Skip to main content
sharethis

พฤ โอโดเชา กังวลร่างรธน.ฉบับประชามติ ไม่รับรองความเป็นกลุ่มชาติพันธุ์และความเป็นคน นักสิทธิฯชี้ ร่างรธน.ฉบับนี้ลดทอนอำนาจปชช.เพิ่มอำนาจรัฐ นักวิชาการกังวล รธน.ลดสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ ผู้หญิง การศึกษา

3 ส.ค.2559 เฟซบุ๊กเพจ ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์ฯ มช. รายงานว่า เมื่อ 2 ส.ค.ที่ผ่านมา เวลา 09.00-12.00 น. ที่ ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดเวทีเสวนาชาติพันธุ์สัมพันธ์และการพัฒนา โดยมีหัวข้อเสวนาคือ ‘ชาติพันธุ์...สนทนา...(ร่าง) รัฐธรรมนูญ 2559’โดย ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีตสมาชิกวุฒิสภา, นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ชำนาญ จันทร์เรือง อาจารย์พิเศษ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, รศ.นงเยาว์ เนาวรัตน์ ศูนย์พหุวัฒนธรรมและนโยบายการศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, พฤ โอโดเชา คณะกรรมการเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ ดำเนินรายการและร่วมเสวนาโดย สุมิตรชัย หัตถสาร ศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น

ภาพจาก ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์ฯ มช. ชยันต์ วรรธนะภูติ, ชำนาญ จันทร์เรือง

ชยันต์ วรรธนะภูติ หัวหน้าศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา กล่าวเปิดงานเสาวนาและชี้แจงวัตถุประสงค์ของงานครั้งนี้เพื่อทำความเข้าใจร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2559 ว่ามีเนื้อหา มีหลักการอย่างไรและใครจะได้ประโยชน์บ้าง ไม่ได้มีเจตนาชักชวนหรือยุยงให้รับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการตัดสินใจของแต่ละบุคคล

ชำนาญ กล่าวว่า ได้ให้ความรู้พื้นฐานในเชิงวิชาการเกี่ยวกับการลงประชามติ การลงประชามติภาษาทางการ เรียกว่า 'การออกเสียงประชามติ' เป็นรูปแบบของประชาธิปไตยทางตรง ประชาธิปไตยมี 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ ประชาธิปไตยทางตรงและประชาธิปไตยที่มีผู้แทน ประชามติไม่ใช่เรื่องใหม่ส่วนใหญ่จะใช้รับรองกฎหมายที่สำคัญ เช่นรัฐธรรมนูญ บัญญัติไว้ในช่วงแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 2534 ในรัฐธรรมนูญปี 2540 มีการพูดถึงประชามติ แต่ไม่มีการใช้ ประชามติกับประชาพิจารณ์มีความแตกต่างกัน ประชามติมีผลตามกฎหมายแต่ประชาพิจารณ์คือต้องถามความคิดเห็นของประชาชน มีการใช้ประชามติในปี 2550 และได้รัฐธรรมนูญปี 2550 ขึ้นมาและมีการประกาศใช้ได้เพียง 7 ปี เนื่องจากมีรัฐประหารในปี 2557 ตามธรรมเนียมที่ปฏิบัติมาคือต้องฉีกรัฐธรรมนูญเก่า จากนั้นก็มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวฉบับปี 2557 ไม่ได้กล่าวถึงเรื่องประชามติ รัฐบาลที่มาจากรัฐประหารก็ต้องการความชอบธรรมในเวทีโลกและครั้งหนึ่งในปี 2550ประเทศไทยเคยมีการลงประชามติแล้ว จึงมีสื่อมวลชนและนักวิชาการต่างๆเรียกร้องให้มีการลงประชามติขึ้น ผลของการลงประชามติ มีผ่านและไม่ผ่าน การนับคะแนนเมื่อปี 2550 นับคะแนนจากคนที่ไปออกเสียง บัตรเสียรวมทั้งหมด แต่ในปี 2559 นี้ นับคะแนนเฉพาะฝ่ายที่รับเท่านั้น

ชำนาญ กล่าวต่อว่า การไม่ไปลงประชามติไม่มีบทลงโทษ ไปหรือไม่ไปลงมิติก็คือสิทธิของแต่ละบุคคล อย่างไรก็ตามถ้ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2559 ผ่านออกมาบังคับใช้ การลงประชามติถือเป็นหน้าที่ การไปใช้สิทธิหรือการไม่ไปใช้สิทธิแล้วแต่ความคิดเห็นของแต่ละบุคคล การไม่ไปใช่สิทธิก็ถือว่าเป็นสิทธิเช่นกัน ผลจากการลงประชามติจะออกมาอย่างไรก็แล้วแต่ บ้านเมืองของเราก็ต้องดำเนินต่อไป จะดีขึ้นหรือแย่ลงเวลาจะเป็นเครื่องพิสูจน์

ภาพจาก ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์ฯ มช. พฤ โอโดเชา

พฤ กล่าวถึงข้อวิตกกังวลเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์กับรัฐธรรมนูญ เพราะเรื่องรัฐธรรมนูญเป็นความรู้ความเข้าใจที่ชาติพันธุ์ยังเข้าไม่ถึง เพราะต่างคนก็ต่างต้องทำมาหากิน การต่อสู้เรียกร้องที่ผ่านมาใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 พอมาถึงรัฐธรรมนูญปี 2550 ก็ตั้งคำถามว่า สิทธิชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมมีหรือไม่ เขียนไว้ในข้อใด เพราะเวลามีปัญหา กลุ่มชาติพันธุ์ก็จะใช้สิทธิชุมชนดั้งเดิมเข้าไปคุยกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน นักวิชาการและสื่อมวลชนต่างๆ

พฤ กล่าวต่อว่า ร่างรัฐธรรมฉบับนี้ส่วนที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชาติพันธุ์อยู่ที่ ม.70 รัฐพึงส่งเสริมและให้ความคุ้มครองชาวไทยกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆให้มีสิทธิดำรงชีวิตในสังคมตามวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตดั้งเดิมตามความสมัครใจได้อย่างสงบสุข ไม่ถูกรบกวน ทั้งนี้เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือสุขภาพอนามัย และอีกประเด็นที่กังวลคือ ม.70 หมวด 6 ซึ่งเป็นแค่แนวนโยบายของรัฐไม่ใช่หน้าที่ของรัฐที่ต้องกระทำ สิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์และความเป็นคนน่าจะต้องมีและกฎหมายต้องยอมรับ และรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับต้องให้กลุ่มชาติพันธุ์เข้ามามีส่วนร่วมเรียนรู้ว่ารัฐธรรมนูญสำคัญกับกลุ่มชาติพันธุ์อย่างไรจะเสียสิทธิและได้รับสิทธิอย่างไร

'ความกังวลอยู่ในส่วนที่กล่าวว่า ทั้งนี้เท่าที่ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ หรือสุขภาพอนามัย ซึ่งคำว่าสุขภาพอนามัย กลุ่มชาติพันธุ์จะเผาไร่หมุนเวียนได้หรือไม่ เพราะอาจจะถูกมองว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาหมอกควัน ในเรื่องการเรียกร้องหรือการชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์จะสามารถทำได้หรือไม่ รัฐจะมองว่ากระทบต่อความมั่นคงหรือความสงบหรือไม่ ในเรื่องศีลธรรมถ้าหากชาวบ้านใช้ศีลธรรมแบบวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ตัวเองในหมู่บ้านจะผิดกับศีลธรรมตามกฎหมายหรือไม่ อาจจะดีกับวัฒนธรรมของชุมชนแต่อาจจะผิดกับกฎหมายสิ่งนี้จะให้สิทธิต่อกลุ่มชาติพันธุ์หรือไม่' พฤ กล่าว

ภาพจาก ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์ฯ มช. นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ, ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ

ไกรศักดิ์ กล่าวว่า ในช่วงเป็นวุฒิสมาชิกก็ใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 มาโดยตลอด และในช่วงที่มาทำงานเป็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 6 ปีก็ใช้รัฐธรรมนูญปี 2550 มาโดยตลอด และเห็นว่าทั้งรัฐธรรมนูญในปี 2540 หรือปี 2550 ก็ยังไม่เพียงพอ เนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ปี 2550 เป็นอำนาจของประชาชนแต่ก็เห็นปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่บ่อยครั้ง 2ปีแรกประชาชนถูกละเมิดสิทธิ์เสียชีวิตไปกว่า 2,000 คน รัฐธรรมนูญปี 2559 จะต้องเพิ่มอำนาจของประชาชนมากขึ้นอีก ไม่ใช่ลดอำนาจของประชาชนลง

ไกรศักดิ์ กล่าวต่อว่า สังเกตได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ลดทอนอำนาจของประชาชนลงและเพิ่มอำนาจให้กับรัฐ ซึ่งกลุ่มคนที่ใช้อำนาจละเมิดสิทธิมากคือเจ้าหน้าที่ของรัฐ สิ่งที่สำคัญกว่ารัฐธรรมนูญคือความจริงที่ต้องยอมรับจากสิ่งที่เกิดขึ้น อย่างเช่น กรณีการละเมิดสิทธิ์ ก่อนจะมาสร้างรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ต้องปรับวิธีคิดของประเทศไทยเสียก่อน

นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า มี 2 ประเด็น 1.เกี่ยวกับประชามติ และ 2.เรื่องรายละเอียดสิทธิ ในประเด็นแรกด้านเนื้อหาประชามติก็คือสิทธิอย่างหนึ่ง เป็นสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชนทางตรง การลงประชามติคือการแสดงเจตจำนงของประชาชนให้ประชาชนไปเลือกว่าจะรับหรือไม่รับ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่รัฐบาล ในปี 2540 ทำประชาพิจารณ์ ไม่ใช่ประชามติ เพราะประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมมีการรับฟังความคิดเห็น ในปี 2559 รัฐให้มีประชามติให้ประชาชนไปแสดงความคิดเห็นว่าตกลงรับหรือไม่รับ ดังนั้นจึงเห็นว่าการลงประชามติสำคัญกว่าการเลือกตั้ง เพราะแสดงให้เห็นเจตจำนงของประชาชน ถ้าประชาชนรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็แสดงถึงความมั่นคงของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถ้าไม่รับก็ต้องกลับไปพิจารณาว่าในเนื้อหามีอะไรบ้างที่ประชาชนไม่รับ   

นพ.นิรันดร์ กล่าวต่อว่า สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้เน้นเรื่องหน้าที่ของรัฐแต่ไม่เขียนรายละเอียดของสิทธิ การเขียนรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้คือเอารัฐเป็นศูนย์กลาง ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2540 ปี 2550 เน้นประชาชนเป็นศูนย์กลาง ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้รัฐเป็นใหญ่ ประชาชนเป็นแค่องค์ประกอบ และในรัฐธรรมนูญที่เขียนว่า 'ต้องคำนึงถึงความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อย' เป็นสิ่งที่ต้องตีความกว้าง ตรงนี้จะเกิดปัญหา กลุ่มชาติพันธุ์ ชนเผ่าพื้นเมืองรู้ดี รัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องเขียนเจตนารมณ์ให้ชัด ในการคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์และไม่ให้ด้อยกว่าปี 2550 เพราะชาติพันธุ์ในประเทศไทยบางส่วนก็ยังไม่ได้รับสัญชาติ และรัฐต้องเปลี่ยนทัศนะคติในการใช้กฎหมายโดยให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน

นพ.นิรันดร์ กล่าวถึงประเด็นที่สองว่า ในเรื่องสิทธินั้น สิทธิชุมชนในขณะนี้จะหยุดอยู่แค่เรื่องชุมชน ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมต้องยกระดับให้เป็นสิทธิการพัฒนา สิทธิสิ่งแวดล้อม เพราะขณะนี้โลกไม่ได้หยุดอยู่กับที่ เราแค่อนุรักษ์ฟื้นฟูอย่างเดียวไม่ได้ ต้องอยู่ในนโยบายการพัฒนาของรัฐ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ได้เขียนมาตรการป้องกันผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมไว้เช่นกัน แต่ไม่ได้ระบุว่าต้องทำ EIA หรือ EHIA เมื่อไหร่ ก่อนหรือหลังขั้นตอนไหน ในร่างฉบับนี้ไม่ได้เขียนให้ชัดเจนเกี่ยวกับสิทธิชุมชน จึงทำให้วิตกว่าจะเกิดปัญหา ยิ่งไม่มีการเขียนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญออกมาและนำกลุ่มชาติพันธุ์มาไว้ในมาตรา 70 ซึ่งเป็นแนวนโยบายของรัฐ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช้คำว่า 'ต้อง' ใช้คำว่า 'พึง' ซึ่งจะเป็นปัญหาในการตีความ เรื่องสิทธิมนุษยชนมีความละเอียดอ่อนและมีความสำคัญมากในสังคมไทย

ภาพจาก ศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์ฯ มช. รศ.นงเยาว์ เนาวรัตน์

