Skip to main content
sharethis

ภาคีผู้นำนิสิต-นักศึกษา 11 สถาบัน ออกแถลงการณ์ต่อประชามติห่วง 3 ประเด็นใหญ่ ประชาชนขาดข้อมูลตัดสินใจ การไม่มีความชัดเจนหลังผลประชามติเสร็จสิ้นและการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นโดยเฉพาะผู้เห็นต่าง ชี้มาตรา 44 มันครอบจักรวาลเกินไป และทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัย

17 ก.ค.2559 เมื่อเวลา 11.00 น. ที่ห้องวรรณไวทยากร ตึกโดม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ภาคีผู้นำนิสิต-นักศึกษา 11 สถาบัน ร่วมประชุมองค์การนิสิต/นักศึกษาแห่งประเทศไทย เพื่อออกแถลงการณ์ในเรื่อง “เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 และบทบาทของผู้นำนิสิต/นักศึกษาในสภาวะปัจจุบัน” ห่วง 3 ประเด็นใหญ่ ประชาชนขาดข้อมูลตัดสินใจ การไม่มีความชัดเจนหลังผลประชามติเสร็จสิ้นและการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นโดยเฉพาะผู้เห็นต่าง 

อัสมา ลีเยาว์ นายกองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นตัวแทนอ่านแถลงการณ์ดังกล่าว โดยระบุว่าจากการประชุมองค์การนิสิต/นักศึกษาแห่งประเทศไทยมาจากผู้นำนิสิต/นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพื่อเป็นเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนแนวความคิดและมุมมองด้านต่างๆ อีกทั้งเป็นการสร้างเครือข่ายของนิสิต/นักศึกษา ที่จะแสดงออกเพื่อนำประโยชน์กลับสู่สังคม

อัสมา ระบุว่า หลังจากรัฐบาลได้มีการกำหนดการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ขึ้นในวันที่ 7 ส.ค. 2559 ซึ่งรัฐธรรมนูญถือเป็นกฏหมายที่สำคัญที่สุดของประเทศ ทำให้การวางมาตรการ และบทบัญญัติต่างๆ ล้วนมีผลกระทบกับประชาชน ทำให้จากการประชุมดังกล่าว ผู้นำนิสิต/นักศึกษาได้มีความห่วงใยในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ใน 3 ประเด็นด้วยกัน คือ 1. ความเข้าใจในร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ของประชาชนยังไม่เพียงพอจากการประชาสัมพันธ์ที่ขาดความน่าสนใจ และเนื้อหาที่ยากแก่การเข้าใจของประชาชน ทำให้การตัดสินใจในการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฏหมายสูงสุดของประเทศ จะมิได้มาจากความเข้าใจที่แท้จริงของประชาชน 2. ความชัดเจนในการดำเนินงานหลังผลการลงประชามติเสร็จสิ้น คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้มีการอธิบายเกี่ยวกับการลงประชามติผ่านก็จะเกิดการปฏิรูป แต่มิได้ให้ความชัดเจนว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงรัฐบาลจะมีมาตรการอย่างไร หากผลลงประชามติไม่ผ่าน ซึ่งเป็นการให้น้ำหนักไปในทิศทางเดียว เปรียบเสมือนการโน้มน้าวประชาชนให้เลือกในสิ่งที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญต้องการ 3. เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ที่ผ่านมามีความพยายามปิดกั้นและจำกัดการแสดงออกในร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 สำหรับผู้เห็นต่างอยู่บ่อยครั้ง โดยการปิดกั้นและจำกัดการแสดงความออกของประชาชนผู้เห็นต่างนั้น เป็นการเลือกปฏิบัติเพียงข้างเดียว ถือเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพตามครรลองของรัฐธรรมนูญไทย

ซึ่งภาคีผู้นำนิสิต/นักศึกษา 12 มหาวิทยาลัย ในการประชุมองค์การนิสิต/นักศึกษาแห่งประเทศไทยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อคิดเห็นและข้อห่วงใยนี้จะได้รับการรับฟัง และนำไปปรับปรุงจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องรวมถึงไม่เห็นด้วยต่อการจำกัดการแสดงออกในเรื่องการลงประชามติของผู้เห็นต่าง แต่ต้องการให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญและรัฐบาลยอมรับและรับฟังทัศนคติที่แตกต่าง อันจะทำให้การลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 โปร่งใส เป็นประชาธิปไตย และเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนทุกคน

ด้าน ยศนนท์ จอมจันทร์ กรรมการฝ่ายสังคมและการเมือง องค์กรนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ว่าก่อนการประชุมก็ได้มีการรับฟังข้อมูลจากหลายแง่มุม เช่นจาก ปริญญา เทวานฤมิตรกุล จะพูดถึงบทบาทของนักศึกษาที่ควรมีต่อสถานการณ์ทางการเมืองต่างๆ โดยจะเจาะในเรื่องของร่างรัฐธรรมนูญ และจาก อมร วาณิชวิวัฒน์ โฆษกคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ มาอธิบายถึงเจตนารมณ์ในการร่างรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงมีการพูดถึงเรื่องของ พ.ร.บ.ประชามติว่ามีการห้ามในหลายๆ ประเด็นเพราะเหตุใด เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการประชุมครั้งนี้ด้วย

ยศนันท์ ยังได้เปิดเผยว่า ในเรื่องของความคิดเห็นต่อเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญแต่ละหมวดแต่ละมาตราที่จะไม่ไปพูดถึงเป็นหลัก สาเหตุหนึ่งคือมันเปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว ไม่ใช่ว่าไม่ให้ความสำคัญกับเนื้อหา แต่เห็นว่าการลงประชามติที่กำลังจะเกิดขึ้นมีความใกล้ตัวและสำคัญมากกว่า อย่างในบางประเด็นก็ยังมีคนไม่ทราบเลย เช่น เรื่องของคำถามพ่วงที่มาพร้อมกับการลงรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ อีกประเด็นหนึ่งคือในหลายๆ มหาวิทยาลัย อย่างมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็มีกลุ่มที่เคลื่อนไหวการรณรงค์ประชามติอยู่พอสมควร นักศึกษาพยายามแสดงออกแต่จะถูกจำกัดพื้นที่การแสดงออก ซึ่งหลายๆ มหาวิทยาลัยเห็นตรงกันว่าเสรีภาพในการแสดงออกเป็นสิ่งที่สำคัญ

“เรารู้สึกว่ามาตรา 44 มันครอบจักรวาลเกินไป และทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัย บางคนอาจจะใช้จัดการผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่หลังๆ เรารู้สึกว่ามาตรา 44 ใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกวัน เช่นกรณีการใช้มาตรา 44 ยกเลิกพื้นที่ป่าสงวนแล้วตั้งพื้นที่นั้นเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งในที่ประชุมก็รู้สึกว่ามาตรานี้แสดงให้เห็นถึงอำนาจที่ล้นพ้นเกินไปแล้วซึ่งมันไม่ควรมีในสังคมและรัฐบาลก็ไม่ควรมีสิทธิ์ที่พ้นล้นขนาดนั้น ซึ่งตามที่เขาอ้างคือมาเพื่อรักษาการซึ่งไม่ควรมีการใช้อำนาจมากขนาดนี้” ยศนนท์ ยังระบุถึงประเด็นที่ไม่ได้ระบุในแถลงการณ์ แต่มีความเห็นพ้องต้องกันคือเรื่องของมาตรา 44 

ส่วน ธวัชชัย บุตรทุม รองนายกสโมสรนักศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ระบุการมีการเคลื่อนไหวการรณรงค์มีหลายกลุ่มทั้งภายใน-ภายนอกมหาวิทยาลัย และเป็นการรณรงค์แบบเสรีอยู่เรื่อยๆ แต่ในการจัดกิจกรรมถูกกีดกันและจำกัดพื้นที่จากหลายๆ ฝ่ายทั้งทางผู้ใหญ่และเจ้าหน้าที่ การมาประชุมครั้งนี้ก็มาเพื่อแสดงความคิดเห็นและเล่าถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยจุดยืนของทางองค์การนักศึกษาฯ ไม่ได้มุ่งเป้าไปในทางใดทางหนึ่ง แต่มีจุดยืนที่เป็นกลาง และไม่ได้กีดกันหรือปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด โดยธวัชชัยให้ความเห็นส่วนตัวว่าไม่อยากให้ปิดกั้นการออกแสดงของแต่ละกลุ่ม เพราะแต่จะกลุ่มไม่ได้มีเจตนารมณ์ที่จะขัดขวางหรือมีเจตนาที่ไม่ดี เพียงแค่อยากให้รัฐธรรมนูญมีความสมบูรณ์และทุกคนได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน

สำหรับภาคีผู้นำนิสิต/นักศึกษา จาก 11 มหาวิทยาลัย ประกอบด้วยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยพะเยา, มหาวิทยาลัยแม่โจ้, มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช และมหาวิทยาลัยกรุงเทพ 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net