ห่วง ‘พ.ร.บ. ร้านนวด’ ทำคนตาบอดตกงาน

หมอนวดตาบอด-เจ้าของกิจการหลายราย แสดงความกังวลหลังมาตรฐาน พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพที่จะบังคับใช้ 27 ก.ย. นี้นั้นสูงขึ้น ด้าน สบส.ย้ำไม่กระทบแต่มุ่งจัดการธุรกิจแอบแผงและสถานประกอบการที่ไม่ได้มาตรฐาน

ภาพบรรยกาศการประชุมคณะกรรมาธิการกิจการคนพิการ ในวาระ ผลกระทบของ พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ

4 ส.ค. 2559 วานนี้ (3 ส.ค.) คณะอนุกรรมาธิการกิจการคนพิการ ในคณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้จัดประชุมหารือในวาระเรื่อง พิจารณาศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการบังคับใช้ พ.ร.บ. สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 ที่อาคารสุขประพฤติ จังหวัดนนทบุรี ได้รับความสนใจและมีผู้เข้าร่วมจากหลายภาคส่วน ได้แก่ สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย, ศิษย์เก่าศูนย์พัฒนาสมรรถภาพคนตาบอด, สมาคมส่งเสริมการนวดแผนไทยคนตาบอด, คณะกรรมการสภาการแพทย์แผนไทย, มูลนิธิคอลฟีลด์เพื่อคนตาบอดในพระอุปถัมภ์, ศูนย์ฝึกอาชีพหญิงตาบอด สามพราน ฯลฯ โดยมีมณเฑียร บุญตัน ประธานคณะอนุกรรมาธิการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นประธาน

การประชุมครั้งนี้มีเป้าหมายสองส่วนคือ การระแวดระวังผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจาก พ.ร.บ.ดังกล่าว ต่อคนพิการทางสายตาที่ประกอบอาชีพนวด และการเตรียมตัวรับมือหลัง พ.ร.บ.จะบังคับใช้ในวันที่ 27 ก.ย. 2559 นี้

น.พ. ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ผู้อำนวยการกองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพกล่าวถึงเป้าหมายของ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวว่า พ.ร.บ. นี้เกิดขึ้นเพื่อยกระดับคุณภาพของสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ โดยจะส่งผลกำหนดให้ ผู้ให้บริการที่ต้องการใบรับรองจะต้องผ่านการอบรมจากหลักสูตรที่กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือ สบส.นั้นรับรอง ซึ่งมีหลักเกณฑ์อยู่หลายข้อ เช่น สถานที่ที่ให้บริการ เนื้อหาและวิทยากรในการอบรม รวมทั้งสัดส่วนของวิทยากรต่อผู้ร่วมอบรม ที่ถูกกำหนดไว้ที่ 1:10 ในภาคปฏิบัติ และ 1:40 ในภาคทฤษฎี ฯลฯ  เพื่อให้ผู้ให้บริการมีคุณสมบัติ และความสามารถตามเป้าหมาย โดยเขาชี้ว่า การกำหนดเช่นนี้จะส่งผลทำให้สถานประกอบการนั้นมีมาตรฐาน ปลอดภัย และเพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บของผู้รับบริการ

ปัจจุบัน มีหลักสูตร 2 หลักสูตรที่ได้รับการรับรองตั้งแต่ปี 2549 สำหรับคนพิการทางสายตา ได้แก่ การนวดไทยเพื่อสุขภาพ 225 ชั่วโมง และการนวดไทยเพื่ออผู้พิการทางสายตา โดยที่ผ่านมา มีผู้จบหลักสูตรการนวดไทยเพื่อสุขภาพ 225 ชั่วโมง จำนวน 97 คน และหลักสูตรการนวดเท้าทั้งหมด 63 คน

ด้านตัวแทนจากมูลนิธิส่งเสริมอาชีพคนตาบอดและนายมณเฑียร  ตั้งคำถามไปในทางเดียวกันว่า หากคนพิการทางสายตาได้วุฒิบัตร หรือใบรับรองที่ได้ผ่านการรับรองโดยกรมฯ แล้ว จะสามารถขอขึ้นทะเบียนเป็นสถานประกอบการเพื่อสุขภาพได้หรือไม่, ในกรณีที่คนพิการได้รับวุฒิบัตรหรือใบรับรองจากสถาบันที่ยังไม่ได้ถูกรับรองโดยกรมฯ สามารถนำเอาใบประกาศนั้นๆ มาเทียบเคียงเพื่อให้กรมฯ พิจารณาขึ้นทะเบียนได้หรือไม่ อีกทั้งในช่วงระยะเปลี่ยนผ่านระหว่างการรอให้ พ.ร.บ.ฉบับนี้นั้นบังคับใช้จะทำให้เกิดระยะสุญญากาศหรือไม่ จะต้องแก้ไขอย่างไรและหลังจากบังคับใช้แล้ว มีกรอบระยะเวลากี่เดือนเพื่อให้ผู้ให้บริการได้ปฏิบัติตาม

ด้าน น.พ. ภัทรพลกล่าวยืนยันว่า หากผู้ให้บริการมีเอกสารหลักสูตรการฝึกอบรม ก็สามารถยื่นเสนอต่อคณะกรรมการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพได้ หากมาตรฐานและความรู้สามารถเทียบเคียงกันได้ ก็สามารถขึ้นทะเบียนได้เช่นกัน อีกทั้งสามารถยืดหยุ่นระเบียบข้อบังคับต่างๆ ได้หากมีข้อจำกัด เช่น ไม่ต้องแบ่งห้องน้ำชาย-หญิงหากมีพื้นที่จำกัด  นอกจากนี้ยังเห็นชอบให้เลื่อนเวลาเปิด-ปิด จากเดิมคือ 8 โมงเช้า- เที่ยงคืน เป็น 6 โมงเช้า-เที่ยงคืน พร้อมทั้งย้ำว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริมและพัฒนาแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก โดยหลังจากมีการบังคับใช้ พ.ร.บ. ดังกล่าวในเดือน ก.ย. แล้วจะมีการเปิดสอนหลักสูตรนวดไทยที่ได้รับการรับรองจาก สบส. โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

นอกจากนี้เขาเสริมว่า การขึ้นทะเบียนผู้ให้บริการ จะไม่มีค่าธรรมเนียม และไม่มีวันหมดอายุ นอกจากตรวจสอบแล้วพบว่ามีคุณสมบัติไม่ครบหรือผิดหลักการตามที่ระบุไว้ก็อาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตได้

ด้านต่อพงศ์ เสลานนท์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ แลกเปลี่ยนว่า ช่วงหลายปีที่ผ่านมา หลายสถาบันได้จัดฝึกอาชีพให้แก่คนตาบอดแต่ก็สามารถรับได้ในจำนวนที่ค่อนข้างจำกัด จึงต้องการให้ผลิตหลักสูตรที่ใช้งานได้จริงและเน้นให้คนพิการมีส่วนร่วมทางสังคมมากขึ้นโดยการสนับสนุนจากเงินกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการที่มีอยู่

อย่างไรก็ดี องค์กรคนพิการหลายแห่งก็ยังแสดงความกังวลต่อ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ทั้งในเรื่องของการเทียบเคียงหลักสูตร, มาตรฐานของวิทยากรผู้สอน, การกำหนดว่า สถานศึกษาจะต้องเป็นสถานศึกษาประเภทเอกชน รวมทั้งไม่อยากให้เกิดข้ออ้างที่ว่า ตาบอดแล้วจะไม่สามารถขอใบอนุญาตได้และยังมีความกังวลใจในขั้นตอน วิธีการและหลักฐานในการขึ้นทะเบียน เพราะในตอนนี้ยังไม่มีศูนย์ขึ้นทะเบียนดังกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้ มีการกำหนดบทลงโทษอย่างชัดเจนไว้ในมาตรา 41 - 48 โดยกำหนดว่า หากผู้ใดใช้ชื่อหรือคำแสดงชื่อในธุรกิจว่า ‘สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ’ ‘กิจการสปา’ ‘นวดเพื่อสุขภาพหรือเพื่อเสริมความงาม’ หรือกิจการอื่นใดตามที่กำหนดในกฎกระทรวงในมาตรา 3 โดยไม่ได้เป็นผู้รับอนุญาตตาม พ.ร.บ.นี้ จะต้องโทษปรับไม่เกิน 40,000 บาท นอกจากนี้ยังมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ หากฝ่าฝืน นอกจากนี้หากฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา 35  วรรค 2 ที่ว่าด้วยเรื่องการเก็บอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ ในปริมาณพอสมควรเพื่อเป็นตัวอย่างในการตรวจสอบหรือวิเคราะห์ จะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาทอีกด้วย

อนึ่ง สัปดาห์ที่แล้วตัวแทนคนพิการได้ยื่นหนังสือข้อเสนอเพื่อเสดงความกังวลในการแก้ปัญหาเกี่ยวสถานประกอบการนวดที่มีผลกระทบมาจากร่าง พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพของคนตาบอด โดยเสดงความกังวลว่า หลังจากมีการบังคับใช้ พ.ร.บ. ดังกล่าวแล้ว จะทำให้หมอนวดตาบอดนั้นขาดรายได้  จากการกำหนดมาตรฐานที่สูงขึ้น อีกทั้งหลักสูตรที่มีก็ยังไม่เอื้อต่อคนพิการทั้งหมด รวมทั้งเสนอให้สามารถนำหลักสูตรที่เคยเรียนมาเทียบเคียงและรับรองหลักสูตรที่เกิดขึ้นก่อนปี พ.ศ. 2547   ด้วย

ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาของการนวดของคนตาบอดที่มีผลกระทบ จากร่างพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ดังนี้

  1. ขอให้กรมรับรองหลักสูตรการเรียนการสอนนวนดของสถาบันการเรียนการสอนนวดของคนตาบอดก่อนปี พ.ศ. 2547 จนถึงพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพมีผลบังคับใช้
  2. คนตาบอดที่ผ่านการเรียนการสอนก่อนปี พ.ศ. 2547 ที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานอย่าวขั้นต่ำ คือ มาตรฐานฝีมือแรงงานขั้นที่หนึ่งให้มีสิทธิขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการในสถานประกอบการ
  3. คนตาบอดที่ผ่านการเรียนการสอนตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ขึ้นมาจนพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพมีผลบังคับใช้ คนตาบอดที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานผีมือแรงงานอย่างต่ำขั้นที่หนึ่ง มีสิทธิขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพได้

    สำหรับคนตาบอดที่ผ่านการเรียนการสอนที่ไม่ได้ผ่านการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแต่ผ่านการเรียนการสอนนวดในสถาบันของคนตาบอดก่อนปี พ.ศ. 2547 และตั้งแต่ในปี พ.ศ. 2547 จนถึงพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพมีผลบังคับใช้ให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพจัดการทดสอบความรู้แทนการเรียนการสอนการนวด

  1. ให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพรับรองหลักสูตรผู้ช่วยแพทย์แผนไทยของเจ็ดสถาบันที่ฝึกอบรมหลักสูตรผู้ช่วยแพทย์แผนไทยให้กับคนตาบอด
  2. คนตาบอดที่ผ่านการเรียนการสอนหลักสูตรผู้ช่วยแพทย์แผนไทยทั้งเจ็ดสถาบันให้มีสิทธิขึ้นทะเบียนเป็นผู้ให้บริการในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพได้

ข้อเสนอแนะของทั้งห้าข้อ ขอเสนอต่อกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เพราะถ้าต้องให้คนตาบอดไปเรียนใหม่ คงลำบากกับคนตาบอดมาก เพราะสถาบันของคนตาบอดไม่ได้รับรองหลักสูตรจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพเลย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท