เธอ เสียงร้องที่ไม่ได้ยิน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ


ภาพจาก Hibr (CC BY-NC-SA 2.0)

จากทัศนคติ ค่านิยมที่ให้คุณค่าผู้ชายอยู่เหนือผู้หญิง หรือภรรยาเป็นสมบัติของสามี อีกทั้งคำสอนที่ว่า “ไฟในอย่านำออก ไฟนอกอย่านำเข้า” คำพูดเหล่านี้ ทำให้การทำร้ายผู้หญิง ถูกมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัว ผู้หญิงถูกมองว่าเป็นสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องน่าอับอาย ต้องปกปิด จนกลายเป็นวัฒนธรรมของการนิ่งเงียบ เมื่อเป็นเช่นนี้ปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิงจึงยังคงอยู่กับการถูกทำร้ายอย่างไม่สิ้นสุด ประเทศไทยได้รับปฏิญญาสากลว่าด้วยการขจัดความรุนแรงต่อสตรี โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) ซึ่งมีการนิยามความหมายของความรุนแรงต่อสตรี กล่าวว่า ”ความรุนแรงต่อสตรี หมายถึง การกระทำใดๆ ที่เป็นความรุนแรงทางเพศ ซึ่งเป็นผลหรืออาจเป็นผลให้เกิดการทำร้ายร่างกายทางเพศ หรือทางจิตใจ เป็นผลทำให้เกิดความทุกข์ทรมานแก่สตรี รวมทั้งการขู่เข็ญ คุกคาม กีดกันเสรีภาพทั้งในที่สาธารณะและในชีวิตส่วนตัว”
 
ประเทศไทยกับความรุนแรงต่อผู้หญิงที่เกี่ยวกับอคติทางเพศ จากข้อมูลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปี 2555 มีคดีเกี่ยวกับเพศ 3,572 ราย จับกุมได้ 2,371 ราย พบฆ่าข่มขืน 3 ราย ปี 2556 คดี เกี่ยวกับเพศ 3,276 ราย จับกุมได้ 2,030 ราย พบข่มขืนกระทำชำเราและฆ่า 4 ราย และ จากการทำงานให้ความช่วยเหลือผู้หญิงที่ประสบปัญหาความรุนแรงในครอบครัวและการถูกล่วงละเมิดทางเพศของมูลนิธิเพื่อนหญิง รวบรวมไว้ตั้งแต่ปี 2556–2558 พบสถิติ ข้อมูล ความรุนแรงในครอบครัว 3,143 การละเมิดทางเพศ 979 ราย ท้องไม่พร้อม 373 ค้ามนุษย์ 15 ราย เงินสงเคราะห์ฉุกเฉิน 1,496 ราย รวมทั้งสิ้น 6,254 ทุกทุก 1 ชั่วโมงจะมีผู้หญิง 3 คน มาขอคำปรึกษาว่าถูกคุกคามทางเพศ และพบว่าร้อยละ 70 เป็นคนใกล้ชิด เพื่อนบ้านรู้จัก แฟน อดีตสามี สามี สมาชิกในครอบครัว เจ้านาย และเพื่อนร่วมงาน

ความเลวร้ายของสถานการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิง และเด็ก เมื่อดูสถิติข้างบนที่กล่าวมาของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน มีสถิติลดน้องลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น และถ้าจะกล่าวกันอย่างตรงไปตรงมา ก็ยังมีกรณีผู้หญิง และเด็กที่ถูกข่มขืน ล่วงละเมิดทางเพศอีกจำนวนมากที่ไม่กล้าออกมาแสดงตัวให้กับสังคมได้เห็น ถ้าไม่มีเหตุให้ค้นพบหรือเข้ามาขอความช่วยเหลือ

ในรอบ10 ปีที่ผ่านมา เราจะเห็นเหตุการณ์และภาพสะเทือนขวัญที่อยู่ตามหน้าข่าวหนังสือพิมพ์ และโทรทัศน์จำนวนหลายกรณี อาทิ เหตุการณ์การข่มขืนผู้หญิง และเด็ก บนรถไฟ ที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะได้รับการตัดสินลงโทษ และได้รับการเยียวยา หรือกรณีชายอุ้มเด็กหายไปจากหน้าสถานีรถไฟฟ้า เมื่อพบอีกทีก็กลายเป็นศพที่ถูกข่มขืน ซึ่งก็สามารถจับได้และมีการตัดสินลงโทษทางกฎหมายไปแล้ว

แต่ก็ไม่น่าเชื่อว่าความรุนแรงขั้นเลวร้ายจะเกิดกับผู้หญิงอีกครั้งหนึ่ง คือ กรณีการบุกเข้าไปในห้องพักข่มขืนแล้วฆ่าครูสาวอย่างโหดเหี้ยมในยามวิกาล จนเป็นข่าวสะเทือนขวัญและส่งผลกระทบด้านจิตใจ และความหวาดระแวงในความไม่ปลอดภัยของประชาชน จนมีกระแสประชาชนโหมกระหน่ำให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้หามาตรการการบังคับใช้กฎหมาย หรือการกระตุ้นปฏิรูปกลไกเครื่องมือที่กฎหมายมีอยู่ให้มาดูแล ความปลอดภัยชีวิตเด็ก และผู้หญิง โดยมีความเรียกร้องต้องการของประชาชนให้นายกรัฐมนตรีได้ใช้ ม.44 กับการลงโทษขั้นสูงสุดคือการประหารชีวิตกับฆาตกรที่ข่มขืนแล้วฆ่าผู้หญิงอันสะเทือนขวัญต่อประชาน ให้ตกตามกันไป แต่ก็มีประชาชนส่วนหนึ่งและองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน รวมถึงรัฐบาล ที่มีมุมมอง ว่าการประหารชีวิตมิใช่หนทางแห่งการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน สงบสุขเพราะกฎหมายบ้านเมืองที่เกี่ยวข้องโดยตรงก็มีอยู่แล้ว แต่ขาดการทำให้เข้มข้นและลงโทษอย่างจริงจัง อีกทั้งควรให้โอกาสกับผู้กระทำผิดที่มิได้ตั้งใจกระทำผิด ให้กลับตัวกลับใจโดยผ่านกลไกการช่วยเหลือเยียวยา ทั้งในระดับทัณฑสถาน และหน่วยงานรัฐ เอกชนทางสังคม เป็นต้น

มูลนิธิเพื่อนหญิง ในฐานะเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานการช่วยเหลือเด็ก สตรี มากว่า 35 ปี มีข้อเสนอผ่านหนังสือต่อท่านนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง เพื่อการแก้ปัญหาเชิงรุก ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการละเมิดและการคุกคามทางเพศ ในอันที่จะนำไปสู่ความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สิน เนื้อตัวร่างกายของเด็กและสตรีอย่างยั่งยืนมีเหตุมีผล กล่าวคือ

หนึ่ง รัฐต้องให้กระบวนการยุติธรรมทุกกลไกใน คดีข่มขืนกระทำชำเราทุกกรณีต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด และใช้บทกำหนดโทษในการลงโทษแก่ผู้กระทำผิดขั้นสูงสุด มิให้มีการลดโทษ และอภัยโทษ ไม่ว่าจะมีการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี หรือรับสารภาพด้วยยอมจำนนด้วยหลักฐานหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้ กฎหมายมีกระบวนการขั้นตอนในการพิจารณาความผิด กรณีข่มขืนหนักเบาต่างกันไปตามการกระทำของผู้กระทำผิด

สอง กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม ต้องเพิ่มและหามาตรการบำบัดฟื้นฟูจิตใจ และมาตรการ คุมประพฤติที่ได้มาตราฐานสากล ให้กับผู้กระทำความผิดทั้งช่วงที่อยู่ในขณะที่รับโทษ และ เมื่อได้รับการปล่อยตัว เพื่อป้องกัน การมากระทำความผิดแบบซ้ำซาก และจะต้องมีการทำรายงานแจ้งรายชื่อผู้พ้นโทษไปยังกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อ เตรียมความพร้อม ผู้เสียหาย ป้องกัน การถูกคุกคาม หรือ การกลับมาข่มขืนกระทำชำเราซ้ำต่อผู้เสียหาย

สาม ขอให้รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมและกระทรวงพัฒนาสังคมฯ รวมทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้ร่วมปฏิรูปการควบคุมและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้กระทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา ล่วงละเมิดทางเพศ อนาจาร โดยใช้มาตรการทางสังคม เข้าบำบัด ฟื้นฟู ปรับฐานคิด สร้างจิตสำนึกให้ผู้กระทำความผิดได้กลับตัวกลับใจ เพื่อไม่ให้ออกมากระทำความผิด หรือก่อความเสียหายต่อชีวิตของเด็กสตรี

สี่ ขอให้รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดกิจกรรม ที่จะสร้างความร่วมมือระหว่างผู้เคยกระทำความผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐ ชุมชนและครอบครัว โดยเฉพาะองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่น ติดตามการดำเนินชีวิต อาชีพ โดยการรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่รัฐเป็นระยะๆ เพื่อประโยชน์ในการติดตาม วิถีการดำเนินชีวิตของผู้เคยกระทำความผิด และการให้ความช่วยเหลือครอบครัว เพื่อให้ สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นคนดีไม่ก่ออันตรายให้แก่สังคม

ห้า ขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควบคุมให้การยอมความในชั้นสอบสวนเกิดขึ้นได้เมื่อผู้กระทำความผิดรู้สึกสำนึกผิดและแสดงหลักประกันให้เห็นว่าตนจะไม่กระทำความผิดซ้ำอีก ในทุกคดีที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศและขอให้มีการจัดตั้งหน่วยงานชำนัญพิเศษ ศูนย์พิทักษ์เด็กสตรีคดี เพศ ครอบครัว ค้ามนุษย์ ให้ขึ้นอยู่ภายใต้ การดูของ กองบังคับการทุกจังหวัด มีกำลังพลและอุปกรณ์ เพื่อการทำงาน และขอให้แต่งตั้ง พนักงานสอบสวนหญิง มารับผิดชอบงานในส่วนนี้ เนื่องจาก ผู้เสียหายส่วนมากเป็นเด็กและสตรี

จากสถานการณ์ปัญหา และข้อเสนอทั้ง 5 ประการ ที่เป็นแนวทางการแก้ปัญหา ท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล อาจต้องเร่งนำข้อเสนอ ไปสู่การปฏิรูป ปฏิบัติอย่างจริงจัง เป็นรูปธรรม เสียงของเธอเหล่านั้นอยากบอกกับรัฐบาลว่า “ความหวังมีไว้หล่อเลี้ยงชีวิต ให้ก้าวไป เราหวังว่าพรุ่งนี้ต้องดีกว่า เมื่อเรามีสังคมที่ผู้หญิง และเด็ก ไม่ถูกทำร้าย” เธอเสียงร้องที่ไม่ได้ยิน จะต้องได้ยิน ไม่ว่าด้วยเพราะความมีอคติทางเพศ หรือความกลัวที่จะเข้าช่วยเหลือเพราะมองว่าเป็นเรื่องส่วนตัวก็ตาม
                

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท