Islamophobia และการเมืองของความกลัว ในมุมมองของชัยวัฒน์ สถาอานันท์

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ สำรวจอาการ 'กลัวแขก' และภยาคติทางวัฒนธรรม ความกลัวมีหน้าที่ของมันทั้งในเชิงอัตลักษณ์และการเมือง ความหลากหลายของมุสลิมถูกให้เลือน เตือนการอยู่ด้วยความกลัวคนที่แตกต่างอาจพาสังคมไปสู่จุดที่ไม่อยากไป

ชัยวัฒน์ สถานอานันท์

Islamophobia หรือที่ ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรียกว่า โรคกลัวแขก กำลังเป็นอาการทางสังคมที่แพร่ระบาดทั้งในระดับโลกและในสังคมไทยเอง ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรจึงได้จัดการบรรยายในหัวข้อ ‘Islamopobia โรคกลัวแขก: วิพากษ์ภยาคติทางวัฒนธรรม’ โดยมีชัยวัฒน์เป็นผู้บรรยาย เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา

“ผมคิดว่าการวิพากษ์ภยาคติทางวัฒนธรรมต้องวิเคราะห์บทบาทสำคัญและตำแหน่งแห่งที่ของความกลัวในสังคม โจทย์ของผมไม่เชิงเน้นที่ Islamophobia แต่โจทย์ของผมคือปัญหาของ Phobia หรือความกลัว ผมไม่ได้สนใจว่ากลัวอะไร ดังนั้น คุณเอาอย่างอื่นมาใส่ก็ได้ แต่ละอย่างก็จะมีคำอธิบายไม่เหมือนกัน ทั้งหมดนี้ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ผมเรียกว่าภยาคติทางวัฒนธรรม เป็น Cultural Fear

“ในกรณีนี้เราบอกว่าเป็นโรคกลัวแขก ซึ่งมันมีคนที่เป็นโรคนี้และรู้สึกภูมิใจที่เป็น ขณะที่เราบอกว่ามันเป็นปัญหา คนอีกจำนวนหนึ่งในโลกอาจไม่ใช่ มันอาจเป็นอัตลักษณ์ของเขา พูดให้แรงกว่านั้นคือพวกเขาอาจจะอยู่ได้จากการกลัวสิ่งเหล่านี้”

“เราคิดว่าคนมุสลิมเหมือนกันหมด เพื่อทำให้ความกลัวกลายเป็นอาวุธทางการเมือง ความหลากหลายต้องถูกทำให้เลือนไป การผลิตภาพแบบนี้ก็คือปีศาจวิทยาของสิ่งที่เกิดขึ้น”

ชัยวัฒน์ตั้งคำถามต่อไปว่า แล้วความกลัวแขกมาจากไหน ปัจจัยหนึ่งเขาคิดว่า มาจาก ‘จำนวน’ โดยจำนวนสัมพันธ์กับการปรากฏและการปรากฏสัมพันธ์กับสิ่งที่เห็น โดยชัยวัฒน์ได้ยกเอาตัวเลขการคาดการณ์ประชากรที่นับถือศาสนาต่างๆ ในปี 2050 ซึ่งพบว่า จำนวนการเติบโตของประชากรมุสลิมเพิ่มขึ้น ขณะที่ศาสนาอื่นทั้งหมด ถ้าจำนวนไม่เท่าเดิมก็ต่ำกว่าเดิม ดังนั้น อาการ Islamophobia ก็มีเค้ามูลจากการเปลี่ยนแปลงประชากรดังที่เห็น

“คนก็จะพูดว่าในสังคมเราเห็นผู้หญิงคลุมฮิญาบเยอะเหลือเกิน ทั้งที่สมัยก่อนไม่เห็น มันเป็นการปรากฏของสิ่งที่เหมือนจะเปลี่ยนไป”

อีกด้านหนึ่ง ชัยวัฒน์ตั้งคำถามด้วยว่า แล้วชาวมุสลิมมีส่วนทำให้เกิดโรคกลัวแขกหรือไม่ เขาอธิบายผ่านประวัติศาสตร์ตะวันตกว่า ไม่ใช่เหตุบังเอิญที่ Islamophobia ในยุโรปค่อนข้างโดดเด่น เหตุผลคือตัวเลขการคาดการณ์ประชากรมุสลิมมันฝังอยู่ในอดีต หมายความว่ามันโตขึ้นจากประวัติศาสตร์ของยุโรปเองและประวัติศาสตร์สายสัมพันธ์ระหว่างยุโรปกับโลกมุสลิม เนื่องจากยุคที่มุสลิมขยายอำนาจ อำนาจนั้นไปถึงเวียนนา จึงทำให้ความรู้สึกกลัวนั้นยังคงอยู่ เพราะมุสลิมคืออารยธรรมเดียวที่ไปเคาะประตูเวียนนาได้ เขาอธิบายต่อไปว่า

“แล้วมุสลิมมีส่วนทำให้เกิดโรคกลัวแขกหรือไม่ อย่างไร ผมคิดว่ามีเรื่องที่ต้องคิดสามสี่เรื่อง หนึ่งคือภาพพจน์ของความรุนแรง ไม่ว่าจะกรณี 9/11 กรณีที่ชาร์ลี เอ๊บโด เราเห็นภาพพจน์ของความรุนแรงจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส มันปฏิเสธไม่ได้ว่ามี แต่เราพูดถึงเคสเหล่านี้ ขณะที่เรามีคนมุสลิม 1.6 พันล้าน เราคิดว่าคนมุสลิมเหมือนกันหมด เพื่อทำให้ความกลัวกลายเป็นอาวุธทางการเมือง ความหลากหลายต้องถูกทำให้เลือนไป การผลิตภาพแบบนี้ก็คือปีศาจวิทยาของสิ่งที่เกิดขึ้น”

นอกจากนี้ ภาพลักษณ์ของมุสลิมที่ปรากฏไม่ว่าจะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพ ความเข้มข้นทางศาสนา สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้คนมองศาสนาอิสลามด้วยสายตาไม่เป็นมิตรและหวาดระแวง

อาการของโรคที่แสดงออกมาในกรณีศึกษาต่างๆ เช่น การไม่สนับสนุนสินค้าฮาลาล การต่อต้านการสร้างมัสยิด โดยใส่คำอธิบายว่าพุทธศาสนาถูกรังแกมานาน ที่สำคัญคือภาพความรุนแรงในภาคใต้ที่ยิ่งทำให้ความกลัวอิสลามแพร่ระบาดและออกอาการรุนแรงยิ่งขึ้น

“ทหารจากกองทัพภาคต่างๆ ที่ลงไปปฏิบัติการในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ หลังจาก 2 ปีแล้วกลับบ้าน เขาไม่ได้กลับไปเฉยๆ แต่พวกเขากลับไปพร้อมภาพบางอย่างจากพื้นที่ และมันไปผลิตซ้ำเรื่องบางเรื่องที่เกิดขึ้น เราทำงานกับศูนย์มานุษย์ฯ เราเคยเจอทหารที่ลงไปในพื้นที่ ผมถามเขาว่าลงมาทำไม เขาก็ตอบผมตรงๆ เลย ผมมานี่ ผมอยากฆ่ามัน 25 ศพครับ คือมาด้วยวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน เขาเห็นว่าภาคใต้เป็นปัญหา และวิธีการของเขาที่เป็นทหาร เครื่องมือที่เขามีคือปืน เขาไม่ใช่คนร้าย เขาไม่ใช่คนผิด เขาเห็นโลกแบบนั้น สำหรับชาวบ้านจึงไม่ไว้วางใจภาพพจน์บางอย่างของภาคใต้ไปแล้ว

“ผลของความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มันไปไกลมาก วิธีที่มันไปก็น่าสนใจ ตัวอย่างอาจารย์คนหนึ่งในสงขลาที่สอนนักศึกษามุสลิมที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จนรู้สึกถูก ‘พวกเขา’ รุกพื้นที่ หรือพระพุทธรุปปางยมกปาฏิหาริย์บนยอดเขาสันกาลาคีรี (ตั้งอยู่ที่วัดทรายขาว บ้านทรายขาว ตำบลทรายขาว อำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี) ที่เด็กที่นั่นเรียกว่า พระปราบแขก แต่ประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านนี้น่าสนใจมากนะครับ เพราะเป็นหมู่บ้านที่ชาวพุทธกับมุสลิมอยู่ร่วมกันมา แต่การสร้างพระพุทธรูปแบบนี้จะก่อให้เกิดอะไรตามมาก็น่าสนใจ”

ชัยวัฒน์ยังอธิบายเรื่องความกลัวผ่านทฤษฎีการเมืองสมัยใหม่ด้วยว่า ถ้าเราเชื่อว่าทฤษฎีการเมืองสมัยใหม่เริ่มต้นจากโทมัส ฮอบส์ ความน่าสนใจของฮอบส์คือการอธิบายว่าสิ่งที่เป็นอารมณ์สำคัญของมนุษย์ในสภาพธรรมชาติคือความกลัว ความกลัวทำให้มนุษย์เดินออกจากสภาพธรรมชาติและเข้าสู่สังคมการเมือง มอบอำนาจให้องค์อธิปัตย์เพื่อขจัดความกลัวที่ฮอบส์เรียกว่าความตายอันรุนแรงจากน้ำมือคนอื่น

“เพราะฉะนั้นความกลัวจึงเป็นปมสำคัญของสังคมการเมือง ของทฤษฎีการเมือง ของกำเนิดประชาธิปไตย ของอำนาจอธิปไตย ความกลัวอาจจะเป็นเหตุสำคัญมากของการดำรงอยู่ของมนุษย์ก็ได้ ศัตรูสำคัญต่อการดำรงอยู่ของคุณ เพราะศัตรูบอกว่าคุณเป็นใคร เพราะว่าสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของสังคมและมนุษย์อาจบางทีไม่ใช่เพื่อน แต่คือศัตรู เพราะเพื่อนไม่เคยนิยามว่าคุณเป็นใคร เท่ากับที่ศัตรูจะบอกได้ว่าจริงๆ แล้วคุณเป็นใคร ใครที่ดูแคลนคู่ตรงข้าม ผมคิดว่าเป็นอันตรายมาก เพราะจะทำให้คุณไม่เห็นว่าโลกมันเคลื่อนยังไง ไม่ว่ามันจะเป็นความจริงหรือไม่ก็ตาม”

“เพราะว่าสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งในชีวิตของสังคมและมนุษย์อาจบางทีไม่ใช่เพื่อน แต่คือศัตรู เพราะเพื่อนไม่เคยนิยามว่าคุณเป็นใคร เท่ากับที่ศัตรูจะบอกได้ว่าจริงๆ แล้วคุณเป็นใคร”

ผู้สื่อข่าวจากประชาไทตั้งคำถามว่า แล้วความกลัวกับความเกลียดกับประเด็นศาสนาอิสลามทำงานต่างกันอย่างไร ชัยวัฒน์ ตอบว่า

“ผมพูดในฐานะคนสอนปรัชญาการเมือง นักปรัชญาการเมืองคนสำคัญคือมาเคียเวลลีพูดถึงความรู้สึกเหล่านี้ และคำสอนสำคัญของเขาก็คือ ถ้าคุณต้องเลือกระหว่างความรักกับความกลัว คุณก็ต้องคิดว่าอะไรคือความสามารถของคุณ แต่ที่มาเคียเวลลีพูดชัดเจนคืออย่าทำให้เขาเกลียด เพราะความเกลียดจะทำให้การปกครองของคุณสลายไป ความเกลียดจึงเป็นปัญหาใหญ่

“ในทางการเมือง การลุกขึ้นมาแล้วบอกว่าเกลียด มันทำได้ยาก ความเกลียดในตัวมันมีความเป็นลบอยู่ แต่ความกลัวเป็นความรู้สึกบางอย่างซึ่งเราสามารถพูดถึงมันได้ และอาจจะมีข้อดี เช่น หลังเหตุการณ์ 9/11 การพูดถึงความกลัวภัยคุกคามทำให้เราตื่นตัว แต่ความเกลียดอาจมีความหมายเชิงลบมากกว่า แต่การรวมตัวของกลุ่มคนที่เกลียดอะไรบางอย่าง อันนี้เป็นปรากฏการณ์ที่ทวีขึ้นในสหรัฐฯ เวลานี้ สำหรับความกลัวกับความเกลียด ผมจะบอกว่าความเกลียดเป็นยาพิษและอันตรายกว่า แต่ความกลัวเป็นสิ่งที่ถูกใช้บ่อยกว่า”

“ถ้าเราดำเนินชีวิตโดยให้ความกลัวเป็นเจ้าเรือนแบบนี้ โดยเฉพาะกลัวมนุษย์ กลัวผู้คนจำนวนหนึ่งเพียงเพราะเขาแตกต่างจากเรา ผมคิดว่ามันจะพาเราไปในที่ที่เราไม่อยากไปก็ได้”

ส่วนความพยายามผลักดันแนวคิดการแยกรัฐออกจากศาสนาจะช่วยบรรเทาอาการกลัวแขกได้หรือไม่ ชัยวัฒน์ตอบว่า

“ผมคิดว่าระยะห่างระหว่างศาสนากับรัฐเป็นตัวอธิบายระดับของความรุนแรง หมายความยิ่งศาสนากับรัฐยิ่งอยู่ใกล้กันเท่าไหร่โอกาสเกิดความรุนแรงยิ่งสูง ผมเห็นว่าถ้ามันเข้าใกล้ มันจะมีปัญหา แต่ผมคิดว่ารัฐทั้งหลายพออธิบายเป็นรัฐชาติ ผมคิดว่ามันอยากเป็นศาสนาทั้งนั้น รัฐเป็นกลไก แต่รัฐชาติเป็นอัตลักษณ์ทางสังคม ถ้าเราเชื่อเบน แอนเดอร์สัน คือรัฐชาติอยากสร้างชุมชนในจินตกรรม การจะสร้างสิ่งนี้ ศาสนาทำได้ การสร้างศาสนาคือการสร้างชุมชนในจินตกรรม ดังนั้น รัฐชาติจึงพัฒนาพิธีกรรม พัฒนาความทรงจำ ประวัติศาสตร์ และเครื่องมือต่างๆ เพื่อทำให้คนมารวมกัน ทำให้เรารู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเดียวกัน เราจดจำเรื่องเดียวกัน

“รัฐชาติมันกำลังกลายเป็นศาสนาไปแล้ว นึกออกมั้ย สิ่งที่รัฐต้องการจากคุณคืออะไร คือความตายและชีวิตของคุณกับภาษี สองสิ่งนี้ผู้ที่ทำสำเร็จที่สุดคือศาสนา และสิ่งที่คุณให้กับวัด กับโบสถ์ มันต่างจากภาษียังไง คุณให้ด้วยความยินดี แล้วมีรัฐไหนไม่อยากทำอย่างนั้น”

ชัยวัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายเกี่ยวโรคกลัวแขกหรือภยาคติทางวัฒนธรรมว่า

“ในที่สุดแล้ว โรคนี้มันทำอะไรกับเรา ถ้าเราเชื่อในพุทธพจน์ เราจะเห็นว่าโรคนี้ทำร้ายเราขนาดไหน จึงอาจมีความจำเป็นที่เราต้องเฝ้าดูมัน พิจารณามัน กระทั่งหาวิธีป้องกัน เพื่อจะลดฤทธิ์ของมัน ถ้าเราดำเนินชีวิตโดยให้ความกลัวเป็นเจ้าเรือนแบบนี้ โดยเฉพาะกลัวมนุษย์ กลัวผู้คนจำนวนหนึ่งเพียงเพราะเขาแตกต่างจากเรา ผมคิดว่ามันจะพาเราไปในที่ที่เราไม่อยากไปก็ได้ เพราะฉะนั้นจำเป็นที่จะต้องมีการวิพากษ์ปรากฏการณ์พวกนี้ โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกว่าภยาคติทางวัฒนธรรม”

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท