Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis



ในระยะที่ผ่านมา ฝ่ายคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและคณะกรรมการเลือกตั้ง กำลังลาติดตามจับและเอาผิดร่างรัฐธรรมนูญปลอมอย่างดุเดือด กล้า สมุทวณิช จึงได้เขียนเรื่อง “โปรดระวังของแท้” ขึ้นมาเสียดสี เพื่อแสดงถึงภัยจาก “ของแท้” ซึ่งสะท้อนให้เห็นได้ดีว่า ภัยร้ายของประชาธิปไตยไทย ไม่ได้มาจาก “รัฐธรรมนูญปลอม” ตามที่แกล้งว่ากัน แต่มาจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับจริง ที่มาจากคณะกรรมการร่างชุดเผด็จการของนายมีชัย ฤชุพันธ์

เมื่อมองไปที่เนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับของแท้ที่จะนำมาสู่การลงประชามติ จะพบว่า มีประเด็นสำคัญอยู่หลายจุดที่สะท้อนลักษณะอำนาจนิยม แต่ที่อยากจะเล่าถึงในที่นี้คือ เรื่องการให้อำนาจล้นฟ้าแก่ศาลรัฐธรรมนูญ เหนืออำนาจนิติบัญญัติและบริหาร โดยไม่ต้องยึดโยงกับประชาชนเลย สถานะที่ศาลรัฐธรรมมนูญจะกลายเป็นกลไกสูงสุด เช่น

สมมติว่าบ้านเมืองเกิดความขัดแย้งทางการเมืองตามแบบประชาธิปไตย แต่ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าบ้านเมืองเกิดวิกฤต แล้วไม่มีมาตราใดในรัฐธรรมนูญจะมาบังคับใช้เพื่อแก้ไขสถานการณ์ ตามมาตรา 5 ของร่างฉบับมีชัย ให้อำนาจแก่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้จัดประชุมประมุขฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ตุลาการ และประธานองค์กรอิสระทั้งหลายเพื่อวินิจฉัย และให้คำวินิจฉัยนั้นเป็นที่สุดมีผลผูกพันทุกองค์กร อ่านดูแล้วอาจจะไม่แปลก แต่ถ้าพิจารณาจะเห็นว่า เสียงข้างมากของที่ประชุมเพื่อแก้วิกฤตมาจากฝ่ายศาล และคำวินิจฉัยก็มาจากศาลรัฐธรรมนูญนั่นเอง และจากบทเรียนที่ผ่านมาในสังคมไทย จะเห็นว่าความขัดแย้งทางการเมืองขั้นวิกฤตนั้น สร้างขึ้นได้ หรือถ้าไม่วิกฤต ศาลรัฐธรรรมนูญก็ตีความให้วิกฤตได้ อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญข้อนี้จึงยิ่งใหญ่มาก

ในกรณีที่บ้านเมืองยังไม่เกิดวิกฤต โดยที่รัฐบาลยังบริหารบ้านเมืองปกติ แต่อาจจะมีพวกสลิ่มเสื้อเหลืองบางกลุ่มไม่พอใจนโยบายบางอย่าง หรืออาจเกิดกรณีที่สภานิติบัญญัติยื่นญัตติของแก้ไขรัฐธรรมนูญ (เช่น แก้ไขให้ยุบทิ้งศาลรัฐธรรมนูญ เป็นต้น) พวกสลิ่มเสื้อเหลืองอาจจะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยกล่าวหาว่า รัฐบาลและสภานิติบัญญัติ “ใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ตามมาตรา 49 ของร่างรัฐธรรมนูญมีชัย ระบุให้ศาลรัฐธรรมนูญรับเรื่องร้องเรียนแบบนี้ได้โดยตรง ไม่ต้องมีองค์กรกลั่นกรอง และสามารถใช้อำนาจสั่งให้รัฐบาลหรือรัฐสภาเลิกการดำเนินการเช่นนั้นได้ทันที ดังนั้น พอเพียงให้มีบุคคลไปยื่น ศาลรัฐธรรมนูญก็จะกลายเป็นอำนาจสูงสุด ควบคุมนโยบายของรัฐบาล และควบคุมการออกกฎหมายของสภานิติบัญญัติได้ทันที

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยังทึกทักเอาว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องประกอบด้วยคนดี มีจริยธรรมสูงส่ง จึงกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันเขียน "มาตรฐานทางจริยธรรม" ให้เสร็จภายในหนึ่งปีหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ โดยมาตรฐานทางจริยธรรมดังกล่าว มีกรอบความคิดแบบนามธรรม เช่นระบุว่า “ต้องครอบคลุมถึงการรักษาเกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ” อำนาจในการกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมนี้ สอดคล้องกับการให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า รัฐมนตรีคนใดขาดคุณสมบัติตามมาตรา 160 คือ คือ ไม่มีความ "ซื่อสัตย์สุจริต" และ "มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง” รัฐมนตรีผู้นั้นก็จะถูกถอนถอนและลงโทษ หมายถึงว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจอย่างมากในการควบคุมชี้เป็นชี้ตายบุคคลากรทางการเมือง เพราะสิ่งที่เห็นได้คือ ข้อกล่าวหาเป็นนามธรรม การพิจารณาจากหลักฐานและกระบวนการจึงเป็นการยาก (เช่น จะเอาหลักฐานอย่างไรมาพิจสูจน์การผิดจริยธรรม) การลงโทษหรือไม่ลงโทษจึงขึ้นกับการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ

ข้อกล่าวหาลักษณะนี้ยังมีต่อในมาตรา 144 ที่เสนอว่า ส.ส. และ ส.ว. จะเสนอแปรญัตติ หรือการกระทำด้วยประการใดๆ ที่มีผลให้ใช้งบประมาณรายจ่ายเพื่อประโยชน์ส่วนทำตัวไม่ได้ และถ้า ครม. หรือ กรรมาธิการมีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น การอนุมัติให้กระทําการหรือรู้ว่ามีการกระทําดังกล่าวแล้วแต่มิได้สั่งยับยั้ง ก็จะมีความผิดไปด้วย กรณีนี้ก็เช่นกัน มีการใช้ข้อความที่คลุมเรือ เช่น “ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม” เพื่อเปิดทางให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจ ซึ่ง ส.ส. ส.ว. หรือ ครม. ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าผิดต้องพ้นจากตำแหน่ง และให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้นด้วย

จะเห็นได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีอำนาจตรวจสอบแบบล้นฟ้า แต่ที่มาของศาลรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า มาจากผู้พิพากษาศาลฎีกา 3 คน ผู้พิพากษาศาลปกครองสูงสุด 2 คน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ 1 คน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์อีก 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากส่วนราชการอีก 2 คน เท่ากับตุลาการศาลทั้งคณะ มาจากศาลและระบบราชการ ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับประชาชนเลย

สรุปแล้ว เอาเรื่องศาลรัฐธรรมนูญเรื่องเดียว ร่างรัฐธรรมนูญของแท้ก็อันตรายมากแล้ว นี่ยังไม่ต้องพิจารณาเรืองอื่น เช่น ส.ว.มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ส.ส.เลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมเพื่อให้โอกาสพรรคที่แพ้เลือกตั้ง หรือการสอดใส่เรื่องการนิรโทษกรรมตลอดกาลให้กับทหารที่ก่อการรัฐประหาร ฯลฯ

และนี่เป็นเหตุผลแห่งการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของแท้ฉบับมีชัย

0000


เผยแพร่ครั้งแรกใน: โลกวันนี้วันสุข ฉบับ 574 วันที่ 23 กรกฎาคม 2559

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net