รายงาน: ภาษีคืนคนจน สวัสดิการก้าวหน้าเพื่อประชาชน?

เปิดประเด็นแลกเปลี่ยน นโยบายภาษีคนจน นโยบายสวัสดิการที่เคยมีแนวคิดในไทย ผู้สนับสนุนเชื่อช่วยเหลือถูกจุด สร้างแรงจูงใจทำงานหนีความจน ด้านผู้คัดค้านบอก ไม่ตอบโจทย์แก้ปัญหา บั่นทอนแรงจูงใจในการทำงาน ฝ่ายนักวิชาการชี้ผลิตซ้ำวาทกรรมความเหลื่อมล้ำ

ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาที่สำคัญปัญหาหนึ่งของโลก ประเทศต่างๆ ได้พยายามหาวิธีเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวมาอย่างยาวนาน หนึ่งในวิธีที่ประเทศต่างๆ ใช้เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน คือเงินเดือนให้เปล่า แต่นั่นไม่ใช่วิธีการเดียวในการแก้ไขปัญหาความยากจน แนวคิดในการแก้ไขปัญหาอีกแนวคิดหนึ่งที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กันคือ "ภาษีคนจน" หรือ “เงินช่วยคนทำงาน” โดยแทนที่การเสียภาษีตามปกติ ผู้มีรายได้จะต้องยื่นรายได้ เพื่อชำระภาษี "ภาษีคนจน" คือแนวคิดที่จะมอบเงินให้แก่ผู้ที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตนั่นเอง

แนวคิด "ภาษีคนจน" หรือ “เงินช่วยคนทำงาน” เป็นแนวคิดที่ มิลตัน ฟรีดแมน (Milton Friedman) นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ได้เสนอไว้ใน Capitalism and Freedom บทที่ 12 ว่าด้วยการการันตีรายได้ขั้นต่ำของประชาชน จะเป็นการบรรเทาปัญหาความยากจนต่างๆ ที่เกิดขึ้น หลักการของแนวคิดภาษีคนจนคือ การที่จะให้ประชาชนมาลงทะเบียนยื่นรายได้ต่อหน่วยงานราชการ โดยผู้ที่มีรายได้ตามเกณฑ์ที่กำหนด แทนที่จะต้องเสียภาษีให้แก่รัฐกลับกัน คือจะได้เงินช่วยเหลือจากรัฐเพื่อช่วยในการหาเลี้ยงชีพนั่นเอง

เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบภาษีคนจนกับแนวคิดเงินเดือนให้เปล่า ซึ่งก็คือแนวคิดที่จะมอบเงินจำนวนหนึ่งไป เพื่อให้ประชาชนสามารถมีชีวิตที่มีคุณภาพ โดยไม่มีข้อแม้หรือเงื่อนไข (รายละเอียดเพิ่มเติม) จะพบว่าทั้งสองแนวคิดมีทั้งส่วนที่คล้ายและแตกต่างกัน

สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือนให้เปล่า หรือภาษีช่วยเหลือคนจน ต้องดูการกระจายรายได้และขนาดของเศรษฐกิจของสังคมนั้นๆ เป็นหลัก ถ้ามีการกระจายตัวของรายได้น้อย หรือคนรวยกระจุกตัวมาก นโยบายเงินเดือนให้เปล่าอาจจะเหมาะสมมากกว่า

นอกจากนี้ สมชัย ยังกล่าวอีกว่า แนวคิดภาษีช่วยเหลือคนจนจะไม่ช่วยให้กลุ่มคนรายได้น้อยมีอำนาจในการต่อรองค่าแรงจากนายจ้าง และยังมีความเป็นไปได้ที่นโยบายเงินช่วยเหลือคนจนจะทำให้เกิดการแบ่งแยกชนชั้น ระหว่างคนที่หางานทำได้ และไม่ได้ แต่คงอยู่ในวงแคบ เนื่องจากอัตราการว่างงานในไทยต่ำ เงื่อนไขของแนวคิดการจ่ายเงินช่วยเหลือคนจน ที่ต้องให้คนจนทำงานแล้วจึงนำรายได้มายื่น เพื่อรับเงินช่วยเหลือ จะเป็นการกีดกันกลุ่มคนที่ไม่มีอาชีพ นโยบายดังกล่าวจะไม่ช่วยกระตุ้นให้กลุ่มคนไม่มีอาชีพทำงานได้ เพราะ (ก) เขาอาจหางานไม่ได้อยู่แล้ว (ข) เขาเลือกจะไม่ทำงาน ซึ่งผลประโยชน์จากภาษีช่วยเหลือคนจน ไม่มากพอให้เขาเปลี่ยนใจ

ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เขียนบทความ ลงหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2557 ซึ่งมีข้อเสนอว่าแนวคิดนี้จะบั่นทอนแรงจูงใจ ในการเพิ่มชั่วโมงการทำงานของประชาชน 5.5 ล้านคน คิดเป็น 60% ของผู้ได้รับประโยชน์ทั้งหมด ซึ่งเงินช่วยเหลือสำหรับผู้ที่มีเงินได้ในช่วง 30,000-80,000 บาท จะลดลงเรื่อยๆ เมื่อชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น นายมานะมีเงินได้ 40,000 บาท ต่อปี และได้รับเงินในอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ วันละ 300 บาท การตัดสินใจของมานะว่า จะทำงานเพิ่มขึ้นอีก 1 วันหรือไม่จะขึ้นอยู่กับ จำนวนเงินที่เขาจะได้รับเพิ่ม (Marginal return) ข้อเสนอนี้จะทำให้มานะได้เงินช่วยเหลือ 4,800 บาท รวมเป็นรายได้ทั้งหมด 44,800 บาท การทำงานเพิ่มอีก 1 วันจะทำให้ มานะได้ค่าจ้างเพิ่ม 300 บาท แต่เงินช่วยเหลือจะลดลงเป็น 4,764 บาท ส่งผลให้รายได้รวมของมานะอยู่ที่ (40,000 + 300+ 4,764 =) 45,064 บาท ดังนั้นจะเห็นว่าการตัดสินใจทำงานเพิ่มอีก 1 วันของมานะ ทำให้เขาได้เงินเพิ่มเพียง (45,064 – 44,800 =) 264 บาท ลดลงจากเดิมเมื่อไม่มีข้อเสนอเบี้ยยังชีพที่เขาจะได้เงินเพิ่ม 300 บาท นั่นหมายความว่า ข้อเสนอเบี้ยยังชีพลดแรงจูงใจในการเพิ่มชั่วโมงการทำงานของนายมานะ

อธิภัทร ระบุว่า ประสบการณ์ของสหรัฐอเมริกาที่ได้มีการใช้มาตรการในลักษณะนี้มากว่า 30 ปี พบว่ามาตรการนี้ได้ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจทำงานอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น เราควรที่จะให้ความสำคัญกับผลกระทบทางลบดังกล่าว ซึ่งวิธีหนึ่งที่จะช่วยลดจำนวนคนที่จะถูกลดแรงจูงใจได้ ก็คือการออกแบบอัตราภาษีให้ช่วงที่เงินช่วยเหลือลดลง (Phase out) แคบลง ตัวอย่างเช่น กำหนดให้เงินช่วยเหลือคงที่ในระดับ 6,000 บาทสำหรับช่วงเงินได้ 30,000-50,000 บาท ก่อนที่จะค่อยๆ ลดเงินช่วยเหลือลง เมื่อผู้ยื่นมีเงินได้เกิน 50,000 บาท

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์จากวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า ภาษีช่วยเหลือคนจน หลักการคือการคืนภาษีให้กับผู้มีรายได้น้อย หรือไม่ถึงเกณฑ์ มีข้อดีคือคือการที่รัฐจะได้ฐานข้อมูลรายได้ของคนจนเข้าสู่ระบบเยอะขึ้น แต่ไม่สามารถตอบโจทย์ในแง่สวัสดิการเพื่อพัฒนาคุณภาพมนุษย์ได้ เพราะเป็นการให้ในลักษณะ safty-net หรือการเก็บตก เป็นยาชาของระบบมากกว่าการพัฒนาระบบ

เมื่อเปรียบเทียบกับเงินเดือนให้เปล่าแล้ว แนวคิด "ภาษีคนจน" ยังแตกต่างกันอยู่มาก เงินเดือนให้เปล่าคือการให้คนในฐานะมนุษย์ที่เท่ากัน ขณะที่การช่วยเหลือคนจนเป็นการผลิตซ้ำความเหลื่อมล้ำกล่าวคือโครงสร้างความยากจนมิได้หายไป จากการสงเคราะห์ตรงกันข้ามอาจเข้มแข็งขึ้น เงินเดือนให้เปล่า เป้าประสงค์คือการสั่นคลอนโครงสร้างนี้ ที่มนุษย์ควรมีสิทธิในการมีชีวิตโดยไม่ต้องเอาตัวเองแลกเป็นสินค้าก่อน

แต่ข้อดีของแนวคิดภาษีคนจนก็ยังมีอยู่มาก เช่น เพิ่มอำนาจในการต่อรอง จากที่อธิภัทร มุทิตาเจริญอธิบายข้างต้น แนวคิดภาษีคนจนอาจจะบั่นทอนแรงจูงใจในการเพิ่มชั่วโมงการทำงาน ดังนั้นเมื่อแนวคิดภาษีคนจนถูกนำมาใช้งาน อาจจะเป็นสิ่งที่เพิ่มอำนาจการต่อรองให้แรงงานกับนายจ้าง ไม่ใช่แค่เรื่องค่าแรงเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของการเปลี่ยนลักษณะงาน นายทุนต้องเพิ่มความสร้างสรรค์ สร้างงานที่เป็นนวัตกรรมเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในชั่วโมงงานที่จำกัด ที่มีความหลากหลาย ทั้งยังเพิ่มความเป็นประชาธิปไตยในองค์กรเนื่องจากแรงงานมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีเรื่องการพัฒนาของระบบเศรษฐกิจ ระบบดังกล่าวพัฒนาขึ้นได้ด้วยคนที่มีคุณภาพ ซึ่งเกิดมาจาก สวัสดิการที่ดีที่พัฒนาคุณภาพชีวิตคน และเงินให้เปล่าแบบไม่มีเงื่อนไข ไม่ได้พัฒนาด้วยกำไรของนายทุน ซึ่งเป็นนิยายของนายทุนเวลาหาเรื่องกดค่าแรงมากกว่า
ประเด็นเรื่องการลดแรงจูงใจของผู้ใช้แรงงาน ษัษฐรัมย์ เสนอว่า ผู้ประกอบการควรหานวัตกรรมการบริการ และการจัดการเทคโนโลยี ตัวอย่างเช่นกลุ่มประเทศ OECD โดยเฉพาะยุโรปตะวันตก และนอร์ดิก มีชั่วโมงการทำงานที่น้อย แต่มีประสิทธิภาพ เกิดมูลค่าเพิ่ม เป็นมิตรกับแรงงาน ทำให้ค่าใช้จ่ายจากความขัดแย้งในที่ทำงานก็ต่ำลงด้วย

“คนที่ทำงานหนักที่สุดในประเทศนี้คือคนจน ผมคิดว่าข้อเสนอว่าการมีสวัสดิการหรือเงินเดือนให้เปล่าแล้วทำให้คนจนขี้เกียจไม่ทำงาน คือคำพูดของคนที่ไม่รู้จักคนจน คนส่วนใหญ่ของประเทศไทยที่ทำงานหนักติดอันดับของโลก” ษัษฐรัมย์กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท