Skip to main content
sharethis

กทม.เตรียมย้ายชาวบ้านกว่า 7 หมื่นคนรอบคลอง 9 สาย สนองนโยบายแก้น้ำท่วมใหญ่ เชื่อบ้านเรือนริมคลองเป็นเหตุร่วมทำน้ำท่วม สถาปนิกชุมชนแนะคนอยู่ร่วมคลองได้ หากจัดการพื้นที่อย่างมีส่วนร่วม ด้านชุมชนชูแผนพัฒนาพื้นที่ สะท้อน คน-คลอง อยู่ร่วมกันได้

 

กรุงเทพมหานครเร่งเดินหน้ารื้อย้ายชุมชนสายคลองลาดพร้าว  โดยให้เหตุผลว่าจะมีการก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตเสริมเหล็ก (คสล.) และประตูระบายน้ำ คลองลาดพร้าว คลองบางบัว คลองถนน คลองสอง และคลองบางซื่อ จากบริเวณเขื่อนเดิมอุโมงค์ยักษ์พระรามเก้า-รามคำแหง ไปทางประตูระบายน้ำคลองสองสายใต้ วงเงินงบประมาณ 2,426 ล้านบาท แต่เพื่อให้การดำเนินงานเร็วขึ้นจึงปรับแผนจากเดิม 3 ปี ให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี 6 เดือน  และสร้างบ้านใหม่ 43 ชุมชน 6,365 หลัง

ย้อนดูแผนแก้ปัญหาน้ำท่วม อ้างชุมชนคือสาเหตุหลัก

หลังเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปี 2554 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หารือตามมติ  คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2555 เห็นชอบการจัดการสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำลำน้ำสาธารณะ โดยจะมี การก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตตลอดแนวคลองความยาวประมาณ 45 กิโลเมตร เพื่อให้การระบายน้ำเป็นไป อย่างคล่องตัว และจะต้องมีการรื้อย้ายบ้านเรือนที่สร้างรุกล้ำลงไปในคลองแต่ยังไม่ได้ดำเนินการ  เนื่องจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามายึดอำนาจ  ต่อมาในวันที่ 3 มีนาคม 2558  พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงมีคำสั่งให้หน่วยงานที่รับผิดชอบรับโครงการนี้ไปดำเนินการต่อ

และเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2558  พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้สั่งดำเนินการ ตั้งคณะกรรมการอำนวยการในการแก้ปัญหาชุมชนริมคูคลองขึ้นมา มีรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 เป็นประธาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, กลาโหม และการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นรองประธานทั้ง 3 คน มีเลขานุการ คสช. มาเป็นเลขานุการกรรมการ โดยแบ่งการทำงานออกมาเป็น 3 อนุกรรมการ ได้แก่ คณะอนุกรรมการการโยกย้ายประชาชน คณะอนุกรรมการการพัฒนาและจัดที่อยู่อาศัย คณะอนุกรรมการด้านประชาสัมพันธ์

หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายจัดระเบียบชุมชนริมคลองในเขตกรุงเทพฯ โดยการรื้อย้ายบ้านเรือนที่ปลูกสร้าง รุกล้ำคูคลอง และก่อสร้างเขื่อนคอนกรีตระบายน้ำเพื่อป้องกันน้ำท่วมในลำคลองสายหลัก  เริ่มดำเนินการในคลองลาดพร้าวเป็นคลองแรก โดยมีพิธีตอกเสาเข็มสร้างเขื่อนในคลองลาดพร้าวบริเวณคลินิกศูนย์ แพทย์พัฒนา เขตวังทองหลาง ไปแล้วเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2559 ที่ผ่านมา และต่อมาในวันที่ 8 มีนาคม คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติงบประมาณ จำนวน 4,061 ล้านบาท เพื่อให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช.(องค์การมหาชน) จัดหาที่อยู่อาศัยตามแนวทาง “บ้านประชารัฐริมคลอง” รองรับประชาชนที่จะต้องรื้อย้ายบ้านเรือนออกตลอดแนวการก่อสร้างเขื่อน

เป็นที่น่าสังเกตว่า นโยบายนี้วางอยู่บนกรอบคิดที่ว่า หนึ่งในสาเหตุของน้ำท่วมกรุงเทพฯ คือ ขนาดคลองยังกว้างไม่พอต่อการระบายน้ำ อีกทั้งยังมีบ้านเรือนจำนวนราว 23,500 หลังคาเรือน สร้างรุกล้ำพื้นที่คลองดังนั้นทางแก้ปัญหาคือ ต้องขยายขนาดคลองให้กว้างขึ้นจากเดิมเป็น 25-38 เมตร เป็นระยะทาง 128.37 กิโลเมตร ซึ่งจากการรวบรวมข้อมูลของเพจคนคูคลอง พบว่านโยบายดังกล่าวทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่แนวริมคลองทั้ง 9 สาย ราว 12,037 ครัวเรือน มีประชากร 68,087 คน ต้องย้ายออกจากพื้นที่อยู่อาศัยเดิม

สถาปนิกชี้ “ทางระบายน้ำ” ไม่ใช่ทางออก

ดร. มณฑล จันทร์แจ่มใส คณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร สถาปนิกผู้คลุกคลีอยู่ในชุมชนริมคลองมาแล้ว 7 ปี กล่าวถึงพื้นที่ของกรุงเทพฯ เอาไว้ว่า แม้ไม่มีการสร้างทางระบายน้ำ กรุงเทพฯ อาจมีโอกาสน้ำท่วมถึงอยู่แล้ว เพราะเป็นพื้นที่รับน้ำ แอ่งกระทะ หากครั้งนี้การสร้างบ้านใหม่ยอมให้มี floodway และมีบ้านใต้ถุน ก็ไม่ต้องสร้างเขื่อนเพื่อสู้กับน้ำอีกต่อไป

ดร.มณฑล ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ความยั่งยืนของชุมชนจะช่วยเปิดโอกาสทางเศรษฐกิจให้ชุมชนสามารถต่อยอดการมีช่องทางอาชีพได้ จากเดิมชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง หากมองในแง่การพัฒนาที่ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจในโครงการสร้างเขื่อนเพื่อระบายน้ำครั้งนี้ ชาวบ้านสามารถออกแบบความเป็น อยู่ที่อยู่ร่วมกับเขื่อน-คลองระบายน้ำ  เกิดเป็นถนนเส้นใหม่ กับริมน้ำที่ชาวบ้านจะสามารถก่อร่างสร้างตัวตน กระทั่งอาชีพใหม่ๆขึ้นมาได้เอง หากรัฐให้พื้นที่ในการมีส่วนร่วมของผู้คน สร้างความยั่งยืนโดยไม่ชักนำผลประโยชน์ออกนอกพื้นที่ หรือถูกแทรกแซงจากอำนาจทางเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่า และแน่นอน คนในพื้นที่เองก็พยายามหาความรู้ในการจะมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยเดิมของตนเองอยู่แล้ว  จะเกิดเมืองแบบใหม่ที่ทุกคนมีส่วนร่วมสร้างให้เกิดขึ้นจริง

เรียนรู้จากประสบการณ์-สร้างตัวตนคืออานาคตชุมชน

แม้โครงการสร้างเขื่อนระบายน้ำจะกระทบต่อประชาชนที่อาศัยโดยรอบพื้นที่  กระนั้นคนในชุมชนก็พร้อมรับการจัดการรื้อย้ายบ้านริมคลอง พวกเขาเชื่อว่าหากรัฐบาลรับฟังและให้โอกาสเข้าไปมีส่วนร่วม ชุมชนจะเกิดการพัฒนา เกิดเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ได้  

จำรัส  กลิ่นอุบล ประธานชุมชนริมคลองลาดพร้าว 45 เขตห้วยขวาง กล่าวว่า  เครือข่ายชุมชนริมคลองลาดพร้าวทั้ง 7 ชุมชน รวมทั้งชุมชนริมคลองบางซื่อ ซึ่งมีลำคลองเชื่อมกัน ได้มีการประสานการทำงานร่วมกันมาตั้งแต่ปี 2556 เพื่อจัดทำโครงการฟื้นฟูลำคลอง การอนุรักษ์ประเพณีและวัฒนธรรม และการท่องเที่ยววิถีชุมชน โดยมีอาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นที่ปรึกษา ใช้ชื่อโครงการว่า “วิถีชุมชนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง” โดยจะให้แต่ละชุมชนได้ศึกษาและก่อเกิดอัตลักษณ์ของชุมชน  ว่าแต่ละชุมชนมีจุดเด่นอย่างไร เพื่อนำมาใช้ในการประชาสัมพันธ์ชุมชน เช่น ชุมชนร่วมใจพิบูล 2 มีอาชีพแกะสลักไม้เป็นจุดเด่น ชุมชนลาดพร้าวซอย 45 มีการอนุรักษ์ประเพณีการแห่เทียนเข้าพรรษาทางเรือ ส่วนคลองบางซื่อมีทิวทัศน์ที่สร้างความร่มรื่น มีต้นไม้ใหญ่เรียงรายตามแนวคลองคล้ายเป็นอะเมซอนของกรุงเทพฯ

พ.ท. สมชาย จินต์ประยูร ประธานชุมชนบางบัวเชิงสะพานไม้ 1 เป็นอีกคนหนึ่งที่มองเห็นความเป็นไปได้ หากการรื้อย้ายครั้งนี้ มีการพัฒนาและเชื่อมโยงชุมชนเข้ากับแผนพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าและการสัญจรทางเรือ ชุมชนบางบัวและชุมชนอื่นๆ ที่อยู่ตามจุดเชื่อมต่อต่างๆ จะกลายเป็น Hub  พ.ท. สมชาย กล่าวถึงแรงบันดาลใจจากห้วยขวางโมเดล ที่ชุมชนบางบัวอาจจะกลายเป็นท่าเรือ หรือจุดเชื่อมต่อจากรถไฟฟ้าได้ จุดเริ่มต้นเริ่มจากท่าเรือสะพานใหม่ลงมาในคลองบางบัว-คลองลาดพร้าว-สะพานสอง-พระราม 9 แล้วไปเชื่อมกับคลองแสนแสบ และหากการก่อสร้างเขื่อนป้องกันน้ำท่วมแล้วเสร็จ และมีการก่อสร้างทางเดินเลียบคลอง ก็จะสามารถใช้ทางเดินเป็นเลนจักรยานเพื่อขับขี่ท่องเที่ยวในชุมชนได้ด้วย

“การพัฒนาเมือง และแหล่งท่องเที่ยวต้องควบคู่ไปพร้อมกันในทุกด้าน  สังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมก็ควรให้ความสำคัญไม่ถูกละเลยเช่นกัน”   ประภาส แสงประดับ เครือข่ายพัฒนาสิ่งแวดล้อมคลองบางบัว กล่าวถึงการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในลำคลองอย่างน่าสนใจว่า ที่ผ่านมาชุมชนมีแผนงานที่จะทำระบบบำบัดน้ำเสียในชุมชน แต่หากท่อระบายน้ำทิ้งของกรุงเทพฯ ยังปล่อยลงคลองโดยไม่มีการบำบัดเหมือนอย่างทุกวันนี้ การบำบัดน้ำเสียเฉพาะในชุมชนก็คงจะมีผลไม่มากนัก และจะโทษชุมชนไม่ได้เพราะชุมชนริมคลองเป็นเพียงปลายทาง ดังนั้นทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาน้ำเสียด้วย ไม่ใช่สร้างเขื่อนเพื่อป้องกันน้ำท่วมอย่างเดียว แต่น้ำในคลองยังเน่าเหม็น จะใช้ประโยชน์หรือฟื้นฟูให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่าง เวนิชตะวันออก คงเป็นเพียงภาพฝัน

ชูโมเดลพัฒนาอย่างมีส่วนร่วม

เช่นเดียวกันกับ วิรัช เตรียมพงศ์พันธ์ ที่ปรึกษาโครงการสำนักงานโครงการบ้านมั่นคง ให้ความเห็นว่า ในการลดระยะเวลาดำเนินการของคณะกรรมการอำนวยการในการแก้ปัญหาชุมชนริมคูคลอง เหลือเพียงปีครึ่งนั้น  ตนมองเห็นเป็นโอกาสที่ดีในการมีส่วนร่วมของการสร้างเมือง ชุมชน และโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่เพียงเรื่องของสิ่งปลูกสร้างเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเขื่อน ทางระบายน้ำ หรือบ้าน ในการบูรณาการบ้านที่พึ่งตนเองได้ ไม่ใช่การผลักให้ชาวบ้านออกไป หรือบีบให้อยู่ไม่ได้ จนคนฐานะดีกว่าเข้ามาอยู่แทนที่

วิรัช เล่าถึงบทเรียนจากการพัฒนาริมคลองยุคแรก คือรัฐให้การสนับสนุนน้อยแต่แรงพัฒนาส่วนใหญ่มาจากพลังชุมชนที่ต่อสู้ตั้งแต่ปัญหาภายใน จนถึงการเรียกร้องสิทธิ์ของคนจนเมืองจากหน่วยงานต่างๆ กว่าจะได้มาเป็นชุมชนบ้านมั่นคงริมคลองบางบัว ที่กลายเป็นพื้นที่งานพัฒนาที่คนจากทั่วโลกขอมาดูงาน

แต่การพัฒนาที่อยู่อาศัยริมคลองลาดพร้าวในปัจจุบัน มีการประสานความร่วมมือสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐหลายหน่วยงานในการพัฒนา แต่ชุมชนกลับไม่เข้มแข็ง เพราะรัฐแสดงบทบาทเป็นเจ้าของการพัฒนา แทนที่จะให้ขบวนการชุมชนเป็นเจ้าของ โอกาสของการพัฒนาเมืองและชุมชนที่มีรายได้น้อย ที่น่าจะได้ทั้งความเข้มแข็งของชุมชน ได้ที่อยู่อาศัยที่มีการจัดใหม่  ได้พื้นที่สาธารณะริมน้ำของเมือง ได้ระบบเศรษฐกิจของชุมชนเมืองที่โยงเข้ากับนโยบายการพัฒนา ได้เนื้อเมืองที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำความยากจน สุดท้ายคือได้ใช้โอกาสของการพัฒนาเมืองไปพร้อมกับการพัฒนาคูคลองและสร้างโอกาสและทางเลือกของการใช้ประโยชน์พื้นที่ริมคูคลองให้เป็นระบบการเชื่อมโยง คน พื้นที่ ทุน และเศรษฐกิจแห่งอนาคต   วิรัช ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า กทม.ควรทำให้ “การพัฒนาของเมืองกรุงเทพไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net