Skip to main content
sharethis

เมื่อไม่นานมานี้ยูริโกะ โคอิเกะ นักการเมืองของญี่ปุ่นชนะการเลือกตั้งได้เป็นผู้ว่าการกรุงโตเกียวคนแรกที่เป็นผู้หญิง ดิอีโคโนมิสต์นำเสนอมุมมองต่อผู้ว่าฯ คนใหม่นี้ในหลายแง่มุม บางก็มองว่าเธอเป็นสตรีนิยม นักชาตินิยม บางคนก็ถึงขั้นมองว่าเธอเป็นนักฉวยโอกาส

ยูริโกะ โคอิเกะ ระหว่างหาเสียงเป็นผู้ว่าการกรุงโตเกียว (ที่มา: Wikipedia)

4 ส.ค. 2559 โคอิเกะได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯ เมื่อวันที่ 31 ก.ค. ที่ผ่านมา เธอถูกพูดถึงในหลายแง่มุมที่ไม่ได้มีแต่การชื่นชม บ้างก็เรียกเธอด้วยฉายา "มาดามซูชิสายพาน" จากการที่เธอเปลี่ยนพรรคการเมืองอยู่ตลอดนับตั้งแต่ที่เธอลงเล่นการเมือง แต่ฉายานี้ก็อาจจะมองในอีกแง่ได้ว่าเธอเป็นคนที่มีความทะเยอทะยานได้ด้วย

ดิอีโคโนมิสต์ระบุว่าโคอิเกะชื่นชมมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ นักการเมืองหญิงของอังกฤษผู้เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยที่เธอทั้งสองคนมีอย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือการต้องต่อสู้ฝ่าฟันเลื่อนขั้นทางการเมืองด้วยตัวเธอเองท่ามกลางนักการเมืองที่เต็มไปด้วยผู้ชาย ซึ่งต่างจากมากิโกะ ทะนะกะ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศหญิงคนแรกของญี่ปุ่นที่มีพ่อเป็นอดีตนายกรัฐมนตรี ในประเทศญี่ปุ่นมี ส.ส. หญิงในสภาล่างเพียงร้อยละ 9.3 เท่านั้น

ในสมัยทีโคอิเกะยังเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมในปี 2550 เธอเป็นสมาชิกพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตยของญี่ปุ่นแต่ก็พลาดโอกาสในการได้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกเพราะไม่สามารถเอาชนะทาโร อะโซะ ได้ในการรับเลือกเป็นหัวหน้าพรรค เธอสร้างความขุ่นเคืองให้กับเหล่าผู้นำพรรคด้วยการลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่ากรุงโตเกียวแข่งกับตัวแทนของพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตยจนสามารถเอาชนะได้ด้วยคะแนนเสียงมากกว่าคู่แข่ง 1 ล้านเสียง

ดิอีโคโนมิสต์ระบุว่าสาเหตุหนึ่งที่เธอได้รับความนิยมจากชาวโตเกียวเนื่องจากการที่สื่อนำเสนอภาพของเธอในฐานะหญิงกล้าหาญผู้ท้าทายการเมืองที่ถูกครอบงำโดยผู้ชาย เคยมีอดีตผู้ว่าการกล่าวดูถูกผู้หญิงว่าผู้ว่าการเมืองหลวงไม่ควรจะเป็น "ผู้หญิงที่แต่งหน้าหนาเกินไป" โคอิเกะหัวเราะใส่คำดูถูกเหยียดหยามนี้แล้วบอกว่าเธอชินแล้วกับคำดูถูกพวกนี้ โคอิเกะบอกอีกว่าการกีดกันทางเพศของญี่ปุ่นหนาในระดับเหล็กกล้าแต่เธอก็บอกว่าประเทศญี่ปุ่นต้องการความหนักแน่นและเข้มแข็งของผู้หญิงในการที่เธอจะช่วยพัฒนาประเด็นเรื่องผู้หญิงได้

อย่างไรก็ตาม โทโมะมิ ยามางุจิ จากมหาวิทยาลัยแห่งรัฐมอนแทนาบอกว่าโคอิเกะเป็นนักชาตินิยมมากกว่านักสตรีนิยม จากที่เธอดำเนินนโยบายเข้มงวดต่อจีนในสมัยเธอเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมและเป็นนักการเมืองหนึ่งในไม่กี่คนที่เรียกร้องให้ญี่ปุ่นมีอาวุธนิวเคลียร์และเคยร่วมจัดการประชุมของกลุ่มนิปปอนไคกิ ซึ่งเป็นการประชุมของกลุ่มอนุรักษ์นิยมญี่ปุ่นที่ยังมีความเชื่อว่าการที่ญี่ปุ่นรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเพราะต้องการปลดปล่อยเอเชียจากอาณานิคมตะวันตกและต้องการฟื้นฟูคุณค่าในครอบครัว

ในช่วงที่เธอดำรงตำแหน่งรมต.ต่างประเทศก็ถูกมองว่าเป็นพวก "สายเหยี่ยว" ที่พยายามตีความรัฐธรรมนูญญี่ปุ่นในทางชาตินิยมและเคยแสดงตัวสนับสนุนสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของสหรัฐฯ

จากที่ก่อนหน้านี้ผู้ว่าการโตเกียวต้องออกจากตำแหน่งไปสองคนด้วยเรืองอื้อฉาวทางการเงินทำให้หน้าที่แรกของโคอิเกะคือการสร้างความเชื่อมั่นต่อที่ว่าการโตเกียวกลับคืนมารวมถึงต้องเผชิญกับความท้าทายอื่นๆ หลังจากนี้รวมถึงคอยนำทางการจัดกีฬาโอลิมปิคปี 2563 ด้วย เธอต้องรับมือสิ่งเหล่านี้ไปพร้อมกับการเวียนว่ายในโลกการเมืองที่มีทั้งคนที่เคารพเธอและไม่เชื่อถือเธอโดยที่มีคนชื่นชอบเธอมากๆ แค่เพียงเล็กน้อย

 

เรียบเรียงจาก

Iron butterfly : Tokyo gets its first female governor, The Economist, 02-08-2016 http://www.economist.com/news/asia/21703286-yuriko-koike-combines-nationalism-and-steely-ambition-tokyo-gets-its-first-female-governor

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net