Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 “ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

เหตุการณ์การจับกุมและดำเนินคดีอาญากับนักกิจกรรมและนักข่าว เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2559 ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ  ถูกตั้งคำถามจากผู้เกี่ยวข้องว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบอันเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 หรือไม่ ในฐานะนักกฎหมาย คำถามนี้ควรค่าต่อการหาคำตอบเพราะหากกรณีดังกล่าวเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบจริง ย่อมหมายความว่าเหตุการณ์ที่บ้านโป่งจะเป็นเรื่องการใช้อำนาจรัฐละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง เป็นอาชญากรรมโดยรัฐและเป็นไปได้ว่าหากไม่มีการลงโทษผู้กระทำความผิด เหยื่อรายต่อไปอาจเป็นเราหรือคนที่เรารัก       


กฎหมายอาญามีเป้าหมายหลักสองประการ

ประการแรก คือ รักษาความสงบเรียบร้อยของสังคม โดยการกำหนดห้ามการกระทำบางอย่างหรือบังคับให้กระทำการบางอย่างและมีบทลงโทษผู้ฝ่าฝืน เช่น ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 288 กำหนดให้การฆ่าคนเป็นความผิดอาญาและมีอัตราโทษสูง ทั้งนี้เนื่องจากหากปล่อยให้มีการฆ่ากันไป ฆ่ากันมาในสังคม

ประการที่สอง คือ คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากการใช้อำนาจรัฐ โดยการกำหนดเป็นหลักการพื้นฐานของกฎหมายอาญาว่า กฎหมายอาญาต้องมีความชัดเจนแน่นอน ต้องตีความอย่างเคร่งครัด รัฐไม่ว่าจะเป็นตำรวจ อัยการหรือศาล ไม่สามารถเอาผิดและลงโทษพลเมืองได้ หากไม่มีกฎหมายกำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าการกระทำนั้น ๆ เป็นความผิดและได้กำหนดโทษไว้  ตามภาษkลาตินที่ว่า Nullum crimen nulla poena sine lege  รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 มาตรา 32, 2550 มาตรา 39 ได้รับรองหลัก “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษโดยไม่มีกฎหมาย” ไว้อย่างชัดเจน และหากอธิบายกันตามลายลักษณ์อักษรแล้วหลักการนี้ย่อมถูกรับรองไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 4 ด้วย ไม่เพียงเท่านั้นประมวลกฎหมายอาญาของไทยก็รับรองหลักการนี้ไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 2 วรรคแรกที่บัญญัติว่า “บุคคลจักต้องรับโทษทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย”      


ข้อเท็จจริงอันเป็นที่มาของการดำเนินคดี

จากรายงานข่าวของเว็บไซต์ประชาไท[1] ระบุถึงพฤติกรรมกาเข้าจับกุมและของกลางว่า "เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้รับแจ้งจากประชาชนอ้างว่าเป็นพลเมืองดีและศูนย์วิทยุ สภ.บ้านโป่ง ว่ามีบุคคลใช้รถยนต์กระบะเชฟโรเลท หมายเลขทะเบียน XXX บรรทุกอุปกรณ์สิ่งของท้ายรถมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าจะมาทำการแจกเอกสาร แผ่นพับ ใบปลิวในเรื่องรณรงค์ต่อต้านการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญในเขต อ.บ้านโป่ง ต่อมาจากการสืบสวนพบว่ารถยนต์คันดังกล่าวจอดอยู่ถนนทรงพล เทศบาลเมืองบ้านโป่ง เจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตัวขอตรวจค้นรถดังกล่าว พบของกลาง คือ แผ่นไวนิลข้อความ "นายกไทยใครๆ ก็โดนล้อ" 1  แผ่น ไมโครโฟน ลำโพง ที่่คั่นหนังสือ "โหวตโน"  จุลสาร การออกเสียง จำนวน 66 ฉบับ แผ่นเอกสาร ปล่อย 7 นักโทษประชามติโดยไม่มีเงื่อนไข 21 แผ่น แผ่นเอกสารความเห็นแย้ง 2 ฉบับ เอกสารแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ ฉบับลงประชามติ 9 ฉบับ เอกสารจะใช้สิทธิลงประชามตินอกเขตจังหวัดทำอย่างไร 70 ฉบับ และสติ๊กเกอร์โหวตโน“ บันทึกการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหลักฐานที่สำคัญเพราะเป็นการระบุถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นขณะจับกุมว่า มีอยู่อย่างไรและเป็นการแสดงให้เห็นว่าขณะจับกุมมีการกระทำที่ครบองค์ประกอบภายนอกของความผิดทางอาญาที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่                                                                                                                                        


ข้อกฎหมายที่ใช้กล่าวหานักกิจกรรมและนักข่าว

พระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 (พ.ร.บ.ประชามติฯ) เป็นกฎหมายที่มีการบัญญัติความผิดและโทษทางอาญาไว้ จึงอยู่ภายใต้หลักการพื้นฐานของกฎหมายอาญา ดังที่กล่าวมาข้างต้น บทบัญญัติใช้แจ้งข้อหาและดำเนินคดีกับนักกิจกรรมและนักข่าว คือ มาตรา 61 วรรคสอง ซึ่งมีข้อความว่า “ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย” ผู้กระทำความผิดตามวรรคสอง ต้องระวางโทษตามวรรคสาม คือ จําคุกไม่เกินสิบปี และปรับ ไม่เกินสองแสนบาท ทั้งนี้ ศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมีกําหนดไม่เกินห้าปีด้วยก็ได้


ปรับข้อเท็จจริงกับข้อกฎหมาย

ข้อเท็จจริงที่ได้จากบันทึกการจับกุมข้างต้น เมื่อนำมาปรับกับ พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรคสอง ผลที่ได้คือ พฤติการณ์ของนักกิจกรรมทั้งสามและนักข่าว ไม่มีส่วนใดเลยที่สามารถตีความได้ว่าเป็นการ “เผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียง ให้ถือว่าผู้นั้นกระทําการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย” เพราะบันทึกการจับกุมไม่ได้แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรมที่กล่าวมาข้างต้นแต่อย่างใด การมีเอกสารต่าง ๆ ที่มีข้อความวิพากษ์ร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญอยู่ภายในรถก็ไม่เป็นความผิดตามมาตรานี้แต่อย่างใด    


ปรับพฤติการณ์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ากับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157

การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยืนยันที่จะแจ้งข้อหาเพื่อดำเนินคดีกับนักกิจกรรมทั้งสามและนักข่าวด้วย พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรคสอง ทั้งที่พฤติการณ์ที่เกิดขึ้นไม่เข้าองค์ประกอบที่มาตรา 61 วรรคสองบัญญัติไว้แต่อย่างใด อาจถือได้ว่าเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบเพื่อสร้างความเสียหายต่อนักกิจกรรมทั้งสามและนักข่าว  อันเป็นความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งเป็นความผิดฐานเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157  ที่มีโทษจำคุกสูงสุดถึงสิบปี ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้


ประการแรก พ.ร.บ.ประชามติมาตรา 61 วรรคสอง ไม่มีส่วนใดเลยที่กำหนดให้การ “เตรียมการแจกจ่ายหรือเผยแพร่เอกสารที่เกี่ยวกับการประชามติ” เป็นความผิด บทบัญญัติมาตรา 61 เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า “ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใด.....”  ซึ่งไม่รวมถึงการเตรียมการหรือการมีเอกสารไว้ในครอบครอง การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยังยืนกรานจะแจ้งข้อหาดำเนินคดีกับนักกิจกรรมและนักข่าว ทั้งที่พ.ร.บ.ประชามติมาตรา 61 วรรคสองไม่ได้กำหนดให้ เป็นความผิด ย่อมขัดต่อหลัก “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษโดยไม่มีกฎหมาย” ที่กล่าวมาเบื้องต้นอย่างชัดเจน เช่นนี้แล้วการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจจึงอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำโดยมีเจตนาพิเศษที่จะสร้างความเสียหายให้กับนักกิจกรรมทั้งสามและนักข่าว

ประการที่สอง เจ้าหน้าที่ตำรวจอาจอ้างว่าเป็นการจับกุมและดำเนินคดีในฐานพยายามกระทำความผิดตามมาตรา 61 วรรคสอง ข้ออ้างนี้เมื่อพิจารณาประกอบบันทึกพฤติการณ์ขณะจับกุมก็ไม่อาจรับฟังได้ เพราะในทางกฎหมาย การกระทำที่ถือว่าเป็นการพยายามกระทำความผิดนั้น ต้องถึงขั้นลงมือกระทำความผิดและใกล้ชิดกับผลแล้ว ไม่รวมถึงการเตรียมการ เทียบเคียงกับความฐานฆ่าคนตายโดยใช้ปืนยิง กรณีจะถือว่าเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าก็ต่อเมื่อถึงขั้นเล็งปืนไปที่บุคคลเป้าหมายแล้วเท่านั้น การพกปืนและเดินทางไปยังจุดเป้าหมายยังไม่ถือว่าเป็นการพยายามฆ่า เช่นเดียวกันการนำ “แผ่นไวนิลข้อความ "นายกไทยใครๆ ก็โดนล้อ" 1 แผ่น ไมโครโฟน ลำโพง ที่่คั่นหนังสือ "โหวตโน" จุลสาร การออกเสียง จำนวน 66 ฉบับ แผ่นเอกสาร ปล่อย 7 นักโทษประชามติโดยไม่มีเงื่อนไข 21 แผ่น แผ่นเอกสาร ความเห็นแย้ง 2 ฉบับ เอกสารแถลงการณ์คณะนิติราษฎร์ ฉบับลงประชามติ 9 ฉบับ เอกสารจะใช้สิทธิลงประชามตินอกเขตจังหวัดทำอย่างไร 70 ฉบับ และสติ๊กเกอร์โหวตโนพาความเห็นแย้งร่างรัฐธรรมนูญ สติ๊กเกอร์ Vote No” ตามที่ปรากฏในบันทึกการตรวจค้น ขนไปในรถยนต์ส่วนบุคคลย่อมไม่เป็นการความผิดฐานพยายามกระทำความผิดตามมาตรา 61 วรรคสอง

ประการที่สาม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับทราบความเห็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญแล้วว่า การครอบครองเอกสารความเห็นต่าง ๆ เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ หากยังไม่แจกจ่ายยังไม่เป็นความผิดตามมาตรา 61 วรรคสอง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการโทรศัพท์พูดคุยกับนายสมชัย ศรีสุทธิยากร หนึ่งในคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และได้รับการยืนยันจากนายสมชัย ว่าการมีเอกสารที่ตรวจค้นได้ไว้ในครอบครองหากไม่แจกจ่ายไม่เป็นความผิด ข้อเท็จจริงนี้ย่อมเป็นหลักฐานยืนยันว่า การดำเนินคดีกับนักกิจกรรมทั้งสามและนักข่าว อาจไม่ได้เป็นไปเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองหรือปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย แต่เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นอันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157                                                                                                            

ประการที่สี่  เนื่องจากเอกสารที่ตรวจยึดได้จากการค้นรถนักกิจกรรมซึ่งประกอบด้วย เป็นเพียงเอกสารความเห็นซึ่งไม่ได้มีลักษณะเป็นวัตถุ สิ่งของที่มีไว้ในครอบครองแล้วเป็นความผิดดังเช่น อาวุธปืน ระเบิด หรือยาเสพย์ติด ทั้งยังไม่มีกฎหมายห้ามการมีหรือครอบครองเอกสารดังกล่าวแต่อย่างใด การใช้อำนาจตรวจค้น จับกุม คุมขังและดำเนินคดีกับนักกิจกรรมและนักข่าวอันเป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนอย่างร้ายแรง โดยไม่มีพยานหลักฐานที่มีน้ำหนักประกอบการใช้ดุลพินิจ ย่อมเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบด้วยกฎหมายเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น ซึ่งเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอาญามาตรา 157      


กฎหมายอาญาในฐานะหลักประกันสิทธิเสรีภาพประชาชน

เป้าหมายและคุณค่าสำคัญประการหนึ่งของกฎหมายอาญา คือ เพื่อป้องกันการใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ เพื่อป้องกันอาชญากรรมที่รัฐจะกระทำต่อต่อประชาชนของตนเอง อาชญากรรมโดยรัฐเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงยิ่งกว่าอาชญากรรมทั่วไป เพราะมันเป็นอาชญากรรมที่กระทำในนามของพลเมืองทุกคนและเป็นอาชญากรรมที่ลงมือด้วยทรัพยากรส่วนรวม  หลักพื้นฐานของกฎหมายอาญาที่ว่า “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษโดยไม่มีกฎหมาย” จึงต้องบังคับใช้กับผู้มีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด  หากมีการละเมิดย่อมต้องมีมาตรการลงโทษอย่างจริงจัง  ดังเช่นที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 กำหนดบทลงโทษไว้อย่างสูงเพื่อไม่ให้มีการกระทำผิดซ้ำ

ในกรณีการ จับกุม คุมขัง และดำเนินคดีกับนักกิจกรรมสามคนและนักข่าวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.บ้านโป่ง เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา ด้วยข้อหาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 มาตรา 61 วรรคสอง มีข้อเท็จจริง และเหตุผลหลายประการดังที่ได้กล่าวมาที่แสดงให้เห็นถึงความไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายและหลักวิชา จึงจำอย่างยิ่งที่บุคคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาทำการตรวจสอบว่า การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นการใช้อำนาจหน้าที่ตีความและบังคับใช้กฎหมายอย่างตรงไปตรงมา ตามหลักกฎหมายอาญาหรือไม่ หรือเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ อันเป็นการละเมิดสิทธิพื้นฐานของประชาชนอย่างร้ายแรง ซึ่งหากเป็นกรณีหลัง  เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องต้องถูกสอบสวนและดำเนินคดีฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157  ต่อไป 

0000
 

เชิงอรรถ
[1] “น่าเชื่อว่าจะแจก” ตร.บ้านโป่งแจ้งข้อหา ม.61 ขัง 3NDM -1 นักข่าวประชาไท ส่งศาลพรุ่งนี้
 

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ เป็น อาจารย์ผู้สอนประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีกระบวนวิชาที่รับผิดชอบได้แก่  กฎหมายปกครอง Administrative Law และ  กฎหมายอาญาภาคทั่วไป General Criminal Law

ที่มา: เฟซบุ๊ก Songkrant Pongboonjun
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net