Skip to main content
sharethis

26 ก.ค.2559 จากกรณีที่ จาตุรงค์ สุขเอียด ผู้สื่อข่าวช่อง 3 โพสต์ภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเล่าถึงเหตุการณ์ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสั่งห้ามบันทึกภาพขณะที่ตรวจค้นรถ จนก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ โดยมีผู้แชร์ต่อโพสต์ดังกล่าวกว่า 70,000 ครั้ง พร้อมทั้งในโซเชียลเน็ตเวิร์กยังมีการนำภาพป้ายที่มีสัญลักษณ์ห้ามบันทึกภาพหรือวิดีโอ ยิ่งส่งผลต่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงสิทธิในการบันทึกภาพขณะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานนั้นทำได้หรือไม่ อย่างไร

 

เกิดผล แก้วเกิด ทนายความ ได้โพสต์อธิบายกรณีดังกล่าวในเฟซบุ๊กส่วนตัวเมื่อวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา ยืนยันว่าสามารถถ่ายได้ไม่ผิดกฏหมาย โดยยก 8 เหตุผล ดังนี้ 

เรื่องนี้ผมเคยโพสต์ไว้นานมากแล้ว ซึ่งสอดคล้องกับ การให้สัมภาษณ์ของอดีตรองโฆษก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.ท. ประวุฒิ ถาวรศิริ ว่า การถ่ายรูป ถ่ายคลิป วีดีโอ ในขณะเจ้าพนักงานตำรวจปฎิบัติหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นการค้น หรือจับกุม ...

สามารถถ่ายรูป หรือคลิปได้ ไม่เป็นการละเมิดสิทธิ และไม่ผิดกฎหมาย แต่อย่างใด

เพราะ...

1. ไม่มีกฎหมายใดๆ ห้ามประชาชนถ่ายรูป ถ่ายคลิป วีดีโอ ของเจ้าพนักงานตำรวจขณะปฎิบัติหน้าที่

2.ไม่มีกฎหมาย รับรอง หรือคุ้มครอง เจ้าพนักงานตำรวจ ให้อ้างได้ว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล กล่าวคือ การปฎิบัติหน้าที่นั้นๆ ไม่ใช่เหตุปกติในชีวิตประจำวันของเจ้าพนักงานตำรวจท่านนั้น แต่เป็นเรื่องระหว่างการปฎิบัติหน้าที่ตามกฎหมาย จึงไม่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ซึ่งแตกต่างจากเวลานอกราชการ เช่น ขณะพักผ่อนอยู่กับครอบครัว มีคนไปถ่ายรูปโดยเจ้าตัวไม่อนุญาต ย่อมเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล

ดังนั้น เวลาตำรวจปฎิบัติหน้าที่ในเวลาราชการ จึงไม่ใช่เรื่องส่วนตัว

การที่ตำรวจอ้างว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล จึงเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่ตรงตามความจริง

ประชาชาชน ที่ถูกค้น ถูกจับ หรือ บุคคลทั่วไป ที่สงสัยการทำงาน จึงถ่ายรูปได้

3. เวลาประชาชนที่ถูกค้น ถูกจับ มีสิทธิถ่ายรูป ถ่ายคลิป ไว้เป็นพยานหลักฐาน เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิของตนเอง และป้องกันการยัดเยียดข้อหา หรือของกลางได้ เพราะเป็นผู้มีส่วนได้เสียในเรื่องนี้ จึงเป็นสิทธิโดยชอบธรรมตามกฎหมาย ที่ผู้ถูกค้น ถูกจับ รวมทั้งญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง จะรวบรวมพยานหลักฐานไว้เบื้องต้นได้

4. การถ่ายรูป ถ่ายคลิป วีดีโอ เป็นการป้องกันการกระทำมิชอบบางอย่างของตำรวจ หากตำรวจบริสุทธิใจ และเจตนาสุจริต ปฎิบัติหน้าที่ด้วยความเที่ยงธรรม ก็ไม่จำเป็นต้องเกรงการตรวจสอบ โดยการถ่ายรูป ถ่ายคลิป

นอกจากนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญา มาตรา 102 ก็บัญญัติว่า เจ้าพนักงานตำรวจ หรือ ฝ่ายปกครอง จะทำการตรวจค้นที่รโหฐาน ต้องแสดงความบริสุทธิต่อหน้าเจ้าของบ้าน หรือผู้ถูกค้นเสียก่อน

การค้นในที่สาธารณะ ก็ควรอย่างยิ่งที่จะต้องแสดงความบริสุทธิก่อนทำการตรวจค้น ขณะตรวจค้น และภายหลังตรวจค้น

คุณไม่ผิด คิดชั่ว คุณจะกลัวอะไรกับกล้อง

5. เวลามีคนถ่ายรูป ตำรวจชอบข่มขู่ว่า

ขออนุญาตหรือยัง หรือ ห้ามถ่าย เพราะคุณละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของตำรวจ

ผมได้อธิบายมาแล้วในข้อ 2 ว่า ไม่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ดังนั้นผมจึงขออนุญาตถามตำรวจที่ชอบพูดคำนี้ว่า

คุณปฎิบัติหน้าที่อยู่ ทำไมประชาชนต้องขออนุญาตคุณก่อนถ่ายรูป หากคุณไม่อนุญาตให้ถ่าย จะเป็นความผิดอย่างไร และ

ที่คุณบอกว่าเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล (ย้ำในขณะปฎิบัติหน้าที่) เป็นความผิดในกฎหมายใด มาตราใหน ?

6.การถ่ายรูป ถ่ายคลิป ต้องไม่เป็นการขัดขวางการปฎิบัติหน้าที่ ของเจ้าพนักงานตำรวจ

7.การนำรูป นำคลิป มาอัพโหลด และแชร์ในโซเชี่ยล ห้ามตัดต่อในลักษณะนำความเท็จมาเผยแพร่ ซึ่งเป็นความผิด ตาม พรบ.คอมฯได้

8.การนำคลิป รูปถ่าย ที่พบเห็นการกระทำผิดของตำรวจ มาเปิดเผย ไม่เป็นการหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329

ทั้งหมดนี้ คือหลักกฎหมาย ที่ประชาชนมีสิทธิถ่ายรูป เจ้าพนักงานตำรวจขณะปฎิบัติหน้าที่ได้

แต่การเผยแพร่ต้องไม่ใช่การดัดแปลงแก้ไข อันเป็นความเท็จ

หากเป็นความจริง ท่านไม่ต้องกลัว..

และตำรวจบางคน ชอบข่มขู่ประชาชนจังว่าจะจับกุม คนนำคลิปตำรวจมาเปิดเผย

สงสัยท่านเห็นประชาชนเป็นศัตรู หรืออย่างไร?

 

เกิดผล ยังได้อ้างอิงถึง ประมวลกฎหมายอาญา ม.329 และ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.102 ด้วย

มาตรา 329 ผู้ใดแสดงความคิดเห็นหรือข้อความใดโดยสุจริต
(1) เพื่อความชอบธรรม ป้องกันตนหรือป้องกันส่วนได้เสียเกี่ยวกับตนตามคลองธรรม
(2) ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการตามหน้าที่
(3) ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลหรือสิ่งใดอันเป็นวิสัย ของประชาชนย่อมกระทำ หรือ
(4) ในการแจ้งข่าวด้วยความเป็นธรรม เรื่องการดำเนินการอันเปิด เผยในศาลหรือในการประชุม
ผู้นั้นไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 102 การค้นในที่รโหฐานนั้น ก่อนลงมือค้นให้เจ้าพนักงาน ผู้ค้นแสดงความบริสุทธิ์เสียก่อน และเท่าที่สามารถจะทำได้ให้ค้นต่อ หน้าผู้ครอบครองสถานที่หรือบุคคลในครอบครัวของผู้นั้น หรือถ้าหา บุคคลเช่นกล่าวนั้นไม่ได้ ก็ให้ค้นต่อหน้าบุคคลอื่นอย่างน้อยสองคน ซึ่งเจ้าพนักงานได้ขอร้องมาเป็นพยาน)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net