Skip to main content
sharethis

หลังควบคุมตัวในค่ายทหารครบ 7 วัน ตำรวจนำ 11 ผู้ต้องหา (หลบหนี 1 คน) มาแถลงข่าว แจ้ง 3 ข้อหาหนักก่อนส่งตัวกลับไปสอบปากคำที่เชียงใหม่ ทหารระบุสอบในค่ายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ ให้ความร่วมมือดี จม.เตรียมส่งมีจำนวน 1.5 หมื่นฉบับ


ภาพจากเพจ Banrasdr

2 ส.ค.2559 ที่กองปราบปราม พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช ผู้บังคับการผนงานคดีอาชญากรรม สำนักยุทธศาสตร์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำตัวน.ส.ทัศนีย์ บูรณปกรณ์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย นายบุญเลิศ บูรณปกรณ์ นายกอบจ.เชียงใหม่ กับพวกรวม 11 คน(หลบหนี 1 คน) จากค่ายทหาร มทบ.11 กรุงเทพฯ มารับทราบข้อหา โดยทางตำรวจไม่อนุญาตให้ทนายความของผู้ต้องหาเข้ารับฟัง แต่ตั้งทนายจากสภาทนายความมาทำหน้าที่ทนายแทน โดยทั้งหมดจะถูกแจ้ง 3  ข้อหา คือ 1) ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชนโดยสุจริต 2) ประมวลกฎหมายอาญามตรา 210 ร่วมกันเป็นซ่องโจร 3) พ.ร.บ.ประชามติ มาตรา 61วรรคสอง หลังจากนั้นได้นำตัวผู้ต้องหา 10 คนกลับไปยังจังหวัดเชียงใหม่เพื่อแจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำที่สำนักงานตำรวจภูธรภาค 5

วิญญัติ ชาติมนตรี กล่าวว่า ตำรวจมีอำนาจควบคุมตัวและสอบสวน 48 ชั่วโมง หากสอบสวนไม่เสร็จหรือแม้แต่สอบสวนเสร็จก็อาจนำตัวไปฝากขังยังศาลทหารได้ หรืออาจปล่อยตัวในชั้นสอบสวนก็ได้ แต่คิดว่าคงมีการส่งไปฝากขังศาลทหารเชียงใหม่ ซึ่งทนายจะทำการคัดค้านการฝากขังต่อไป

วิญญัติกล่าวว่า ใน 10  คนนี้ไม่มีนายวิศรุต คุณะนิติสาร ซึ่งเป็นรายแรกที่ถูกจับกุมที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ค.มีการแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 61 วรรคสอง ของพ.ร.บ.ประชามติเพียงข้อหาเดียว จากนั้นได้รับการประกันตัวไปภายในวันเดียวกัน และนายวิศรุตไม่ได้ปรากฏตัวในการแถลงข่าวของตำรวจในครั้งนี้แต่อย่างใด คาดว่าตำรวจน่าจะกันไว้เป็นพยาน

วิญญัติกล่าวต่อว่า หลังจากได้ข้อมูลจากปากคำนายวิศรุตต่อมาเมื่อวันที่ 26 ก.ค.2559 พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญก็ได้ไปแจ้งความกล่าวโทษบุคคลต่างๆ อีก 11 คน และมีข้อหาเพิ่มเติมจากพ.ร.บ.ประชามติด้วย นั่นคือ มาตรา 116 และมาตรา 210 ของประมวลกฎหมายอาญา ด้วยเหตุที่มีมาตรา 116 นั้นตามคำสั่งคสช.กำหนดให้ต้องขึ้นศาลทหาร จากนั้นศาลทหารก็ออกหมายจับเมื่อวานนี้ ตำรวจจึงนำตัวมาแถลงข่าวกัน ทั้งที่จริงๆ แล้วเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวพวกเขาทั้ง 10 คนไว้ในค่ายทหาร มทบ.11 จนครบ 7 วันแล้ว

นอกจากนี้ในการแถลงข่าวของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ยังมีการแจกแผนผังและเอกสารอธิบาย “เครือข่ายกลุ่มผู้ต้องหาส่งจดหมายบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ” ว่า มีการกระทำความผิดใน 3 พื้นที่หลัก คือ ลำพูน ลำปาง เชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 12-15 ก.ค. โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่ได้รับแจ้งจากที่ทำการไปรษณีย์ว่าพบจดหมายลักษณะเป็นพิรุธ ติดสแตมป์ จ่าหน้าซองระบุที่อยู่ผู้รับ ส่งลงในตู้ไปรษณีย์หลายจุด กกต.ในพื้นที่ตรวจดูจดหมายดังกล่าวแล้วพบว่ามีเนื้อหาบิดเบือนร่างรัฐธรรมนุญ จึงมาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีตามมาตรา 61 วรรคสองของพ.ร.บ.ประชามติ เนื่องจากคดีเป็นที่สนใจของประชาชนอย่างมาก ลักษณะการกระทำของคนร้าย น่าจะมีผู้ร่วมกระทำผิดหลายคน และได้กระทำผิดในหลายพื้นที่ต่อเนื่องกัน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. ได้สั่งการให้ พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผบ.ตร.เข้าดูแลคดี ต่อมา ตำรวจภูธรภาค 5 ได้ตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน จนได้ทำการจับกุมนายวิศรุตได้ เขาให้การรับสารภาพและให้การเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีอย่างมาก จากนั้นพนักงานสอบสวนได้สอบสวนปากคำพยานบุคคลลูกจ้างของบริษัท เชียงใหม่ทัศนาภรณ์ จำกัด เจ้าหน้าที่ อบจ.เชียงใหม่ เจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลช้างเผือก พบว่ามีผู้ร่วมกระทำผิดหลายคน มีการวางแผนและแบ่งหน้าที่กันทำ โดยแบ่งเป็น

1.ผู้บงการ ได้แก่ นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ , น.ส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์, นายไพรัช ใหม่ชมภู และนายคเชน เจียกขจร เป็นผู้ควบคุม สั่งการ วางแผนยุยงปลุกปั่นประชาชน จัดสถานที่ในการจัดทำเอกสารบิดเบือน กำหนดเนื้อหาที่บิดเบือน วางกลุ่มเป้าหมายของประชาชนที่จะจัดส่งจดหมาย และออกค่าใช้จ่ายในการทำจดหมาย

2. กลุ่มพิมพ์เอกสารจ่าหน้าซองและผลิตจดหมาย คือ นายวิศรุต คุณะนิติสาร น.ส.เอมอร ดับโศรก, น.ส.สุภาวดี งามเมือง และนางณชพัฒน์ หรือกอบกาญจน์ สุคีตา มีหน้าที่ในการจัดพิพม์เอกสาร โดยใช้เครื่องมือ อุปกรณ์ที่ผู้บงการเตรียมให้

3. กลุ่มผู้ส่งจดหมาย คือ นายอติพงษ์ คำมูล, นายกฤตกร โพทะยะ, น.ส.เอมอร ดับโศรก, นายวิศรุต คุณะนิติสาร และเทวรัตน์ รินด้า มีหน้าที่ในการนำจดหมายไปส่งให้กับประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติ ตามเป้าหมายที่ผู้บงการกำหนดไว้

4.กลุ่มผู้ช่วยเหลือซ่อนเร้น คือ น.ส.ธารทิพย์ บูรณุปกรณ์ กับพวก ให้ความช่วยเหลืออำนวยความสะดวก ให้การสนับสนุนกลุ่มส่งจดหมายหลบหนี ตามแผนการที่กลุ่มผู้บงการกำหนดไว้

พนักงานสอบสวนได้รวบรวมพยานหลักฐานจนเชื่อได้ว่าผู้ต้องการได้ร่วมกันกระทำความผิดจริง จึงได้ขออนุมัติศาลมณฑลทหารบกที่ 33 ออกหมายจับผู้ต้องหาทั้ง 11 คน โดยหลบหนี 1  คน คือ นายเทวรัตน์ รินด้า (กร) ส่วนอีก 10 คนได้แก่

1.นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ 2.น.ส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ 3.นายคเชน เจียกขจร 4.น.ส.เอมอร ดับโศรก 5.นายอติพงษ์ คำมูล 6. นายไพรัช ใหม่ชมภู 7.น.ส.สุภาวดี งามเมือง 8.น.ส.ธารทิพย์ บูรณุปกรณ์ 9.นายกฤตกร โพทะยะ 10. นางณชพัฒ์ หรือ กอบกาญจน์ สุคีตา

เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ รายงานว่า พ.อ.ปิยพงษ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคสช. ระบุว่า ดูแลผู้ต้องหาทั้ง 10 คนเป็นอย่างดีระหว่างอยู่ที่ มทบ.11 ทั้งเรื่องอาหารการกิน สุขภาพ แต่ทุกคนก็ดูมีความเครียด ส่วนนายบุญเลิศให้ความร่วมมือดีมากในการให้ข้อมูล

“คสช.ให้ความเป็นธรรมและยึดตามพยานหลักฐาน ยืนยันว่า ทหารยึดจดหมายได้กว่า 11,000 ฉบับ และมีการสารภาพว่าเผาทำลายไปกว่า 4,000 ฉบับ รวมยอดจดหมายกว่า 15,000 ฉบับ” 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net