รศ.นงเยาว์ กล่าวว่า ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญ 2 เรื่อง คือ 1.ผู้หญิง 2.การศึกษา เริ่มจากเรื่องผู้หญิง ผู้หญิงแต่ละคนมีอุดมการณ์และจินตนาการรัฐธรรมนูญของตัวเองและเห็นว่าในรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับคือปี 2540 และ ปี2550 ยังไม่เพียงพอและร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ไม่ได้สร้างความหมั่นใจมากนักว่าจะเป็นไปได้ อย่างน้อยที่สุดสิทธิของประชาชนและสิทธิความเป็นมนุษย์ซึ่งอยู่ในหมวด1 และสิทธิสันติภาพซึ่งอยู่ในหมวด3 โดยเฉพาะใน ม.27 ซึ่งว่าด้วยหัวใจของผู้หญิงต้องเท่าเดิมไม่ลดทอนลงไปจากเดิม แต่ปรากฏว่าพอร่างรัฐธรรมนูญ ม.4 ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์หายไปหมด เหลือแต่วรรค 2 เพราะตรงนี่จะครอบคลุมในประเด็นของกลุ่มชาติพันธุ์คนชายขอบ นอกจาก ม.4 ทุกกลุ่มต้องรักษาเอาไว้แล้ว ม.27 กลุ่มผู้หญิงก็ต้องรักษาไว้ เขียนว่าหญิงและชายมีสิทธิเท่าเทียมกัน หลังจากนั้นขยายออกมาเป็นวรรค 3 ในรัฐธรรมนูญปี 2550 ได้ขยายว่า การเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อบุคคล ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการ ร่วมถึงสถานะบุคคล และร่างฉบับนี้ถูกตัดเหลือไว้ 3 ประเด็น นอกจากถูกตัดแล้วก็ถูกโยกย้ายไปอยู่หมวดนโยบายของรัฐ

รศ.นงเยาวว์ กล่าวถึงประเด็นที่สอง ว่า ส่วนประเด็นเรื่องการศึกษาเชื่อมไปเรื่องชาติพันธุ์ คือประเด็นในรัฐธรรมนูญปี 2550 น่าจะอยู่ในมาตรา 50-53 ซึ่งการศึกษาเป็นสิทธิไม่ใช่เป็นหน้าที่ ตั้งแต่ปี 2550 การศึกษาเป็นสิทธิและปวงชนชาวไทยมีสิทธิได้รับการศึกษาไม่น้อยกว่า 12 ปี ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนใหม่และยกไปที่อยู่หน้าที่ของรัฐ ยกมาตราการศึกษาไปอยู่ ที่ ม.53 อยู่ในแนวนโยบาย และรัฐจัดการศึกษาภาคบังคับให้เหลือแค่มัธยมศึกษาปีที่ 3 เมื่อก่อนรัฐธรรมนูญปี 2550 ให้เด็กเรียนฟรี 12 ปี จากประถมศึกษาปีที่1 ถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย ซึ่งมีผลต่อเด็กในประเทศไทย ครอบครัวในประเทศไทยมีเพียง 26 % ของครอบครัวทั้งหมด 13 ล้านครอบครัว 26 % ที่สามารถส่งลูกเรียนอุดมศึกษาได้ ถ้าหากแบ่งกลุ่ม คนจนสามารถส่งลูกเรียนได้ มีเพียงแค่ 4 % ของครัวเรือนเท่านั้น ถ้าการศึกษาระดับมัธยมตอนปลายถูกตัดออก นั้นหมายความว่า จะสูญเสียโอกาสอย่างต่อเนื่อง นักศึกษาทั่วประเทศช่วยกันรณรงค์ให้การศึกษาฟรีต้องกลับมา ก็ไม่ได้มีการแก้ไข แต่กลับตั้งกองทุนภายในเพื่อสงเคราะห์เด็กที่ไม่มีพ่อแม่ เด็กที่ยากไร้ ซึ่งกองทุนนี้ร่างขึ้นมาให้เฉพาะคนสัญชาติไทย แสดงว่าเด็กเป็นล้านคนก็ต้องตกขอบ เพราะในรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ ปี 2550 พระราชบัญญัติการศึกษาฟรีไม่ต้องคำนึงถึงสัญชาติ เมื่อมีการเปลี่ยนเด็กที่ไม่มีสัญชาติจะมีโอกาสได้เรียนแค่มัธยมศึกษาปีที่3เท่านั้น ซึ่งโอกาสของการศึกษาของเด็กต้องด้อยลงเมื่อถูกตัดสิทธิลง และโอกาสในชีวิตก็ต้องถูกลดทอนลงเช่นกัน

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net