โจเซฟ สติกลิตซ์ ว่าด้วยกระแสความไม่พอใจ 'โลกาภิวัตน์' ของคนในประเทศพัฒนาแล้ว

นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลผู้เคยเขียนหนังสือพูดถึงความไม่พอใจโลกาภิวัตน์ของประเทศกำลังพัฒนา ในคราวนี้เขาเขียนบทความถึงความไม่พอใจโลกาภิวัตน์ของผู้คนในประเทศพัฒนาแล้วที่รู้ตัวแล้วว่าพวกเขาไม่ได้ประโยชน์จากลัทธิเศรษฐกิจเสรีนิยมใหม่ มีแต่คนรวยไม่กี่คนที่ได้ประโยชน์ และมองว่าสวัสดิการสังคมที่ดีถึงจะช่วยกอบกู้โลกาภิวัตน์ได้

โจเซฟ สติกลิตซ์ นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เขียนบทความเกี่ยวกับเรื่องกระแสความไม่พอใจ "โลกาภิวัตน์" ในหมู่ประชาชนในประเทศที่พัฒนาแล้ว จากเดิมเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ในช่วงที่เขาเคยเขียนหนังสือชื่อ "Globalization and its Discontents" (โลกาภิวัตน์และความไม่พอใจโลกาภิวัตน์)
หนังสือของเขาระบุเกี่ยวกับความไม่พอใจของคนในประเทศกำลังพัฒนาต่อโลกาภิวัตน์ พร้อมตั้งคำถามว่า พร้อมชี้ว่า ขณะที่ประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาถูกบอกว่าโลกาภิวัตน์จะช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น แต่ทำไมถึงมีผู้คนต่อต้านโลกาภิวัตน์เพิ่มมากขึ้น

สติกลิตซ์อ้างอิงผลสำรวจความคิดเห็นและการวิจัยข้อมูลโดยสแตนลีย์ กรีนเบิร์กกับเพื่อนร่วมทีมจากสถาบันรูสเวลท์ที่ระบุว่า เรื่องนโยบายการค้าเป็นปัจจัยโดยส่วนใหญ่ที่สร้างความไม่พอใจให้กับคนจำนวนมากในทวีปอเมริกา และทวีปยุโรปก็มีมุมมองใกล้เคียงกัน

แต่นักเศรษฐศาสตร์สายเสรีนิยมใหม่ก็มักจะอ้างว่านโยบายที่พวกเขาสนับสนุนทำให้ผู้คนมีชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นจริงๆ แล้วโยนเรื่องความคับข้องใจไปเป็นงานของนักจิตแพทย์ แทนที่จะเป็นความรับผิดชอบของนักเศรษฐศาสตร์เอง

สติกลิตซ์ระบุว่ามีประชากรจำนวนมากในประเทศพัฒนาแล้วที่ไม่ได้มีสถานภาพดีขึ้น คนระดับล่างในอเมริกันร้อยละ 90 ต้องเผชิญกับความชะงักงันของรายได้มาเป็นเวลา 30 ปีแล้ว และเมื่อพิจารณาร่วมกับภาวะเงินเฟ้อแล้ว รายได้มัธยฐานของแรงงานชายที่เป็นพนักงานเต็มเวลาถือว่าน้อยลงกว่าเดิมเมื่อเทียบกับ 42 ปีที่แล้ว และกับผู้มีรายได้ต่ำระดับล่างสุดมีค่าจ้างจริงเทียบได้กับเมื่อ 60 ปีที่แล้ว

นอกจากเรื่องรายได้แล้ว ภาวะความเป็นอยู่ของผู้คนชาวอเมริกันในเชิงสุขภาวะก็ไม่ได้ดีขึ้น จากผลสำรวจของนักเศรษฐศาสตร์ แอนน์ เคส และ แองกัส เดียตีน ผู้ได้รับรางวัลโนเบลเมื่อปีที่แล้วแสดงให้เห็นว่าอายุโดยเฉลี่ยของประชากรที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่ในประชากรคนผิวขาวอเมริกันกำลังลดลง สติกลิตซ์ระบุว่าถึงยุโรปจะดีกว่าสหรัฐฯ แต่ก็ไม่ได้ดีไปกว่ากันมากนัก

ในบทความยังอ้างอิงหนังสือของ บรันโค มิลาโนวิค ชื่อ "Global Inequality: A New Approach for the Age of Globalization" ที่มีการสำรวจ "ผู้แพ้" และ "ผู้ชนะ" ทางเศรษฐกิจในช่วงปี 2531-2551 คนที่เป็นผู้ชนะใหญ่ๆ มีอยู่แค่ร้อยละ 1 คือกลุ่มคนมั่งคั่งที่มีอำนาจ และกลุ่มชนชั้นกลางในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ ขณะที่กลุ่มผู้แพ้ที่ได้รับอะไรน้อยมากหรือแทบไม่ได้อะไรเลยได้แก่กลุ่มคนชั้นล่างสุด ไปจนถึงกลุ่มชนชั้นแรงงานและชนชั้นกลางในประเทศพัฒนาแล้ว ถึงแม้ว่าโลกาภิวัตน์จะไม่ใช่สาเหตุเดียวในเรื่องนี้แต่ก็ต้องนับว่าเป็นสาเหตุหนึ่ง

เรื่องหนึ่งที่สติกลิตซ์ระบุถึงคือการค้าเสรีที่มาจากแนวคิดของนักวิเคราะห์เศรษฐศาสตร์ โดยการค้าเสรีทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายภาคการผลิตไปสู่แรงงานไม่ใช้ทักษะฝีมือในต่างประเทศ เช่นการที่ชาติตะวันตกนำเข้าสินค้าที่ผลิตโดยแรงงานไม่ใช้ทักษะฝีมือในจีน ลดความต้องการแรงงานในยุโรปและในสหรัฐฯ ลง อย่างไรก็ตามพวกเสรีนิยมใหม่ไม่เคยพูดถึงผลกระทบที่เกิดจากการเปิดการค้าเสรีเหล่านี้ และอ้างว่าผู้คนจะได้รับประโยชน์

สติกลิตซ์ชี้ว่าความที่โลกาภิวัตน์ไม่สามารถนำผลประโยชน์ให้ผู้คนได้ตามที่สัญญานี้เองทำให้ผู้คนเสื่อมศรัทธาและความเชื่อมั่นใน "ระบบสถาปนา" (establishment) เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจก็จะมีการอุ้มธนาคารแบบช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2551 โดยที่ปล่อยให้ประชาชนทั่วไปต้องดิ้นรนเอาเองทำให้คนมองว่าเรื่องนี้ไม่ใช่แค่การตัดสินใจทางเศรษฐกิจที่ผิดพลาด พรรครีพับลิกันในรัฐสภาสหรัฐฯ ปฏิเสธที่จะให้ความช่วยเหลือแม้แต่กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโลกาภิวัตน์ โดยทั่วไปแล้วก็เป็นพวกเสรีนิยมใหม่นั่นเองที่ต่อต้านการให้สวัสดิการประชาชนซึ่งจะช่วยคุ้มครองผู้แพ้

สติกลิตซ์ระบุว่าถ้าหากพวกเขาต้องการให้โลกาภิวัตน์สร้างประโยชน์ต่อผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมจริง พวกเขาก็ควรจะมีมาตรการสวัสดิการสังคมที่เข้มแข็งแบบเดียวกับในประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่เรื่องการคุ้มครองสวัสดิการสังคมเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาประชาคมที่ทำให้เกิดสังคมที่เปิดกว้างยอมรับโลกาภิวัตน์และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้ แต่พวกเสรีนิยมใหม่ในที่อื่นๆ ไม่มีสิ่งเหล่านี้ทำให้มีการพยายามลงโทษพวกเขาในการเลือกตั้งในสหรัฐฯ และยุโรป

บทความของสติกลิตซ์ระบุว่าแทนที่ชนชั้นนำในระเทศพัฒนาแล้วเหล่านี้จะผลักดันนโยบายเพื่อให้แน่ใจว่าจะมีการกระจายความมั่งคั่งที่เป็นธรรม แต่พวกเขากลับเอาแต่ปฏิรูปโครงสร้างตลาดแบบที่สร้างความเหลื่อมล้ำมากขึ้นและทำให้ความสามารถทางเศรษฐกิจโดยรวมลดลง นั่นหมายความว่ายิ่งเขียนกฎให้เอื้อต่อธนาคารและพวกบรรษัทยักษ์ใหญ่ที่ถือเป็นกลุ่มร่ำรวยและมีอำนาจก็ยิ่งทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว จากการที่คนอื่นๆ นอกจากคนรวยถูกกด อำนาจการต่อรองของแรงงานลดลง ในสหรัฐฯ กฎหมายที่เอื้อต่อการแข่งขันก็ไม่ปรับไปตามยุคสมัยและมีการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างไม่เหมาะสม การดูแลจัดการโดยบรรษัทก็แย่ลง

ในหนังสือ "Rewriting the Rules of the American Economy" สติกลิตซ์เขียนว่าสหรัฐฯ ควรปรับเปลี่ยนข้อตกลงการค้าที่ทำร่วมกับประเทศอื่นทั้งความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (TPP) และหุ้นส่วนทางการค้าและการลงทุนระหว่างแอตแลนติกกับสหภาพยุโรป (TTIP) ซึ่งสติกลิตซ์มองว่าสหรัฐฯ กำลังเดินไปผิดทาง

และเช่นเดียวกับในหนังสือที่สติกลิตซ์เขียนไว้เมื่อ 15 ปีที่แล้วเขายังมองว่าปัญหาไม่ได้มาจากตัวโลกาภิวัตน์เองแต่เป็นปัญหาเรื่องของกระบวนการจัดการ โชคร้ายที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการจัดการใน 15 ปีต่อมาถึงนำความไม่พอใจกลับมาสู่ผู้คนในประเทศที่พัฒนาแล้วเองด้วย

เรียบเรียงจาก

Globalization and its New Discontents, Joseph Stiglitz, Project Syndicate, 05-08-2016
https://www.project-syndicate.org/commentary/globalization-new-discontents-by-joseph-e--stiglitz-2016-08

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท