เกย์ชายและการต่อรองเพื่อไม่เกณฑ์ทหารในตุรกี: กระบวนการและผลกระทบ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในประเทศตุรกี  ‘ขั้นตอนสำคัญของการกลายเป็นผู้ชายและยังเป็นการพิสูจน์ความเป็นชายที่สมบูรณ์คือการเข้ารับการเกณฑ์ทหาร หากคุณเป็นชายรักชายหรือคนข้ามเพศที่ไม่อยากเข้ารับการเกณฑ์ทหาร คุณมีหน้าที่ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าคุณไม่ได้มีความเป็น "ชายแท้" หรือไม่ได้เป็นผู้ชายที่ชอบเพศหญิง (heterosexuality) ตามบรรทัดฐานของสังคม

แต่กระนั้น การเป็นคนข้ามเพศโดยเฉพาะถ้าผ่าตัดแปลงเพศแล้วเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ไม่ยากเท่าไร ต่างจากการที่คุณเป็นเกย์ชายที่มีภาพลักษณ์ภายนอกเป็นเหมือน "ผู้ชายปกติ" หรือหากคุณคนข้ามเพศที่ยังไม่ได้ผ่านการแปลงเพศแต่ข้างในคุณมีความรู้สึกชอบและปรารถนากับคนเพศสภาพชายด้วยกัน จะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ยากกว่า

ในตุรกี จะมีสิ่งที่เรียกว่า Rotten Report หรือ ‘การตรวจประเมินความเบี่ยงเบน’ ซึ่งเป็นผลการทดสอบที่รับรองว่าคุณมีความเป็นชายที่บกพร่อง หรือเป็นเหมือนหนังสือรับรองให้กับคนที่ไม่อยากเข้าสู่กระบวนการเกณฑ์ทหารว่าเขาเป็นคนรักเพศเดียวกันจริง 

ซึ่งการทดสอบที่ว่าไม่ใช่การทดสอบเพียงแค่การแถลงด้วยวาจาของผู้ที่ยื่นคำร้องเท่านั้น เพราะก่อนจะได้รับหนังสือรับรองดังกล่าว บุคคลที่ยื่นเรื่องขอไม่รับการเกณฑ์ทหารจะต้องเข้าไปยังสถาบันการแพทย์/โรงพยาบาลของทหาร เพื่อรับการทดสอบทั้งทางร่างกายและจิตใจ ในแง่นี้สถาบันทางการแพทย์และจิตวิทยาของกองทัพจึงเป็นกลไกหลักของอำนาจที่สามารถกำหนดนิยามว่าใครบ้างที่เข้าเงื่อนไขไม่ต้องรับการเกณฑ์ทหารเพราะเป็น "homosexuality" หรือมีความเป็นชายที่บกพร่อง และใครบ้างที่ยังมีคุณสมบัติของความเป็นชายมากพอที่จะรับการเกณฑ์ทหารต่อไป

ในการทดสอบทางร่างกาย สถาบันทางการแพทย์ทหารของตุรกีบังคับให้ผู้ยื่นเรื่องขอทดสอบนั้นต้องมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายขณะที่ตนเองมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่เป็นผู้ชายมาให้เจ้าหน้าที่ดู นอกจากนี้บุคคลนั้นจะต้องผ่านการตรวจสอบทางช่องทวารหนักว่าเคยผ่านการมีเพศสัมพันธ์แบบรักเพศเดียวกันมาจริงหรือไม่

หลังจากตรวจร่างกายเสร็จ แพทย์ของกองทัพจะส่งต่อไปให้ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาตรวจสอบสภาพจิตใจด้วยวิธีการสัมภาษณ์ และจะกักบริเวณไว้ในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลาหลายวัน เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญคอยสังเกตพฤติกรรมและคอยประเมินว่าบุคคลนั้นมีความ "อ้อนแอ้น" หรือ "กระตุ้งกระติ้ง" แบบไม่สมชายชาติทหารจริงหรือไม่ ถึงแม้เขาจะมีหลักฐานว่าเคยมีเพศสัมพันธ์กับผู้ชายมาก็ตาม แต่หากเขาไม่มีความอ้อนแอ้นที่ผิดไปจาก “ความเป็นชาย” ให้สังเกตเห็นได้มากพอ เขาก็อาจจะถูกประเมินว่ายังมีความเหมาะสมที่จะเข้าเกณฑ์ทหารได้เหมือนเดิม

