Skip to main content
sharethis

หลังกทม. ยืนยันเดินหน้าไล่รื้อชุมชนป้อมมหากาฬ นักประวัติศาสตร์โต้รองผู้ว่าฯ'อย่าเอาแนวคิดโบราณคดีเชิงเดี่ยวไล่รื้อชุมชน'ย้ำอยู่ร่วมกันได้เหมือนอดีตวัง วัด ชุมชน

16 ก.ค.2559 เวลา 15.30 น. ที่ชุมชนป้อมมหากาฬ จัดเสวนา "รื้อป้อมมหากาฬ คือทำลายประวัติศาสตร์กรุงเทพ" โดย ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, ผศ.ดร.รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล คณะมนุษยศาสตร์ ม.รามคำแหง และผศ.ดร.ประภัสสร์ ชูวิเชียร คณะโบราณคดี ม.ศิลปากร ดำเนินรายการโดย อินทิรา วิทยสมบูรณ์ นักกิจกรรมเพื่อสังคมที่เคลื่อนไหวร่วมกับชุมชนป้อมมหากาฬ

พีระพล เหมรัตน์ รองประธานชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าวว่า สืบเนื่องมาจากการจัดเวทีครั้งที่แล้ว วันที่ 10 ก.ค.2559 เปิดตัว Mahakan model การจัดงานครั้งนี้เพื่อทำความเข้าใจกับพี่น้องเข้าใจเรื่องโบราณสถานที่เขาบอกว่าอยู่ร่วมกับชุมชนไม่ได้หรือต้องขุดแล้วต้องรื้อชุมชนออกไปก่อนแล้วจึงค่อยเอาชุมชนเข้ามาใหม่ สถานการณ์เมื่อ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.) พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวว่า กทม.ยืนยันตามมติเดิม โดยตั้งเป้าว่าภายในต้นเดือนสิงหาคมนี้จะรื้อถอนให้ได้ประมาณ 10 หลัง และกล่าวว่า สถานที่โบราณคดีอยู่ร่วมกับชุมชนไม่ได้จึงเป็นประเด็นที่อาจารย์ทั้ง 3 ท่านสนใจและเข้ามาพูดเรื่องโบราณคดีกับชุมชนในวันนี้ เพื่อบอกว่าการที่ กทม.บอกว่าคนอยู่คู่กับโบราณสถานไม่ได้แล้วต้องรื้อไล่ออกไปนั้นไม่จริง นอกจากนี้วันนี้ยังมีการลงชื่อสนับสนุนให้ชุมชนป้อมมหากาฬสามารถอยู่ใน พื้นที่คู่โบราณสถานได้ การรวบรวมรายชื่อนี้จะยื่นถึงท่านนายกรัฐมนตรี คณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ผศ.ดร.ประภัสสร์ กล่าวว่า ชุมชนป้อมมหากาฬเป็นชุมชนชานพระนครมรดกการตั้งถิ่นฐานดั้งเดิม ลักษณะการตั้งถิ่นฐานที่ชุมชนป้อมฯ สืบถอดมาเป็นเวลาพันปีบนดินแดนไท ดินแดนไทยที่เกิดขึ้นมีคูน้ำมีชุมชนมีขอบเขตชัดเจน ชุมชนโบราณมีคูน้ำคันดินล้อมรอบบ้านคูเมือง แนวกำแพงล้อมรอบเมืองกับคูเมืองที่อยู่บนพื้นที่เหล่านี้ทำให้เกิดที่อยู่อาศัย ในอดีตพื้นที่ที่เหมาะกับการตั้งถิ่นฐานคือกำแพงเมืองริมคูเมืองริมน้ำรอบพระนคร ส่วนที่อยู่อาศัยของชุนชนริมคูเมืองริมน้ำพระนครชุมชนละแวกนี้ตั้งถิ่นฐานมาแล้วอย่างน้อยที่สุดคือสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่พื้นที่ชานพระนครชุมชนป้อมมหากาฬนี้ถ้าดูตามหลักฐานจากแผนที่และภาพถ่ายเก่ามีมาแล้วอย่างน้อยที่สุดตั้งแต่สมัย ร.5

‘การที่บอกว่าชุมชนอยู่กับโบราณสถานไม่ได้เราก็ต้องเอาเครื่องมือทางโบราณคดีเหล่านี้มาต่อกรมายันได้ หลายแห่งในโลกนี้ให้ความสำคัญมรดกทางวัฒนธรรรมที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้’ ผศ.ดร.ประภัสสร์ กล่าว

ผศ.พิพัฒน์ กล่าวสรุปว่า การรื้อชุมชนป้อมมหากาฬจะทำให้สูญเสียโบราณคดีที่มีชีวิต (living archaeology evidence) หรือประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต ในแง่การตีความมีการละเลยอดีตเพราะพัฒนาการของชุมชนที่ต่อเนื่องของชุมชนป้อมมหากาฬตั้งแต่สมัยรัตนโกสินทร์ถึงปัจจุบัน ทางออกปัญหาคือชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับโบราณสถานได้แต่ต้องมีกระบวนการในการจัดการอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่แก้ปัญหาด้วยการรื้อถอน การจัดการตัวข้อมูลความรู้ทำป้ายข้อมูลชุมชนปรับตัวพร้อมกันไปกับการเปลี่ยนแปลง

‘หน่วยงานราชการไม่แน่ใจว่าเบื่อบ้างไหม ต่อสู้มา 24 ปีแล้ว ในแง่การท่องเที่ยวชุมชนนี้ทำได้ มีคลอง ใกล้วัด ใกล้วัง ชุมชนคือส่วนประกอบหนึ่งของความเป็นเมืองทำไมต้องรื้อไล่ชุมชนออกไป’ ผศ.พิพัฒน์ กล่าว

ผศ.พิพัฒน์ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องไร่ลื้อชุมชนป้อมมหากาฬเข้าใจว่าต้นเหตุอยู่ที่ตัวแผนแม่บทการพัฒนาเมืองในการแก้ปัญหาสิ่งสำคัญคือการปรับผังเมืองให้อยู่ร่วมกับชุมชนให้ จากคำพูดของ พล.ต.อ.อัศวิน รองผู้ว่าฯกทม.อ้างในมติชนออนไลน์ วันที่ 6 ก.ค.2559 ว่า ‘ไม่เคยเห็นว่ามีโบราณสถานแห่งใดที่มีชุมชนอยู่ร่วมด้วยมาก่อน ซึ่งกรณีเป็นชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงแต่ไม่ได้อยู่ภายในพื้นที่โบราณสถาน’ ปัญหานี้สะท้อนความคิดของรัฐที่ขาดความเข้าใจในเรื่องโบราณคดี ในสังคมไทยถูกปลูกฝังความเชื่อว่าโบราณสถานอยู่ร่วมกับชุมชนไม่ได้นิยามการจัดการโบราณสถานของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีแนวคิดที่เก่าและล้าสมัย ถ้าหากยกรณีตัวอย่างของเมืองโบราณในต่างประเทศอย่างเช่น กรุงโรม ลอนดอน จะเห็นว่าเมืองเหล่านี้เป็นการอยู่อาศัยของคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่าที่อยู่ร่วมกับโบราณสถานที่สำคัญ

‘โบราณสถานไม่ได้กินความแค่สิ่งก่อสร้าง มีคน มีชุมชน มีอดีต มีปัจจุบัน มีการศึกษาทางโบราณคดีที่เรียกว่าการศึกษาโบราณคดีครัวเรือน (HOUSEHOLD ARCHAEOLOGY) ไม่ได้สนใจศึกษาแค่วัดและวัง แต่ให้ความสำคัญชีวิตสามัญชนคนทั่วไปให้ความสนใจองค์กรจัดการของคน สนใจคนชนชั้นสูง สามัญชน ศึกษาวัตถุทางวัฒนธรรม’ พิพัฒน์ กล่าว

ผศ.พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ในขณะที่รัฐไทยมองแต่เรื่องโบราณสถานที่ตายและเก็บเอาไว้เท่านั้นเป็นการมองโบราณสถานเชิงเดี่ยวที่มีเพียงโบราณสถานไว้อนุรักษ์และคนที่อยู่ก็ย้ายออกไป แต่ในความเป็นจริงชีวิตคนเราอยู่กับโบราณสถานมาตลอด เพราะองค์ประกอบของโบราณสถานมีความร่วมกันของพื้นที่วัง วัด ชุมชน การแยกสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นการตัดขาดวัฒนธรรม วิธีการคิดขอรัฐนี้เป็นการละเลยความสัมพันธ์เชิงซ้อนไป การเข้าใจผิดเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองที่รัฐมองว่าการสร้างเมืองต้องมีสวนสาธารณะเมืองต้องมีพื้นที่สีเขียว องค์ประกออบที่สำคัญของความเป็นเมืองมีคำถามตามมาว่าการพัฒนาเมืองทำไมต้องรื้อชุมชนที่อยู่คู่มากับเมืองรื้อไปแล้วได้อะไรแล้วถ้ารื้อชุมชนแล้วจะสูญเสียอะไรบ้าง

‘เวลาเรามองโบราณสถานอย่ามองแค่ความใหญ่โตแต่มองว่ามีคน มีกิจกรรม มีชุมชนอยู่ในนั้น จุดเด่นของการทำงานร่วมกับคนในชุมชนมีชีวิตทำให้นักโบราณคดีตีความที่ไม่อาศัยอัตวิสัยส่วนตัว การทำงานโบราณคดีครัวเรือนพ่วงกับชุมชนแทนที่นักโบราณคดีจะตีความคนเดียวทั้งหมดแต่ให้ชาวบ้านช่วยในการตีความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การกินอยู่ และวิถีชีวิตผ่านชั้นดินหลักฐานโบราณคดี เติมเต็มประวัติศาสตร์ของเมืองกรุงเทพฯเพราะความรู้เกี่ยวกับสามัญชนมีอยู่น้อยมากบ้านของสามัญชนคนทั่วไปก็คือโบราณสถานแห่งหนึ่ง’ พิพัฒน์ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net