Skip to main content
sharethis

เมื่อนายทหารพม่ายศพันเอก ยึดที่ดินของชาวนา 4 ราย รวม 35 ไร่ นักข่าวพม่าจึงตีแผ่การยึดที่ดิน จนทำให้ชาวนาได้ที่ดินคืน และนายทหารถูกขับพ้นพรรคเอ็นแอลดีที่เขาลงสมัครเป็นหัวหน้าระดับสาขา อย่างไรก็ตามนักข่าวลงปี พ.ศ. ยึดที่ดินผิดจากปี 2540 เป็น 2538 นายทหารสบช่องฟ้องหมิ่นประมาท และศาลตัดสินให้นักข่าวแพ้คดีต้องเสียค่าปรับราว 600 บาท ทำให้องค์กรคุ้มครองสื่อมวลชนอย่าง SEAPA วิจารณ์ว่าศาลพม่าใช้มาตรการไม่เหมาะสม

นักข่าว 2 ราย และชาวนาที่เป็นแหล่งข่าว ซึ่งถูกนายทหารฟ้องหมิ่นประมาท คดีที่นักข่าวตีแผ่การยึดที่ดินของทหาร ทั้งนี้แม้ชาวนาจะได้ที่ดินคืน แต่ทั้ง 3 ก็แพ้คำตัดสินของศาล ต้องเสียค่าปรับราว 2 หมื่นจ๊าต หรือ 600 บาท (ที่มา: The Ladies News Journal)

 

องค์กรสื่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้วิจารณ์คำตัดสินของศาลพม่ากรณีที่อดีตเจ้าหน้าที่ทหารฟ้องร้องสื่อเล็กๆ อย่าง 'เดอะเลดีนิวส์เจอนัล' ข้อหาหมิ่นประมาทเพียงเพราะนำเสนอตัวเลขปีผิดไปเล็กน้อย บอกว่าเป็นการใช้มาตรการอย่างไม่เหมาะสมเ ซึ่งศาลตัดสินให้นักข่าวสองต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 20,000 จ๊าต (ราว 600 บาท) หรือจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน พวกเขาเลือกจ่ายค่าปรับ

องค์กรพันธมิตรเพื่อเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) มีรายงานข่าวกรณีศาลพม่าตัดสินให้นักข่าว 2 คน มีความผิดฐานหมิ่นประมาทอดีตเจ้าหน้าที่ทหาร เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา

โดยที่ศาลเมืองแตโกน ภาคพะโค ตัดสินลงโทษ จายจาย บรรณาธิการ 'เดอะเลดีนิวส์เจอนัล' (The Ladies News Journal) และหม่องแม ผู้สื่อข่าว ในคดีที่มีอดีตนายทหารเป็นผู้ฟ้องร้อง ศาลลงโทษให้พวกเขาต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 20,000 จ๊าด (ราว 600 บาท) หรือจำคุกเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งพวกเขาเลือกจ่ายค่าปรับทั้งคู่

คดีนี้มีที่มาจากเมื่อช่วงเดือน ก.ย. 2556 เมื่อเดอะเลดีนิวส์เจอนัลฉบับท้องถิ่นที่ตีพิมพ์รายสัปดาห์นำเสนอกรณีข้อพิพาทที่ดินในภาคพะโค เป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างชาวนา 4 คน กับอดีตทหารยศพันเอกชื่อ ขิ่นหม่องวิน จากกองพันทหารราบเบาที่ 80 โดยที่ชาวนาสูญเสียกรรมสิทธิ์ในพื้นที่ทำกิน 14 เอเคอร์ (ประมาณ 35 ไร่) ให้กับพันเอกผู้นี้ในช่วงที่พม่ายังปกครองในระบอบทหาร

หนึ่งเดือนหลังจากรายงานข่าวกรณีดังกล่าว ขิ่นหม่องวิน ก็ฟ้องร้องนักข่าวและบรรณาธิการในข้อหาหมิ่นประมาทโดยอ้างกฎหมายอาญาพม่ามาตรา 500 โดยอ้างว่าสื่อรายงานเรื่องราวไม่ตรงกับความจริงจากการที่สื่อรายงานข่าวโดยเขียนตามเอกสารเรียกร้องขอที่ดินคืนของชาวนา ซึ่งระบุว่าเขาเข้าไปยึดครองที่ดินทำกินของชาวบ้านในปี 2538

ขิ่นหม่องวินอ้างว่าเขายังไม่ได้เข้าไปในพื้นที่เมื่อปี 2538 และข้อมูลจากคณะกรรมการพิจารณาที่ดินเพราะปลูกที่ถูกยึดและที่ดินอื่นๆ ในระดับท้องถิ่นระบุว่ามีการยึดครองที่ดินดังกล่าวในปี 2540-2541 ขิ่นหม่องวินอ้างว่าข้อมูลผิดพลาดเล็กน้อยนี้ทำให้เขา "เสื่อมเสียชื่อเสียงอย่างมาก" ทั้งนี้หลังจากพิจารณาคดีมากว่า 50 นัด เริ่มมาตั้งแต่ปี 2556 จนกระทั่งเมื่อวันที่ 12 ก.ค. ที่ผ่านมา ศาลจึงตัดสินว่าเนื้อหาในสื่อมีลักษณะ "ทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียง" ต่ออดีตนายทหารผู้นี้

อย่างไรก็ตามนักข่าวกล่าวว่าพวกเขาทำงานข่าวกันอย่างระมัดระวังเนื่องจากทราบว่าเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว จายจาย กล่าวว่าพวกเขาไม่ได้รายงานผิดพลาด แต่เนื้อหาในจดหมายของชาวนามีความผิดพลาดมาตั้งแต่แรก พวกเขาแค่รายงานโดยอ้างอิงเนื้อหาของจดหมายเท่านั้น

หลังจากที่ขิ่นหม่องวิน เมื่อเกษียณจากราชการทหารเขากลับมาเล่นการเมืองเป็นหัวหน้าสาขาของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือ เอ็นแอลดี ประจำเมืองแตโกน แต่เขาถูกขับออกจากตำแหน่งก่อนการเลือกตั้งปี 2558 เมื่อมีการสืบสวนพบว่าเขาเคยยึดที่ดินทำกินของชาวบ้านมาก่อน โดยหม่องแม ผู้สื่อข่าวที่ถูกฟ้องกล่าวว่า เขารู้สึกดีใจที่ในตอนนี้ที่ดินกลับมาเป็นของชาวบ้านโดยชอบธรรมแล้วจากคำสั่งของเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น

ทาง SEAPA ประณามคำตัดสินนักข่าวหมิ่นประมาทอดีตนายทหารในครั้งนี้ โดยที่เอ็ดการ์โด เลกัสปิ ผู้อำนวยการบริหารของ SEAPA กล่าวว่า ข้อผิดพลาดจากการรายงานข่าวเป็นข้อผิดพลาดเพียงเล็กน้อยที่สามารถแก้ไขกันได้ผ่านกระบวนการทั่วไปของกองข่าว แต่คำตัดสินของศาลในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงการใช้มาตรการอย่างไม่เหมาะสมกับสิ่งที่เกิดขึ้น

SEAPA ยังระบุอีกว่าทหารพม่ามักใช้วิธีการฟ้องหมิ่นประมาทมากขึ้นนับตั้งแต่มีการยกเลิกคณะกรรมการเซ็นเซอร์ในปี พ.ศ. 2555 ถึงแม้ว่าพม่าจะเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลภายใต้พรรคการเมืองพลเรือนอย่างพรรคเอ็นแอลดีแล้วแต่ก็ยังคงมีกรณีเช่นนี้ โดยกรณีของเลดีนิวส์เจอนัล ถือเป็นคดีที่สองที่นักข่าวถูกตัดสินลงโทษในยุคสมัยของเอ็นแอลดี ขณะคดีก่อนหน้านี้มีการตัดสินให้ เนเมียวลิน นักข่าวบีบีซีถูกลงโทษจำคุกและต้องใช้แรงงานอย่างหนัก 3 เดือนโดยอ้างว่าเขาทำร้ายและขัดขวางการปฏิบัติการของตำรวจ

นอกจากนี้ยังมีกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารฟ้องร้องสื่อชั้นนำอย่าง 7Day News ด้วยกฎหมายอาญามาตรา 131 โดยอ้างว่าทำการตีพิมพ์บทความที่มีเจตนาร้ายอย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ทหารก็ถอนฟ้องหลังจากที่สื่อขอโทษเกี่ยวกับข่าวที่นำเสนอ

หนังสือพิมพ์เดอะเลดีนิวส์เจอนัลก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2555 นำเสนอทั้งเรื่องการเมือง เศรษฐศาสตร์สังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และประเด็นอื่นๆ หลากหลายทั่วพม่า พวกเขายกเลิกเผยแพร่ด้วยการตีพิมพ์ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2558 และนำเสนอผ่านทางออนไลน์เพียงอย่างเดียว ในปัจจุบันมีนักข่าวอยู่เพียง 5 คน เท่านั้น

ในกรณีของเดอะเลดีนิวส์เจอนัล สมาคมสื่อของพม่าที่ตั้งกลไกช่วยเหลือนักข่าวโดนคดีตั้งแต่ปี 2557 เป็ตต้นมารวมแล้ว 180 คดีกล่าวว่าทางเดอะเลดีเจอนัลไม่ได้ติดต่อขอความช่วยเหลือจากพวกเขา ทำให้พวกเขาไม่สามารถช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะที่หนึ่งในสมาชิกของเครือข่ายนักข่าวพม่า (MJN) กล่าวว่าคดีนี้ไม่เป็นที่รู้จักมากนัก

 

เรียบเรียงจาก

[Burma] Court sentences journalists for defamation, SEAPA, 14-07-2016 https://www.seapa.org/court-sentences-journalists-for-defamation/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net