วิธีการสังเกต เก็บข้อมูล และวิธีการประเมินผลซึ่งถูกใช้โดยสถาบันการแพทย์ของกองทัพตุรกีสามารถสรุปได้โดยสังเขปดังนี้

1) ภาพถ่ายขณะมีเพศสัมพันธ์ซึ่งพิสูจน์ว่าผู้ยื่นคำร้องเป็นฝ่ายรับหรือถูกกระทำ (ต้องเห็นใบหน้าของผู้ยื่นคำร้องด้วย)

2) การตรวจทางทวารหนักเพื่อตรวจสอบว่าผู้ยื่นคำร้องเคยมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักจริงหรือไม่

3) การสัมภาษณ์ซ้ำๆเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งอาจจะถูกสัมภาษณ์โดยหมอมากกว่าหนึ่งคนและใช้เวลาสัมภาษณ์ตั้งแต่หนึ่งนาทีถึงหนึ่งชั่วโมง

4) การทดสอบบุคลิกภาพอย่างเช่น Rorschach Inkblot Test และ the Minnesota Multiple Personality Inventory (MMPI)

และถึงแม้ว่าจะผ่านการทดสอบทั้งหมดนี้แล้ว แต่ถ้าแพทย์หรือคณะกรรมของสถาบันการแพทย์กองทัพยังไม่สามารถตัดสินใจเกี่ยวกับเงื่อนไขด้านจิตวิทยาทางเพศของผู้ยื่นคำร้องได้ ผู้ยื่นคำรองคนนั้นก็อาจถูกกักตัวไว้ที่โรงพยาบาลเป็นเวลาสามสัปดาห์ภายใต้การสอดส่องที่คลินิกด้านจิตเวชของโรงพยาบาลกองทัพ (รู้จักกันในชื่อ ‘หอผู้ป่วยสีชมพู’)

ในกรณีส่วนใหญ่ผู้ยื่นคำร้องแต่ละคนจะถูกแยกออกจากผู้รับการทดสอบคนอื่นๆ ในบางกรณีการทดสอบและกระบวนการเหล่านี้อาจจะถูกทำซ้ำๆเป็นประจำทุกปีเป็นเวลานานถึงสามปี ภายใต้ข้อสันนิษฐานว่ายังมีความเป็นไปได้ที่จะ ‘รักษา’ ผู้ยื่นคำร้องเหล่านั้นให้หายจากการเป็นเกย์

แต่ภายหลังจากนี้ผู้เข้ารับการทดสอบได้รับสิ่งที่เรียกว่า Rotten Report เพื่อไม่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารแล้วก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีผลกระทบในทางสังคมและเศรษฐกิจตามมาเลย ตรงกันข้าม ด้วยเหตุที่ตุรกีเป็นสังคมซึ่งให้คุณค่ากับความรักชาติและการรับใช้ชาติด้วยการเป็นทหารอย่างมาก การที่คนซึ่งเกิดมาในเพศสภาพชายแต่ไม่เข้า/ไม่สามารถรับการเกณฑ์ทหารจึงเป็นสิ่งที่ถูกดูถูกดูแคลน และยังสร้างปัญหาให้กับคนๆนั้นอย่างมาก ทั้งปัญหากับครอบครัวและปัญหาในการทำงาน

ในการสัมภาษณ์กลุ่มผู้ที่ได้ผ่านการทดสอบและได้รับ Rotten Report มา ผู้ให้สัมภาษณ์คนหนึ่งซึ่งทำงานอยู่ในหน่วยงานรัฐบาลแห่งหนึ่งให้ข้อมูลว่า ถึงแม้เวลาจะผ่านมานานมากแล้วตั้งแต่ที่เขาได้รับ Rotten Report มา แต่ถึงปัจจุบันเขาก็ยังคงถูกจ้างงานบนฐานของการต่อสัญญาตามเวลาที่กำหนดอยู่ เขาระบุว่าเหตุผลตัวเขาไม่สามารถเป็น ‘ลูกจ้างถาวร’ ได้ก็เพราะ Rotten Report ที่เขาได้รับมานั่นเอง ทั้งๆที่ตัวเขาทำงานมานานและมีประสบการณ์การทำงานที่มากพอ

ผู้ให้สัมภาษณ์อีกคนหนึ่งอธิบายผลกระทบด้านครอบครัวที่เกิดขึ้น เขาระบุว่าตัวเขาถูกตัดหางปล่อยวัดจากครอบครัวไปเลยนับตั้งแต่ที่เขาได้รับ Rotten Report และไม่เข้ารับการเกณฑ์ทหาร เมื่อเขาเริ่มทำธุรกิจของตนเองครอบครัวก็ไม่ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือหรือให้การสนับสนุนใดๆ ในขณะที่น้องชายของเขาซึ่งผ่านการเกณฑ์ทหารอย่างสมบูรณ์มาแล้ว ครอบครัวกลับซื้อทั้งบ้านและรถยนต์ให้ และยังให้การสนับสนุนเมื่อน้องชายเขาเริ่มทำธุรกิจอีกต่างหาก 

ผู้ให้สัมภาษณ์อีกหลายคนให้ข้อมูลในทำนองว่าพวกเขาไม่กล้าบอกใครเลยว่าตนเองได้รับ Rotten Report มาจึงไม่ได้เข้ารับการเกณฑ์ทหาร เพราะพวกเขาหวาดกลัวทัศนคติเชิงลบของครอบครัว ญาติพี่น้องและคนใกล้ชิด ถึงขนาดก่อนที่จะเข้ารับการทดสอบเพื่อให้ได้ Rotten Report มาพวกเขาก็ต้องคิดใคร่ครวญอย่างหนักถึงผลลัพธ์ที่อาจจะเกิดขึ้นกับชีวิตของตนเอง ทางออกคือพวกเขาเลือกปรึกษากับเพื่อนหรือคนรู้จักที่เคยเข้าทดสอบและได้รับ Rotten Report มาก่อนหน้านั้นแล้ว ซึ่งคนเหล่านั้นทำหน้าที่ให้การสนับสนุนด้านจิตใจและยังตามไปให้กำลังใจเมื่อพวกเขาเข้ารับการทดสอบที่โรงพยาบาลของกองทัพ

สิ่งที่เล่ามาทั้งหมดนี้ทำให้เราเห็นว่า ถึงแม้ในตุรกีจะมีช่องทางให้คนรักเพศเดียวกันสามารถต่อรองเพื่อไม่ต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารได้ก็จริง แต่กระบวนการดังกล่าวกลับเป็นสิ่งที่เต็มไปด้วยการละเมิดสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และละเมิดความเป็นส่วนตัวของปัจเจกบุคคลอย่างมาก

ถึงแม้กระบวนการทดสอบดังกล่าวจะเป็นเกิดจาก “กระบวนการทางการแพทย์” ซึ่งดูเหมือนวางอยู่บนหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่ดูเป็นกลางและปราศจากอคติ แต่แท้จริงแล้ว Rotten Report กลับเป็นสิ่งที่สะท้อนปฏิบัติการที่รุนแรงและอคติทางเพศของรัฐกับกองทัพตุรกี ในขณะเดียวกันสถาบันทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทดสอบดังกล่าวยังทำหน้าที่เป็นเครื่องมือในการผลิตซ้ำชุดความเชื่อค่านิยมว่าด้วย “ความเป็นชาย” ในอุดมคติของตุรกีว่าต้องมีภาพเป็น ‘พลเมืองชายแบบรักต่างเพศที่ต้องเป็นผู้ปกป้องชาติด้วยการเกณฑ์ทหาร’ เท่านั้น 

0000

 

 

อ้างอิงจาก:   Alp Biricik. Rotten report and reconstructing hegemonic masculinity in Turkey (จากหนังสือรวมบทความที่ชื่อ Conscientious Objection: Resisting Militarized Society)
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท