สัมภาษณ์: ภาษามลายู ปมความขัดแย้งที่รัฐไทยมองไม่เห็น

นักวิชาการชี้ภาษามลายูเป็นอัตลักษณ์ของคนสามจังหวัดชายแดนใต้ ถูกคุกคามและกำลังจะตาย แนะรัฐออกกฎหมายส่งเสริมภาษามลายู ช่วยคลายปมขัดแย้ง ลดเงื่อนไขความรุนแรงของกลุ่มติดอาวุธ

ขบวนการปลดปล่อยสามจังหวัดชายแดนใต้ หรือทีพื้นถิ่นเรียกว่า ขบวนการปลดปล่อยปาตานีมักอ้างถึงนโยบายการกลายกลืนทางวัฒนธรรมของรัฐไทยและการเลือกปฏิบัติต่อการใช้ภาษามลายูท้องถิ่นเป็นหนึ่งในเหตุผลที่จำเป็นให้ต้องจับอาวุธขึ้นต่อสู้

นโยบายการเลือกปฏิบัติทางภาษาในประเทศไทยเริ่มต้นอย่างน้อยเมื่อ 80 ปีมาแล้ว จอมพล แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ออกรัฐนิยมให้คนสัญชาติไทยทั่วประเทศพูดภาษาไทย เรียนภาษาไทยในโรงเรียน ละทิ้งการแต่งกายพื้นถิ่น และปรับการแต่งกายเป็นแบบตะวันตก อิทธิพลนี้ส่งผลกระทบอย่างมากในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาแรก ต่อมาเมื่อปี 2490 หะญีสุหลง บินอับดุล กาเดร์ ครูสอนศาสนา ที่เป็นที่เคารพนับถือของคนมลายูยื่นข้อเรียกร้อง 7 ประการต่อรัฐบาลไทยในขณะนั้น โดยข้อเรียกร้อง 2 ข้อจาก 7 ข้อ คือการเรียกร้องให้ใช้ภาษามลายูและภาษาไทยในฐานะภาษาราชการร่วมและอนุญาตให้สอนภาษามลายูในโรงเรียนประถมศึกษา แต่ข้อเรียกร้องนี้ทำให้หะญีสุหลงถูกกล่าวหาว่าเป็นกบฏ ถูกจับ และ ‘หายตัว’ ไป

โปสเตอร์นโยบายรัฐนิยม พิมพ์โดย อำเภอเมืองสงขลา ด้านซ้ายเป็นภาพเครื่องแต่งกายที่ห้ามแต่ง เเละด้านขวาแสดงเครื่องแต่งกายที่ควรแต่ง

เนื่องจากนโยบายการกลายกลืนทางวัฒนธรรมที่เข้มข้น รัฐในปาตานีถูกบ่อนเซาะจนอ่อนแอมากและกลายเป็นชายขอบของตัวอักษรภาษายาวี อันเป็นอักษรภาษามลายูที่ใช้ตัวอักษรจากภาษาอาหรับ ถูกทำให้ไม่มีพื้นที่เเละถูกจำกัดการใช้งานเฉพาะในกรณีที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอิสลามเท่านั้น

หลังจากความรุนแรงปะทุขึ้นเมื่อ 12 ปีที่ผ่านมา มีการรณรงค์ในหมู่คนท้องถิ่นให้เกิดการฟื้นฟูภาษามลายูและตัวอักษรยาวี พร้อมกับการรณรงค์เผยแพร่อัตลักษณ์มลายูปาตานีให้แพร่หลาย ผู้สนับสนุนภาษามลายูมักกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า

"Hilang Bahasa Hilang Bangsa, Hilang Bangsa Hilang Agama"

ถอดความได้ว่า “ชนใดไร้ภาษา ชนนั้นสิ้นเชื้อชาติ เมื่อสิ้นเชื้อชาติ ย่อมสิ้นศาสนา”

ทวีพร คุ้มเมธา ผู้สื่อข่าวประชาไท รายงานการใช้ภาษาและอัตลักษณ์มลายูกับความขัดแย้งเเละความรุนแรงที่เกี่ยวพันในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยสัมภาษณ์ ฮารา ชินทาโร (Hara Shintaro) ผู้เชี่ยวชาญภาษามลายูและนักวิจารณ์การเมืองในภาคใต้ ชินทาโรเป็นนักวิชาการชาวญี่ปุ่นที่อาศัยอยู่ภาคใต้ของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2542 และสอนที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานีเป็นเวลาหลายปี เขานิยามตัวเองว่าเป็นคนนอกที่อยู่ 'ภายใน' ชุมชนปาตานี

ฮารา ชินทาโร

ที่มา: halallifemag.com

คุณเห็นว่าสถานการณ์ของภาษามลายูในปาตานีในปัจจุบันเป็นอย่างไร?

ในด้านคุณภาพ ผมขออธิบายว่า ขณะนี้แทบจะไม่มีเจ้าของภาษามลายูปาตานีที่สามารถสนทนาเป็นเวลานาน โดยไม่ได้รับอิทธิพลจากภาษาไทย ทั้งในรูปแบบของการยืมคำหรือวลี การเปลี่ยนรหัสภาษา (Code-Switching) หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนภาษา (Language Shift)

นี่คือความจริงที่ขมขื่นมาก แต่ที่สำคัญคือ ภาษามลายูปาตานีอ่อนแอ ผมอธิบายว่า ภาษามลายูปาตานีเข้าขั้นผู้ป่วยไอซียู จำนวนผู้พูดภาษามลายูปาตานีกำลังลดลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองและคลังคำก็ลดลงด้วย เพราะคำเดิมถูกแทนที่ด้วยคำยืมจากภาษาไทยจำนวนมาก จนกระทั่งการสนทนาระหว่างผู้ใช้ภาษามลายูปาตานีกับภาษามลายูแบบมาเลเซียหรืออินโดนีเซียนั้นเข้าใจกันยากแล้ว จำนวนผู้ที่ไม่สามารถเขียนหรืออ่านภาษามลายูปาตานีเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ และสังเกตได้ว่ามีการใช้อักษรไทยเป็นตัวเขียนภาษามลายูปาตานีในสื่อสังคมออนไลน์อย่างชัดเจน

ภาคประชาสังคมอภิปรายเรื่องการส่งเสริมการใช้ตัวอักษรยาวี ซึ่งส่วนใหญ่ใช้เฉพาะในปาตานี บางคนบอกว่าคนปาตานีควรละทิ้งตัวอักษรยาวีและนำตัวอักษรรูมี (อักษรโรมัน) มาใช้ เพื่อให้ทันกับโลกมลายูที่เหลือ คุณคิดอย่างไร?

ผมสนับสนุนการใช้อักษรยาวีเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง ประการแรก ประสบการณ์ในอดีตของชาวมลายูปาตานีแตกต่างจากผู้พูดภาษามลายูในประเทศมาเลเซียหรือประเทศอินโดนีเซีย ตัวอย่างเช่น เขาใช้ตัวอักษรโรมันอย่างเป็นทางการเมื่อประเทศเป็นเอกราช แต่ชาวมลายูปาตานีไม่เคยมีการจัดระบบการเรียนรู้อักษรโรมันอย่างเป็นระบบ ในทางตรงกันข้ามอักษรยาวีเป็นที่แพร่หลายเเละใช้ในสถาบันการศึกษาตามขนบจารีตในพื้นที่ เช่น ในโรงเรียนตาดีกา [1] และโรงเรียนปอเนาะ [2]

ดังนั้น การใช้ระบบการเขียนใหม่หรือระบบการเขียนที่ใช้ตัวอักษรต่างประเทศ เช่น อักษรโรมันหรือระบบการเขียนด้วยอักษรไทยที่มีคนคิดขึ้นมา (ซึ่งผมต่อต้านโดยสิ้นเชิง) ไม่มีความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติเท่ากับการส่งเสริมอักษรยาวี ซึ่งอย่างน้อยคนส่วนมากในพื้นที่ยังอ่านได้ เมื่อเรามีระบบการเขียนที่ใช้กันในวิถีปฏิบัติอยู่แล้ว แล้วเราจะนำสิ่งอื่นเข้ามาเพื่ออะไร

นอกจากนี้ อักษรยาวียังมีคุณค่าทางวัฒนธรรมบางอย่างผูกพันกับอัตลักษณ์มลายูปาตานี อักษรยาวีได้สูญเสียสถานะของการเป็นระบบการเขียนหลักในส่วนอื่นๆ ของโลกมลายู แม้ในประเทศมาเลเซียที่เคยใช้อักษรยาวีกันอย่างแพร่หลาย ในขณะนี้ปาตานีคือสถานที่เดียวในโลกมลายู ซึ่งภาษามลายูเขียนด้วยอักษรยาวีมีสถานะเด่นกว่าภาษามลายูเขียนด้วยอักษรโรมัน

คุณคิดว่าความพยายามสนับสนุนอัตลักษณ์มลายูของรัฐไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไร?

ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย แต่ก็เหมือนกับนโยบายที่ดีอื่นๆ คือไม่ได้นำไปปฎิบัติอย่างทั่วถึง

ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) โดยเฉพาะสมัยที่พันตำรวจเอกเอกทวี สอดส่อง เป็นเลขา ศอ.บต. ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ภาษามลายู รวมทั้งการจัดตั้งสถาบันภาษามลายูแห่งประเทศไทย (Dewan Bahasa Melayu Thailand) บางคนอธิบายว่าสภานี้เทียบเท่าสถาบันภาษาและวรรณคดีแห่งชาติมาเลเซีย (Dewan Bahasa Dan Pustaka) ด้านหนึ่งก็จริง แต่เราไม่ควรมองข้ามความจริงที่ว่าสถาบันภาษามลายูประเทศมาเลเซียมีการคุ้มครองทางกฎหมายสามชั้น คือสถานะของภาษามลายูเป็นภาษาประจำชาติ ซึ่งบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ มีพระราชบัญญัติภาษาซึ่งกำหนดว่าหน่วยงานภาครัฐทุกแห่งจะต้องใช้ภาษามลายู และพระราชบัญญัติสถาบันภาษาและวรรณคดีแห่งชาติมาเลเซีย เป็นกฎหมายรองรับสถานะของตัวสถาบันเอง ในประเทศไทยสภาภาษามลายูแห่งประเทศไทยไม่มีฐานทางกฎหมายใดๆ รองรับ

“ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ผมเชื่อว่า มันเป็นธรรมชาติมากที่ภาษามลายูซึ่งชัดเจนว่าถูกคุกคามจากคนภายนอก/เจ้าอาณานิคม จะถูกถือว่าเป็นตัวบ่งชี้ทางอัตลักษณ์ที่สำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งของชาวมลายู และคอนเซปต์นี้ก็สามารถนำไปใช้กับคนมลายูปาตานีได้”

นอกจากนี้ ก็ควรจะเน้นว่าการดำเนินการด้านภาษามลายูในประเทศไทยยังอยู่ในระดับผิวเผินมาก ในแง่ของป้ายในหน่วยงานภาครัฐจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่มีป้ายภาษามลายู ป้ายภาษามลายูที่มีอยู่เฉพาะด้านหน้าอาคารแต่ไม่มีป้ายภายในอาคาร

ถานการณ์ภาษามลายูในประเทศอื่นๆ เป็นอย่างไร และได้รับผลกระทบจากการเป็นอาณานิคมอย่างไร?

เนื่องจากมาเลเซียและอินโดนีเซียได้รับเอกราช ภาษามลายู (มาเลเซีย) และภาษาอินโดนีเซียได้รับเลือกให้เป็นภาษาประจำชาติ ภาษามลายูมีสถานะชัดเจนระบุไว้ในรัฐธรรมนูญของประเทศทั้งสอง จากนั้นรัฐบาลของทั้งสองประเทศก็ส่งเสริมภาษาอย่างแข็งขัน ด้วยนโยบายภาษาเชิงสร้างสรรค์และการวางแผนภาษา กระบวนการนี้เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับภาษา เช่นภาษามลายูซึ่งขาดโอกาสในการพัฒนาในช่วงเวลาล่าอาณานิคมที่ผ่านมานับร้อยๆ ปี เพราะภายใต้อาณานิคม ภาษาพื้นถิ่นไม่ได้รับสถานะทางการใดๆ ภายใต้การบริหารของเจ้าอาณานิคมหรือในการศึกษาชั้นสูงซึ่งยังครอบงำโดยเจ้าอาณานิคม

เมื่อเทียบกับภาษาอื่นๆ เช่นภาษาญี่ปุ่นหรือภาษาไทยที่ขาดประสบการณ์อาณานิคม (แม้ว่าญี่ปุ่นถูกครอบครองโดยสหรัฐอเมริกาเป็นเวลาห้าปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2) ภาษาได้รับการพัฒนาเรื่อยๆ และสามารถนำมาใช้ในทางปฏิบัติได้ทุกสาขา รวมทั้งกิจการภาครัฐ การศึกษาชั้นสูงขึ้น และอื่นๆ โดยไม่จำเป็นต้องให้รัฐบาลตั้งใจพัฒนาภาษา แต่ในโลกของชาวมลายู ทุกตารางนิ้วของแผ่นดินอยู่ภายใต้อาณานิคม ภาษาพื้นถิ่นทุกภาษาถูกตัดโอกาสในการพัฒนา สถานการณ์เปลี่ยนไปต่อเมื่อประเทศเป็นเอกราช เเละหนึ่งในภาษาท้องถิ่น (ในบริบทนี้คือภาษามลายูเเละภาษาอินโดนีเซีย) ได้รับการยอมรับเป็นภาษาราชการของประเทศ

“ไม่มีภาษาอื่นใดที่ไม่ใช่ภาษาไทยได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นภาษาราชการร่วมในท้องถิ่นในปาตานี ถ้าจะทำให้บรรลุได้ ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายบางอย่างให้เกิดขึ้นด้วย ต้องเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายเชิงลึกเพื่อส่งเสริมภาษามลายูในปาตานีได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

การรับรู้นี้จะนำไปสู่สถานะของภาษาที่มีการรับรองในรัฐธรรมนูญ พร้อมกับการพัฒนาและสนับสนุนจากรัฐในรูปแบบของการวางแผนภาษา ภาษาอินโดนีเซียได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จที่สุดด้านการวางแผนภาษา จนปัจจุบันเป็นภาษาที่สามารถใช้งานได้จริงเต็มรูปแบบในทุกด้าน เมื่อเทียบกับภาษามลายูที่มีความเข้มแข็ง ภาษามลายูปาตานียังอ่อนแอกว่ามาก การใช้ภาษาและคุณภาพภาษากำลังอยู่ในขาลง

ภาษามาลายูมีความสำคัญต่ออัตลักษณ์ปาตานีอย่างไร?

สำหรับคนบางคน ภาษาอาจมิใช่เครื่องบ่งชี้อัตลักษณ์ที่สำคัญที่สุดเสมอไป ในบางสังคมค่อนข้างใช้ภาษาเดียว เช่น ในประเทศญี่ปุ่นหรือสังคมไทย ภาษากระแสหลักคือภาษาที่โดดเด่น มีความแข็งแรง และเป็นภาษาที่ใช้กันโดยไม่มีการตั้งคำถาม

แต่ในโลกมลายู ซึ่งมีการใช้ภาษาแบบพหุภาษา มีผู้ใช้ภาษาได้หลายภาษาจำนวนมาก ภาษามลายูอยู่ร่วมกันกับภาษาอื่นๆ รวมทั้งภาษาของเจ้าอาณานิคม ในอีกแง่หนึ่ง การสื่อสารในโลกมลายูได้รับประโยชน์จากการพัฒนาของภาษามลายู เนื่องจากภาษามลายูซึมซับคำยืมจำนวนมากจากภาษาต่างประเทศ รวมทั้งตระกูลภาษาสามชั้นที่สำคัญๆ ที่สุด คือ ภาษาสันสกฤต ภาษาอาหรับ และภาษายุโรป (โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ และในกรณีของอินโดนีเซีย คือภาษาดัตช์)

อย่างไรก็ตาม อิทธิพลจากภาษาเจ้าอาณานิคมและการจัดระบบการนำคนนอกเข้ามาในพื้นที่ โดยเฉพาะคนจีนและอินเดียในยุคอาณานิคม คุกคามสถานะของภาษาพื้นถิ่นในโลกมลายู โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษามลายู การล่มสลายของภาษามลายูจากที่เคยเป็นภาษาทางการของรัฐสุลต่านมลายูในหมู่เกาะและคาบสมุทร จนกลายเป็นเพียงแค่หนึ่งในภาษาพื้นถิ่น มีผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อการพัฒนาของชาวมลายู กล่าวง่ายๆ คือในยุคอาณานิคม ภาษามลายูขาดโอกาสในการพัฒนาไปตามกาลเวลาที่ก้าวล่วงไป จนนักภาษาศาสตร์ชาวมลายู (ซึ่งบังเอิญเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ปริญญาโทของผม) กล่าวว่า ก่อนมาเลเซียเป็นเอกราช ภาษามลายูเป็นแค่ ‘ภาษาตลาดหรือภาษาร้านน้ำชาที่ปราศจากสถานะใดๆ ทั้งในฐานะภาษาราชการหรือภาษาในสถาบันการศึกษาชั้นสูง'

“รัฐไทยควรจะฉลาดพอที่จะตระหนักว่าปัญหาภาษาเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของตัวตนคนมลายูปาตานี หากรัฐพยายามอย่างจริงใจในการแก้ปัญหานี้ รัฐสามารถลดหนึ่งในเงื่อนไขสำหรับการต่อสู้ของกลุ่มติดอาวุธได้หนึ่งเงื่อนไขเป็นอย่างน้อย”

ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ผมเชื่อว่า มันเป็นธรรมชาติมากที่ภาษามลายูซึ่งชัดเจนว่าถูกคุกคามจากคนภายนอก/เจ้าอาณานิคม จะถูกถือว่าเป็นตัวบ่งชี้ทางอัตลักษณ์ที่สำคัญมากที่สุดอย่างหนึ่งของชาวมลายู และคอนเซปต์นี้ก็สามารถนำไปใช้กับคนมลายูปาตานีได้

ที่เป็นเช่นนี้เพราะสถานการณ์เฉพาะในประเทศไทย ชุมชนที่พูดภาษามลายูสามารถหายไปในบางกรณีซึ่งแตกต่างจากส่วนอื่นๆ ในโลกมลายู ยกตัวอย่างเช่น จังหวัดสตูลเป็นพื้นที่ของผู้พูดภาษามลายูประมาณหนึ่งศตวรรษที่ผ่านมา แต่ในขณะนี้จะมีเพียงหมู่บ้านที่อยู่ติดกับมาเลเซียที่ยังคงพูดภาษามลายู (ในรูปภาษามลายูด้วยสำเนียงสตูล) ชุมชนพื้นเมืองที่พูดภาษามลายูในเมืองสงขลา ตามเอกสารที่เจ้าหน้าที่ดัตช์บันทึกไว้ ระบุว่าสงขลามีชื่อเสียงโด่งดังว่าเป็นถิ่นที่มีภาษามลายูที่ดี (ดีจนเจ้าหน้าที่ดัตช์ตัดสินใจที่จะศึกษาภาษามลายูที่สงขลา) แต่ภาษามลายูก็สูญหายไปจากสงขลาเป็นเวลานานแล้ว

มีข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมภาษามลายูในปาตานีอย่างไรบ้าง?

การหายไปของภาษามลายูไม่ได้เป็นฝันร้ายที่ยังห่างไกลของผู้คลั่งไคล้ภาษาศาสตร์ แต่เกิดขึ้นในความเป็นจริงแล้ว ส่วนใหญ่เนื่องจากความจริงที่ว่าภาษามลายูไม่มีสถานะทางกฎหมายใดๆ ในประเทศไทย

ที่กล่าวมานี้ไม่ได้หมายความว่า ต้องท้าทายสถานะของภาษาไทย ในฐานะภาษาประจำชาติภาษาเดียว (ซึ่งผมเองก็เคารพข้อนี้เต็มที่) ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ความพยายามที่จะส่งเสริมภาษาใดๆ ย่อมยังคงอยู่ในระดับตื้นเขิน ตราบใดที่ภาษานั้นไม่ได้รับการสนับสนุนด้วยระบบกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น ไม่มีภาษาอื่นใดที่ไม่ใช่ภาษาไทยได้รับอนุญาตให้ใช้เป็นภาษาราชการร่วมในท้องถิ่นในปาตานี ถ้าจะทำให้บรรลุได้ ก็ต้องมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมายบางอย่างให้เกิดขึ้นด้วย ต้องเปิดโอกาสให้มีการอภิปรายเชิงลึกเพื่อส่งเสริมภาษามลายูในปาตานีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ทัศนคติและการตั้งธงไว้ก่อนของเจ้าหน้าที่ไทยยังเป็นอุปสรรคเสมอๆ ข้อจำกัดในปัจจุบันเกี่ยวกับเสรีภาพในการพูดทำให้สถานการณ์ร้ายแรงมากขึ้น ถ้ามีคนเสนอว่า ควรให้ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาราชการในท้องถิ่น ผู้พูดอาจถูกตีตราว่าเป็นผู้เข้าข้างกลุ่มติดอาวุธ และอาจจะถูกกล่าวหาว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ ในระยะสั้นนี้ อย่างน้อยในด้านหนึ่งรัฐไทยได้สร้างเงื่อนไขความขัดแย้งเสียเอง

ถ้าเราต้องการส่งเสริมภาษามลายูจริงจังควรเริ่มดำเนินการขั้นตอนต่างๆ ที่จะต้องทำทันที อย่างไรก็ตาม คนในท้องถิ่นส่วนใหญ่มีความสุขแค่เพียงการตำหนิรัฐไทยและนโยบายเชิงรุกและปราบปราม (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอดีต) ต่อการสูญเสียอัตลักษณ์มลายู รวมทั้งภาษามลายู แต่ยังไม่มีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ก่อผลใดๆ นอกจากการเล่นเกมหาแพะรับบาป ในขณะที่ตัวเองแทบไม่ได้ทำอะไรที่จะส่งเสริมคุณภาพของภาษามลายูในพื้นที่ในทางปฏิบัติ

รัฐไทยควรจะฉลาดพอที่จะตระหนักว่าปัญหาภาษาเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของตัวตนคนมลายูปาตานี หากรัฐพยายามอย่างจริงใจในการแก้ปัญหานี้ รัฐสามารถลดหนึ่งในเงื่อนไขสำหรับการต่อสู้ของกลุ่มติดอาวุธได้หนึ่งเงื่อนไขเป็นอย่างน้อย

 

เชิงอรรถ
1 ตาดีกา คือโรงเรียนสอนศาสนานอกเวลาสำหรับเด็ก
2 ปอเนาะ คือโรงเรียนสอนศาสนาตามจารีตเดิมของพื้นที่ เป็นโรงเรียนประจำ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท