วรเจตน์ปาฐกถาประชามติ 7 ส.ค.: "รัฐธรรมนูญเป็นอย่างไรจะกำหนดชะตากรรมของรัฐๆ นั้น"

คลิปวรเจตน์ ภาคีรัตน์ ปาฐกถา "ประชามติ 7 สิงหา กับอนาคตสังคมไทย"

24 ก.ค. 2559 วรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการจากคณะนิติราษฎร์ และอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ปาฐกถา “ประชามติ 7 สิงหา กับอนาคตสังคมไทย” ในงาน "ใส่ใจประชามติรัฐธรรมนูญ กับอนาคตประชาชน" ซึ่งจัดโดยองค์กรภาคประชาชน 43 องค์กร ที่หอประชุมศรีบูรพา มธ. ท่าพระจันทร์

รายละเอียดมีดังนี้

 

หัวข้อที่เชิญให้ผมมาพูดวันนี้ คือ “ประชามติ 7 สิงหา กับอนาคตสังคมไทย” ตอนที่มีการตั้งหัวข้อนี้ผมก็กังวลนิดหน่อย เพราะรู้สึกว่า สังคมไทยดูจะไม่ค่อยมีอนาคตเท่าไหร่ และที่ สำคัญคือ การพูดวันนี้เป็นการพูดภายใต้พันธนาการบางอย่างที่มองไม่เห็นและภายใต้เพดานของเสรีภาพที่ตกต่ำลงอย่างมาก แต่ว่าก็ยินดีที่จะมาพูดเรื่องรัฐธรรมนูญให้ท่านทั้งหลายได้ฟัง จะได้เห็นทรรศนะที่ผมมีต่อร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่จะมีการลงประชามติ รวมถึงปัญหาที่อาจจะเกิดมีขึ้นหากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการออกเสียงประชามติไปในทรรศนะของผม

ในเบื้องแรก เราอาจต้องคิดกันสักนิดนึงว่า ประชามติ 7 ส.ค. จะมีจริงๆ หรือไม่ แม้ว่าหลายคนออกมายืนยันว่าจะเกิดประชามติขึ้นอย่างแน่นอน แต่ว่าทุกอย่างดำรงอยู่ในความไม่แน่นอนทั้งสิ้น เนื่องจากว่า ภายใต้กฎเกณฑ์กติกาการปกครองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน หัวหน้า คสช.มีอำนาจเต็มตามมาตรา 44 ในแง่ของการที่จะจัดให้มีการประชามติ หรือแม้แต่จะเลื่อนการออกเสียงประชามติออกไป เพราะฉะนั้น เราต้องรอดูกันต่อไปว่าตกลงประชามติ 7 ส.ค.จะมีขึ้นหรือไม่ ในช่วงสองสัปดาห์นี้จะเกิดอะไรขึ้นอีกบ้าง

แม้ผมจะพูดในเบื้องต้นว่าสังคมไทยดูเหมือนจะไม่มีอนาคตมากนัก แต่อนาคตขึ้นอยู่กับปัจจุบัน ขึ้นกับเงื่อนไขเหตุปัจจัยที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันนี้ ถ้าเราสร้างเหตุปัจจัยที่ดี โดยตัวของเราเอง เราก็สามารถเปลี่ยนแปลงโชคชะตา เปลี่ยนแปลงอนาคตที่มันดูจะมืดมนไปได้

ทำไมผมจึงรู้สึกว่าสังคมไทยดูจะมีปัญหาเรื่องอนาคต โดยเฉพาะหากเชื่อมโยงกับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับออกเสียงประชามติที่คาดว่าน่าจะมีขึ้น ผมคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ ปัญหาสำคัญที่สุดคือ สมมติว่ามีการผ่านการออกเสียงประชามติไป จะเป็นการมัดตราสังหรือตรึงสังคมไทยไว้กับกฎเกณฑ์ในร่างรัฐธรรมนูญนี้ โดยยากจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงตามวิถีทางในทางรัฐธรรมนูญได้

เหตุผลที่พูดอย่างนี้ เนื่องจากในกฎเกณฑ์การแก้ไขเปลี่ยนรัฐธรรมนูญ แม้ผู้ร่างจะเขียนให้มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญได้ แต่การแก้ไขเปลี่ยนแปลงนั้นทำได้ยากอย่างยิ่ง เท่าที่ศึกษารัฐธรรมนูญของไทย ไม่เคยพบเลยว่าตลอดการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 19 ฉบับจะมีฉบับใดแก้ไขเปลี่ยนแปลงด้วยวิถีทางตามรัฐธรรมนูญยากเท่ากับฉบับนี้

การแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ยากนี้มีนัยอย่างไรต่อสังคมไทยในอนาคต ประเด็นสำคัญคือ ภายใต้กติกาที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่สามารถเปิดให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่ยากเย็นเกินไปนัก การแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะไม่สามารถแก้ไขในวิถีทางรัฐธรรมนูญได้ และต้องใช้วิถีทางนอกรัฐธรรมนูญเข้าแก้ไขเปลี่ยนแปลง ซึ่งมันเป็นชนวนหรือระเบิดเวลาที่อาจนำมาซึ่งความรุนแรงในอนาคต อาจเกิดการสูญเสียขึ้นอีก ซึ่งเราคงไม่มุ่งหวังให้เป็นเช่นนั้น

ไม่เฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเท่านั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังรองรับการดำรงอยู่ต่อไปของบทบัญญัติ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวอีก ซึ่งเป็นครั้งแรกเช่นกัน เมื่อมีการทำรัฐประหารจะฉีกรัฐธรรมนูญฉบับเดิม จากนั้นคณะรัฐประหารจะประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว มีการยกร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญถาวร ในรัฐธรรมนูญทุกฉบับจะกำหนดให้อำนาจรัฐประหารจะสิ้นสุดลงเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร นั่นหมายความว่า สิ่งที่ควรจะเป็นหากรัฐธรรมนูญนี้ผ่านการออกเสียงประชามติก็คือ อำนาจของ คสช.ก็ควรยุติลงหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แต่กฎเกณฑ์ในรัฐธรรมนูญนี้ไม่เป็นเช่นนั้น หัวหน้า คสช.ยังมีอำนาจต่อไปอีกตามมาตรา 44 ยิ่งไปกว่านั้น บรรดาคำสั่งของ คสช.จะเป็นมรดกตกทอดต่อไป จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ต้องตราเป็น พ.ร.บ.เท่านั้น ซึ่งถ้าเราดูที่มา ส.ว.แล้วคงแก้ไขกฎเกณฑ์เหล่านั้นไม่ได้ง่ายนัก

ถ้าเราต้องตัดสินใจทางใดทางหนึ่ง เราควรจะดูรัฐธรรมนูญนี้จากหลักเกณฑ์ของเหตุผล อะไรคือปัญหาของร่างนี้ เริ่มจากถามว่ารัฐธรรมนูญคืออะไรก่อน เราต้องเข้าใจก่อนว่า รัฐธรรมนูญในความหมายทางกฎหมายถือว่าเป็นกฎหมายสุงสุดในการปกครองประเทศ ซึ่งโดยปกติแล้วจะมีเนื้อหาสองส่วนใหญ่ๆ ส่วนแรก เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับการจัดโครงสร้างของรัฐ การจัดรูประบอบการปกครอง การเข้าสู่ตำแหน่งขององค์กรทางการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรทางการเมืองและสถาบันในทางรัฐธรรมนูญเหล่านั้น อีกส่วนหนึ่ง รัฐธรรมนูญจะกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับประชาชน นั่นคือบทบัญญัติในส่วนสิทธิขั้นพื้นฐาน เพราะฉะนั้น ถ้าจะดูรัฐธรรมนูญนี้ว่ามีปัญหาอย่างไรหรือไม่ อาจจะดูเนื้อหาของสองส่วนนี้

ส่วนแรก การจัดโครงสร้างองค์กรของรัฐ เรื่องการเข้าสู่ตำแหน่งขององค์กรทางการเมือง ปัญหาแรก อำนาจที่กำหนดในรัฐธรรมนูญนี้ ผู้แทนประชาชนสามารถแสดงออกซึ่งอำนาจได้อย่างไร และมีที่มาอย่างไร เราต้องดูระบบเลือกตั้ง ภายใต้กติกาในร่างนี้ กฎเกณฑ์การเลือกตั้งจะเปลี่ยนไปจากเดิม เรามีคะแนนเสียงเพียงคะแนนเดียว เลือก ส.ส. ในเขตเลือกตั้งของตัวก็จะมีผลเป็นการเลือกบุคคลในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองไปพร้อมกัน ผมตั้งข้อสงสัยว่า มันยากนักหรือถ้าจะกำหนดระบบการเลือกตั้งให้ประชาชนแต่ละคนมีคะแนนเสียงสองคะแนน คะแนนหนึ่งเลือก ส.ส.เขตของตนเอง อีกคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง ผมจึงไม่สามารถเข้าใจได้ว่าทำไมผู้ร่างรัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้ประชาชนมีคะแนนเดียว ด้านหนึ่งเป็นการบังคับคนที่ไปออกเสียงเลือกตั้ง เขาอาจชอบ ส.ส.พรรคหนึ่ง แต่ชอบบัญชีรายชื่ออีกพรรค ภายใต้กติกาใหม่จะมีผลบังคับโดยปริยาย อาจทำให้เจตนารมณ์ของประชาชนถูกบิดผันไปได้ การเคารพการแสดงเจตจำนงของประชาชนจึงไม่สมบูรณ์

อีกปัญหาใหญ่คือ การได้มาซึ่ง ส.ว. ในเอกสารอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญที่ออกมาอย่างเป็นทางการ เขียนอธิบายว่าทำไมยังต้องมี ส.ว. (ในหน้า 23) ว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ส.ว. ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นพี่เลี้ยงแก่ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง ข้อมูลที่เขียนไว้ในเอกสารนี้เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง เพราะหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ยังไม่มี ส.ว. มีแต่ ส.ส.เท่านั้น และในชั้นแรกสุดมาจากการแต่งตั้ง ในเวลาต่อมา มาจากการแต่งตั้งผสมกับการเลือกตั้ง ส.ว. เพิ่งเกิดในรัฐธรรมนูญ 2492 โดยมาจากการแต่งตั้ง แต่ที่มาของ ส.ว. มาจากรัฐธรรมนูญ 2489 โดยเรียกว่า พฤฒสภา ที่มาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม เพราะฉะนั้นข้อมูลในเอกสารนี้จึงมีความผิดพลาด

เอกสารนี้อธิบายถึงพัฒนาการของ ส.ว. แล้วจบลงที่ว่า ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ควรจะให้มี ส.ว.เหมือนเดิมแต่เห็นว่าไม่ควรมาจากการเลือกตั้งแล้ว ควรมาจากการเลือกตั้งกันเอง นั่นหมายความว่า ประชาชนจะไม่มีสิทธิเลือก ส.ว. ทั้งๆ ที่ ส.ว.มีอำนาจอย่างมาก เพราะต้องร่วมตรากฎหมายกับ ส.ส. ในแง่นี้ ความชอบธรรมของ ส.ว. ก็จะมีน้อยแต่อำนาจจะมีมาก

ในแง่การบริหารราชการแผ่นดิน หลายคนกังวลกับสภาวการณ์ทางเศรษฐกิจ และหวังว่าหลังเลือกตั้งจะได้บุคคลมาเป็นรัฐบาลแล้วบริหารจัดการแผ่นดินไปตามนโยบายที่หาเสียง แต่ในร่างนี้ในหมวด 6 รัฐบาลหลังเลือกตั้งจะทำอะไรได้ลำบากมาก เขาจะมีสถานะเป็นเพียงองค์กรฝ่ายประจำที่ทำงานรูทีนตามกรอบที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่การคิดนโยบายสาธารณะเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนจะทำได้ยาก การอ้างว่าเพื่อป้องกันประชานิยมนั้นเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักน้อยมาก

มิหนำซ้ำ อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระก็มีอำนาจเพิ่มมากขึ้น เขาสามารถกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมขึ้นมาเอง และเวลาบังคับนอกจากใช้กับตัวเองแล้วจะบังคับใช้กับนักการเมือง เมื่อเกิดปัญหา ป.ป.ช.ส่งเรื่องให้ศาลฎีกาวินิจฉัยได้ ส่งผลให้สถานะของคนที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่รับผิดชอบนโยบายระดับประเทศมีความไม่แน่นอนสูงมากๆ

หลายคนสงสัย ในรัฐธรรมนูญนี้กำหนดกลไก คปป. หรือ "อภิรัฐบาล" ที่จะมีอำนาจเหนือกว่าประชาชนหรือเปล่า ในร่างนี้ไม่ได้เขียนไว้ แต่การไม่เขียนนี้ไม่ได้ทำให้อำนาจชนชั้นนำลดน้อยลง เนื่องในมาตรา 5 ของร่างนี้ ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์และเพิ่มเติมกฎเกณฑ์เกี่ยวกับเรื่องประเพณีการปกครองของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขว่า  เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทำการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเราไม่รู้ว่าประเพณีนี้คืออะไร แต่เมื่อไหร่ที่จะใช้บทบัญญัติมาตรานี้ อำนาจนี้อยู่ที่ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เขาจะเป็นคนจัดให้มีการประชุม โดยมีประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานองค์กรอิสระ ซึ่งองค์กรที่ขาดจุดยึดโยงกับประชาชนมีปริมาณมากกว่าองค์กรที่มีจุดเชื่อมโยงกับประชาชน คงยากที่องค์กรที่มีที่มาเชื่อมโยงกับประชาชนจะชนะในการออกเสียงมีมติในเรื่องที่เป็นปัญหาเกิดขึ้น และอาจส่งผลกระทบให้กำหนดกฎเกณฑ์บางอย่างที่ขัดกับเจตจำนงประชาชนได้

เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน เราอ่านดูอาจเคลิ้ม เพราะประกันสิทธิเอาไว้มากมาย อยากให้ดูโดยละเอียด จริงๆ การบังคับใช้เรื่องสิทธิขั้นฐานไม่ได้อยู่ที่ว่าเขียนมากหรือน้อย แต่อยู่ที่กลไกนั้นมันฟังก์ชั่น มีประสิทธิภาพ เคารพสิทธิของประชาชนจริงๆ หรือไม่

ที่สำคัญคือ ร่างนี้แม้บัญญัติรับรองสิทธิไว้แต่เปิดช่องให้มีการจำกัดสิทธิ แปลว่า หากรับรองสิทธิไว้แล้วช่องที่เปิดให้มีการจำกัดสิทธิ มีการใช้ถ้อยคำที่หลวมๆ ขาดเกณฑ์ในการกำกับการตรากฎหมายจำกัดสิทธิ การให้สิทธิก็อาจมีความหมายน้อยลง เช่น ให้สิทธิในการติดต่อสื่อสารถึงกัน แต่บอกว่าการเปิดเผยข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกันจะทำไม่ได้ เว้นแต่มีคำสั่ง หมายของศาล หรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งคำว่า กฎหมายบัญญัติเท่ากับเปิดช่องให้สภาร่างเหตุขึ้นได้ หรือบัญญัติหลวมๆ ก็ได้ เช่น เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อความมั่นคงของรัฐ

การบัญญัติรัฐธรรมนูญโดยเปิดข้อยกเว้นไว้ในลักษณะแบบนี้จะกระทบกับแกนหรือแก่นของสิทธิ ซึ่งเดิม รัฐธรรมนูญ 2540 บัญญัติไว้ว่า การตรากฎหมายที่กระทบสาระสำคัญหรือแก่นของสิทธิจะกระทำไม่ได้ แต่ร่างนี้ไม่ได้บอกเรื่องนี้ไว้เลย

ปัญหาสำคัญอีกอันหนึ่ง คือ บทบัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพจะไร้ความหมาย ถ้าหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ยังคงให้อำนาจหัวหน้า คสช.มีอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวต่อไปอีกจนกว่าจะจัดตั้งรัฐบาลใหม่สำเร็จ หากรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ โดยหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญต้องรอการเลือกตั้งอย่างต่ำอีก 15 เดือน ระหว่างนั้น หัวหน้า คสช.ยังมีอำนาจตามมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญอาจมีบทบัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพไว้จำนวนมาก แต่ระหว่างนั้น 15 เดือน การบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพต่างๆ ในรัฐธรรมนูญก็จะกลายเป็นหมัน เนื่องจากบุคคลที่ถูกกระทบจากการใช้อำนาจตามนี้จะไม่สามารถฟ้องศาลได้ หรือหากจะฟ้องศาล ศาลก็ยากจะรับคดีไว้พิจารณาเพราะถือว่าการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ถูกประกาศเรียบร้อยแล้วว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ชอบด้วยกฎหมาย

การโหวตรับร่างนี้ จึงมีผลเท่ากับยอมรับให้ใช้มาตรา 44 ต่อไปได้อีกจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง และตั้งรัฐบาลใหม่ อย่างต่ำปีเศษๆ

อีกประเด็นสำคัญหนึ่ง คือ เมื่อไม่นานมานี้ มีที่ปรึกษาของ คสช. แสดงความเห็นว่า คนที่โหวตไม่รับอาจมีได้หลากหลาย และอาจรวมถึงคนที่ต้องการให้ คสช.อยู่ต่อไปนานๆ ด้วย เรื่องนี้มีปัญหาเรื่องการตีความ ผมเห็นว่า การจัดให้มีการประชามติเที่ยวนี้ ที่ตรงที่สุด คือ หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน แปลว่าคนไม่เห็นชอบ ถ้ารัฐธรรมนูญแปลว่าคนเห็นชอบ อธิบายง่ายที่สุด ที่เหลือเป็นการตีความ แต่คำถามคือ ร่างนี้เกิดขึ้นมาลอยๆ ไม่ได้ ต้องมีคนจัดทำ คำถามคือใครเป็นคนทำ คนที่ทำคือ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (ชุดบวรศักดิ์) และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (ชุดมีชัย) ผมไม่แน่ใจว่างบประมาณในการจัดทำร่างเท่าไรแล้ว แต่ประเด็นคือ คสช.ไม่ได้เป็นคนทำร่างนี้จริง ไม่ได้เขียนจริง แต่ว่าคนร่างมาจากไหน อยู่ๆ ผุดขึ้นมาจากโคลนตม แล้วขึ้นมาเขียนรัฐธรรมนูญ? คงไม่ใช่ ซึ่งคนที่สร้างพวกเขาขึ้นมาก็คือ คสช.

สมมติถ้าร่างไม่ผ่านการออกเสียงประชามติ เราอาจบอกว่าประชาชนปฏิเสธผลงานที่ทำ คำถามคือ กรรมการร่างจะรับผิดชอบอย่างไร เขาบอกว่า เขาอุตส่าห์มาเขียนให้ก็เป็นบุญแล้ว คุ้มครองตั้งแต่ท้องแม่จนแก่เฒ่า จะให้รับผิดชอบอะไรอีก

ปัญหาคือ แล้วคนที่แต่งตั้งหรือเป็นที่มาของกรรมการร่างควรต้องมีความรับผิดชอบอะไรหรือเปล่า หรือร่างไปเรื่อยๆ แบบนี้ สักวันหนึ่งก็จะผ่าน เราอยากให้ประเทศเดินไปในทิศทางแบบนั้นหรือ เพราะฉะนั้น การโหวตไม่รับ ตรงที่สุดคือ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ แต่รับหรือไม่รับเป็นปัญหาเรื่องความชอบธรรม ที่พูดเรื่องนี้เพราะโดยทัศนะส่วนตัว มองว่าบางคนเริ่มไขว้เขว พอมีบุคคลคนหนึ่งบอกว่า โหวตไม่รับแปลว่า อยากให้ คสช.อยู่นานๆ คนอาจไขว้เขว คิดว่าอยู่บ้านหรือไปโหวตเยสดีกว่า ท่านจะโหวตอย่างไรก็ตาม ท่านอย่าวอกแวก อย่าลังเล ศึกษาจากกติกาต่างๆ แล้วตัดสินใจไป

สมมติว่า ถ้ารัฐธรรมนูญผ่าน โดยทั่วไปก็คือความชอบธรรมของ คสช.ก็อาจจะมีมากขึ้น เพราะเขาถือว่าการใช้อำนาจตามมาตรา 44  ผ่านการรับรองแล้ว แต่ถ้าไม่ผ่าน ต่อให้เขาบอกว่าไม่ได้ร่างเอง แต่ทุกคนก็รู้ว่า คสช.เป็นคนตั้งกรรมการร่าง ความชอบธรรมของ คสช.ไม่น่าจะเหมือนเดิม จริงๆ อาจจะใช้คำไม่ถูก เพราะอาจจะมีคนถามว่า เคยมีความชอบธรรมด้วยหรือ

สำหรับบางคนที่ตัดสินใจโหวตรับ อาจด้วยความรู้สึกว่ารัฐธรรมนูญนี้อาจช่วยปราบคนโกง ปราบทุจริตคอร์รัปชัน เท่าที่ศึกษารัฐธรรมนูญของหลายประเทศ ไม่เคยพบว่ามีประเทศไหนเขียนรัฐธรรมนูญปราบโกง เราอาจเป็นประเทศแรก ลองนึกดูดีๆ การปราบการทุจริต ประชาชนทั้งหมดไม่ว่าจะมีความคิดเห็นทางการเมืองแบบไหนประเด็นนี้ย่อมเป็นประเด็นที่เห็นพ้องต้องกัน คงไม่มีใครอยากให้คนทุจริตคอร์รัปชันเข้าสู่อำนาจทางการเมือง แต่ปัญหาคือการปราบทุจริตทำง่ายเพียงแค่เขียนในรัฐธรรมนูญหรือ ถ้าทำง่ายแบบนั้นหลายประเทศคงเขียนไปแล้ว มันไม่ง่ายแบบนั้น

บทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ยกมากล่าวอ้างว่ามีลักษณะปราบโกง อันที่จริง การปราบโกงของเขาคือ การกำหนดคุณสมบัติคนเข้าสู่ตำแหน่งในองค์กรของรัฐ รวมทั้งการเอาออกจากตำแหน่ง แต่ปัญหาคือ การเข้าสู่ตำแหน่งและการเอาออกไม่ได้เป็นผลจากการโกงหรือไม่โกง แต่มีคำตัดสินของศาลเป็นฐาน

คำถามที่ยากขึ้นกว่านั้น คือ เราเชื่อได้ไหมว่า บุคคลที่ถูกศาลพิพากษาแล้วหรือมีคำสั่งต่างๆ ว่าทุจริต เป็นอย่างนั้นจริง โดยปกติเราก็น่าจะเชื่อได้ แต่ตลอดสิบปี เท่าที่ติดตามการเมืองไทยมา ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าจะเชื่อได้ เพราะประเด็นที่กล่าวหาถ้าพันกับการเมือง มันยากจะเชื่อได้ว่า การวินิจฉัยต่างๆ ผ่านประจักษ์พยานหลักฐานต่างๆ ที่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นเรื่องจริง เพราะฉะนั้นการจัดให้มีองค์กรตรวจสอบหรือการกันไม่ให้คนที่มีปัญหาเรื่องเหล่านี้เข้าสู่องค์กรของรัฐ ผมคิดว่าทุกคนเห็นด้วย แต่ปัญหาคือ ตราบเท่าที่การใช้กฎหมายไม่เป็นมาตรฐานเดียวกัน มันยากที่จะทำให้การปราบโกงบรรลุวัตถุประสงค์ลงได้

การใช้กฎหมายให้เป็นมาตรฐานเดียวกันเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ส่วนวิธีปราบโกงที่โลกนี้เขาใช้กัน คือ การเพิ่มความเป็นประชาธิปไตย โดยเชื่อว่ายิ่งเป็นประชาธิปไตยมาก ความโปร่งใสยิ่งมาก ถ้าทำอะไรไปแล้ว ตรวจสอบไม่ได้ ถูกฟ้องไม่ได้ แค่ติดฉลากสวมเสื้อว่าเป็นคนดีมีคุณธรรม จบ อย่างนี้ไม่มีทางปราบโกงได้

คนที่เชื่อว่าจะปราบโกงด้วยวิธีเขียนรัฐธรรมนูญอาจต้องตรึกตรองให้มากขึ้น รวมถึงคนที่บอกว่าถ้านักการเมืองไม่เห็นด้วยก็รับไปเลย คิดแบบนี้ง่ายเกินไป เป็นการใช้สติปัญญาไม่เต็มศักยภาพที่ควรจะใช้

ถ้าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย จะมีวิธีแสดงออกอย่างไร

ถ้ามีการประชามติเกิดขึ้นจริง ในวันที่ 7 ส.ค. ประชามติครั้งนี้ต่างจากประชามติเมื่อ 9 ปีก่อนครั้งนั้น ผมได้ร่วมดีเบตว่าควรจะมีความเห็นอย่างไรต่อรัฐธรรมนูญ ตอนนั้นประเด็นคำถามมีประเด็นเดียวว่า เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญนี้ แต่อันนี้มีสองประเด็น ประเด็นแรก เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบรัฐธรรมนูญ ถ้ารับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็กาในช่องในช่องซ้ายมือ คือช่องเห็นชอบ ถ้าไม่รับก็กาในช่องในช่องขวามือ คือช่องไม่เห็นชอบ บังเอิญ ผมเป็นคนถนัดขวา ผมก็จะกาทางด้านขวามือ

แต่เที่ยวนี้มีประเด็นเพิ่มเติมอีก เป็นคำถามพ่วงที่ถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ในระหว่าง 5 ปีแรก นับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี” ในประเด็นนี้ก็มีสองช่อง ช่องซ้าย คือเห็นชอบ ขวาคือ ไม่เห็นชอบ

ประเด็นคำถามพ่วง อ่านแล้วจะงง เขียนในเชิงประเมินคุณค่าด้วย มีลักษณะจูงใจ คำถามไม่ได้ตั้งในลักษณะที่เป็นภววิสัยเท่าที่ควร ความหมายคืออะไร ปกติการเลือกนายกฯ องค์กรซึ่งมีอำนาจเลือกนายกฯ คือ สภาผู้แทนฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง ส.ว.ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งไม่เกี่ยวเพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง โดยกลไกถ่วงดุลอำนาจ นายกฯ พ้นตำแหน่งได้เมื่อสภาผู้แทนฯ ไม่ไว้วางใจ นายกฯ มีสิทธิยุบสภาได้ กรณีเกิดเดทล็อคทำแบบนั้นได้ ในร่างนี้เขียนว่าถ้าเลือกไม่ได้ คนที่พรรคการเมืองเสนอมาสามชื่อไม่มีความสามารถเท่ากับอีกคนหนึ่งที่ยังไม่เผยตัวให้เห็นตอนนี้ เขาให้ ส.ส.ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งไปขอประชุมร่วมกับ ส.ว.และขอปลดล็อค และเลือกนายกฯ โดยไม่ต้องเลือกจากคนที่มีรายชื่อ ไม่ต้องเลือกจาก ส.ส. เป็นคนนอกก็ได้

แต่คำถามพ่วงปลดล็อคอีกชั้น คือ ปกติ ส.ว.ไม่ได้มีส่วนร่วมกับการเลือกตั้งนายกฯ แต่ถ้าคำถามนี้ผ่าน ใน 5 ปีแรก ส.ว.มาร่วมโหวตนายกฯ ด้วย ประเด็นคือ ส.ว.ในช่วง 5 ปีแรกมาจากการแต่งตั้งของ คสช. เพราะฉะนั้น ตีความคำถามพ่วงนี้คือ เห็นชอบด้วยไหม ให้ ส.ส.และ ส.ว.ที่มาจาการแต่งตั้งโดย คสช. เป็นผู้ให้ความเห็นชอบบุคคลที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

"โดยเหตุที่ผมนั้นคำถามแรกถนัดขวาไปแล้ว คำถามที่สองจะมาถนัดซ้ายก็กระไรอยู่ เพราะฉะนั้น โดยส่วนตัวผมเอง ในบัตรออกเสียงประชามติจะกาด้านขวามือ 2 ช่อง"

"วิธีการกา ท่านต้องกากบาท ซึ่งได้อารมณ์มากๆ ความรู้สึกต่างๆ ก็จะออกไปตอนกานั่นแหละ"

สุดท้าย หลายคนกังวลหรือคิดเลยไป ผลออกมารับหรือไม่รับเป็นอย่างไร ก็เป็นสิทธิที่แต่ละคนจะคิด เพียงแต่ตอนนี้เราต้องเข้าใจว่าอำนาจถูกยึดไปตั้งแต่ 22 พ.ค. 2557 การเรียกคืนซึ่งอำนาจไม่ใช่เป็นของง่าย มีขั้นตอนในสภาวะที่ประชาชนยังไม่ได้เข้มแข็งมากพอ คือถ้าเกิดว่าประชาชนเป็นใหญ่จริงๆ หน้าตาคนร่างอาจเป็นอีกอย่าง และเราน่าจะได้คนซึ่งต้องจริงใจต่อประชาชนและมีสัมมาทิฏฐิ คือ เห็นอย่างถูกต้องว่า ในรัฐสมัยใหม่ที่เป็นนิติรัฐและประชาธิปไตย อำนาจสูงสุดของประเทศเป็นของประชาชน การเขียนรัฐธรรมนูญของเขาเหล่านั้น ทุกองคาพยพจะสืบสาวกลับมาที่แหล่งกำเนิดของอำนาจคือ ตัวประชาชนได้ โดยวิธีสำรวจตรวจสอบว่ารัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ทำง่ายๆ เอาองค์กรหนึ่งแล้วลากแผนผังลงมาถ้าเส้นที่ลากไม่ถึงประชาชน อันนั้นไม่ใช่ประชาธิปไตย ซึ่งในความเห็นผม รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอยู่หลายองค์กร

ในห้วงเวลาของการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญอาจไม่ทำให้เรามีเงินในกระเป๋าเพิ่มมากขึ้นในฉับพลันทันทีเหมือนยาวิเศษ ในเยอรมนี เขาแยกเป็นสองประเทศ หรือในเอเชีย เกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ รัฐธรรมนูญเป็นอย่างไรจะกำหนดชะตากรรมของรัฐๆ นั้น แม้เป็นคนชาติเดียวกันไม่โง่หรือไม่ฉลาดไปกว่ากัน สติปัญญาไล่เลี่ยกัน แต่ถ้าแยกกันแล้วใช้รัฐธรรมนูญคนละฉบับซึ่งหมายถึงการจัดการปกครองคนละระบบ ประวัติศาสตร์โลกพิสูจน์ให้เห็นนับครั้งไม่ถ้วนว่า ประเทศที่เป็นประชาธิปไตย การคอร์รัปชันจะน้อยกว่า ประชาชนจะมีมาตรฐานในการดำรงชีวิตสูงกว่า เขากำหนดชะตากรรมของเขาเอง ไม่ต้องให้ใครสวมเสื้อคลุมคนดีมีคุณธรรมมากำหนดให้

"ผมเข้าใจดีว่าในช่วงสองปีมานี้ หลายคนอาจเกิดความเบื่อหน่าย ท้อแท้ ผิดหวัง รู้สึกว่ากระบวนการที่จะได้มาซึ่งประชาธิปไตยดูจะยาวนาน แต่ทุกอย่างไม่ได้ได้มาง่ายๆ ถ้าใครเหนื่อยก็พัก ไม่มีใครว่าอะไร หายเหนื่อยก็กลับมาสู้ ขออย่างเดียว ขอให้อุดมการณ์ประชาธิปไตย การปกครองโดยกฎหมายที่เป็นธรรมโชติช่วงอยู่ในใจของผู้รักประชาธิปไตยทุกคน

"สิ่งที่เผด็จการกลัวที่สุดก็คือไฟที่ลุกโชติช่วงอยู่ในใจของทุกคนที่ดับไม่ได้ เผด็จการทั้งหลายในโลกนี้ไม่ว่ามีลักษณะอย่างไร จะฉาบเคลือบด้วยเสื้อคลุมแบบไหนก็ตาม สิ่งเดียวที่เขาชอบคือ ความหวังของผู้คนที่ใฝ่หาเสรีและประชาธิปไตยมอดดับลง

"ตราบเท่าที่ความหวังในหัวใจของคนรักประชาธิปไตยทั้งหลายยังโชติช่วงอยู่ แสดงออกได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่จิตใจยังมั่นคงอยู่เสมอ วันนึงเผด็จการจะรู้ว่าเขาดับไฟในใจของทุกคนไม่ได้ และเมื่อถึงเวลาที่ไฟในใจของแต่ละคนรวมกัน วันนั้นคือวันที่ผมเชื่อว่าเราจะมีประชาธิปไตย มีกฎหมายที่เป็นธรรมอย่างแท้จริง

"ขอเป็นกำลังใจให้ผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลาย ไม่ใช่เพื่อตัวเราเอง เพื่อคนรอบข้าง เพื่อลูกหลานเรา ที่จะได้มีสังคมที่ดีงาม เป็นสังคมที่มีอนาคตต่อไป"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท