Skip to main content
sharethis


บริบูรณ์ เกียงวรางกูล (เสื้อขาวกลาง) และคนอื่นๆ เข้ารายงานตัวตามหมายเรียกของ สภ.บ้านโป่ง
ข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช.จากกรณีเปิดศูนย์ปราบโกง เมื่อวันที่ 10 ก.ค.2559

14 ก.ค.2559 เวลาประมาณ 14.00 น. รายงานข่าวแจ้งว่า มีเจ้าหน้าที่ขอเขาตรวจค้นบ้านของนายบริบูรณ์  เกียงวรางกูล กลุ่มแดงบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี และเป็นตัวแทนชาวบ้านที่ถูกออกหมายเรียกกรณีเปิดศูนย์ปราบโกงฯ

นายบริบูรณ์ให้สัมภาษณ์หลังจากเจ้าหน้าที่ทั้งหมดกลับไปแล้วว่า เจ้าหน้าที่ทั้งสามหน่วยงานมากันราว 20 คนส่วนใหญ่ใส่เครื่องแบบ ภรรยาของเขาที่อยู่บ้านในขณะนั้นเป็นคนมาพูดคุยโดยเจ้าหน้าที่ถือกระดาษแผ่นหนึ่งและแจ้งว่ามีหมายค้นจะมาขอค้นเพื่อหาเอกสารของนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) ที่ถูกจับเมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา จากนั้นภรรยาได้โทรแจ้งเขาว่ามีเจ้านหน้าที่มา เขาจึงขอสายเจ้าหน้าที่โดยพูดคุยกับรองผู้กำกับสอบสวน สภ.บ้านโป่ง ผู้ที่ทำการจับกุมนักศึกษาและนักข่าวผ่านทางโทรศัพท์

“ผมถามถึงหมายค้นว่าระบุบ้านเลขที่เท่าไร เพราะในบริเวณบ้านมีบ้าน 3 หลัง เจ้าหน้าที่ถึงได้แจ้งว่า หมายค้นไม่มี ใช้อำนาจทหาร ผมก็ถามว่าใช้คำสั่ง คสช.ที่ 44 หรืออย่างไร ใครเป็นคนออกคำสั่ง และค้นเพื่ออะไร สุดท้ายเจ้าหน้าที่ก็อ้อมแอ้มว่า มาขอความร่วมมือ เพราะเห็นรถคันที่อยู่ในกล้องวงจรปิดจอดอยู่ภายในบ้าน เขาบอกว่ารถคันนั้นรับห่อกระดาษสีน้ำตาลจากนักศึกษามา ผมบอกว่าท่านทำอย่างนี้ไม่ถูก ภรรยาผมอยู่คนเดียวแล้วท่านบอกว่ามีหมายค้นได้อย่างไรทั้งที่ไม่มี ผมขอร้องว่ากลับเถอะแล้ววันหลังค่อยโทรนัด แล้วผมก็บอกด้วยว่าถ้าเข้ามาในบ้านจะเอาเรื่อง เขาก็วางหู” บริบูรณ์กล่าว

บริบูรณ์กล่าวอีกว่า วันที่มีการบุกค้นสำนักงานประชาไท ตำรวจในพื้นที่ก็ขอเข้าค้นบ้านหลังหนึ่งซึ่งมีชื่อเป็นเจ้าของรถยนตร์ของเขา แต่เจ้าของบ้านดังกล่าวก็ไม่ได้ให้เข้าบ้านเช่นกันเนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่มีหมายอย่างเป็นทางการ

บริบูรณ์ เป็น 1 ในชาวบ้าน 23 รายที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. ที่ 3/2558 ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน โทษจำคุกสูงสุด 6 เดือนปรับไม่เกิน 10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เขากล่าวว่าขณะนี้ทั้ง 23 คนได้เข้ารายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว และเตรียมต่อสู้คดี

“ใน 23 คน มีอยู่ 18 คนที่ยืนยันจะต่อสู้คดี อีก 5 คนเขาไม่ไหว ด้วยวัยบ้าง ด้วยฐานะบ้าง เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ที่โดนคดีก็เป็นชาวนาหรือรับจ้างทั่วไป มีเพียง 4-5 คนที่ค้าขายมีรายได้ดีหน่อย คนที่ไม่พร้อมเขาเตรียมจะรับสารภาพในชั้นศาล แบบที่อ่างทอง เขาก็โดนปรับ 1,000 โทษจำคุกให้รอลงอาญา เขาก็หวังอย่างนั้น แต่อีก 18 คนเราจะสู้คดีเพราะคิดว่าไม่ได้อะไรผิด พวกเราเคลื่อนไหวกันมานานตั้งแต่ 2549 ทำกิจกรรมต่างๆ ไม่เคยมีปัญหา เราไม่เคยทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรม ถ้าอันไหนมันหมิ่นเหม่ว่าจะมากไปเราก็ถอยตลอด เวลากลุ่มอื่นในพื้นที่ทำกิจกรรมเราไม่เคยยุ่งถือเป็นสิทธิของเขา แต่พอเราจะทำกิจกรรมเราถูกอีกฝ่ายมาขัดขวางบ้าง มายั่วยุบ้าง เราถอยตลอด แล้วนี่ก็โดนคดีอีก” บริบูรณ์กล่าว

เขากล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ตำรวจได้แจ้งชาวบ้านก่อนจะมีการแจ้งข้อกล่าวหาด้วยว่า หากไปเข้ารับการอบรมในค่ายทหารกับเจ้าหน้าที่ทหาร 5-7 วันอาจจะเช้าไปเย็นกลับหรือค้างคืนก็ตาม จะไม่โดนดำเนินคดี แต่ชาวบ้าน 18 คนก็ยืนยันว่าไม่ได้ทำอะไรผิดและจะไม่ยอมรับกระบวนการดังกล่าว มีเพียง 5 คนที่พร้อมเข้าร่วม อย่างไรก็ตามเมื่อตำรวจแจ้งกลับไป เจ้าหน้าที่ทหารที่ดูแลจังหวัดราชบุรีก็ปฏิเสธพร้อมแจ้งว่าไม่มีงบประมาณในส่วนนี้

“การเปิดจับตาการประชามติก็เหมือนจับตาการเลือกตั้ง ในวันประชามติ ถ้าผมไม่ถูกมัดมือมัดเท้าปิดปากเสียก่อน ยังไงก็ยังจะทำกิจกรรมจับตาการโกง มีแค่ 10 คน 5  คนก็จะทำ มันเป็นหน้าที่ของพลเมือง” บริบูรณ์กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net