เสวนาพลเมืองกับการพัฒนา กับคำถาม 'เราเปลี่ยนผ่านไปสู่อะไร'

นักวิชาการย้อนความเป็นมาของรัฐธรรมนูญ สิ่งที่หายไปและเพิ่มเข้ามาในร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเรื่องการปกครองส่วนท้องถิ่น และสิทธิของชุมชน ย้ำบทเฉพาะกาลยังให้ คสช. และสภานิติบัญญัติปัจจุบันออกกฎหมายต่อ


แฟ้มภาพ: ประชาไท

27 ก.ค. 2559 เวลาประมาณ 13.45 น. ภาควิชาสังคมศาสตร์ และภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง จัดเสวนาวิชาการ “รัฐธรรมนูญ พลเมืองและการพัฒนา” โดยมีวิทยากรประกอบด้วย บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่ห้อง อษ.1202 คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์

บัณฑิตแจงที่ผ่านมา หนีโครงสร้าง รธน.40 ไม่พ้น ร่าง รธน.ล่าสุดมีความเปลี่ยนแปลง
บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ กล่าวถึงความเป็นมาของรัฐธรรมนูญฉบับก่อนๆ โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญปี 2540 ว่า เกิดขึ้นจากการต่อสู้ทางการเมืองบนท้องถนนตั้งแต่ปี 2535 แต่กว่าจะมีการแก้ไขมาตรา 211 (รัฐธรรมนูญ ฉบับ 2534) เพื่อตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นเรื่องยากและใช้เวลายาวนานในการรณรงค์ ซึ่งกลายมาเป็นหมุดหมายที่สำคัญ เพราะเป็นเหมือนพันธสัญญาว่า การร่างรัฐธรรมนูญทุกครั้งจะต้องได้รับการยอมรับ การยินยอมจากประชาชน

บัณฑิตกล่าวต่อว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 มาจากการร่างโดยตัวแทนของประชาชน รัฐสภาประกอบด้วย ส.ส. และ ส.ว. แต่พิเศษตรงที่มี ส.ส. ประเภทบัญชีรายชื่อกับประเภทเขตเลือกตั้ง ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมี ส.ส. 2 ระบบ ส่วน ส.ว. นั้นก็มาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัดโดยอิงสัดส่วนของประชาชนในแต่ละพื้นที่ เพราะฉะนั้นจึงบอกได้ว่า รัฐธรรมนูญปี 2540 มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดเพราะมีความยึดโยงกับประชาชนมากที่สุด แม้จะมีข้อบกพร่องที่น่าจะแก้ไขได้ด้วยระบบรัฐสภา อย่างไรก็ตาม การรัฐประหาร 2549 ทำให้มีรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งก็มีโครงสร้างคล้ายรัฐธรรมนูญปี 2540 นั่นเท่ากับว่า เราหนีรัฐธรรมนูญปี 2540 ไม่พ้น

ตอนหนึ่งบัณฑิตกล่าวว่า เรากำลังเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่านที่เราไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนผ่านไปสู่อะไร สู่รัฐธรรมนูญที่มีประชาธิปไตยมากขึ้น? ประชาชนตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐบาลได้มากขึ้น หรือมีความเปลี่ยนแปลงอื่นใดจึงมีความพยายามร่างรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ ได้แก่ ฉบับบวรศักดิ์ และฉบับมีชัย ที่กำลังจะมีการลงประชามติซึ่งพยายามปรับสมดุลระหว่าง ส.ส. ประเภทบัญชีรายชื่อกับประเภทแบ่งเขตเลือกตั้ง เพื่อกำจัดอำนาจของสภาผู้แทนราษฎรและอำนาจของรัฐบาลผ่านองค์กรอิสระมากขึ้น 

“อย่างที่หลายท่านได้ชี้ให้เห็น มันมีสิ่งที่เรียกกว่านโยบายแห่งรัฐกับยุทธศาสตร์ 20 ปี ซึ่งหากรัฐบาลใดก็ตามที่มาจากการเลือกตั้งมีนโยบายที่เบี่ยงเบนไปไม่เหมือนกับสิ่งที่วางไว้ก็จะเสี่ยงต่อการถูกนำไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นองค์กรอิสระ แล้วอาจจะถูกถอดถอนได้ ส่วนนี้เป็นเรื่องที่น่าขบคิดว่า เวลาเราบอกให้ใครไปถอดถอนใคร ในระบบการเมืองที่เรียกตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตย มักจะใช้วิธีว่า ต้องให้ตัวแทนเหล่านั้นยึดโยงกับประชาชน ไม่ใช่มาโดยอำนาจพิเศษเป็นผู้ถอดถอน คำถามก็คือ ศาลรัฐธรรมนูญในยุคปัจจุบันมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ มาจากการสรรหาในแบบปกติหรือไม่ เพราะเงื่อนไขเหล่านี้ มันหมายถึงการยอมรับของต่างประเทศด้วย ไม่ใช่แค่ว่าผ่านประชามติแล้วทุกคนรับหมด มันมีเนื้อหาสาระภายในที่เชื่อมโยงกับเรื่องเหล่านี้ด้วย” บัณฑิตกล่าว

เดชรัตชี้ อิสระการปกครองส่วนท้องถิ่นหดหาย เน้นการบริการแต่ไม่มีส่วนร่วมตัดสินใจ
เดชรัต สุขกำเนิด กล่าวถึงการปกครองส่วนท้องถิ่น และสิทธิของชุมชนว่า ถูกเปิดฉากขึ้นในรัฐธรรมนูญปี 2540 แนวความคิดด้านเศรษฐศาสตร์มองว่า การพัฒนาควรจะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ใช่มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว โดยต้องมี 3 ภาคส่วน คือ ภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคประชาสังคม แต่สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นคือ มีความเปลี่ยนแปลงในร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการลงประชามตินี้ทว่ามีคนพูดถึงน้อย

“ในรัฐธรรมนูญปี 2550 เนื้อหาสาระเกี่ยวกับการปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ได้แตกต่างจากรัฐธรรมนูญปี 2540 มีแต่ขยายเพิ่มขึ้นให้ชัดเจน แต่ร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการลงประชามติ เราจะเห็นเนื้อหาสาระหลายอย่างที่ต่างไปจากเดิม แต่วิธีการเขียนรัฐธรรมนูญก็เขียนในทางกฎหมายซึ่งอาจอ่านยาก และเราก็อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติฯ เพราะฉะนั้นการพูดก็ต้องระมัดระวัง” เดชรัต กล่าว

เดชรัต ยกตัวอย่าง สิ่งที่ขาดหายไปในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะมีการลงประชามติ อย่าง มาตรา 249 วรรคแรก ภายใต้มาตรา 1 ไม่มีคำว่า รัฐจะต้องให้ความเป็นอิสระแก่องค์กรปกครองส่วนถิ่น หรือการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาในพื้นที่ นั่นแปลว่าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเน้นการให้บริการ ประชาชนไม่ได้มีบทบาทหน้าที่โดยตรงตามรัฐธรรมนูญในการตัดสินใจแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย

เดชรัต กล่าวว่า หลายคนกังวลว่าจะมีการยุบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือไม่ ฝ่ายที่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีการลงประชามติออกมาบอกว่า ไม่ได้เขียนให้ยุบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ที่เขียนไว้ในวรรคสอง คือการจัดตั้งองค์กรส่วนท้องถิ่นในรูปแบบใดให้คำนึงถึงเจตนารมณ์ของประชาชนในท้องถิ่น และความสามารถในการปกครองตนเองในด้านรายได้ และนี่จึงเป็นที่มาของความกังวลนี้ ยังไม่มีใครรู้ว่าความสามารถในการปกครองตนเองด้านรายได้จะเป็นอย่างไร

โดยเหตุที่เดชรัตไม่ค่อยสบายใจที่คำว่า “อิสระ” หายไปในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะการที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีอิสระ เพื่อที่ว่าท้องถิ่นจะได้กำหนดตนเองได้ว่า ควรจะพัฒนาเป็นอะไร และจะมีการกำหนดกติกาอย่างไร

เดชรัต กล่าวต่อว่า สิทธิที่เรามี ตามมาตรา 43 ในรัฐธรรมนูญปี 2550 อธิบายไว้ชัดว่า เพื่อให้เราได้ดำรงชีพอยู่ได้อย่างปกติ และต่อเนื่องในสิ่งแวดล้อมที่จะไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ อนามัย สวัสดิภาพและคุณภาพชีวิตของตน แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นมาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะมีการลงประชามติ คือ ‘ตามที่กฎหมายบัญญัติ’ โดยยังไม่รู้ว่ากฎหมายจะบัญญัติว่าอย่างไร ต้องไปตามต่อเมื่อร่างผ่านการลงประชามติ

บทเฉพาะกาลเปิดทาง สนช. คสช. บัญญัติกฎหมายต่อก่อนมี ส.ส.เลือกตั้ง 
เดชรัตน์ กล่าวด้วยว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านการลงประชามติและมีการบังคับใช้ก็จะไม่มีองค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม และสุขภาพให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการโครงการของรัฐที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน

นอกจากนี้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังมีการเพิ่มเติมว่า การดำเนินการของรัฐหรือการจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ ถ้าการนั้นมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือมีส่วนได้เสียของประชาชน รัฐจะต้องดำเนินการศึกษาประเมินการผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพประชาชน ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ แม้ตั้งแต่ปี 2540 ถึงปี 2549 จะไม่มีกฎหมายบัญญัติตามมา และถึงแม้ว่าในบทเฉพาะกาลของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ได้ระบุว่าให้คณะรัฐมนตรีบัญญัติกฎหมายในมาตราที่ว่า ให้เสร็จภายใน 240 วัน หลังจากนั้นให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน หมายความว่า เราจะมีกฎหมายที่บัญญัติเรื่องการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตประชาชนภายใน 300 วัน แต่สังเกตดูว่า คนที่ดำเนินการคือ สนช. ในปัจจุบัน ไม่ใช่ ส.ส.ที่เราจะเลือกกัน และคณะรัฐมนตรีที่ว่า ก็คือ คณะรักษาความสงบแห่งชาตินั่นเอง

ทั้งนี้ ในการเสวนาครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจราว 8 นาย เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท