Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis





หลังจากที่ผมได้เขียนบทความเกี่ยวกับปัญหาแรงงานไทยในต่างแดน โดยเฉพาะแรงงานไทยในสหรัฐอเมริกาที่มีจำนวนมากและส่วนใหญ่อยู่ในภาวะไร้การเหลียวแลจากรัฐบาลไทย โดยเฉพาะกระทรวงที่รับผิดชอบโดยตรงคือกระทรวงแรงงานที่หาความสนใจต่อปัญหาแรงงานในต่างแดนแทบไม่ใคร่เห็น ที่สำคัญการมองไม่เห็นความสัมพันธ์ของปัญหาแรงงานซึ่งสัมพันธ์กับภาคส่วนต่างๆ เช่น นโยบายด้านการศึกษา เป็นต้น (โดยที่ช่วงหลังมีกระแสเห่อ เอ.อี.ซี.เกิดขึ้นในสถาบันการศึกษาของไทยอย่างมาก ในยามที่ทิศทางการศึกษาของไทยไม่เคยเปลี่ยนไปจากเดิม มิหนำซ้ำยังกลับไปสู่แนวทางอนุรักษ์นิยมมากขึ้นเสียด้วยซ้ำ)

สำหรับอเมริกานั้น ได้ชื่อว่าเป็นตลาดแรงงานขนาดใหญ่ของแรงงานไทยมานานหลายสิบปี เนื่องจากมีแรงงานไทยทำงานอยู่เป็นจำนวนมาก ผลของการมีแรงงานจำนวนมากดังกล่าวทำให้เม็ดเงินที่ส่งกลับไทยมีจำนวนมากตามไปด้วย หากแต่ปรากฏว่า ฝ่ายรัฐไทยเองกลับไม่เคยทำการศึกษาหรือสำรวจ (วิจัย) ขนาดและปัญหาของแรงงานไทยในอเมริกาแต่อย่างใด หน่วยงานของรัฐไทยในอเมริกาจำนวนไม่น้อยก็ทำเป็นทองไม่รู้ร้อนต่อปัญหานี้เรื่อยๆ มาจนถึงปัจจุบัน  ทั้งที่รัฐบาลไทยมีองคาพยพของหน่วยงานต่างๆ ของรัฐไทยในอเมริกาเป็นจำนวนมาก

นี้นับว่าแตกต่างจากรัฐบาลฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศหนึ่งที่มีแรงงานไปทำงานยังต่างประเทศจำนวนมาก ที่ริเริ่มโครง red carpet หรือ “โครงการพรมแดง” กล่าว คือ หนึ่ง ทำการยกระดับมาตรฐานหรือคุณภาพแรงงาน และ สอง แสดงการยกย่องให้เกียรติต่อบรรดาแรงงานที่ไปทำงานยังต่างประเทศว่าเป็นผู้ที่มีคุณูปการต่อประเทศ เพราะเป็นผู้ที่ให้การช่วยเหลือประเทศในด้านเศรษฐกิจเป็นอย่าง ช่วยลดปัญหาสังคมในด้านต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาที่มาจากครอบครัว กล่าวคือ ในเมื่อเศรษฐกิจของครอบครัวดี ปัญหาอื่นๆ ในครอบครัวก็พลอยลดลงตามไปด้วย

ปรากฏว่า โมเดลนโยบายแรงงานของฟิลิปปินส์ (เริ่มในสมัยประธานาธิบดีอาร์โรโย่) ได้รับความสนใจตอบสนองอย่างมากทั้งจาก ในส่วนของประเทศปลายทางและประชาชนในประเทศฟิลิปินส์เอง

ฟิลิปปินส์ ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่ส่งออกแรงงานที่มีมามาตรฐานหรือมีทักษะในระดับต้นๆ ของโลก เช่น แรงงานงานสายพยาบาล หรือสายดูแลคนพิการหรือดูแลผู้สูงอายุ (Health care) ที่กำลังเป็นที่ต้องการจำนวนมากในประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลาย โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา โดยก่อนส่งออกแรงงานหน่วยงานฝ่ายรัฐบาลฟิลิปปินส์เองได้ทำการฝึกอบรมแรงงานเหล่านี้ในด้านต่างๆ เพื่อให้เกิดทั้งทักษะและมีความรู้เกี่ยวกับประเทศปลายทาง เช่นในเรื่อง ข้อกฎหมายและเรื่องวัฒนธรรมของประเทศปลายทาง เป็นต้น

ส่วนทางกับความเป็นไปของแรงงานไทยครับ

ผมขอยกคำพูดของท่านอดีตเอกอัคราชทูตไทยประจำคูเวตและรัสเซีย  ท่านทูต สุพจน์ ธีรเกาศัลย์ โดยที่ท่านทูตสุพจน์เองเคยเป็นกงสุลไทยประจำเมืองแอล.เอ.  กล่าวคือเคยประจำเมืองที่มีคนไทยมากที่สุดนานหลายปี ผมเชื่อว่าท่านทูตค่อนข้างเข้าใจปัญหาของแรงงานไทยได้อย่างครอบคลุมชนิดที่มองสามารถมองภาพรวมได้ค่อนข้างชัดเจน ด้วยเหตุที่ผ่านงานด้านการดูแลคนไทยมาถึงสองสามภูมิภาคใหญ่ๆ

สิ่งที่ผมเห็นเป็นของแปลกประหลาดในความเห็นของท่านอดีตเอกอัคราชทูตสุพจน์คือ ท่านเชื่อมประเด็นปัญหาแรงงานเข้ากับปัญหา (นโยบาย) ด้านการศึกษาของไทย ทั้งสองปัญหามีส่วนสัมพันธ์กัน ทำนอง “ปลูกต้นไม้พิษ ก็ย่อมได้ผลไม้พิษ”

ท่านทูตสุพจน์กล่าวไว้ตอนหนึ่งของการสนทนากับผม (ผ่านไลน์) ดังนี้ครับ

“แรงงานของเรามีคุณค่ามากและควรส่งเสริมให้เขาก้าวหน้าในหน้าที่การงานของเขายิ่งขึ้นคนแหล่านี้ส่งเงินกลับบ้าน ในสมัยก่อนมมากกว่าครึ่งหนึ่งของเงินงบประมาณแผ่นดิน ต้องยกย่องทุกคนที่หาเงินเข้าประเทศ ต้องเตรียมเด็กของเราให้พร้อมกับตลาดแรงงาน

ตอนเป็นทูตที่คูเวตและเอมิเรสต์เคยส่งรายงานเข้ามาว่าปัญหาคนงานไทยคือ ภาษาอังกฤษ ได้ขอร้องคนงานไทยระดับหัวหน้าที่ควบคุมคนงาน 300-500 คน ช่วยเหลือจดคำศัพท์อังกฤษที่ใช้ในการทำงาน รวมแล้วมีศัพท์ประมาณ 300 คำ ที่ใช้เรียกเครื่องมือ การสั่งงาน ถ้าเด็กเรียนอาชีวะ 3 ปี เอาไปท่องปีละ 100 คำเท่านั้น เรียน 3 ปีจบ ฟังคำสั่งรู้เรื่องแน่นอน

แล้วบริษัทเหล่านั้นเขาจะเข้าไปทดสอบที่ไทยเอง ฟังรู้เรื่องเขารับหมด ให้เงินเดือนเริ่มต้น 800 เหรียญ ในขณะที่ไทย ได้ 1,200 บาท เชื่อไหม ไม่มีใครทำ วันนี้คนงานไทยหายไปจากตลาดแล้ว

ค้าขายยังต้องใช้ทุน วัตถุดิบ เทคโนโลยี และการเข้าถึงตลาด คนงานนี่ไปทำงาน แล้วกลับมาก็ส่งต่ออีกได้ เงินเดือนสูงกว่าเดิมอีก บางคนต้องเชิญเขามาเป็นอาจารย์สอนนักเรียนเรา

วันนี้อาชีวะหายไป กลายเป็นมหาวิทยาลัยกันหมด จบปริญญากันเต็มเมือง แต่ไม่มีงานทำ ไปต่างประเทศก็ไม่ได้ เพราะเราไม่ได้พัฒนาเขาให้มาทำงาน แต่พัฒนาให้มาเป็นนาย คอยสั่งงานซึ่งไม่มีตำแหน่งนี้ในความจริงเมื่อเริ่มทำงาน”

นี่เป็นข้อสะท้อนที่ชัดเจนอย่างยิ่งเกี่ยวกับระบบการศึกษาไทย สาเหตุเกิดจากการที่เราผลิตบัณฑิตเพื่อให้อยู่บนหอคอยกันเป็นส่วนใหญ่ ตั้งใจจะให้เป็นผู้บริหารมากกว่าผู้ปฏิบัติงานจริง ดังที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตไว้บ้างแล้วว่าการศึกษาของไทยนั้นในเวลานี้อุปทานมีมากกว่าอุปสงค์ คือ มีมหาวิทยาลัยและหลักสูตรการศึกษามากกว่าคนเรียน (โดยมุ่งไปที่ผลได้ทางธุรกิจเป็นหลัก) ไม่คำนึงว่า บัณฑิตที่จบออกมาด้อยคุณภาพเพียงใด

โดยเฉพาะในระดับบัณฑิตศึกษา คือ ตั้งแต่ระดับปริญญาโทถึงปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยไทยผลิตและจบออกมาจนเฝือ แต่แล้วก็ไม่สามารถทำงานในชีวิตจริงหรือในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ  แม้แต่การใช้ทักษะที่เป็นพื้นฐาน อย่างเช่นทักษะทางด้านภาษา (อังกฤษ) ก็ไม่มีหรือไม่ดีพอ ไยจะกล่าวถึงการประยุกต์ใช้ศาสตร์ที่ร่ำเรียนมาใช้กับชีวิตประจำวัน

การเข้าสู่เออีซีจึงเป็นแค่ความฝัน ความเห่อ และแสดงให้เห็นถึงหนทางเสียเปรียบของฝ่ายบุคลากรของไทย เนื่องจากแรงงานของเรา ยังเป็นแรงงานที่ขาดทักษะเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านประเทศอื่นๆ แม้เป็นแรงงานในระดับที่มีการศึกษาสูงก็ตาม

ไม่นับรวมการอาศัยเส้นสายและระบบอุปถัมภ์ในระบบการศึกษาไทยที่ทำให้แม้แต่อาจารย์ผู้สอนในมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั้งรัฐและเอกชนมีปัญหาในเรื่องคุณภาพการสอน ทั้งวิธีการสอนและเนื้อหาที่สอน

มหาวิทยาลัยของรัฐบางแห่งถึงขนาดมีการ “ล็อคสเป๊กผู้สอน” ด้วยซ้ำ คือ รับคนที่ตัวเองต้องการ โดยไม่สนใจความสามารถว่ามีจริงหรือไม่

ตราบใดที่ระบบการศึกษาไทย ยังมีวัฒนธรรมการชุบตัวด้วยการอาศัยใบปริญญาบัตรเป็นเครื่องมือ  (ดังจะเห็นได้จากการเห่อแห่เรียนหลักสูตรปริญญาเอกกันจำนวนมาก) แต่บัณฑิตที่จบมายังด้อยคุณภาพทั้งองค์ความรู้และประสบการณ์  หรือเป็นระบบ “ศักดินาทางการศึกษา” อยู่ เมื่อนั้นเราก็ยังไม่สามารถยกระดับแรงงานของเราเองให้ขึ้นสู่ระดับเกณฑ์มาตรฐานได้

ไม่ต้องกล่าวถึงการส่งแรงงานไปยังโลกตะวันตกอย่างเช่นสหรัฐหรือยุโรปครับ แม้แต่การออกไปหากินในชาติอาเซียนด้วยกันยังแทบเลือดตากระเด็น


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net