงกรณีดังกล่าวว่า เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับนักข่าวสื่อทางเลือก สังคมไทยยังไม่ได้ให้บทบาทของนักข่าวสื่อทางเลือกเหมือนกับนักข่าวสื่อกระแสหลัก อย่างนักข่าวกระแสหลักมักจะได้รับการคุ้มครองมากกว่าในหลายๆ เรื่อง แต่เมื่อเป็นนักข่าวสื่อทางเลือก หรืออยู่ในยุคที่ประชาชนสามารถนำเสนอข่าวสารผ่านสังคมออนไลน์ได้อาจทำให้ตำรวจในพื้นที่ หรือคนมีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ได้มองว่าคนกลุ่มนี้เป็นนักข่าว 

“สมัยก่อนยังไม่มีนักข่าวสื่อทางเลือกจำนวนมากขนาดนี้ รวมถึงประชาชนที่สามารถแสดงบทบาทเป็นผู้สื่อข่าวได้เอง อย่างนักข่าวพลเมือง และถึงแม้กรณีนี้จะไม่ได้เกิดขึ้นกับนักข่าวประชาไทแต่เกิดขึ้นกับคนธรรมดาที่เป็นนักข่าวพลเมือง ผมก็คิดว่าองค์กรวิชาชีพสื่อควรจะออกมาปกป้องด้วยเหมือนกัน เพราะเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนในการนำเสนอข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริง ต้องถามกลับกับองค์กรวิชาชีพสื่อว่าเพราะอะไร เพราะไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง หรือยังยึดอยู่กับสถานะเดิมว่านักข่าวต้องอยู่ในสื่อกระแสหลัก”

มานะ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาเมื่อเกิดกรณีที่คล้ายคลึงกันนี้ขึ้นกับนักข่าวสื่อกระแสหลัก อย่างน้อยองค์กรวิชาชีพสื่อมักออกมาแสดงจุดยืนอะไรบ้างอย่าง ดังนั้นองค์กรวิชาชีพสื่อต้องทบทวนตัวเองด้วยว่ามองบทบาทของนักข่าวสื่อทางเลือกไว้อย่างไร มองว่าเป็นนักข่าวที่มีสถานะเดียวกับนักข่าวมืออาชีพด้วยหรือไม่ แล้วอาจต้องตั้งคำถามต่อว่าความเป็นนักข่าวมืออาชีพคืออะไรกันแน่

“พอเป็นนักข่าวสื่อทางเลือกมันดูเหมือนเป็นประชาชนชั้นสองขององค์กรวิชาชีพสื่อ ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นนักข่าว ไม่ได้ถูกสนใจ ถูกให้ความสำคัญ ทั้งที่ถึงเวลาแล้วด้วยซ้ำไปที่นักข่าวสื่อทางเลือก หรือคนที่ไม่ได้มีอาชีพสื่อแต่พวกเขาแสดงบทบาทได้ดีกว่านักข่าวมืออาชีพ แม้กระทั่งประเด็นข่าว การเกาะติดประเด็น” มานะกล่าว
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท