Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“เศรษฐศาสตร์เป็นเพียงวิธีการ แต่เป้าหมายคือการเปลี่ยนแปลงจิตวิญญาณของมนุษย์”

-- Margaret Thatcher

 


Margaret Thatcher และ Ronal Reagan
(ขอบคุณภาพจาก google.com)

เมื่อพูดถึงลัทธิเสรีนิยมใหม่ (neoliberalism) เรามักจะนึกถึงลัทธิเศรษฐกิจที่ปรากฏตัวขึ้นมาในช่วงราวๆทศวรรษที่ 1970 ถึง 1980 ซึ่งต่อต้านและปฏิเสธนโยบายเศรษฐกิจแบบรัฐสวัสดิการตามแนวทางของลัทธิเคนส์เซียนด้วยการหันไปให้ความสำคัญกับหลักการตลาดเสรีแบบสุดโต่ง (market fundamentalism) ลัทธิเสรีนิยมใหม่เริ่มถูกนำเอามาใช้อย่างจริงจังในแถบทวีปยูโร-แอตแลนติก ภายใต้การนำของรัฐบาลนายเรแกนในสหรัฐอเมริกา กับรัฐบาลของนางแทชเชอร์ในสหราชอาณาจักร และค่อย ๆ แพร่กระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของโลกจนถึงปัจจุบัน

การอุบัติขึ้นของลัทธิเสรีนิยมใหม่ได้นำไปสู่การออกชุดนโยบายทางเศรษฐกิจต่างๆ ตั้งแต่การแปรรูปกิจการที่ถูกถือครองโดยรัฐและสาธารณะให้กลายเป็นของเอกชน การลดกฎระเบียบที่ขัดขวางและควบคุมการไหลเวียนของเงินทุนโดยเฉพาะทุนในภาคการเงิน และการตัดลดงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับนโยบายสวัสดิการของภาครัฐ เป็นต้น คำอธิบายเหล่านี้คือ ภาพความเข้าใจโดยทั่วไปที่ผู้คนมีต่อลัทธิเสรีนิยมใหม่ ซึ่งเป็นการมองจากมุมของเศรษฐศาสตร์และนโยบายเศรษฐกิจเป็นหลัก 

อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญสำหรับบทความชิ้นนี้ก็คือ เราจะสามารถทำความเข้าใจลัทธิเสรีนิยมใหม่จากมุมมองอื่นที่ไม่ใช่แง่มุมทางเศรษฐกิจได้หรือไม่ เสรีนิยมใหม่มีความแตกต่างจากลัทธิเสรีนิยมทางเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมอย่างไรบ้าง และลักษณะเฉพาะของเสรีนิยมใหม่สร้างผลกระทบอย่างไรต่อระบอบประชาธิปไตย 

Wendy Brown ศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัย California, Berkeley เป็นหนึ่งในนักวิชาการที่หันมาสนใจปัญหาของเสรีนิยมใหม่อย่างแข็งขันในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เธอเป็นผู้ที่สนใจผลกระทบของเสรีนิยมใหม่ต่อเรื่องต่าง ๆ เช่น สถาบันการศึกษาอย่างมหาวิทยาลัย และ สถานะของระบอบประชาธิปไตย

เธอได้ตอบคำถามข้างต้นของบทความนี้เอาไว้ในหนังสือเล่มล่าสุดของเธอที่ชื่อว่า Undoing the Demos: Neoliberalism’s Stealth Revolution โดยเธอเสนอว่าเราสามารถทำความเข้าใจลัทธิเสรีนิยมใหม่จากแง่มุมทางการเมืองได้เช่นกัน และสำหรับเธอ ลัทธิเสรีนิยมใหม่เป็นปรากฏการณ์ที่สร้างผลกระทบเชิงลบต่อหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยอย่างมาก


Wendy Brown และหนังสือของเธอ
(ขอบคุณภาพจาก google.com)

เสรีนิยมใหม่ในฐานะรูปแบบของเหตุผล

Wendy Brown นิยามลัทธิเสรีนิยมใหม่ว่าเป็น ‘รูปแบบของเหตุผล’ (form of reason) ที่กำหนดนิยามให้ชีวิตทางสังคมทุกมิติดำเนินไปภายใต้ตรรกะแบบเดียวกับกิจกรรมในทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ ทุกกิจกรรม (กระบวนการเรียนรู้ ความรัก กีฬา ความบันเทิง การเมือง วัฒนธรรม) ทุกสถาบัน (รัฐ ศาสนา โรงพยาบาล โรงเรียน ครอบครัว สื่อ) และตัวตนของมนุษย์ทุกคน ได้ถูกทำให้มีภาพลักษณ์แบบเดียวกับระบบเศรษฐกิจตลาดเสรีไปจนหมดสิ้น

ตัวตนของมนุษย์ถูกลดทอนความหลากหลายและซับซ้อนลงให้กลายเป็นเพียงตัวแสดงของระบบตลาด กลายเป็นมนุษย์ที่มองตัวเองเสมือนกับบริษัท หรือพูดอย่างเฉพาะเจาะจงก็คือกลายเป็น ‘ทุนมนุษย์’ (human capital) ที่เลือกทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิต โดยใช้วิธีคิดคำนวณอย่างเป็นเหตุเป็นผลตามการแข่งขันในตลาดและใช้ตัวชี้วัดแบบตลาดในการตัดสินคุณค่าของการกระทำต่าง ๆ ในชีวิต รวมทั้งอาศัยเทคนิคและวิถีปฏิบัติแบบเดียวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มคุณค่า/มูลค่าให้กับตนเองทั้งในปัจจุบันและอนาคต 

เธอยกตัวอย่างเรื่องของการศึกษาในปัจจุบัน ว่าแทนที่เราจะคิดถึงการศึกษาว่าเป็นกระบวนการสร้างพลเมืองที่สอดคล้องกับคุณค่าแบบประชาธิปไตยและการสร้างพลเมืองที่มีอารยะธรรม เรากลับมีแนวโน้มที่จะคิดถึงการศึกษา-โดยเฉพาะการศึกษาในระดับสูง-ว่าเป็นเสมือนการลงทุนของปัจเจกบุคคลเพื่อรับประกันการมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคงในอนาคต  การศึกษาที่มากขึ้นถูกมองเป็นโอกาสในการเพิ่มรายได้และยกระดับหน้าที่การงาน หรือที่สังคมไทยชอบพูดถึงการ “เรียนเอาวุฒิฯ” เพื่อเพิ่มขั้นเงินเดือนหรือเลื่อนตำแหน่ง การศึกษาได้กลายเป็นเรื่องของการลงทุนของปัจเจกบุคคลเพื่อคาดหวังกำไรในอนาคต ไม่ได้ถูกมองว่าเป็นกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพในการคิดเชิงวิพากษ์หรือการคิดเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของสังคม ไม่แม้กระทั่งถูกมองเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการสร้างพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย 

ไม่เพียงแต่ตัวตนของมนุษย์เท่านั้น แม้แต่สถาบันและกิจกรรมทางสังคมต่างๆ เช่น รัฐ มหาวิทยาลัย โรงพยาบาล หรือศาสนา ก็ถูกประเมินค่าและประเมินตนเองโดยการใช้มาตรวัดคุณค่าแบบเดียวกับที่ใช้ในระบบตลาดเสรีเช่นกัน ดังนั้น การประเมินความสำเร็จด้วยการวัดจากมูลค่า กำไรและขาดทุน รวมไปถึงความสามารถในการแข่งขันและการจัดอันดับสูงต่ำจึงถูกให้ความสำคัญมากกว่าการประเมินโดยอาศัยคุณค่าทางสังคมแบบอื่น ๆ เป็นตัวชี้วัด เช่น ความยุติธรรม ความเสมอภาคเท่าเทียม ความเอื้ออาทร หรือการสร้างความเป็นพลเมืองของระบอบประชาธิปไตย

ทุกพื้นที่ทางสังคมที่ตกอยู่ภายใต้เหตุผลแบบเสรีนิยมใหม่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่ส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นรัฐ สังคม องค์กรธุรกิจ ปัจเจกบุคคลและทุกหน่วยย่อยทางสังคม ต่างก็ถูกบริหารจัดการด้วยตรรกะของเศรษฐกิจแบบตลาด แม้ว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเศรษฐกิจหรือการซื้อขายด้วยเงินเลยก็ตาม  แต่ทุกสิ่งทุกอย่างก็สามารถถูกปรนนิบัตรราวกับเป็น ‘บริษัท’ (firm) ที่ขับเคลื่อนไปด้วยแรงจูงใจทางเศรษฐกิจได้ทั้งสิ้น 


ความต่างระหว่างเสรีนิยมทางเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมกับเสรีนิยมใหม่

Wendy Brown เสนอว่า ลัทธิเสรีนิยมใหม่ไม่ได้เป็นเพียงการเปลี่ยนรูปของระบบทุนนิยมให้มีความเข้มข้นมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่ Michel Foucault เรียกว่า “การยกเครื่องลัทธิเสรีนิยม” (reprogramming of liberalism) ลัทธิเสรีนิยมใหม่ไม่เพียงแค่นำแนวคิดระบบเศรษฐกิจตลาดเสรีมาใช้อย่างสุดขั้วมากขึ้น แต่ยังได้ทำการปรับเปลี่ยน เบี่ยงเบน และกลับกลับหางหลักการของลัทธิเสรีนิยมทางเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม (classical economic liberalism) ในหลายด้านเสียใหม่ ทำให้ลัทธิเสรีนิยมใหม่มีความแตกต่างจากเสรีนิยมทางเศรษฐกิจแบบดั้งเดิมอยู่หลายประการ ในที่นี้ จะขอยกมาอธิบายเฉพาะ 2 ประเด็นที่เธอเน้นย้ำว่าเป็นความแตกต่างที่สำคัญ 

ประการแรก สำหรับลัทธิเสรีนิยมทางเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม มนุษย์เป็นตัวแสดงของตลาดเฉพาะเมื่ออยู่ในพื้นที่ทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เมื่ออยู่ในพื้นที่ทางสังคม ครอบครัว การเมืองหรือศีลธรรม มนุษย์ก็จะมีตัวตนแบบอื่นที่แตกต่างกันออกไป แต่สำหรับลัทธิเสรีนิยมใหม่ มนุษย์ทุกคนมีสถานะเป็นเพียงแค่ “สัตว์เศรษฐกิจ” (homo oeconomicus) ในทุกพื้นที่และในทุกเวลา นั่นหมายถึง แม้เวลาที่อยู่ในพื้นที่ทางการเมือง สังคมหรือพื้นที่อื่น ๆ มนุษย์ก็ควรจะตัดสินใจกระทำสิ่งต่าง ๆ ด้วยเหตุผลแบบเดียวกับการตัดสินใจในพื้นที่เศรษฐกิจอยู่เสมอ

ในลัทธิเสรีนิยมทางเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม เหตุผลและวิถีปฏิบัติของระบบตลาดจะถูกจำกัดให้อยู่เฉพาะในพื้นที่ทางเศรษฐกิจและพื้นที่การผลิตของมนุษย์เท่านั้น แต่สำหรับลัทธิเสรีนิยมใหม่ เหตุผลและวิถีปฏิบัติของระบบตลาดถือเป็นสิ่งที่มีความเหมาะสมที่จะนำไปประยุกต์ใช้จัดระเบียบพื้นที่ของชีวิตได้ทุกประเภท ไล่ตั้งแต่รัฐ รัฐบาล สังคม จนไปถึงตัวตนของมนุษย์ พื้นที่ทุกมิติของชีวิตล้วนตกอยู่ภายใต้กระบวนการ “ทำให้กลายเป็นเรื่องทางเศรษฐกิจ” (economization of every domain of life) แม้แต่ในพื้นที่ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องทางเศรษฐกิจและการเงินเลยก็สามารถถูกจัดระเบียบด้วยเหตุผลแบบตลาดเช่นเดียวกัน 

ความแตกต่างประการต่อมาก็คือ สำหรับลัทธิเสรีนิยมทางเศรษฐกิจแบบดั้งเดิม ระบบตลาดถือเป็นสิ่งที่ดีและมีอยู่โดยธรรมชาติ ดังนั้นรัฐจึงควรมีบทบาทให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ในความสัมพันธ์กับตลาด รัฐไม่ต้องยื่นมือเข้าไปแทรกแซงและไม่ต้องใช้อำนาจเข้าไปกำกับควบคุมอะไรหากไม่จำเป็น และปล่อยให้กลไกตลาดทำงานด้วยตัวของมันเองก็พอแล้ว แต่สำหรับเสรีนิยมใหม่ แม้ระบบตลาดจะเป็นสิ่งที่ดีสำหรับทุกพื้นที่ของชีวิตก็จริง แต่มันไม่ใช่สิ่งที่มีอยู่หรือเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ  ‘ตลาด’ ในความเข้าใจของเสรีนิยมใหม่เป็นสิ่งที่ต้องถูกสร้างขึ้น ต้องได้รับการช่วยเหลือ สนับสนุนและได้รับการปกป้องคุ้มครองจากรัฐ กฎหมาย นโยบายและกลไกอื่น ๆ จึงจะทำให้ตลาดเกิดขึ้นและสามารถทำงานไปได้อย่างมีเสถียรภาพ ตลาดในความเข้าใจของเสรีนิยมใหม่จึงเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการปกป้องและสนับสนุนจาก “ภายนอก” ตลาด

ในความหมายนี้ ‘รัฐ’ สำหรับเสรีนิยมใหม่ จึงมีบทบาทหน้าที่ในการอำนวยความสะดวก ให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริมและสนับสนุนตลาดด้วยทุกวิถีทางเพื่อให้ “การแข่งขัน” เกิดขึ้นและดำเนินต่อไปได้ แต่สุดท้ายหน้าที่ของรัฐก็ไม่ใช่การเข้าไปแทรกแซงตลาดและไม่ใช่การเข้าไปกำกับควบคุมกลไกตลาดโดยตรง แต่คือการทำตัวเป็นผู้ปกป้องคุ้มครองตลาดจากภายนอก รวมทั้งทำหน้าที่สร้างเงื่อนไขเพื่อให้ตลาดเติบโต สร้างความเป็นไปได้ให้เกิดการแข่งขัน และสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุนผ่านการออกกฎหมาย นโยบายและการใช้กลไกของรัฐเอง เราจึงเห็นได้ว่าในแทบทุกประเทศที่กลายเป็นเสรีนิยมใหม่ รัฐและกลไกอำนาจรัฐล้วนมีบทบาทสำคัญอย่างมากในกระบวนการดังกล่าว ทั้งการออกกฎหมายสนับสนุนการลงทุน การลดกฎเกณฑ์ที่ขวางกลไกตลาด การจัดการกับกลุ่มสหภาพแรงงาน รวมทั้งการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ รัฐเช่นนี้จึงต่างจากรัฐที่มีบทบาทน้อยและปล่อยให้กลไกตลาดทำงานไปเองเหมือนแนวคิดแบบ laissez-faire  ของลัทธิเสรีนิยมทางเศรษฐกิจแบบ ดั้งเดิม    


ผลกระทบของเสรีนิยมใหม่ต่อระบอบประชาธิปไตย

ข้อถกเถียงหลักในหนังสือของ Wendy Brown ก็คือ ลัทธิเสรีนิยมใหม่ในฐานะรูปแบบของเหตุผลที่เปลี่ยนพื้นที่ชีวิตทางสังคมทุกมิติให้ขับเคลื่อนไปด้วยเหตุผลแบบเดียวกับระบบเศรษฐกิจตลาดนั้น เป็นสิ่งที่บ่อนทำลายหลักการพื้นฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตยอย่างมาก ทั้งในแง่ของการเปลี่ยนความหมายของคำศัพท์พื้นฐาน การเปลี่ยนความเข้าใจต่อหลักการเรื่องความเสมอภาคและความยุติธรรม การบ่อนทำลายวัฒนธรรมทางการเมือง การแปรเปลี่ยนอุปนิสัยของพลเมือง การแทรกแซงกระบวนการปกครอง และที่สำคัญคือทำลายจินตนาการแบบประชาธิปไตย

เธอไม่ได้หมายถึงแค่ปรากฏการณ์ระดับผิวเผินที่กลุ่มทุนการเงินและบรรษัทข้ามชาติที่ทรงอิทธิพลได้เข้าครอบงำและแทรกแซงสถาบันทางการเมืองต่าง ๆ จนนำไปสู่การสถาปนาระบอบธนาธิปไตยแทนที่ประชาธิปไตยเท่านั้น แต่เธอยังหมายถึงปรากฏการณ์ที่เหตุผลแบบเสรีนิยมใหม่ได้กระจายตัวไปยังทุกพื้นที่ของชีวิต ตั้งแต่ สถานที่ทำงาน วัฒนธรรม การศึกษา สถาบันทางกฎหมาย จนไปถึง การเมืองการปกครอง และกิจกรรมอีกเป็นจำนวนมากในชีวิตประจำวัน เมื่อความหมายและวิถีการปฏิบัติในพื้นที่ต่าง ๆ เหล่านี้ถูกทำให้เปลี่ยนไปด้วยเหตุผลแบบเสรีนิยมใหม่ องค์ประกอบสำคัญของระบอบประชาธิปไตยที่สถิตอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ เหล่านี้จึงถูกทำลายลงและถูกลดทอนให้กลายเป็นเรื่องในทางเศรษฐกิจไปจนหมดสิ้น ด้วยเหตุนี้ เธอจึงคิดว่าเสรีนิยมใหม่ไม่ส่งผลดีต่อระบอบเสรีประชาธิปไตย และระบอบเสรีประชาธิปไตยจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงภายใต้กระแสความเปลี่ยนแปลงนี้

สำหรับ Wendy Brown องค์ประกอบหลักสำคัญที่สุดของระบอบประชาธิปไตยก็คือประชาชน คำว่า “demos” ที่เธอใช้ในชื่อหนังสือเล่มนี้เป็นคำศัพท์ภาษากรีกที่แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า “the people” หรือประชาชน และเหตุที่คำนี้สำคัญก็เพราะมันเป็นรากของคำว่า Democracy ที่มาจากคำว่า “Demos + Kratia” ซึ่งแปลว่า “การปกครองโดยประชาชน” (people rule)  ด้วยเหตุนี้ ประชาชน (demos) จึงเป็นองค์ประกอบสำคัญ รวมไปถึงเป็นจุดเริ่มต้นและพลังขับเคลื่อนของระบอบประชาธิปไตยด้วย  

ประชาชนตามจินตนาการของระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งในอุดมคติ คือประชาชนที่มีอำนาจในการควบคุมสิ่งต่าง ๆ ซึ่งไม่ใช่เพียงการควบคุมตัวแทนทางการเมืองของพวกเขาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอำนาจในการควบคุมเงื่อนไข สภาพแวดล้อมและกฎกติกาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเขาเอง

ผลกระทบที่เสรีนิยมใหม่สร้าง ไม่ใช่แค่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมอย่างรุนแรงที่ขยายตัวมากขึ้นซึ่งบ่อนทำลายหลักการเรื่องความเสมอภาคอันเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น แต่เหตุผลแบบเสรีนิยมใหม่ได้แปรเปลี่ยน “ประชาชน” ในฐานะองค์ประกอบหลักของประชาธิปไตย ให้กลายเป็นเพียงตัวแสดงของตลาดที่ไม่ได้มองตัวเองเป็นอย่างอื่นนอกจาก “ทุนมนุษย์” และให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับตนเองในอนาคตตลอดเวลาในทุกพื้นที่แม้แต่ในพื้นที่ทางการเมืองและพื้นที่ส่วนตัว

การลดทอนมนุษย์ให้เหลือเพียงแค่มิติด้านเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว ทำให้คุณค่าทางการเมืองและสังคมหลายประการซึ่งเป็นผลดีต่อการสร้างระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งถูกละเลย เมื่อประชาชนมองตนเองเป็นเพียงปัจเจกบุคคลที่แยกขาดและต้องแข่งขันกับผู้อื่นตามตรรกะแบบตลาดเสรีอยู่ตลอดเวลาในทุกพื้นที่ ทำให้คุณค่าและหลักการต่างๆ เช่น กระบวนการปรึกษาหารือ ความเสมอภาคเท่าเทียม การใช้อำนาจตัดสินใจร่วมกัน อำนาจอธิปไตยของปวงชน และความยุติธรรมจึงกลายเป็นสิ่งที่ไม่ถูกให้คุณค่าในการดำเนินชีวิตของประชาชนอีกต่อไป

ความเสมอภาคเท่าเทียม การใช้อำนาจร่วมกัน การปรึกษาหารือ และการคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมอันเป็นหัวใจของระบอบประชาธิปไตยกลายเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับคุณค่าของเหตุผลแบบตลาดที่ลัทธิเสรีนิยมใหม่พยายามสถาปนาขึ้นในทุกพื้นที่ของชีวิตทางสังคม ในความเห็นของ Wendy Brown ระบอบประชาธิปไตยไม่สามารถอยู่รอดได้หากหลักการต่าง ๆ เหล่านี้ถูกลดทอนให้เป็นเพียงเรื่องของเหตุผลแบบตลาด ระบอบประชาธิปไตยภายใต้ลัทธิเสรีนิยมใหม่จึงอยู่ในสภาวะที่เปราะบางและอันตราย  

แต่กระนั้น Wendy Brown ยังมองโลกในแง่ดีอยู่บ้าง เธอตอบคำถามในการให้สัมภาษณ์ครั้งหนึ่งว่า แม้ในปัจจุบันเหตุผลแบบเสรีนิยมใหม่จะครอบคลุมและแพร่กระจายอยู่แทบทุกหนทุกแห่ง แต่กระนั้น การที่เรายังสามารถมองเห็นการทำงานของมัน มองเห็นผลกระทบในทางลบของมัน และยังสามารถวิพากษ์วิจารณ์มันได้ ย่อมแปลว่าเรายังไม่ได้ถูกมันครอบงำอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ลัทธิเสรีนิยมใหม่ยังไม่ได้รับชัยชนะอย่างสมบูรณ์ แน่นอนว่าตอนนี้เรากำลังอยู่ภายใต้อิทธิพลลัทธิเสรีนิยมใหม่ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง แต่ก็เป็นความจริงเช่นกันว่าเรายังมีพื้นที่ทางความคิดสำหรับมองเห็นและวิพากษ์วิจารณ์มันอยู่ นั่นหมายความว่า การต่อสู้เพื่อกอบกู้ระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและมีคุณค่าให้กลับคืนมาก็ยังเป็นสิ่งที่ไปได้เช่นกัน

0000


อ้างอิง:

- Brown, Wendy. Undoing the Demos: Neoliberalism's Stealth Revolution. MIT Press, 2015.
- Wendy Brown. Neoliberalism poisons everything: How free market mania threatens education and democracy (บทสัมภาษณ์) ที่มา: http://www.salon.com/2015/06/15/democracy_cannot_survive_why_the_neoliberal_revolution_has_freedom_on_the_ropes/
- An Interview with Wendy Brown (บทสัมภาษณ์) ที่มา: http://www.prodigallitmag.com/Wendy-Brown-Interview.html

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net