Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis





1: หนีให้พ้นจากความสามัคคีเชิงกดขี่

เหตุการณ์ประชามติครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าขบวนการประชาธิปไตยยังหนีไม่พ้นจากวาทกรรม “ความสามัคคี” ที่เผด็จการเป็นผู้หยิบยื่นให้ และวัฒนธรรมของขบวนการวางอยู่บนหลักการเรื่องเสรีภาพเชิงลบเป็นหลัก ซึ่งไม่เพียงพอที่จะสร้างแนวร่วมประชาชนที่มีความเข้มแข็งขึ้นมาได้ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวนี้ ขบวนการประชาธิปไตยต้องคิดถึงความสามัคคีรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “ความสามัคคีเชิงสันติวิธี” พร้อมกับสร้างวัฒนธรรมองค์กรบนฐานเสรีภาพเชิงบวกไปควบคู่กับเสรีภาพเชิงลบด้วย 

หลังจากที่ฝ่ายโหวตโนพ่ายแพ้ไปในประชามติครั้งล่าสุด เกิดความขัดแย้งในหมู่นักกิจกรรมและผู้นิยมประชาธิปไตยอย่างมาก ฝ่ายโนโหวตหลายคนถูกโจมตีว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้ฝ่ายโหวตโนแพ้ในประชามติครั้งนี้ ฝ่ายที่โหวตโนก็ถูกโจมตีเช่นกันว่าไม่ควรเข้าไปมีส่วนร่วมกับประชามติตั้งแต่แรก สำหรับหลาย ๆ คน ความขัดแย้งที่ว่านี้ดูจะเป็นโจทย์ที่สำคัญสำหรับขบวนการประชาธิปไตยมากกว่าการขจัดเผด็จการหรือเปลี่ยนใจกลุ่มที่โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญให้โหวตโนหรือโนโหวตเสียอีก

แม้ไม่ได้พูดออกมา แต่หลายคนก็มองว่าความขัดแย้งที่ว่านี้เป็นเรื่องปกติ เพราะความขัดแย้งในหมู่ฝ่ายประชาธิปไตยด้วยกันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมานานแล้ว และในธาตุแท้แล้วเป็นบ่อเกิดของความสร้างสรรค์ บางคนอาจจะมองว่าความขัดแย้งที่ว่านี้ไม่ใช่เรื่องดี แต่อย่างน้อยที่สุด ฝ่ายประชาธิปไตยบ้านเราก็ทะเลาะกันได้โดยไม่ต้องใช้ความรุนแรงต่อกัน ดังนั้น การปล่อยให้ฝ่ายประชาธิปไตยทะเลาะกันก็ยังดีกว่าการยอมให้ใครเข้ามา “รักษาความสงบ” เพื่อระงับความขัดแย้ง ซึ่งเป็นการปิดกั้นเสรีภาพและกดทับความหลากหลาย

ความเชื่อที่ว่านี้เป็นด้านกลับของวาทกรรม “ความสามัคคี” “ความขัดแย้ง” และ “ความหลากหลาย” ของฝ่ายเผด็จการ ฝ่ายเผด็จการมักโฆษณาชวนเชื่อว่าตนเองต้องยึดอำนาจ เพราะความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทางการเมืองทั้งสองค่ายอาจเป็นต้นเหตุที่นำไปสู่ความรุนแรงหรือสงครามกลางเมืองได้ พอยึดอำนาจได้แล้ว เพื่อให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ ทุกคนก็ควรจะเรียนรู้บทเรียนด้วยการหันมาสามัคคีกันและจำกัดความหลากหลายเอาไว้ระดับหนึ่ง เพื่อป้องปรามความขัดแย้งเอาไว้ไม่ให้ลุกลามเป็นความรุนแรงซึ่งจะฉุดประเทศให้ถอยหลังอีก ความสามัคคีในความเข้าใจของเผด็จการจึงมีแก่นอยู่ที่ “อำนาจ” และ “การรักษาความสงบ” ซึ่งนำไปสู่การจำกัดความหลากหลายอันเป็นบ่อเกิดของความขัดแย้ง และป้องปรามความขัดแย้งไม่ให้ลุกลามไปสู่ความรุนแรง

นักกิจกรรมและฝ่ายประชาธิปไตยหลายคนไม่หูเบาต่อคำโฆษณาชวนเชื่อของเผด็จการง่าย ๆ เป็นแน่ พอฟังที่คนเหล่านี้พูด ก็จะพบทันที่ว่า “ความขัดแย้ง” ไม่ใช่บ่อเกิดของความรุนแรง แต่เป็นการสำแดงตนของ “ความหลากหลาย” ซึ่งเป็นบ่อเกิดของความสร้างสรรค์ต่างหาก เหตุที่คณะรัฐประหารอ้างว่า “ความขัดแย้ง” อาจนำไปสู่ความรุนแรงได้ เป็นเพราะพวกเขาหาข้ออ้างเพื่อขึ้นสู่อำนาจ “ความสามัคคี” เล่าก็เป็นเพียงโฆษณาจอมปลอมที่คณะรัฐประหารเอาไว้หลอกล่อให้คนยอมอยู่ภายใต้เผด็จการ พวกเขาจะได้รักษาอำนาจเอาไว้ต่อไป แลกมากับการปิดกั้นเสรีภาพและความหลากหลายเท่านั้นเอง

ตารางที่ 1 : ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดต่าง ๆ ของเผด็จการและขบวนการประชาธิปไตย

แนวคิด

นักกิจกรรม / ผู้นิยมประชาธิปไตย

เผด็จการ

แก่นฐาน

เสรีภาพ / ความสร้างสรรค์

อำนาจ / ความสงบ

ความสามัคคี

บั่นทอนความหลากหลาย และละเมิดเสรีภาพ

บั่นทอนความหลากหลาย เพื่อระงับความขัดแย้ง

ความขัดแย้ง

เป็นบ่อเกิดความสร้างสรรค์

เป็นบ่อเกิดความรุนแรง

ความหลากหลาย

เป็นการแสดงออกเสรีภาพ

เป็นบ่อเกิดความขัดแย้ง


อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้นิยมประชาธิปไตยและนักกิจกรรมเชื่อเกี่ยวกับธาตุแท้ของความสามัคคีก็ยังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของวาทกรรมที่เผด็จการเป็นผู้หยิบยื่นให้อยู่ดี เพราะผู้คนเหล่านี้ยอมรับความหมายของ “ความสามัคคี” ที่เผด็จการเป็นผู้มอบให้ ว่าเป็นสิ่งที่สร้างข้อจำกัดให้แก่เสรีภาพ ความหลากหลาย และความขัดแย้งเชิงสร้างสรรค์ตั้งแต่แรก โดยไม่ได้ตั้งคำถามต่อสมมติฐานดังกล่าว พอเป็นเช่นนี้ ขบวนการก็ได้รับผลกระทบเชิงลบในหลายด้าน มิพักต้องกล่าวว่าฐานความเข้าใจเกี่ยวกับเสรีภาพ ซึ่งจะเสนอต่อไปว่าเป็นเสรีภาพจำเพาะแบบหนึ่งที่เรียกว่า “เสรีภาพเชิงลบ (negative liberty)” นั้น ยังไม่เพียงพอที่จะนำไปสู่การสร้างขบวนการที่เข็มแข็งได้

เพื่อเอาชนะข้อจำกัดที่ว่านี้ เราควรมาขบคิดกันว่าความหมายของ “ความสามัคคี” ที่เผด็จการมอบให้ด้วยตัวมันเองว่าเป็นความจริงหรือไม่ และความเข้าใจเกี่ยวกับเสรีภาพของเรายังมีข้อจำกัดอย่างไร เมื่อตระหนักถึงข้อจำกัดที่ว่านี้แล้ว เราควรจะพัฒนากลยุทธ์การต่อสู้ด้วยการขบคิดถึงความสามัคคีแบบใหม่และความหมายของเสรีภาพที่กว้างขวางขึ้นในเชิงทฤษฎี เพื่อทำลายข้อจำกัดทางวาทกรรมที่ว่านี้ในสังคมได้อย่างไร พูดอย่างรวบรัด คือ ความสามัคคีเป็นองค์ประกอบที่สำคัญสำหรับขบวนการประชาธิปไตยอย่างมาก แต่ความสามัคคีของเราไม่จำเป็นต้องเหมือนกับของเผด็จการเสมอไป นอกจากนี้ ความเข้าใจเรื่องเสรีภาพที่เรามีกันอยู่ก็ยังมีข้อจำกัด และเราสามารถพัฒนาต่อยอดจากแนวคิดดังกล่าวเพื่อสร้างเสริมขบวนการประชาธิปไตยที่เข็มแข็งขึ้นได้อีกมาก

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net