ทำไมรัฐประหารในตุรกีถึงล้มเหลว?: บทเรียนและคำถามสำคัญ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

รถถังจอดทิ้งไว้หลังทำรัฐประหารล้มเหลวที่นครอิสตันบูล ประเทศตุรกี เมื่อ 16 ก.ค. 2559 (ที่มา: PROEser Karadağ/Flickr/CC BY-ND 2.0)

เมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา พื้นที่สำคัญหลายจุดในเมืองอังการาและอิสตันบูลของประเทศตุรกีตกอยู่ภายใต้การควบคุมของทหารกลุ่มหนึ่งที่พยายามทำรัฐประหารเพื่อโค่นอำนาจประธานาธิบดีเรเจป ทายยิป แอร์โดอัน แต่ประชาชนฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลจำนวนหลายหมื่นคนได้ออกมาต่อต้านการรัฐประหารในครั้งนี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 200 คน ทหารกว่า 2,800 นายที่พยายามทำรัฐประหารถูกจับกุมโดยตำรวจและประชาชน ผู้พิพากษา 2,745 คน ถูกไล่ออกหลังจากพบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มที่พยายามทำรัฐประหารในครั้งนี้ และสมาชิกของศาลฎีกาอีก 140 คนถูกออกหมายจับ

รัฐประหารครั้งนี้กลายเป็นรัฐประหารที่ล้มเหลวในที่สุด สำนักข่าวบีบีซีของประเทศอังกฤษรายงานว่าเหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า

1. คณะรัฐประหารไม่สามารถควบคุมสื่อได้ทั้งหมดถึงแม้ว่าคณะรัฐประหารจะเข้าควบคุม TRT หรือสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศตุรกี และเผยแพร่ประกาศของคณะรัฐประหารว่า “คณะรักษาความสงบ” ได้ทำการเข้าควบคุมประเทศและประกาศเคอร์ฟิวแล้ว CNN ของตุรกีระงับการออกอากาศในขณะที่ทหารเข้ามาในห้องควบคุม และสื่อสั่งคมออนไลน์ต่างๆอย่างเฟสบุ๊ก, ทวิตเตอร์ ก็ใช้การไม่ได้ ทว่า คณะรัฐประหารก็เข้าควบคุมสื่อได้ไม่นาน ภายหลังจากที่ประธานาธิบดีแอร์โดอันลงจากเครื่องบิน ก็ได้ทำการติดต่อ CNN ตุรกี ผ่านวิดิโอคอล์ เพื่อเรียกร้องให้ชาวตุรกีออกมาต่อสู้กับทหารบนท้องถนน และในที่สุดประชาชนฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลพร้อมกำลังตำรวจก็เข้ามาจับกุมทหารที่อยู่ในสถานีได้หมด

2. ทหารและประชาชนหลายฝ่ายไม่ได้สนับสนุนการรัฐประหารครั้งนี้

รัฐประหารจะสำเร็จ ต้องได้รับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนของกองทัพ ถึงแม้ว่าการรัฐประหารในครั้งนี้ ทหารหลายคนจะร่วมด้วย แต่เสนาธิการทหาร และผู้บัญชาการทหารในอิสตันบูลนั้นไม่เอาด้วย

เสนาธิการกองทัพเรือและผู้บัญชาการหน่วยรบพิเศษก็ออกมากล่าวโจมตีการรัฐประหาร และเครื่องบิน F-16ยังถูกส่งไปโจมตีรถถังของฝ่ายรัฐประหารอีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้นการรัฐประหารครั้งนี้ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนทางการเมืองหรือทางสาธารณะ พรรคฝ่ายค้านของตุรกีกล่าวว่า ตุรกีเผชิญหน้ากับรัฐประหารมามากพอแล้วและไม่อยากเห็นเหตุการณ์แบบนี้ซ้ำอีก

อย่างไรก็ดีผู้เชี่ยวชาญด้านตุรกีหลายคนก็ไม่ปฎิเสธว่า รัฐบาลของแอร์โดอันนั้นมีลักษณะอำนาจนิยม และทำให้กระบวนการยุติธรรมเป็นอัมพาต ตามที่คณะรัฐประหารกล่าวอ้างจริง 5 ปีภายใต้รัฐบาลแอร์โดอัน ได้ทำลายความเป็นอิสระของสถาบันสำคัญต่างๆในประเทศเช่น สถาบันสื่อ, สถาบันการศึกษา, ภาคประชาสังคม, และล่าสุดคือศาลสูงสุดที่เป็นเสาหลักของประเทศถึงสองศาล หรือพูดอีกอย่างก็คือว่ารัฐบาล AKP ของแอร์โดอันนี้กำลังทำลายประชาธิปไตยในตุรกีลงเรื่อยๆ

การรัฐประหารในครั้งนี้จึงทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าอาจจะยิ่งเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลในการเสริมสร้างอำนาจให้กับตัวเองมากขึ้นไปอีก บทเรียนที่สำคัญจากตุรกีคือ แม้ว่าพรรคฝ่ายค้านของตุรกีจะไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลของนายแอร์โดอันเพียงใด แต่พวกเขาก็เห็นว่าการใช้กองทัพมายึดอำนาจนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ชอบธรรม คำถามสำคัญต่อไปก็คือในระบอบประชาธิปไตย เราจะต่อสู้กับรัฐบาลอำนาจนิยมได้อย่างไรโดยไม่ใช้กำลังทหาร?

 

ที่มาของข่าว:

Coup attempt shakes up Turkish judiciary with big shift, hurriyetdailynews, 16 July 2016

Why did Turkish coup plot fail?, BBC, 16 July 2016

Death knell looms for Turkey's judicial independence, Al-monitor, 27 June 2016

The tragedy of Turkey's attempted coup By Jenny White, CNN, July 16, 2016

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท