Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 


เห็น คสช. ให้ความสำคัญด้านเทคโนโลยีเป็นอย่างมาก โดยอ้างเรื่องการนำพาประเทศไทยเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy) เป็นเรื่องที่น่าชื่นใจ

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ประเทศไทยเป็นเพียงส่วนหนึ่งของโลก เมื่อโลกเปลี่ยนไปประเทศไทยก็ต้องเปลี่ยนตาม แต่การที่ คสช. ชี้แจงเฉพาะการรักษาความปลอดภัยของระบบจากการถูกโจมตีจากบุคคลภายนอก แต่บ่ายเบี่ยงที่จะตอบเรื่องการสอดส่องข้อมูลจากหน่วยงานรัฐสร้างความกังขาให้คนหลายกลุ่ม

Single Gateway เป็นการรวมศูนย์เครือข่ายอินเทอร์เน็ตทั้งประเทศเข้าไว้เพียงจุดเดียวภายใต้การควบคุมของหน่วยงานรัฐ ต่างจากปัจจุบันที่ประเทศไทยมีหลาย Gateway ที่ให้บริการโดยภาคเอกชน

นั่นหมายความว่า ทุกข้อมูลอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยทั้งภายในประเทศและเข้า-ออกต่างประเทศจะต้องผ่าน "ประตู" อันนี้ ทำให้หน่วยงานรัฐสามารถสอดส่องข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างง่ายดาย

ผู้ในบริการอินเทอร์เน็ตหลายราย เช่น Line มีการเข้ารหัสข้อมูลตามมาตรฐาน SSL (Secure Socket Layer) ซึ่งเปรียบเสมือนการใส่ "กุญแจ" ข้อมูลของเราก่อนการรับ-ส่งข้อมูล ทำให้ไม่มีผู้ใดสามารถเปิดอ่านข้อมูลระหว่างทางได้ โดยมีเพียง Line เท่านั้นที่มีกุญแจ สิ่งนี้อาจสร้างความสบายใจให้กับผู้ใช้บริการในระดับหนึ่ง แต่คุณอาจจะยังไม่รู้ถึงขอบข่ายการทำงานของรัฐ

ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ฉบับที่ คสช. พยายามผลักดันอยู่นี้กำหนดให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตทุกรายในประเทศไทยต้องส่งมอบกุญแจให้กับรัฐบาล นั่นหมายความว่า รัฐบาลสามารถ "ไขกุญแจ" เพื่ออ่านข้อมูลที่รับ-ส่งเหล่านี้ได้ตลอดเวลา

ระหว่างที่ผมอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพจากข้อหา ม.112 ชีวิตของผมอยู่ภายใต้การสอดส่องตลอดเวลา

ในทุกห้องขังจะมีกล้องวงจรติดตั้งอยู่ เพื่อสอดส่องพฤติกรรมของผู้ต้องขังทุกคนตลอดเวลาการใช้ชีวิตในห้องขังช่วง 15.00 น. จนถึง 6.00 น. ของวันรุ่งขึ้น

ช่วงกลางวันที่ผู้ต้องขังใช้ชีวิตนอกห้องขังพวกเราก็ยังถูกสอดส่องจากกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งอยู่ตามจุดต่างๆภายในเรือนจำ นอกจากนี้ในระหว่างเยี่ยมญาติ คำพูดทุกคำของผู้ต้องขังและผู้มาเยี่ยมจะถูกบันทึกโดยเครื่องบันทึกเสียง

เพราะฉะนั้น Single Gateway จึงไม่ต่างอะไรกับกล้องวงจรปิดที่ติดตั้งอยู่ทั่วประเทศนั่นเอง

หลายคนอาจคิดว่า "ฉันไม่ได้ทำอะไรผิดทำไมต้องกลัว" คุณอาจจะคิดเช่นนั้นถ้ากล้องวงจรปิดเหล่านี้ติดตั้งอยู่เฉพาะพื้นที่สาธารณะ เช่น ถนน สะพายลอย เพื่อรักษาความปลอดภัย แต่คงไม่สนุกแน่ถ้ากล้องวงจรปิดเหล่านั้นติดตั้งในบ้านทุกบ้าน ห้องทุกห้อง ไม่เว้นแม้แต่ห้องน้ำ และห้องนอนของคุณ

ทั้งการใช้ห้องน้ำ หรือประกอบกิจกรรมทางเพศในบ้านของคุณก็จะไม่รอดพ้นสายตาของกล้องวงจรปิดเหล่านี้

ส่วน Prompt Pay อาจน่ากลัวยิ่งกว่า เพราะเป็นการผูกหมายเลขบัตรประชาชนเข้ากับหมายเลขโทรศัพท์และบัญชีธนาคาร

ตอนที่ผมอยู่ในเรือนจำเงินทุกบาท หนังสือทุกเล่มที่มีคนฝากให้ผม จะต้องมีการแจ้งชื่อผู้ฝากทุกคนเพื่อการตรวจสอบ ต่างจากชีวิตภายนอกที่คุณสามารถฝากเงินสดจากเครื่องฝากเงินอัตโนมัติได้โดยไม่ต้องใส่ชื่อจริง

แต่สำหรับ Prompt Pay ไม่ว่าคุณคุยโทรศัพท์กับใคร ซื้อของที่ไหน โอนเงินให้ใคร รัฐบาลสามารถตรวจสอบได้อย่างง่ายดายจากหมายเลขบัตรประชาชนเหล่านี้

หากคุณไปหาหมอที่โรงพยาบาล รัฐบาลก็อาจทราบอาการป่วยและยาที่คุณใช้ หากคุณโอนเงินให้ใคร รัฐบาลก็จะทราบว่า ใครที่รับเงินจากคุณ และทราบแม้กระทั้งคนที่รับโอนเงินจากคุณเอาเงินไปใช้อะไรบ้าง

สุดท้ายประเทศไทยก็คงไม่ต่างจากเรือนจำ ที่ไม่ว่าคุณจะขยับตัวทำอะไรก็ไม่อาจหนีรอดการสอดส่องของรัฐบาลได้

0000


หมายเหตุ: เผยแพร่ครั้งแรกใน เฟซบุ๊ก เอกชัย หงส์กังวาน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net