Vox คุยกับนักวิชาการผู้ศึกษา 'รัฐประหาร' เหตุใดรัฐประหารในตุรกีถึงล้มเหลว

เว็บไซต์ข่าว Vox นำเสนอบทวิเคราะห์เกี่ยวกับความล้มเหลวของการทำรัฐประหารในตุรกีเมื่อวันที่ 15-16 ก.ค. ที่ผ่านมา โดยตั้งคำถามสองคำถามใหญ่ๆ ว่าเหตุใดการรัฐประหารในตุรกีถึงล้มเหลว และจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปกับตุรกีหลังจากนี้

บทวิเคราะห์ของ Vox โดยแซค บีชัม สอบถามประเด็นเหล่านี้จาก เนานิฮาล สิงห์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดผู้เขียนหนังสือที่มีข้อมูลเกี่ยวกับการพยายามทำรัฐประหารทั่วโลกหลายร้อยครั้งชื่อ "Seizing Power" สิงห์กล่าวว่าปัจจัยที่ทำให้การรัฐประหารในตุรกีครั้งล่าสุดล้มเหลวไม่ได้มาจากปัจจัยเรื่องความเข้มแข็งของกองทัพฝ่ายที่วางแผนทำรัฐประหารหรือการสนับสนุนจากภายในกองทัพเอง แต่มาจากการขาดความสามารถในการทำให้เห็นว่าการรัฐประหารของพวกเขาจะสัมฤทธิ์ผลซึ่งมักจะมาจากการประกาศผ่านทางสื่อ

สิงห์ตั้งข้อสังเกตว่าการพยายามทำรัฐประหารในครั้งนี้เป็นการที่ฝ่ายผู้ก่อรัฐประหารไม่ได้ใช้กำลังอย่างเต็มที่เพราะต้องการอำนาจควบคุมสังคมที่มีเสถียรภาพมากกว่าจะพยายามทำให้เกิดความรุนแรง การแพ้ชนะของรัฐประหารในตุรกีจึงเป็นเรื่องของการพยายามนำเสนอภาพว่าฝ่ายใดจะเป็นฝ่ายชนะมากกว่า นอกจากนี้ดูเหมือนว่าคนส่วนใหญ่ในกองทัพตุรกีจะพยายามทำตัวอยู่ตรงกลาง ไม่เลือกข้างจนกว่าจะรู้ว่าข้างใดจะเป็นฝ่ายชนะ

อีกปัจจัยหนึ่งจากความคิดเห็นของสิงห์คือการที่ประธานาธิบดีเออร์โดกันยังสามารถแถลงการณ์ผ่านสื่อต่อต้านการรัฐประหารไว้ได้ถึงแม้ว่าจะใช้เครื่องมือที่ดูตลกๆ อย่างโปรแกรมสไกป์ผ่านโทรศัพท์มือถือ ในขณะที่ฝ่ายผู้ก่อรัฐประหารไม่มีความสามารถในการส่งสารของพวกเขา ถึงแม้ว่าพวกเขาจะยึดกุมสื่อบางแห่งได้เช่น ซีเอ็นเอ็นตุรกี แต่พวกเขาก็ไม่สามารถแพร่กระจายข้อความได้อย่างมีประสิทธิภาพ เซย์เนป ตูเฟคซี ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนาผู้ที่อยู่ในตุรกีช่วงที่มีการพยายามก่อรัฐประหารกล่าวว่า ฝ่ายผู้ทำรัฐประหารไม่มีแถลงการณ์ที่ชัดเจนมากพอและไม่มีผู้นำออกมาปรากฏตัวทางโทรทัศน์ที่จะสร้างภาพว่าสามารถควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างไว้ได้หมด

สำหรับคำถามที่ว่าหลังจากนี้จะเกิดอะไรขึ้นต่อไปนั้น ในขณะที่ผู้คนอาจจะมองว่าจะเกิดการล้างบางครั้งใหญ่โดยเออร์โดกัน แต่สิงห์ก็บอกว่าการล้างบางหลังรัฐประหารมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยเพราะไม่เป็นประโยชน์กับรัฐบาลตุรกี เพราะการล้างบางเช่นการสั่งสังหารคนในกองทัพที่เชื่อว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารจะทำให้เจ้าหน้าที่รายอื่นๆ กังวลว่าจะถูกกำจัดไปด้วยจนอาจจะเกิดรัฐประหารซ้ำซ้อน ทำให้รัฐบาลตุรกีวางคนที่จงรักภักดีต่อเขาเข้าไปแทน ทำให้เกิดการกระชับอำนาจแทนการล้างแค้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสเกิดความรุนแรงขึ้นเลย

บทวิเคราะห์ระบุอีกว่า การพยายามรัฐประหารที่ล้มเหลวในครั้งนี้อาจจะส่งผลต่อประชาธิปไตยของตุรกีในแบบลับๆ และอาจจะถึงขั้นส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบอำนาจนิยมได้ จากการที่เออร์โดกันพยายามปราบปรามผู้ที่ต่อต้านและกระชับอำนาจตัวเองมาโดยตลอด เขาลิดรอนเสรีภาพสื่อ ใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ประท้วงต่อต้าน และเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญในแบบที่จะรักษาอำนาจตัวเองไว้มากเกินไปจนอันตราย

อย่างไรก็ตาม สถาบันประชาธิปไตยในตุรกีก็มีความเข้มแข็งพอในการสกัดกั้นแผนการอำนาจของเออร์โดกัน โดยที่ในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือน มิ.ย. 2558 ซึ่งเป็นการเลือกตั้ง ส.ส. ที่แยกจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีนั้น พรรคของเออร์โดกันเป็นฝ่ายพ่ายแพ้เนื่องจากประชาชนชาวตุรกีปฏิเสธข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มอำนาจให้ตัวเองของเออร์โดกัน แต่ทว่าการรัฐประหารในครั้งนี้อาจจะทำให้ภาพลักษณ์ของเออร์โดกันที่เป็นตัวร้ายแบบอำนาจนิยมดูกลายเป็นเหมือนคนที่ปกป้องประชาธิปไตย อีกทั้งยังทำให้ผู้คนหวาดกลัวความไร้เสถียรภาพจนกลับไปพึ่งพวกที่เป็น "สตรองแมน" หรือผู้นำที่มีลักษณะเผด็จการรวบอำนาจมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าวิตกสำหรับผู้สังเกตการณ์

เรียบเรียงจาก

Why Turkey’s coup failed, according to an expert, Vox, 16-07-2016
http://www.vox.com/2016/7/16/12205352/turkey-coup-failed-why

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท