Skip to main content
sharethis
 
16 ก.ค. 2559 เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเขตงานตะนาวศรี ออกแถลงการณ์ขอเรียกร้องต่อคณะกรรมการมรดกโลก ให้ชาวกะเหรี่ยงในผืนป่าแก่งกระจานที่จะมีการประกาศเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ได้รับสิทธิในการบริหารจัดการผืนป่าของตนเอง ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย บ้านใจแผ่นดิน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เป็นชนเผ่าพื้นเมืองอาศัยอยู่ในพื้นที่ป่ามานาน 
 
ทั้งนี้เครือข่ายกะเหรี่ยงฯ ระบุว่าก่อนที่รัฐจะประกาศให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ปี 2524 ในปี พ.ศ. 2539 ได้อพยพชาวกะเหรี่ยง 57 ครอบครัว จำนวน 391 คน ที่อาศัยอยู่กระจัดกระจายตามแนวชายแดนไทย – พม่า มาอยู่ในพื้นที่แห่งใหม่ โดยบอกกับชาวบ้านว่ารัฐจะดูแลอย่างดี โดยจัดพื้นที่อาศัยและที่ทำกินให้เพียงพอกับทุกคน ภายหลังปี พ.ศ. 2541 จนถึงปี 2552 หน่วยราชการได้ละทิ้งและไม่ได้เอาใจใส่ชาวกะเหรี่ยงที่ถูกผลักดันอพยพลงมา ไม่มีการดำเนินงานโครงการอันแต่อย่างใด ทำให้ชาวกะเหรี่ยงที่ถูกอพยพลงมาตั้งถิ่นฐานที่หมู่บ้านบางกลอย และโป่งลึกบางส่วน ต้องกลับไปทำกินที่อยู่เดิม 
 
ระหว่างปี 2552 – 2554 ซึ่งเป็นช่วงเวลาเตรียมการในการเสนอผืนป่าแก่งกระจานขึ้นทะเบียนเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร เป็นหัวหน้าอุทยานอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้อพยพ/ผลักดัน ชาวกะเหรี่ยงโดยการเผาบ้านและยุ้งฉางข้าว ยึดเครื่องมือเครื่องใช้อุปกรณ์ในการทำไร่ข้าว การดำเนินการของเจ้าหน้าที่อุทยานนับแต่เดือน เมษายน 2553 – เดือน มิถุนายน 2554 เผาทำลายเพิงพัก สิ่งปลูกสร้าง ทั้งสิ้น 98 หลัง ผู้ได้รับผลกระทบ จากการถูกผลักดันลงมา จำนวน 17 ครอบครัว จำนวน 80 คน 
 
ชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานยังคงประสบกับปัญหาข้าวไม่พอกินเพราะมีพื้นที่ทำกินที่ไม่เพียงพอ โครงการทำนาขั้นบันไดที่ราชการดำเนินการแก้ปัญหาเรื่องพื้นที่เพาะปลูกก็ให้ผลผลิตไม่เพียงพอเนื่องจากสภาพพื้นที่ลาดชันไม่เหมาะกับการทำนาขั้นบันได ชาวกะเหรี่ยงจำนวนหนึ่งจึงกลับไปทำไร่หมุนเวียนในพื้นที่ดั้งเดิมและมีจำนวน 38 ครอบครัว ปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้นำชาวบ้านคือ นาย พอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ ได้ลุกขึ้นมาเป็นตัวแทนเรียกร้องสิทธิ์ให้แก่ชุมชนชาวกะเหรี่ยง ต่อมาเขาถูกหัวหน้าอุทยานแก่งกระจาน จับตัวในความผิดมีน้ำผึ้งป่าในครอบครองจำนวน 5 ขวดและหายตัวไปในระหว่างถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ควบคุมตัวเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 เรื่องของเขากำลังอยู่ในขั้นตอนการสืบสวนและดำเนินคดีอยู่ 
 
ในช่วงปี 2558 -2559 เครือข่ายกะเหรี่ยงได้เข้าร่วมเวทีปรึกษาหารือที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานอุทยานแห่งชาติ เพื่อรับทราบข้อมูลและเสนอข้อกังวล แต่ ณ ปัจจุบัน
 
1. กรมอุทยานไม่เคยส่งเอกสารรายงานสรุปฉบับที่ส่งให้กับคณะกรรมการมรดกโลกแก่เครือข่ายกะเหรี่ยง และเครือข่ายกะเหรี่ยงได้เข้าพบอธิบดีกรมอุทยานที่สำนักงานใหญ่และยื่นเรื่องขอเอกสารรายงานแต่ก็ไม่เคยได้รับหรือคำตอบกลับมา 
2. ในการจัดทำโรดแมปเพื่อตอบคำถามของคณะกรรมการมรดกโลกนั้น เครือข่ายกะเหรี่ยงก็ไม่ได้รับการเสนอชื่อ หรือมีส่วนร่วมในการจัดทำโรดแมปดังกล่าว
3. เครือข่ายกะเหรี่ยงได้ยื่นเรื่องถึงหัวหน้าอุทยานแก่งกระจานเพื่อแก้ไขปัญหาและจัดพื้นที่ทำกินและไร่หมุนเวียนแต่ไม่มีการดำเนินการแต่อย่างใด 
 
คณะกรรมการเครือข่ายกะเหรี่ยงเขตงานตะนาวศรีได้ไปศึกษาพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ซึ่งได้ประกาศเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลกมาแล้ว 25 ปี โดยมีชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิมอาศัยอยู่มานานกว่า200 ปี ทางเครือข่ายฯ เห็นว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ตัวอย่างที่ดี ที่ชุมชนกะเหรี่ยงและรัฐร่วมกันบริหารจัดการผืนป่ามรดกโลกด้วยกัน และชุมชนกะเหรี่ยงยังคงรักษาและสืบทอดวิถีชีวิตวัฒนธรรมการทำไร่หมุนเวียนได้ จึงเสนอว่าให้กรมอุทยานนำแนวทางการจัดการพื้นที่มรดกโลกที่ทุ่งใหญ่นเรศวรมาทำที่พื้นที่กลุ่มป่ากระจาน 
 
การที่ประเทศไทยได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการมรดกโลกเพื่อพิจารณาให้พื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาตินั้น ชาวกะเหรี่ยงซึ่งเป็นชนเผ่าพื้นเมืองอาศัยอยู่ในบริเวณนี้มาเนิ่นนานหลายร้อยปี ยังไม่ได้รับสิทธิในการบริหารจัดการผืนป่าของตนเองเลย “เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อมเขตงานตะนาวศรี” จึงเสนอข้อเรียกร้องต่อคณะกรรมการมรดกโลกและรัฐบาลไทยในการที่จะประกาศพื้นที่ของชาวกะเหรี่ยงเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ดังนี้
 
1. ต้องให้ชุมชนชาวกะเหรี่ยงคือผู้กำหนดพื้นที่ทางวัฒนธรรมการทำกินโดยระบบไร่หมุนเวียนในวงรอบไร่หมุนเวียน 10 ปีด้วยตนเอง 
2. ต้องให้ชาวกะเหรี่ยงเป็นผู้เลือกพื้นที่อาศัยด้วยตนเอง 
3. ต้องให้ชาวกะเหรี่ยงเป็นผู้บริหารดูแลจัดการพื้นที่อยู่อาศัยและไร่หมุนเวียนด้วยตนเองในรูปแบบคณะกรรมการชุมชน 
4. รัฐและเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ต้องยอมรับสิทธิและวิถีการดำเนินชีวิตตามประเพณีของชาวกะเหรี่ยง 
5. ให้เครือข่ายกระเหรี่ยงร่วมเป็นผู้เสนอการขอจัดตั้งมรดกโลกทางธรรมชาติร่วมกับรัฐบาลด้วย 
6. ต้องกำหนดให้พื้นที่ห้วยกระซู่ ซึ่งเป็นพื้นที่ของชาวกะเหรี่ยงในผืนป่าแก่งกระจานเป็นพื้นที่ศึกษาวิจัยไร่หมุนเวียนร่วมกัน ระหว่างรัฐกับชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่และนำเอาผลไปขยายต่อในพื้นที่อื่นๆ 
 
พวกเราขอให้ข้อเรียกร้องที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นเป็นเงื่อนไขสำหรับการพิจารณาอนุมัติกลุ่มป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ หวังว่าคณะกรรมการมรดกโลกและรัฐบาลไทยจะให้การยอมรับและเคารพต่อสิทธิในที่ดินของชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจาน 
 
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net