Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ดันแคน แมคคาร์โก เขียนบทความเรื่องการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญโดยชี้ให้เห็นว่าครัวเรือนจำนวนมากไม่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็มก่อนลงประชามติ ได้เพียงฉบับย่อที่สรุปเนื้อหาสั้นๆ ในขณะที่ผลประชามติยังสะท้อนการแบ่งฝ่ายทางการเมืองในไทย ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ อาจมีความมั่นใจในการนำประเทศมากขึ้นแต่ก็อาจจะไม่เป็นอย่างที่คิดเสมอไป

ที่มาของภาพประกอบ: บ้านราษฎร์

ดันแคน แมคคาร์โก อาจารย์ด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยลีดส์ในประเทศอังกฤษ เขียนบทความแสดงความคิดเห็นเรื่องประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของไทย ลงใน Nikkei Asian Review โดยระบุว่าเมื่อมีการเปรียบเทียบกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 แล้วที่มีคะแนนเสียงเห็นชอบร้อยละ 57 รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้รับคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นบ้างเป็นร้อยละ 61 แต่ก็ไม่ได้ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมากอีกทั้งยังมีการอาศัยระบบแบบข้าราชการในการพยายามทำให้ผลลัพธ์ออกมาตามที่พวกเขาต้องการด้วย

แมคคาร์โกระบุว่าเมื่อมองเผินๆ แล้ว อาจจะเป็นเรื่องน่าแปลกใจที่ผู้ลงคะแนนชาวไทยแสดงการสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดที่ปล่อยให้ ส.ว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและมีการสงวนที่นั่งไว้ให้เจ้าหน้าที่ทหารระดับสูงและให้พวกเขาแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเองได้ ที่น่าแปลกใจเพราะชาวไทยมักจะมีการเลือกตั้งพรรคการเมืองของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณขึ้นเป็นรัฐบาล เหตุใดพวกเขาถึงเลือกเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญที่ทำให้ฐานอำนาจของทักษิณลดลง

อย่างไรก็ตามแมคคาร์โกมองว่าเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญมีอิทธิพลน้อยมากต่อการตัดสินใจโหวตของประชาชนเพราะประชาชนไม่สามารถเข้าถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็มได้และผู้ลงคะแนนส่วนใหญ่จะได้รับแต่เนื้อหาที่สรุปสั้นๆ และบิดเบือนจากข้อเท็จจริงของคณะกรรมการการเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งในฉบับสรุปโดย กกต. มีการละเลยไม่พูดถึงประเด็นที่กลายเป็นข้อถกเถียงอยู่เลย นอกจากนี้ยังมีการปิดกั้นไม่ให้วิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญอย่างเปิดเผยและมีการปราบปรามจากฝ่ายสนับสนุนรัฐบาลเสมอ

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้แมคคาร์โกมีความเห็นว่าคนส่วนใหญ่ที่ลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญเพราะคาดหวังการเลือกตั้งตามสัญญาหรือหวังว่าจะทำให้กลับไปสู่การเมืองแบบปกติ ในขณะที่ฝ่ายผู้โหวตคัดค้านมีความสงสัยในความจริงใจต่อการให้สัญญาของเผด็จการทหารและเกรงว่าร่างรัฐธรรมนูญที่มีความเผด็จการสูงจะให้อำนาจกองทัพขัดขวางการเมืองในประเทศไปอีกหลายปี

ในแง่ที่มีผู้มองว่ารัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดได้รับชัยชนะนั้นจะถือเป็นชัยชนะของคณะรัฐประหารนำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือไม่ จากการที่คณะรัฐประหารชุดนี้สัญญาว่าจะ "คืนความสุข" และมีเป้าหมายทำให้ประเทศชาติเกิดความปรองดอง ทำให้พวกเขาต้องการให้มีผู้ออกไปใช้สิทธิลงประชามติเป็นจำนวนมากและต้องการคะแนนเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้นแต่พวกเขาก็ไม่สามารถทำสำเร็จได้ทั้งสองวัตถุประสงค์ เพราะผู้มาใช้สิทธิมีน้อยกว่าที่คณะกรรมการการเลือกตั้งคาดการร์ไว้ว่าจะมีอยู่ร้อยละ 80 แต่จำนวนผู้มีใช้สิทธิมีเท่ากับปี 2550 คือราวร้อยละ 60 เท่านั้น และฝ่ายโหวตไม่รับถึงแม้จะแพ้คะแนนแต่ก็มีอยู่จำนวนเกือบร้อยละ 40 ซึ่งแสดงให้เห็นการแบ่งฝ่ายทางการเมืองในไทยยังคงมีอยู่

แมคคาร์โกระบุว่า ประเทศไทยยังคงเผชิญปัญหาแบบเดิมก่อนหน้าที่จะมีการรัฐประหาร พ.ค. 2557 ที่ประชาชนในภาคเหนือและภาคอีสานของไทยยังคงไม่ไว้ใจชนชั้นนำไทยอย่างมาก ขณะที่ในกรุงเทพนั้นในและภาคใต้ตอนบนยังคงเอนเอียงไปในทางตรงกันข้าม จากทีพรรคสนับสนุนทักษินยังคงชนะการเลือกตั้งในปี 2550 แสดงให้เห็นว่าการที่คนส่วนใหญ่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับทหารไม่ได้จำเป็นว่าพวกเขาจะเห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญเสมอไป นอกจากนี้การลงประชามติเมื่อวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมายังต่างจากการเลือกตั้งทั่วไปตรงที่ในการเลือกตั้งทั่วไปในไทยคนที่ทำงานไกลบ้านจะกลับบ้านเพื่อไปโหวตแต่ในการลงประชามติไม่เป็นเช่นนั้น ทำให้การลงประชามติไม่สามารถใช้คาดการณ์ผลการเลือกตั้งในอนาคตได้

แมคคาร์โกลงความเห็นอีกว่าถึงแม้ผลการลงประชามติอาจจะทำให้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความมั่นใจในการนำประเทศมากขึ้นแต่ก็อาจจะไม่เป็นอย่างที่คิดเสมอไป เพราะแม้แต่ผู้สนับสนุนคณะรัฐประหารหลักๆ อย่างชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ก็เริ่มเบื่อหน่ายรายการพูดผ่านโทรทัศน์ของนายกฯ ช่วงวันศุกร์มากขึ้น แมคคาร์โกมองว่าคนไทยมักจะเริ่มไม่พอใจผู้นำตนเองเมื่อผ่านไป 2-3 ปี และอารมณ์ความรู้สึกของประชาชนก็เปลี่ยนเป็นต่อต้านได้ง่ายมากรัฐบาลเผด็จการควรจะรีบลงจากอำนาจ แม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติแต่รัฐบาลก็ยังคงไม่สามารถคืนความสุขให้ประชาชนชาวไทยทั้งปวงได้

เรียบเรียงจาก

Duncan McCargo -- Thailand's ambiguous referendum result, Nikkei Asian Review, 08-08-2016 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net