จับชีพจร (ไม่) ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
 
นิยาม “ค่าจ้างขั้นต่ำ” ที่สวนทางของฝ่ายรัฐกับฝ่ายแรงงาน
 
อัตราค่าจ้าง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานพ.ศ.2541 และแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2551 มีความเหมายว่า
 
“ค่าจ้างที่คณะกรรมการค่าจ้างกำหนด โดยศึกษาและพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ โดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ มาตรฐานการครองชีพ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม” โดยคณะกรรมการค่าจ้างมีแนวคิดว่า
 
“อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ” เป็นอัตราที่เพียงพอสำหรับแรงงานไร้ฝีมือ (แรงงานเพื่อพัฒนาฝีมือ) 1 คน ให้สามารถดำรงชีพอยู่ได้ตามสมควรแก้สภาพเศรษฐกิจและสังคมในท้องถิ่น
 
แรงงานไร้ฝีมือ หรือ แรงงานเพื่อพัฒนาฝีมือ หมายถึง แรงงานที่มีวุฒิการศึกษาไม่เกินชั้น ม.6 ทั้งที่เพิ่งจบการศึกษา หรือจบมาหลายปีแล้ว แต่ไม่เคยทำงานหรือเคยทำงานมาแล้วรวมระยะเวลาทำงานเก่ากับงานใหม่ที่ทำอยู่ในปัจจุบันไม่เกิน 1 ปี
 
ในช่วงเมษายน ถึงวันกรรมกรสากลปี 2559 มีข้อเสนอให้ปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ 4 แนว คือ
 
(1) ปรับค่าจ้างขั้นต่ำ (ไม่เสนอตัวเลข?) พร้อมทั้งควบคุมราคาสินค้าอุปโภคและบริโภค (คณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติปี2559)
 
(2) ปรับขึ้นเป็นวันละ360 บาทเท่ากันทั้งประเทศ และยกเลิกคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ครอบคลุมแรงงานทุกส่วน กำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำ หมายถึง ค่าจ้างแรกเข้าทำงานที่มีรายได้พอเพียงเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คนตามหลักการองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) (คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์)
 
(3) ปรับขึ้นไม่น้อยกว่า 421 บาทต่อวันเท่ากันทั้งประเทศ เพราะค่าจ้างที่เป็นธรรม ต้องเพียงพอต่อค่าครองชีพและเลี้ยงดูสมาชิกครอบครัวได้รวม 3  คน ยื่นต่อประธานอนุกรรมการค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดปทุมธานี(กลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง)
 
●ขณะที่ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เสนอว่าควรปรับค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ย 5-7 เปอร์เซ็นต์ หรือ 15-21 บาท/วัน
 
กล่าวได้ว่า  ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน-เท่ากันทั้งประเทศเกิดขึ้นจากนโยบายหลักของพรรคเพื่อไทย ที่เสนอต่อประชาชน เพื่อแข่งขันกับพรรคอื่นท่ามกลางสถานการณ์เลือกตั้ง และมีเสียงคัดค้านของสถาบันวิชาการ (บางแห่ง) และกลุ่มนักธุรกิจ/นายจ้างโดยถ้วนหน้า เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญที่ส่งผลให้ได้คะแนนเสียงจำนวนมากกระทั่งจัดตั้งรัฐบาลได้
 
ค่าจ้างขั้นต่ำ 300/วัน เท่ากันทั่วไทย ถูกแช่แข็งมาอย่างน้อย 4 ปี (1 มกราคม 2556-31 ธันวาคม 2559) ถือเป็นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่บังคับใช้ยาวนานยึดเยื้อที่สุดภายใต้ระบอบรัฐบาลรัฐประหารที่เผชิญหน้ากับมิติทางสังคม+มาตรฐานสิทธิมนุษยชนกับมาตรฐานการค้าและการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะปัญหาการค้ามนุษย์และการบังคับใช้ในอุตสาหกรรมประมง แปรรูปสัตว์น้ำและภาคเกษตรกรรมที่ถูกตรวจสอบจากสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศประชาคมยุโรป (EU) อย่างเข้มข้น ภายใต้การเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมที่ ชลอตัวติดลบทั้งภาวะส่งออกและนำเข้า ทั้งภาคการบริโภค และการลงทุนของเอกชน ทำให้มีฝ่ายรัฐ กลุ่มทุนและคณะกรรมการค่าจ้างมีความชอบธรรมในการเลื่อนเวลาพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไปเรื่อยๆ
 
ค่าจ้างขั้นต่ำไม่ว่าจะปรับขึ้นเท่าไร เมื่อไร และจะปรับขึ้นบางจังหวัดหรือทั้งประเทศหรือไม? ไม่ใช่นโยบายสำคัญในโครงสร้างรัฐบาลอำนาจนิยมปัจจุบัน เพราะมีความชัดเจนว่า นายกรัฐมนตรีเคยแสดงความคิดเมื่อปีก่อนว่า “ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทที่ได้รับก็สูงอยู่แล้ว ถ้าขึ้นค่าจ้างอีก แรงงานต่างด้าวจะเข้ามาทำงานมากขึ้น” เป็นการส่งสัญญาณแก่คณะกรรมการไตรภาคีและกระทรวงแรงงานว่า อย่าพิจารณาปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ และมีแนวโน้มว่า จะปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในบางจังหวัดบริเวณกทม.และปริมณฑล โดยอ้างถึงมติคณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดส่วนใหญ่ไม่เสนอขึ้นค่าจ้าง และผลการสำรวจค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของแรงงานเพื่อพัฒนาฝีมือในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน และสำนักงานคณะกรรมการค่าจ้าง ได้ทำการสำรวจ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการกำหนดอัตราค่าจ้างรายจังหวัดร่วมกับองค์ประกอบอื่น เช่น ผลการสำรวจปี 2558 พบว่าแรงงานเพื่อพัฒนาฝีมือมีค่าจ้างเฉลี่ยวันละ 312.25 บาท ถ้ารวมค่าล่วงเวลา เบี้ยขยัน รายได้อื่น ทำให้มีรายได้รวมเฉลี่ยวันละ 361.93 บาท (บทสรุปสำหรับผู้บริหาร รายงานผลสำรวจค่าใช้จ่ายที่จำเป็นของแรงงานเพื่อพัฒนาฝีมือในภาคอุตสาหกรรม พ.ศ.2558,น.7)
 
ถ้าพิจารณาบทเรียนประวัติการปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่ผ่านๆมาสรุปได้ว่า
 
(1) ค่าจ้างขั้นต่ำจะปรับขึ้นมากหรือน้อยเพียงใด? ไม่ใช่เหตุผลเรื่องภาวะเศรษฐกิจของประเทศและภาวะค่าครองชีพของคนงานเท่านั้น แต่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ดุลอำนาจ และความเป็นปึกแผ่นเข้มแข็งในการต่อรองของขบวนการแรงงานด้วย เท่าที่สำรวจอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ผ่านมาพบว่าในช่วงของระบอบรัฐประหาร 6 ตุลาคมเป็นต้นมา ค่าจ้างขั้นต่ำถูกแช่แข็งถึง 32 เดือน (16 มกราคม 2518-30 กันยายน 2520) ต่อมาภายหลังวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่หรือต้มยำกุ้ง ค่าจ้างขั้นต่ำก็ถูกแช่แข็งอีกถึง 3 ปี หรือ 36 เดือน 1 มกราคม 2541-31ธันวาคม 2543)
 
(2) ไม่มีความเป็นไปได้ ที่จะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจำนวนมาก และเท่ากันทั้งประเทศ ภายใต้บรรยากาศบริหารเศรษฐกิจการลงทุนและการปกครองโดยรัฐประหาร คสช.
 
(3) ภายใต้ทัศนอคติของนายกรัฐมนตรี และความสัมพันธ์กับกลุ่มทุนใหญ่ในเครือข่ายกรรมกรโครงการประชารัฐทั้งหลาย ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่คณะกรรมการไตรภาคีจะกล้าปรับค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ต่อวันและเท่ากันทั้งประเทศ (ก่อนปี2556 ค่าจ้างขั้นต่ำไม่เคยปรับเกิน 10 % ยกเว้นกทม.และปริมณฑลที่ได้ปรับค่าจ้างขั้นต่ำกว่า 30 % เป็น 300 บาทเมื่อ 1 เมษายน 2555 ตามนโยบายรัฐบาล)
 
(4) ยุค คสช. เป็นครั้งแรกที่มีนายทหารเกษียณเข้ามารับตำแหน่งรมว.แรงงานอย่างต่อเนื่องแล้ว 2 คน ซึ่งนายทหารเหล่านี้ย่อมมีทัศนคติเชิงลบต่อการเคลื่อนไหวเรียกร้องของเหล่าองค์กรแรงงาน เพราะต้องการความสงบสงัดราบรื่นของสถานการณ์แรงงานที่เอื้อต่อบรรยากาศของการลงทุน และความเติบโตของเศรษฐกิจอย่างมั่นคงยั่งยืนมากกว่าการยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานและครอบครัวอย่างมั่นคง
 
บทเรียนในสังคมประชาธิปไตยทั่วไป ภาวะที่ค่าจ้างขั้นต่ำจะปรับขึ้นได้สูงหรือไม่? ย่อมเป็นไปได้ภายใต้สถานการณ์การเมืองปกติที่มีพรรคการเมืองต้องแสดงนโยบายหาเสียงระยะฤดูการเลือกตั้ง-ขัดแย้ง-ยุบสภาและเลือกตั้งใหม่อีก
 
ในสถานการณ์ไม่ปกติอย่างยิ่งในปัจจุบันและคงยืดเยื้อจนถึงสิ้นปีหน้า ขบวนแรงงานลูกจ้างคงไม่อาจผนึกประสานพลังการต่อรองขับเคลื่อนให้ขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำได้มากขึ้น เร็วขึ้น และเท่ากันทั่วประเทศได้แน่นอน?
 
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท